ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต ( 6)

อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต (6) การพิทักษ์ปกป้องคุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์คุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้าและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ท่านไม่เคยท้อถอยต่อความอุตสาห์พยายามเลยแม้แต่น้อยที่จะทำให้เกิดการพัฒนา และความก้าวหน้าในเป้าหมายอันสูงส่งข
อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต ( 6)



อิมามฮุเซน (อ.) แบบอย่างการดำเนินชีวิต (6)

การพิทักษ์ปกป้องคุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์คุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้าและซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ท่านไม่เคยท้อถอยต่อความอุตสาห์พยายามเลยแม้แต่น้อยที่จะทำให้เกิดการพัฒนา และความก้าวหน้าในเป้าหมายอันสูงส่งของอิสลาม และส่วนหนึ่งจากการดำเนินการที่สำคัญยิ่งของท่านอิมาม (อ.) ในช่วงอายุขัยอันจำเริญของท่านนั่นก็คือ การให้ชีวิตใหม่แก่อิสลามและการฟื้นฟูคุณค่าต่างๆ ที่ถูกหลงลืมไป ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ยินสำนวนคำพูดหนึ่งจนติดหูที่มักจะมีการกล่าวถึงในหมู่นักวิชาการอิสลามที่ว่า

 

«الاسلام محمدی الحدوث وحسينی البقاء »

 

“ศาสนาอิสลามคือสิ่งที่ถูกนำเสนอแก่มนุษยชาติโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และถูกพิทักษ์รักษาให้ดำรงอยู่โดยท่านอิมามฮุเซน (อ.)”

 

ในความเป็นจริงแล้วการเป็นชะฮีด (การพลีชีพ) ของอบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุเซน (อ.) และบรรดาสาวกผู้ซื่อสัตย์ของท่านนั้น ได้กลายเป็นสาเหตุทำให้ฝุ่นละอองของความโง่เขลา (ญะฮ์ล) และความอธรรมที่ปกคลุมเหนือคำสอนและข้อบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาหลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้รับการขจัดปัดเปล่าให้หมดไปจากของซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) อันแท้จริงของอิสลาม และทำให้นูร (รัศมี) อันเจิดจรัสของหลักคำสอนต่างๆ ของพระผู้เป็นได้ฉายแสงเข้าสู่บรรดาหัวใจที่หลับใหลอีกครั้งหนึ่ง ดังเช่นที่เราได้อ่านในบทซิยาเราะฮ์ของท่านอิมาม (อ.) ที่ว่า

 

اشهد انك قد اقمت الصلوة وآتيت الزكوة وامرت بالمعروف ونهيت عن المنك

 

“(โอ้ท่านอบาอับดิลลาอ์) ข้าพเจ้าขอเป็นสักขีพยานว่า แท้จริงท่านได้ดำรงนมาซ ท่านได้จ่ายทานซะกาซ และท่านได้กำชับในคุณงามความดีและได้ห้ามปรามความชั่วแล้ว” (1)

โดยพื้นฐานมุมมองทางด้านวัฒนธรรมของศาสนา และในทัศนะของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้น การฟื้นฟูหลักการในการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกว่าและยิ่งใหญ่กว่าภารกิจและการกระทำที่ทรงคุณค่าอื่นใดทั้งสิ้น ดังเช่นที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า

 

وما اعمال البر كلها والجهاد فی سبيل الله عند الامر بالمعروف والنهی عن المنكر الا كنفثة فی بحر لُجِّي

 

“การกระทำต่างๆ ที่เป็นคุณธรรมความดีทั้งมวล และการต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของอัลลอฮ์ เมื่อเปรียบเทียบกับการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนั้นมิใช่อื่นใดเลย นอกเสียจากประดุจดั่งฟองน้ำหนึ่งที่อยู่ในทะเลลึก” (2)

 

ในความเป็นจริงแล้ว ญิฮาด (การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์) และข้อกำหนดบังคับ (ฟะรีเฎาะฮ์) อื่นๆ นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วในความ หมายกว้างๆ ของมัน

 

เคียงข้างหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นผู้ที่มีความหลงใหลผูกพันอยู่กับการพิทักษ์รักษาศาสนา และการฟื้นฟูหลักการของการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ท่านไปอำลาหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) เพื่อที่จะเดินทางออกจากมะดีนะฮ์ ท่านได้กล่าววิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าเคียงข้างหลุมฝังศพของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เช่นนี้ว่า

 

اللهم ان هذا قبر نبيك محمد صلی الله عليه و آله وانا ابن بنت نبيك وقد حضرني من الامر ما قد علمت. اللهم اني احب المعروف وانكر المنكر واسالك يا ذالجلال والاكرام بحق القبر ومن فيه الا اخترت لي ما هو لك رضی ولرسولك رضی

 

“โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงนี่คือหลุมฝังศพของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสดาของพระองค์ และข้าฯ คือบุตรชายแห่งบุตรีของศาสดาของพระองค์ ในขณะนี้มีปัญหาหนึ่งได้เกิดขึ้นกับข้าฯ ซึ่งพระองค์ทรงรอบรู้ในสิ่งนี้เป็นอย่างดี โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าฯ รักในคุณธรรมความดี และรังเกียจความชั่วร้าย และข้าฯ วอนขอต่อพระองค์ โอ้ผู้ทรงเกรียงไกรและทรงเอื้ออาทรยิ่ง ด้วยเกียรติแห่งหลุมฝังศพนี้ และบุคคลที่อยู่ภายในนั้น ขอพระองค์ทรงเลือกทางเดินหนึ่งสำหรับข้าฯ ซึ่งเป็นแหล่งแห่งความพึงพอพระทัยของพระองค์ และเป็นความพึงพอใจของท่านศาสนทูตของพระองค์” (3)

 

จดหมายถึงบรรดาผู้นำเผ่าแห่งเมืองบัศเราะฮ์

ในจดหมายของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่ส่งไปถึงบรรดาหัวหน้าเผ่าของเมืองบัศเราะฮ์นั้น ท่านได้กล่าวตักเตือนเกี่ยวกับการแพร่หลายของแบบอย่าง (ซุนนะฮ์) ต่างๆ ที่ไม่ดีงามในสังคม และเรียกร้องพวกเขาให้ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูซุนนะฮ์ (แบบอย่าง) ที่ถูกต้อง และการธำรงไว้ซึ่งคุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า โดยท่านได้กล่าวว่า

 

انا ادعوكم الی كتاب الله وسنة نبيه، فان السنة قد اميتت و ان البدعة قد احييت و ان تسمعوا قولي و تطيعوا امري اهدكم الی سبيل الرشاد

 

“ฉันขอเชิญชวนพวกท่านมายังคัมภีร์ของอัลลอฮ์และซุนนะฮ์ (แบบอย่าง) ของท่านศาสดาของพระองค์ เพราะแท้จริงซุนนะฮ์ (แบบอย่างของท่านศาสดา) นั้นได้ถูกทำลายลงไปแล้ว และบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ หากพวกท่านทั้งหลายได้ยินคำพูดนี่ของฉันและเชื่อฟังปฏิบัติตามฉัน ฉันจะขอชี้นำพวกท่านเข้าสู่หนทางแห่งความถูกต้อง” (4)

 

การต่อสู้กับผู้วางรากฐานบิดอะฮ์ (อุตริกรรม)

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) มีความเชื่อมั่นว่าเพื่อการดำรงอยู่ของอิสลาม จำเป็นที่เราจะต้องพิทักษ์ปกป้องคุณค่าต่างๆ ของอิสลามอย่างสุดชีวิต ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองท่านจึงไม่ยอมประนีประนอมกับบรรดาผู้ปกครองเผด็จการและผู้ที่ต่อต้านคุณค่าที่ดีงามอย่างเช่นบนีอุมัยยะฮ์แม้แต่ครั้งเดียว ท่านได้เริ่มต้นการต่อสู้อย่างไม่ลดละกับบรรดาผู้ปกครองผู้บูชาอารมณ์ใฝ่ต่ำ และผู้หยิ่งผยอง และได้พลีอุทิศชีวิตทั้งหมดของท่านให้กับแนวทางนี้ เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาหลักการต่างๆ ของแนวทางที่ถูกต้องและเป็นแนวทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าเอาไว้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับผู้ที่วางรากฐานบิดอะฮ์ (อุตริกรรม) ต่างๆ การพิทักษ์ปกป้องศาสนาของตนเองนั้น มุสลิมที่เป็นเสรีชนจะไม่ยอมประนีประนอมและอ่อนข้อให้กับบรรดาผู้วางรากฐานซุนนะฮ์ (แบบอย่าง) ต่างๆ ที่ชั่วร้ายอย่างเด็ดขาด

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

اظلم الناس من سن سنن الجور ومحا سنن العدل

 

“มนุษย์ผู้อธรรมที่สุด คือผู้ที่สร้างแบบอย่างต่างๆ ของความอธรรมเอาไว้ และลบเลือนแบบอย่างต่างๆ ของความยุติธรรม” (5)

 

จดหมายที่ส่งถึงมุอาวิยะฮ์

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) จะใช้ทุกๆ โอกาสที่อำนวยสำหรับการฟื้นฟูหลักคำสอนต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า บรรดาคำพูด จดหมายและแนวทางการปฏิบัติทั้งหลายของท่านอิมาม (อ.) คือเครื่องบ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เป็นอย่างดี ในจดหมายฉบับหนึ่ง ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ตำหนิการดำเนินการที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนาของมุอาวิยะฮ์อย่างรุนแรง และในช่วงท้ายของจดหมายท่านได้กล่าวว่า

 

فابشر يا معاوية بالقصاص واستيقن بالحساب واعلم ان لله تعالی كتابا لا يغادر صغيرة ولا كبيرة الا احصاها

 

“โอ้มุอาวิยะฮเอ๋ย จงรำลึกถึงการลงโทษ (ที่สาสมจากพระผู้เป็นเจ้าเถิด) และจงมั่นใจต่อการสอบสวน (ของพระผู้เป็นเจ้าในวันชาติหน้า) เถิด และจงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริงสำหรับอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งนั้น ทรงมีบันทึกหนึ่งซึ่งจะไม่ละเลยจากการกระทำ ไม่ว่าจะเล็กน้อยและใหญ่โตเพียงใด นอกจากจะนับคำนวณมันไว้” (6)

 

การพิทักษ์ปกป้องความความบริสุทธิ์ของครอบครัว

ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามอะลี (อ.) และความจำเป็นที่บีบบังคับให้ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ต้องลงนามในสนธิสัญญาสงบ (ซุลห์) นั้น มุอาวิยะฮ์ได้มุ่งแสวงหาช่องทางที่จะผูกสัมพันธ์กับครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงออกคำสั่งให้มัรวาน บินฮะกัม ไปสู่ขอ “อุมมุกุลซูม” บุตรีของอับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร ให้แก่ยะซีด และตัวมัรวานเองนั้นในมัจญ์ลิซ (การชุมนุม) ที่บรรดาบุคคลสำคัญของมะดีนะฮ์และบรรดาแกนนำของบนีอุมัยยะฮ์ได้รวมตัวกันอยู่ในที่นั้น ในการปราศรัยเขาได้กล่าวยกย่องสรรเสริญบุตรชายผู้โฉดชั่วของมุอาวิยะฮ์ พร้อมกับแสดงความคาดหวังว่าการสมรสนี้จะต้องเกิดขึ้น

 อับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร สามีของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้มอบหมายการตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้อยู่ในอำนาจของลุงของลูกสาวของท่านคือ

ท่านอบาอับดิลลาฮ์ อัลฮุเซน (อ.) ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งอยู่ในที่ชุมนุมแห่งนั้น ท่านได้ยืนขึ้นและกล่าวกับมัรวานและทุกคนที่อยู่ร่วมในที่นั้นว่า

“มวลการสรรเสริญและการสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณ พึงมีแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งได้ทรงคัดเลือกเราอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัว) ของท่านศาสดา ให้ทำหน้าที่พิทักษ์ศาสนาของพระองค์และเป็นผู้นำของประชาชน และพระองค์ได้ทรงประทานคัมภีร์อัลกุรอานและวะห์ยู (วิวรณ์) ลงมายัง (ครอบครัวของ) พวกเรา โอ้มัรวานเอ๋ย เจ้าได้พูดสิ่งหนึ่งและเราได้รับฟังมัน สิ่งที่เจ้าได้พูดว่าบิดาของลูกสาวจะเรียกร้องสิ่งใดๆ ก็ตาม สิ่งนั้นจะถูกกำหนดเป็นมะฮัร (สินสอด) สำหรับอุมมุกุลซูม ขอสาบานต่อชีวิตของฉันว่า พวกเราอะฮ์ลุลบัยต์ ในเรื่องจำนวนของมะฮัรนั้นพวกเราจะไม่เบี่ยงเบนไปจากซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้กำหนดมะฮัรบรรดาบุตรีและภรรยาของท่านไว้จำนวน 20 เอากียะฮ์ซึ่งเทียบเท่ากับ 480 ดิรฮัม

 

ส่วนสิ่งที่เจ้าพูดว่าจะชดใช้หนี้สินต่างๆ ที่บิดาของนางมีนั้น เคยมีมาตั้งแต่เมื่อใดที่บรรดาสตรีของเราจะเป็นผู้ชดใช้หนี้สินต่างๆ ของพวกเราโดยที่ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่สอง และสิ่งที่เจ้ากล่าวว่า ความผูกสัมพันธ์ในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในระหว่างสองตระกูล คือบนีฮาชิมและบนีอุมัยยะฮ์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และจะนำมาซึ่งสันติภาพ การประนีประนอมและความสงบสุขนั้นเราขอกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความเป็นศัตรูของเราชาวอะฮ์ลุลบัยต์ที่มีต่อบรรดาผู้นำของบนีอุมัยยะฮ์นั้นอยู่ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อพิทักษ์รักษาศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า และพวกเราจะไม่ประนีประนอมกับพวกเจ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตทางโลก (ดุนยา) อย่างเด็ดขาด สายสัมพันธ์ในความเป็นศัตรูนี้ไม่อาจถูกขจัด แล้วสายสัมพันธ์ที่จะเป็นเหตุแห่งความประนีประนอมและความเป็นมิตรจะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน”

 

 ต่อจากนั้นท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ตอบโต้คำพูดต่างๆ ของมัรวานทีละข้อๆ ด้วยความหนักแน่นและด้วยหลักฐานและเหตุผลที่ชัดเจนอย่างสมบูรณ์ และในช่วงท้ายท่านได้กล่าวเกี่ยวกับการแต่งงานของบุตรีของท่านหญิงซัยนับ (อ.) ว่า “โอ้ประชาชนทั้งหลายที่อยู่ ณ มัสยิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แห่งนี้ จงเป็นสักขีพยานเถิดว่า ฉันได้จัดการอ่านอักด์สมรสอุมมุกุลซูม บุตรีของน้องสาวของฉันและเป็นบุตรีของอับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัรนี้ให้กับบุตรชายของลุงของนาง คือกอซิม บุตรของมุฮัมมัด บินญะอ์ฟัรแล้ว และฉันได้กำหนดมะฮัร (สินสอด) ของนางด้วยจำนวนเงิน 480 ดิรฮัม และฉันได้มอบที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ของฉันผืนหนึ่งในมะดีนะฮ์นี้ให้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตแก่นาง” (7)

ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ปกป้องเกียรติของสตรีมุสลิมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ในเหตุการณ์การที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ช่วยเหลือภรรยาของอับดุลลอฮ์ บินสลาม ให้รอดพ้นนั้นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและทำการศึกษาเช่นเดียวกัน

 

 

แสงอรุณ (ฟะญัร) ในท่ามกลางความมืดมน (ซุลมะฮ์)

ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า

اقراوا سورة الفجر في فرائضكم ونوافلكم، فانها سورة الحسين بن علي عليه السلام؛ من قراها كان مع الحسين بن علي عليه السلام يوم القيامة في درجته من الجنة

 

“ท่านทั้งหลายจงอ่านซูเราะฮ์ “อัลฟัจญ์รุ” ในนมาซฟัรฎูและนมาซนะวาฟิลทั้งหลายของพวกท่านเถิด เพราะแท้จริงมันคือ ซูเราะฮ์ของท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.) ผู้ใดที่อ่านมัน ในวันกิยามะฮ์เขาจะได้อยู่ร่วมกับฮุเซน บินอะลี (อ.) ในฐานันดรเดียวกับท่านในสรวงสวรรค์” (8)

 

ประเด็นที่น่าสนใจในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้ก็คือ ในท่ามกลางบรรดาซูเราะฮ์ทั้งหลายของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุได้กลายเป็นซูเราะฮ์เฉพาะของท่านอิมามฮุเซน (อ.) คำว่า “ฟัจญ์รุ” หมายถึงแสงอรุณหรือแสงสว่าง และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้นี้เอง ในท่ามกลางยุคสมัยแห่งความมืดมนและความดำสนิทของบรรดาผู้ปกครองเผด็จการและผู้กดขี่แห่งบนีอุมัยยะฮ์ ซึ่งร่องรอยและสัญลักษณ์ต่างๆ แห่งแสงสว่างและทางนำของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกลบเลือนและถูกหลงลืมไป คุณค่าและความดีงามต่างๆ ที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) วางรากฐานไว้ด้วยความเหนื่อยยากและทุ่มเทความอุตสาห์พยายามต่างๆ ไว้ในสังคมนั้น ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปทีละน้อย ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ผู้นี้เอง ซึ่งด้วยกับการเสียสละและการพลีอุทิศชีวิตและการดำรงอยู่ของตนเองประหนึ่งแสงอรุณที่สว่างไสว และด้วยกับการนำเสนอภาพที่ชัดเจนของหลักการและบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลามนั้น ท่านได้ให้แสงส่องสว่างแก่เส้นทางเดินของมนุษยชาติจวบจนถึงวันกิยามะฮ์

เพื่อที่จะเชิดชูคุณค่าและความสูงส่งของการเสียสละและการพลีอุทิศชีวิตของท่านอิ มามฮุเซน (อ.) ในหนทางของการพิทักษ์คุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า (ตามสัญญาที่ท่านได้ให้ไว้กับพระองค์) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงประทานของขวัญ (ฮะดียะฮ์ ) แห่งฟากฟ้าให้แก่ท่านอิมาม (อ.) ซึ่งได้แก่ในฮะดีษกุดซี ที่ถูกรู้จักในนาม “ฮะดีษุลเลาห์” (พระคำแห่งเลาฮิลมะห์ฟูซ) พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับสถานะและตำแหน่งอันสูงส่งของท่านอิมาม (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า

 

جعلت حسينا خازن وحيی واكرمته بالشهادة وختمت له بالسعادة فهو افضل من استشهد وارفع الشهداء درجة. جعلت كلمتی التامة معه والحجة البالغة عنده، بعترته اثيب و اعاقب

 

“ข้าได้บันดาลให้ฮุเซนเป็นผู้พิทักษ์ขุมคลังแห่งวะห์ยู (วิวรณ์) ของข้า และได้ให้เกียรติแก่เขาด้วยการเป็นชะฮีด และได้ทำให้ (ชีวิตของ) เขาสิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์) ดังนั้นเขาคือผู้เป็นชะฮีด (พลีชีพ) ที่ประเสริฐที่สุดและเป็นผู้มีฐานันดรสูงส่งที่สุดในหมู่ชะฮีด (ผู้พลีชีพ) ทั้งหลาย และข้าได้บันดาลถ้อยคำ (กะลีมะฮ์) อันสมบูรณ์ของข้าให้คงอยู่คู่กับเขา และข้อพิสูจน์อันชัดแจ้ง (อัลฮุจญะตุลบาลิเฆาะฮ์) ของข้านั้นอยู่กับเขา และด้วยกับครอบครัวของเขานี่เองที่ข้าจะตอบแทนรางวัลและการลงโทษ” (9)

 

ในช่วงยุคสมัยที่เต็มไปด้วยวิกฤตและในสถานการณ์และสภาวะเงื่อนไขต่างๆ ที่ยากลำบากและเต็มไปด้วยความเลวร้ายนั้น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เลือกวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการพิทักษ์รักษาหลักการต่างๆ ของอิสลาม และการต่อสู้กับความเท็จและบรรดาผู้นำแห่งความกลับกลอก และผลของความอุตสาห์พยายามต่างๆ ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยย่อท้อและเต็มเปรี่ยมไปด้วยความภาคภูมินี้ คือชะฮาดะฮ์ (การเป็นชะฮีด) ที่นำมาซึ่งความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และด้วยเหตุนี้เองท่านจึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนและสมบูรณ์ของโองการที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

«يا ايتها النفس المطمئنة ارجعي الی ربك راضية مرضية فادخلي في عبادي وادخلي جنتي »

 

“โอ้ดวงจิตอันสงบมั่นเอ๋ย เจ้าจงกลับคืนมาสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยความปีติยินดี อีกทั้งเป็นผู้ได้รับความพึงพอพระทัย (จากพระองค์) เถิด และจงเข้ามาอยู่ในหมู่ปวงบ่าวของข้าและเข้าสู่สรวงสวรรค์ของข้าเถิด” (10), (11)

 

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) มิศบาฮุลมุตะฮัจญิด, หน้า 720

(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์อันดับที่ 374

(3) ฮะยาตุลอิมามิลฮุซัยน์(อ.), เล่มที่ 2, หน้า 259

(4) ซีร อะอ์ลามุลนับลาอ์, เล่มที่ 3, หน้า 301

(5) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 12, หน้า 231

(6) มุอ์ญะมุ ริญาลิลฮะดีษ, เล่มที่ 19, หน้า 214

(7) อัลอะวาลิม, อัลอิมามุลฮุซัยน์ (อ.), หน้าที่ 87 ; อัลมะนากิบ, เล่มที่ 4, หน้า 38 และ 39

(8) ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 10, หน้า 341

(9) กะมาลุดดีน วะ ตะมามุนเนี๊ยะฮ์มะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 308-311

(10) ซูเราะฮ์อัลฟัจญ์รุ : อายะฮ์ที่ 28-30

(11) ตัฟซีร อัลกุมมี, เล่มที่ 2, หน้า 422

 

โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลาม

 


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ประวัติย่อของอิมามมุฮัมมัด ...
คุณสมบัติของอัล-กุรอาน
สานสัมพันธ์กับอิมามซะมาน
...
...
...
...
อิมามญะอฺฟัรกับวิทยาศาสตร์
ผู้ป่วยแห่งกัรบาลาอฺ (ตอนที่2)
อิมามริฎอ คือ ผู้ค้ำประกันกวาง

 
user comment