ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

เอกภาพในความแตกต่าง

อกภาพท่ามกลางความแตกต่าง? เคยมีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีเอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง? ความแตกต่างเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกและความไม่ลงรอยกันมิไช่หรือ? ถ้าประโยคดังกล่าวเป็นไปได้ แล้วเราจะสร้างเอกภาพจากวัตถุดิบที่แตกต่างได้โดยวิธีใด ?
เอกภาพในความแตกต่าง

อกภาพท่ามกลางความแตกต่าง? เคยมีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีเอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง? ความแตกต่างเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกและความไม่ลงรอยกันมิไช่หรือ?
ถ้าประโยคดังกล่าวเป็นไปได้ แล้วเราจะสร้างเอกภาพจากวัตถุดิบที่แตกต่างได้โดยวิธีใด ?

โดยทั่วไปแล้ว เอกภาพมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความแตกต่าง แต่หากเราพิจารณาให้ดีจะพบว่า ความแตกต่างไม่ไช่บ่อเกิดของความแตกแยกเสมอไป ขอเพียงเรายกระดับมุมมองของเราจากมุมมองเดิมๆสู่มุมมองที่สูงขึ้น พัฒนากระบวนการทางความคิดของเราให้สูงยิ่งขึ้น เปรียบประดุจว่าเราเดินขึ้นภูเขาแล้วทอดสายตามองสู่เบื้องล่าง ซึ่งจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับมุมมองในระดับเดิมๆเทียบเท่ากับผู้คนทั่วๆไป กล่าวคือ มุมมองจากเบื้องบนย่อมไม่ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างและความแปลกแยกในรายละเอียดปลีกย่อยเท่าใดนัก ทว่าเป็นมุมมองที่ครอบคลุมโครงสร้างโดยรวม เห็นปัญหาใหญ่ๆที่จะบ่อนทำลายสังคมในมุมกว้าง ดังเช่นผู้ที่ยืนอยู่บนภูเขาและสังเกตุความเป็นไปในเมืองที่อยู่เบื้องล่าง เขาจะไม่สนใจลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันของผู้คนในเมืองมากนัก แต่สิ่งที่เขาเห็นคือความเป็นระเบียบและโครงสร้างผังเมืองในมุมกว้าง เขาจะสังเกตุเห็นปัญหาต่างๆในมุมกว้าง หากมีเหตุการณ์เพลิงใหม้เกิดขึ้นในเมือง เขาย่อมเห็นสถานที่เกิดเหตุและสามารถระบุตำแหน่งเพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างแม่นยำและทันท่วงที ในขณะที่ผู้คนในเมืองอาจเห็นเพียงแค่หมอกควันที่ปกคลุมเมือง โดยไม่สามารถระบุได้ว่าสถานที่เกิดเหตุอยู่ที่ใด

คนส่วนใหญ่มักมองเห็นความแตกต่างเป็นปัญหาและวิกฤติ เห็นความแตกต่างในตัวบุคคลอื่นแล้วแปรสภาพความแตกต่างเหล่านั้นให้เป็นความแตกแยกเสมอ นั่นเป็นเพราะว่าทัศนคติและมุมมองของเขายังไม่ได้รับการยกระดับให้สูงขึ้นจากระดับเดิมๆ พวกเขาเคยชินกับการค่อนแคะจับผิดเพื่อนบ้านฝั่งตรงข้าม แต่ไม่ยอมสนใจเพลิงใหม้ที่เผาวอดไปค่อนเมืองและกำลังลุกลามมายังบ้านของพวกเขา

วิธีสานเอกภาพท่ามกลางความแตกต่าง วิธียกระดับความคิดและมุมมองก็คือ การละสายตาจากความแตกต่างปลีกย่อย และพยายามมององค์รวมของปัญหาในมุมกว้าง ละลายอคติแล้วจึงสร้างทัศนคติใหม่ด้วยใจที่เป็นกลางและเจตนาอันบริสุทธิ

การที่ท่านอิมามโคมัยนีได้ประกาศให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์เอกภาพสำหรับมวลมุสลิมนั้น เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้ที่มีมุมมองที่สูงกว่ามุมมองทั่วๆไป การที่พี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์เชื่อว่าวันประสูติของท่านนบีคือวันที่ 12 รอบีอุลเอาวัล ในขณะที่พี่น้องชีอะฮ์เชื่อว่าวันประสูติของท่านตรงกับวันที่ 17 ของเดือนเดียวกัน ปรากฏการณ์นี้อาจจะกลายเป็นชนวนสำคัญของความแตกแยก และอาจนำไปสู่การถกปัญหาอย่างเอาเป็นเอาตายหากมองจากมุมมองเดิมๆที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา แต่ท่านอิมามโคมัยนีเล็งเห็นจุดร่วมท่ามกลางจุดต่าง เล็งเห็นองค์รวมที่สำคัญกว่าท่ามกลางปัญหาปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ เล็งเห็นสถานภาพความเป็นประมุขของท่านนบีสำหรับทั้งซุนหนี่และชีอะฮ์ อันเป็นจุดร่วมสำคัญสูงสุดแทนความแตกต่างปลีกย่อยเช่นกรณีวันประสูติของท่าน ท่านอิมามโคมัยนีจึงเน้นจุดร่วมและลดจุดต่าง โดยประกาศให้ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสัปดาห์แห่งเอกภาพ(เอกภาพใต้ร่มธงของศาสดาท่านเดียวกัน) ทั้งนี้ แทนที่ผู้รู้สองฝ่ายจะถกเถียงกันในประเด็นความแตกต่างดังกล่าว กลับเป็นนิมิตรหมายอันดีงามที่สองฝ่ายมีโอกาสหันหน้าเข้าหากัน และร่วมกันหารือถึงวิธีสร้างเอกภาพในหมู่มุสลิมเพื่อต่อกรกับมหาอำนาจ ที่คอยแต่จะยุแยงให้มุสลิมเผชิญหน้ากันเองเพื่อบ่อนทำลาย “อิสลาม”โดยไม่ต้องเปลืองแรง สิ่งดังกล่าวต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนที่สุดเมื่อเทียบกับปัญหาปลีกย่อยระหว่างพี่น้องซุนหนี่และพี่น้องชีอะฮ์

ความเจ็บปวด บทเรียนจากประวัติศาสตร์ เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าโลกอิสลามได้รับความเสียหายจากน้ำมือมุสลิมเองมากเหลือเกินครับ ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่อุมมะฮ์อิสลามจะบรรลุนิติภาวะ อันหมายถึงบรรลุสู่มุมมองที่สูงขึ้นกว่าเดิม เลิกการจ้องจับผิดฝ่ายตรงข้ามและยกประโยชน์ให้ฝ่ายตนเพียงอย่างเดียว เราไม่ได้เสียอาณาจักรอันโดโลส(สเปน)แก่ยุโรปด้วยความแตกแยกภายในหรืออย่างไร เราไม่ได้พลาดท่าหลายต่อหลายครั้งในสงครามครูเสดเนื่องจากความไม่เป็นปึกแผ่นของเราเองหรืออย่างไร เราไม่ได้เพลี่ยงพล้ำกระทั่งสูญเสียศูนย์กลางวิชาการอิสลามอย่างซะมัรกันด์ นีชาบูร หรือแม้แต่แบกแดดแก่พวกมองโกลด้วยความไม่ลงรอยกันเองหรืออย่างไร? อาณาจักรมุสลิมออตโตมานไม่ได้ถูกรุมกินโต๊ะฉีกออกเป็นชิ้นๆด้วยความไม่เป็นปึกแผ่นของอุมมะฮ์อิสลามหรอกหรือ และเมื่อเราคิดจะประสานสัมพันธ์กัน ก็เห็นพลังแห่งเอกภาพทุกครั้ง ดังที่ชาวเติร์กมัมลู้กในอิยิปต์สามารถยับยั้งการเคลื่อนทัพของพวกมองโกล และดังที่มุสลิมในอินเดียสามารถรวมตัวกันก่อเกิดพลังที่สามารถกดดันให้อังกฤษชะลอแผนการณ์โค่นล้มอาณาจักรออตโตมานได้สำเร็จ

ฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่เรียกร้องสู่เอกภาพระหว่างมุสลิม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่พัฒนาและยกระดับมุมมองให้สูงพอที่จะมองเห็นและหยั่งรู้ขีดความอันตรายของปัญหาต่างๆในโลกปัจจุบันได้ ในทางกลับกัน ผู้ใดที่ยังคงจ้องจะหยิบยกความแตกต่างมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือกล่าวหากลุ่มแรกว่าเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึง “เพลิง”ที่จะลุกลามถึงตนเองในไม่ช้า ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่ยังย่ำอยู่บนโคลนตมแห่งมุมมองต่ำๆ และไม่ยอมที่จะยกระดับความคิดของตนให้สูงยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการฝึกยกระดับมุมมองอันนำสู่การสานเอกภาพ ลองหยิบยกความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์สักกรณีมาเป็นตัวอย่าง แล้วร่วมกันพิจารณาด้วยมุมมองที่สูงขี้นกว่าเดิมนะครับ ความขัดแย้งที่ว่า ท่านนบีได้สั่งเสียแก่ประชาชาติของท่านว่า ฉันได้ทิ้งสิ่งสำคัญสองสิ่งเพื่อสูเจ้า นั่นคือ คัมภีร์ของพระองค์ และ.... พี่น้องชีอะฮ์และซุนนะฮ์บางท่านเติม “วงศ์วานของฉัน”ในช่องว่างดังกล่าว ในขณะที่พี่น้องซุนนะฮ์บางกลุ่มเติม “ซุนนะฮ์ของฉัน” ไว้ในช่องว่าง จึงเดือดร้อนต้องอ้างอิงตำรามาหักล้างกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ความแตกต่างดังกล่าวมีปรากฏในตัวบทฮะดีษในตำราต่างๆจริง แต่ ความรู้สึกที่ต้องเผชิญหน้ากันนั้น เกิดจากมุมมองแคบๆเดิมๆ นั่นคือการแปรสภาพความแตกต่างให้เป็นความแตกแยกเพียงอย่างเดียว

ลองสูดลมหายใจลึกๆ ทำลายอคติต่างๆที่เคยมี แล้วย้อนกลับมามองฮะดีษด้วยมุมมองที่สูงขึ้นดูสิครับ ณ ตรงนี้ ประเด็นปัญหาไม่ไช่ความแตกต่างของตัวบทฮะดีษอีกต่อไป ประเด็นสำคัญอยู่ที่จุดร่วม ซึ่งนั่นก็คือ เราทั้งสองฝ่าย(ชีอะฮ์และซุนหนี่)ต่างแสวงหาคำบัญชาของท่านนบีเพื่อนำไปปฏิบัติ เมื่อเราพิจารณาความแตกต่างในฮะดีษอีกครั้ง เราจะพบว่าความแตกต่างดังกล่าวมิได้มีลักษณะเดียวกันกับความแตกต่างระหว่าง ดีและเลว หรือ การมีอยู่กับสภาวะสูญเปล่า (ซึ่งไม่อาจนำมารวมกันได้เลยในแง่ตรรกะ) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การนำสองรายงานมาผนวกกันก็ไม่ไช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด ในที่สุด เราก็จะได้ข้อสรุปจากการผนวกสองฮะดีษว่า

“ท่านศาสดาได้สั่งให้เราปฏิบัติตามกุรอาน, ซุนนะฮ์ และ วงศ์วานบริสุทธิของท่าน” เมื่อเป็นเช่นนี้ ด้วยใจที่บริสุทธิและเปี่ยมด้วยอิคลาศของทั้งพี่น้องซุนนะฮ์ และพี่น้องชีอะฮ์ จะได้บทสรุปอันเป็นรูปธรรมชัดเจนในเชิงปฏิบัติว่า:

ชีอะฮ์ ต้องปฏิบัติตามกุรอาน, วงศ์วานที่แท้จริงของท่านนบี + ศึกษาแสวงหาซุนนะฮ์ที่ถูกต้องเพื่อนำสู่การปฏิบัติ

อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ต้องปฏิบัติตามกุรอาน, ซุนนะฮ์ที่แท้จริงของท่านนบี + ศึกษาแสวงหาวงศ์วานท่านนบีผู้เที่ยงธรรมเพื่อเป็นแบบอย่าง.

ผมจะไม่ขอกล่าวว่าซุนนะฮ์ที่แท้จริงคู่กับอะฮ์ลุลบัยต์หรือไม่ และอะฮ์ลุลบัยต์ผู้เที่ยงธรรมเป็นนักเผยแพร่ซุนนะฮ์ที่บริสุทธิจริงหรือไม่ ปริศนาเหล่านี้เป็นหน้าที่ของพี่น้องที่จะหาคำตอบด้วยใจที่เป็นกลางครับ...

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับการปรับระดับมุมมอง อันสามารถยับยั้งปัญหาปลีกย่อยต่างๆที่บั่นทอนพลังของอุมมะฮ์อิสลามมาโดยตลอด คุณเองก็สามารถมีมุมมองที่สูงกว่าได้ เพียงแค่ละลายอคติเสียก่อน และพิจารณาปัญหาต่างๆในมุมกว้างด้วยกับจิตที่เปี่ยมด้วยอิคลาศ แล้วคุณจะเห็นสิ่งสำคัญอีกหลายๆสิ่งที่คนทั่วไปมักมองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญ.





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
ฆอดีรคุม ...
ชีวิตคู่ในอิสลาม
...
ฟะดักในประวัติศาสตร์อิสลาม
...
วันสำคัญในเดือนรอบีอุลเอาวัล
อรรถาธิบายซูเราะฮ์ อัลฆอชิยะฮ์
ท่านหญิงฟาติมะฮ์ ...

 
user comment