เมตตาธรรมกับเพื่อนบ้านต่างศาสนิก
อิสลาม คือศาสนาที่เป็นครรลองชีวิต อิสลามมีคำสอนในทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิต และให้ความสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสันติ นอกจากความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของแต่ละบุคคลในครอบครัวตัวเองซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมแล้ว อิสลามยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นอันดับที่สอง มนุษย์จะอยู่อย่างสงบสันติไม่ได้ถ้าหากไม่เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน
เพื่อนบ้านมีสถานะพิเศษในอิสลาม อิสลามได้ส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติตนต่อเพื่อนบ้านของเขาด้วยวิธีที่สุภาพอ่อนโยน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณดั้งเดิมที่แท้จริงของอิสลาม ที่ต้องแสดงเป็นตัวอย่างของการคำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนบ้าน ไม่ว่าเขาจะเป็นมุสลิมด้วยกันหรือเป็นศาสนิกอื่น
วิธีการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านตามคำสอนของอิสลามมีดังต่อไปนี้
– เพื่อนบ้านไม่ได้หมายเฉพาะแต่คนที่มีบ้านเรือนติดกับเรา หรืออยู่ในตัวอาคารเดียวกันเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงเพื่อนร่วมห้องในหอพักของเรา คนที่นั่งติดกับเราบนรถประจำทางหรือที่ป้ายรถ เพื่อนร่วมงาน และแม้กระทั่งคนที่ร่วมแบ่งปันอากาศสดชื่นในสวนสาธารณะใกล้ๆ กับเรา ก็ถือเป็นเพื่อนบ้านของเราด้วยเช่นกัน เราต้องปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ด้วยความมีเมตตา และคบหาสมาคมกับพวกเขาตามขอบเขตการอนุญาตของหลักการศาสนา
– แนะนำตัวเองและครอบครัวต่อเพื่อนบ้าน เมื่อย้ายไปอยู่ในที่อยู่ใหม่ หรือเมื่อมีเพื่อนบ้านคนใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ใกล้กับคุณ วิธีนี้จะช่วยคลายความหวาดกลัวหรือความตึงเครียดที่พวกเขาอาจจะมีต่อมุสลิม และเมื่อจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก็อย่าลืมกล่าวลากับพวกเขาด้วยเช่นกัน
– เอาใจใส่ต่อเพื่อนบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะ “เพื่อนบ้านที่แท้จริงคือเพื่อนบ้านในยามยาก” ถ้าเพื่อนบ้านป่วยหรือแก่ชรา ให้ช่วยเหลือดูแลในเรื่องการงานหรือดูแลร้านให้เขาด้วยถ้าทำได้
– ในการติดต่อกับเพื่อนบ้าน การติดต่อกับผู้ที่เป็นเพศเดียวกันกับตนเป็นเรื่องที่ปลอดภัยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเลิกคบหาสมาคมกับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นเพศตรงข้าม เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังกับดักของมารร้าย
– ในขณะที่คบหาสมาคมกับเพื่อนบ้านต่างศาสนิก ให้ระมัดระวังอย่าทำตัวหละหลวมและดูเบาต่อหลักศรัทธาและศีลธรรมของเรา ยกตัวอย่างเช่น ต้องไม่อยู่ร่วมในกลุ่มสังคมที่ดื่มสุรา พวกเขาจะเพิ่มความเคารพต่อเราที่มีความเคร่งครัดในศาสนามากกว่าที่เราจะละเมิดหลักศาสนา
– เราสามารถร่วมรับประทานอาหารกับพวกเขาได้โดยเชิญพวกเขามาร่วมมื้อพิเศษในวันสุดสัปดาห์ของเรา หรือตอบรับคำเชิญของพวกเขาในบางวาระโอกาส โดยบอกให้พวกเขาทราบถึงเรื่องกฎข้อห้ามด้านโภชนาการของเราในฐานะมุสลิม
– ไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในวิถีชีวิตของกันและกัน ถ้าหากการพูดคุยกันหันมาสู่เรื่องของศาสนา ให้เน้นไปในเรื่องที่มีพื้นฐานเหมือนกัน เช่น ถ้าเขาเป็นคริสเตียน ไม่ควรโต้เถียงกับพวกเขาในเรื่องพระเยซูเป็นพระเจ้าหรือไม่
– พยายามถ่ายทอดถึงศาสนาของเราในทางที่ดีที่สุด ถ้าพบกับคำถามที่ยากหรือเป็นการบิดเบือนเกี่ยวกับอิสลาม อย่าอายที่จะขอหยุดเรื่องนี้ไว้และบอกว่าเราจะพยายามติดต่อกับผู้รู้เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ พยายามอย่ามีเรื่องโต้เถียงกับพวกเขา
– ถ้าเพื่อนบ้านแสดงความสนใจในอิสลาม ให้เชิญชวนพวกเขาเข้าร่วมงานศาสนาอิสลาม มันอาจทำให้หัวใจของพวกเขาโอนอ่อนมายังอิสลาม
– ระลึกไว้เสมอว่า เราจะได้รับรางวัลที่เตรียมไว้สำหรับเราในวันปรโลก ที่เราได้แสดงความมีเมตตาจิตต่อเพื่อนบ้าน