จดหมายของท่านอิมาม ถึง “มุสลิม บินอะกีล”
ในกลางเดือนรอมฎอนอันจำเริญ (1) มุสลิม บินอะกิล เดินทางออกจากมักกะฮ์สู่เมืองกูฟะฮ์ ตามคำสั่งของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในระหว่างทางท่านได้ผ่านมะดีนะฮ์ และหลังจากที่ท่านได้หยุดพักที่นั้นเป็นเวลาสั้นๆ ท่านได้ซิยารัตสถานที่ฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และหลังจากพบปะพรรคพวกและญาติมิตรของท่านแล้ว ท่านก็ออกเดินทางสู่เมืองกูฟะฮ์ โดยมีผู้นำทางสองคนจากเผ่าเกซร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อออกเดินจากมะดีนะฮ์ได้เพียงไม่นานนัก คณะของท่านกลับหลงจากเส้นทาง และต้องระหกระเหินอยู่ในท้องทะเลทรายอันกว้างใหญ่ หลังจากพยายามเป็นอย่าหนัก คณะของท่านก็พบเส้นทางที่ถูกต้อง แต่กว่าจะถึงเพื่อนร่วมทางทั้งสองคนของท่านก็ต้องจบชีวิตลง เนื่องจากความร้อนที่รุนแรงและความหิวกระหาย ส่วนท่านมุสลิม บินอะกีลสามารถไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า “มุดอยยัก” อันเป็นที่อยู่ของชาวทะเลทรายเผ่าหนึ่งของพวกเคริก ท่านจึงรอดพ้นจากความตายไปได้อย่างหวุดหวิด
หลังจากที่ท่านมุสลิม บินอะกีลไปถึงมุดอยยัก ท่านได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงท่านอิมามฮูเซน (อ.) โดยผ่านผู้ถือสาส์นคนหนึ่งจากเผ่านั้น ในจดหมายฉบับนี้ ท่านได้อธิบายเหตุการณ์ที่ผู้ร่วมเดินทางของท่านต้องเสียชีวิตและการรอดชีวิตของตน ท่านมุสลิมขอร้องท่านอิมามฮูเซน (อ.) ให้ทบทวนการตัดสินใจใหม่อีกครั้งหนึ่งที่จะส่งท่านไปยังเมืองกูฟะฮ์ เป็นการสมควรกว่าที่ท่านอิมามจะแต่งตั้งผู้อื่นไปปฏิบัติภารกิจนี้แทน เพราะท่านเองรู้ถึงสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีที่อาจจะเกิดขึ้น และเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นความอับโชค
ท่านมุสลิมได้ย้ำในตอนท้ายของจดหมายว่า “ข้าพเจ้าจะคอยอยู่ ณ ที่นี้ จนกว่าจะได้รับคำตอบจากท่านโดยผู้ถือสาส์นคนเดิม”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบจดหมายดังกล่าวไปว่า “ฉันเกรงว่าจะไม่มีสิ่งใดนอกจากความหวาดกลัวที่จะบีบบังคับเจ้าให้เขียนจดหมายถึงฉัน เพื่อขอยกเลิกภารกิจที่ฉันได้ส่งให้เจ้าไปปฏิบัติ ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติภารกิจของเจ้า ซึ่งฉันได้ส่งเจ้าไปปฏิบัติให้สำเร็จเถิด วัสลาม” (2)
ความหวาดวิตกในความขลาดกลัว
จากคำให้กำลังใจของท่านอิมาม (อ.) เราได้รับรู้ว่า มิใช่แต่เพียงผู้นำหรือผู้ที่อยู่ในฐานะเช่นท่านอิมามฮูเซน (อ.) เท่านั้น ที่ปรารถนาจะให้สังคมอิสลามได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข และจะต้องไม่เปิดช่องให้ความหวาดกลัวเกิดขึ้นในหัวใจของเขาแม้เพียงน้อยนิด ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติตามและผู้ที่จะรับใช้ในหนทางนี้จะต้องมีความกล้าหาญอย่างนี้เช่นกัน มิฉะนั้นการยืนหยัดต่อสู้ของเขาก็จะประสบความพ่ายแพ้ และจะไปไม่ถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์อันสูงส่งตามความหวังของตนได้
ใช่แล้ว! ความหวาดวิตกของท่านอิมาม (อ.) มิได้เกิดจากกำลังพลอันมากมายของบรรดาศัตรู แต่ความหวาดวิตกของท่านนั้นเกิดจากสภาพของความขลาดกลัวและความอ่อนแอ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่ตัวแทนและผู้ถือสาส์นของท่านในบางขณะ
สุนทรพจน์ของท่านอิมามที่มักกะฮ์
เมื่อช่วงเวลาของการบำเพ็ญฮัจญ์ใกล้เข้ามา บรรดาฮุจญาจกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าได้มุ่งหน้าสู่นครมักกะฮ์ ในช่วงแรกๆ ของเดือนซุลฮิจญะฮ์นี่เองที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้รับทราบข่าวว่า “อัมร์ บินสะอัด บินอาซ” ได้เข้ามาสู่มักกะฮ์ด้วย ตามคำสั่งของยาซีด บินมุอาวียะฮ์ ในนามของ “อมีรุลฮัจญ์” แต่เจตนาที่แท้จริงนั้นคือการปฏิบัติตามคำสั่งที่น่าประหวั่นอย่างหนึ่ง คือการสังหารท่านอิมามฮูเซน (อ.) ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดหากมีโอกาสเหมาะ ด้วยเหตุนี้ท่านอิมาม (อ.) จึงตัดสินใจเดินทางออกจากมักกะฮ์ มุ่งสู่ดินแดนอิรักในวันอังคารที่ 8 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ โดยมิได้อยู่รวมในการประกอบพิธีฮัจญ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติและความเคารพต่อแผ่นดินมักกะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์
ก่อนที่ท่านอิมาม (อ.) จะเคลื่อนขบวนออกจากมักกะฮ์ ท่านได้กล่าวปราศรัยในหมู่วงศ์วานแห่งนบนีฮาชิมและชีอะฮ์ของท่าน ที่อยู่กับท่านในมักกะฮ์ โดยมีใจความว่า
“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ (ซบ.) สิ่งใดที่เป็นความประสงค์ของพระองค์ สิ่งนั้นก็ย่อมต้องเกิดขึ้น ไม่มีพลังอำนาจใดๆ นอกจากการช่วยเหลือของพระองค์ ขอพระองค์ทรงประทานพรแด่ท่านศาสนทูตของพระองค์ ความตายของลูกหลานอาดัมได้ถูกกำหนดไว้แล้ว เปรียบได้กับร่องรอยของสายสร้อยที่ย่อมปรากฏขึ้นเหนือต้นคอของหญิงสาว เป็นความปรารถนาและความปลาบปลื้มอย่างยิ่งของฉัน ที่จะได้กลับไปพบกับบรรพบุรุษของฉัน เสมือนหนึ่งการคะนึงหาของยะอ์กูบที่มีต่อยูซุฟ และสถานที่ของการพลีชีพของฉันก็ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว ฉันได้เห็นบรรดาสัตว์ร้ายแห่งท้องทะเลทราย (บรรดาทหารแห่งกูฟะฮ์) ที่กำลังฉีกชิ้นส่วนร่างกายของฉันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในแผ่นดินระหว่าง “นาวาวิส” และ ”กัรบะลาอ์” พวกนั้นจะบรรจุท้องและกระเพาะของพวกเขาให้เต็มไปด้วยเลือดเนื้อของฉัน
ไม่มีหนทางใดที่จะหลบเลี่ยงไปได้จากวันที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ด้วยปากกาของอัลลอฮ์ (ซบ.) ความพึงพอพระทัยของพระองค์คือความพึงพอใจของพวกเราอะฮ์ลุลบัยต์ เราจะอดทนต่อการทดสอบของพระองค์ ซึ่งพระองค์จะเป็นผู้ตอบแทนผลรางวัลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เลือดเนื้อของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และเรือนร่าง (ของลูกหลาน) ของท่าน ย่อมที่จะไม่แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ทว่าพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่จะอยู่ร่วมเคียงข้างกับท่านในสรวงสวรรค์อันสูงสุด ซึ่งจะทำให้ดวงตาของท่านเปี่ยมไปด้วยความชื่นฉ่ำจากพวกเขาเหล่านั้น และสัญญา (การจัดตั้งรัฐบาลแห่งพระผู้เป็นเจ้า) ของท่านก็เช่นเดียวกัน จะสัมฤทธิ์ผลขึ้นมาได้ก็โดยผ่านพวกเขาเหล่านั้น
พึงสังวรเถิด สำหรับทุกคนที่พร้อมจะยอมพลีเลือดเนื้อในหนทางของเรา และพร้อมแล้วสำหรับการกลับคืนสู่พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจงเดินทางไปกับฉันเถิด และฉันจะเริ่มออกเดินทางในยามเช้านี้ หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ (อินชาอัลลอฮ์)” (3)
บทสรุป
การกล่าวปราศรัยและการเคลื่อนขบวนออกจากนครมักกะฮ์ในครั้งนี้ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ไม่เพียงแต่จะกล่าวถึงการเป็นชะฮีดของท่านเท่านั้น ท่านยังชี้แจงข้อปลีกย่อยและแง่มุมต่างๆ ที่ชัดเจนในเรื่องการเป็นชะฮีดของท่าน อีกทั้งยังอธิบายให้เห็นเรื่องราวที่จะต้องเกิดขึ้นกับบรรดาผู้ที่ร่วมติดตามท่านมา เพื่อว่าหากพวกเขามีความพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความพร้อมที่จะยอมพลีเลือดเนื้อของตนในหนทางแห่งอัลกุรอาน และปรารถนาที่จะพบกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พวกเขาก็จงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเถิด
ทั้งๆ ที่รู้ทำไมท่านอิมามฮูเซน (อ.) จึงยอมถูกสังหาร
มีอีกคำถามหนึ่งที่มักจะถามกันในทุกยุคสมัยว่า การเดินทางเพื่อไปเป็นชะฮีดและการยอมมอบชีวิตของตนยังความตาย ทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วนั้นจะมีความหมายและมีคุณค่าอันใด การรักษาเลือดเนื้อและชีวิตของตนเองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เลือดเนื้อและชีวิตที่บริสุทธิ์เช่นท่านอิมามฮูเซน (อ.) ซึ่งมิใช่หน้าที่จำเป็นที่อิสลามกำหนดไว้หรือ
คำตอบโดยสรุปก็คือ “ญิฮาด” เป็นบทบัญญัติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของอิสลาม และการเป็น “ชะฮีด” เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของมุสลิมทุกคน ในอัลกุรอานอันจำเริญมีโองการจำนวนนับร้อยโองการที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการญิฮาดและการเป็นชะฮีด และไม่มีโองการใดๆ เลยที่ชี้ให้เป็นว่า การต่อสู้ (ญิฮาด) จะต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า จะต้องรู้และมั่นใจในชัยชนะข้างหน้าเสียก่อน ตรงกันข้าม การต่อสู้และการยอมพลีชีพในการเผชิญหน้ากับศัตรูของอิสลาม และการเป็นชะฮีดในหนทางที่จะทำให้สัจธรรมดำรงอยู่ตามจุดมุ่งหมายนั้น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสไว้ว่า
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงซื้อจากมวลผู้ศรัทธา ซึ่งชีวิตของพวกเขาและทรัพย์สินของพวกเขา โดยการแลกเปลี่ยนกับพวกเขาด้วยกับสรวงสวรรค์ โดยที่พวกเขาต่างทำการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ พวกเขาจะฆ่าและจะถูกฆ่า อันเป็นสัญญาที่สัจจริงสำหรับพระองค์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในคัมภีร์เตารอต อินญีล และอัลกุรอาน และผู้ใดเล่าที่จะรักษาไว้ซึ่งสัญญาของเขาได้ดียิ่งไปกว่าอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าทั้งหลายจงปีติยินดีต่อการค้าของพวกเจ้า ซึ่งพวกเจ้าได้ตกลงซื้อขายกับพระองค์ และนั่นคือความสำเร็จอันใหญ่หลวง” (4)
ในโองการถัดไป พระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะอันสูงส่ง และทรงคุณค่าเก้าประการของบรรดาผู้ศรัทธา ผู้ที่ยอมถวายชีวิตและยอมพลีเลือดเนื้อของตนต่อพระองค์
ในฐานะที่พวกเขาคือผู้ที่รักษาปกป้องข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) หมายความว่า การรักษาและการปกป้องบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) นั่นเองที่เป็นตัวเร่งเร้าให้พวกเขายอมพลีชีพและเลือดเนื้อของตนเอง ดังที่เราจะสามารถพิจารณาได้จากโองการดังกล่าว ซึ่งเหมือนกับหลายๆ โองการที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ญิฮาด” ที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับชัยชนะเสมอไป ในทางกลับกัน บางครั้งพวกเขาก็เป็นฝ่ายฆ่าและบางครั้งก็ถูกฆ่า
ประวัติศาสตร์และเรื่องราวการดำเนินชีวิตของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) เป็นประจักษ์พยานและสนับสนุนประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าการทำสงครามหลายต่อหลายครั้งนั้น ท่านนำกองทัพมุสลิมเข้าต่อสู้กับกองทัพของศัตรูซึ่งมีกำลังพลเหนือกว่ากองทัพมุสลิมเป็นจำนวนมาก บางครั้งท่านต้องสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่สุดของครอบครัวและญาติพี่น้องของท่าน หากการทำสงครามสามารถกำจัดศัตรูของอิสลามลงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว แน่นอนเหลือเกินว่า การเป็นชะฮีดและการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) จะต้องสูญเสียความหมายและเจตนารมณ์ที่แท้จริงไปอย่างแน่นอน
หากภารกิจอันสำคัญในการญิฮาดเพื่อหนทางของอัลลอฮ์ (ซบ.) นี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่จำเป็นประการหนึ่งสำหรับประชาชาติมุสลิมแล้ว สำหรับตัวท่านอิมามฮูเซน (อ.) ผู้ที่อยู่ในฐานะของผู้ปกป้องรักษาอัลกุรอานและเป็น “สาเหตุแห่งการคงอยู่” หมายถึง เป็นพลังแห่งการปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งอิสลาม หน้าที่ดังกล่าวก็ย่อมจะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับท่านเกินกว่าจะจินตนาการได้
หากท่านอิมาม (อ.) ไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว และยอมสูญเสียความไพบูลย์และความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้ไป แล้วใครเล่าที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ หากท่านอิมาม (อ.) ไม่ปกป้องข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ด้วยการยอมพลีเลือดเนื้อและชีวิตของท่าน และบรรดาผู้ที่เป็นที่รักของท่าน แล้วจะมีใครอีกเล่าที่จะเป็นผู้ปกป้องและรักษาไว้ซึ่งข้อกำหนดและบทบัญญัติต่างๆ
แน่นอน ฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้เลือกเอาสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เหมาะสมในการค้าที่เต็มไปด้วยผลกำไรดังกล่าว และท่านได้มองเห็นผลกำไรที่จะได้รับอย่างแน่นอนจากการค้าครั้งนี้ นั่นคือการปลดปล่อยอิสลามและประชาชาติมุสลิม การปลดปล่อยอัลกุรอานและแบบฉบับต่างๆ ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้รอดพ้นจากอำนาจครอบงำของพรรคพวกแห่งยาซีดทั้งหลาย และเป็นการปรับปรุงแก้ไขและพลิกหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ดังนั้นจะมีผลกำไรอะไรอีกเล่าที่จะเลอเลิศยิ่งไปกว่านี้ ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงได้ตัดสินใจที่จะปฏิบัติภารกิจดังกล่าว
คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อ “อิบนิ อับบาส”
คำเสนอแนะในเชิงคัดค้านการเดินทางของท่านอิมาม (อ.) : เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) ตัดสินใจประกาศการเดินทางของท่านสู่แผ่นดินอิรัก หลายคนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเดินทางในครั้งนี้ และเสนอแนะต่อท่านให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทาง เหตุผลต่างๆ ของผู้ที่ปรารถนาดีที่นำมาเสนอแนะต่อท่านนั้น เป็นเพราะการมีหัวใจที่ชอบบิดพลิ้วสัญญา และความไม่แน่นอนที่ครอบงำจิตใจของประชาชนชาวเมืองกูฟะฮ์นั่นเอง ทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชาวกูฟะฮ์มีอัธยาศัยในการต้อนรับที่ดี แต่เป็นผู้ร่วมทางที่เลว” บุคคลเหล่านี้ต่างคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า การเดินทางในครั้งนี้จะต้องลงเอยที่การถูกสังหารของท่านอิมาม (อ.) และบุคคลในครอบครัวของท่านจะถูกจับเป็นเชลย
แม้ว่าการคาดการณ์ล่วงหน้าของพวกเขาจะถูกต้องก็ตาม แต่พวกเขาได้มองและวิเคราะห์ปัญหาเพียงด้านเดียว จึงได้พยายามยับยั้งท่านอิมามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ท่านรอดพ้นจากการถูกสังหาร ซึ่งตามความเชื่อของพวกเขานั้น สิ่งนี้คือความพ่ายแพ้ของอิสลามและประชาชาติมุสลิม
แต่ในมุมมองของท่านอิมาม (อ.) นั้นเป็นอีกด้านหนึ่งของปัญหา นั่นคือสิ่งที่โองการในอัลกุรอานนับสิบๆ โองการ ที่กล่าวถึงและย้ำเตือนแก่ประชาชาติมุสลิมให้เห็นความสำคัญของการ “ญิฮาด” โดยท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการนี้คือ
“การรบพุ่งนั้นถูกกำหนดไว้เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย ในขณะที่มันคือความน่ารังเกียจสำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย”
(บทอัล บากอเราะฮ์ โองการที่ 216)
“ดังนั้น พวกเจ้าทั้งหลายจงต่อสู้กับพลพรรคของมารร้ายเถิด”
(บทอันนิซาอ์ โองการที่ 76)
ในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านอิมาม (อ.) มองเห็นสถานการณ์และตรวจสอบสภาพเงื่อนไขต่างๆ ในที่สุดก็ได้บทสรุปว่า “ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำสงครามกับพรรคพวกและมิตรสหายของมารร้าย และในขณะนี้จะมีใครอีกเล่าในหน้าแผ่นดินนี้ ที่จะเป็นตัวแทนและสหายของมารร้ายที่เลวร้ายยิ่งไปกว่ายะซีด การต่อสู้กับเขาถือเป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับฉันยิ่งกว่ามุสลิมคนใดในฐานะผู้นำแห่งประชาชาติ และเป็นผู้ปกป้องรักษาอิสลาม”
ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านได้ปราศรัยกับบรรดาสหายของท่านอย่างชัดแจ้งว่า “ทุกคนที่พร้อมที่จะยอมพลีเลือดเนื้อของตนเองในหนทางของเรา ซึ่งเป็นหนทางที่จะเป็นการชูธงแห่งอิสลาม และใครก็ตามที่เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการเป็นชะฮีดและการกลับไปพบกับอัลลอฮ์ (ซบ.) ดังนั้น จงเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางเถิด”
ดังนั้นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมถึงระดับดังกล่าว ผู้ซึ่งโลกนี้ในสายตาของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน และมองเห็นชีวิตในโลกหน้านั้นสำคัญและมีเกียรติกว่าสำหรับพวกเขา จึงตอบรับเสียงเรียกร้องเชิญชวนของท่านอิมาม และติดตามคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ไป
เช่นเดียวกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ทั่วไป ยังมีมุสลิมอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นแกนนำในหมู่พวกเขา ที่ไม่เพียงแต่ไม่ยอมเข้าร่วมในการเดินทาง ไม่ตอบรับคำเรียกร้องของท่านอิมาม (อ.) และไม่มีความปรารถนาในความสำเร็จและความไพบูลย์อันเป็นนิรันดรเพียงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การที่พวกเขาไม่มีความรู้และความเข้าใจที่ดีพอเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านอิมาม (อ.) และข้อเท็จจริงของการเดินทางของท่านในครั้งนี้ พวกเขาจึงคัดค้านการเดินทางของท่านอย่างเต็มที่
ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในมักกะฮ์และในระหว่างการเดินทาง แม้กระทั่งถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ พวกเขาได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการยับยั้งขบวนการอันยิ่งใหญ่นี้ เนื่องจากความปรารถนาดีและความคิดที่ต้องการแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น จนบางครั้งพวกเขาถึงกับใช้กำลังเข้าขัดขวางคาราวานของผู้เดินทางเหล่านั้น ในกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีทั้งเครือญาติของท่านอิมามเอง บุคคลอื่นๆ และแม้แต่ผู้ต่อต้านท่านก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ดังนั้นการคัดค้านดังกล่าวจึงเป็นทั้งการคัดค้านของสหายผู้เป็นที่รัก ที่ทำด้วยความห่วงใยและความปรารถนาดีที่มีต่ออิสลาม และต้องการรักษาชีวิตของท่านอิมาม (อ.) ไว้ และการคัดค้านของบรรดาศัตรูผู้รับใช้และสนองตอบเจตนารมณ์ของยะซีด รวมทั้งการยับยั้งขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านยาซีด พวกนี้หวังว่าหากท่านอิมาม (อ.) สนองตอบต่อข้อเสนอแนะของบรรดาผู้ปรารถนาดีเหล่านั้น ก็จะทำให้ความต้องการและความมุ่งหวังของบรรดาศัตรูเป็นจริงขึ้นมา ผลสุดท้ายข้อเสนอแนะของผู้ปรารถนาดีทั้งหลายก็จะกลับกลายมาเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตรงข้าม และจะเป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของพวกเขาเหล่านั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คำเสนอแนะเหล่านี้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ในนครมะดีนะฮ์ และเกิดขึ้นอีกในนครมักกะฮ์ เมื่อเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าท่านอิมาม (อ.) ตัดสินใจเดินทาง และในระหว่างการเดินทางจนถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ ท่านต้องเผชิญหน้ากับบุคคลมากมายจนนับไม่ถ้วน คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมะดีนะฮ์ที่ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ และเพื่อไม่ให้เป็นการออกนอกประเด็น เราจะนำเสนอเพียงบางส่วนของคำเสนอแนะเหล่านั้น ซึ่งคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ได้ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งหลาย และนี่คือสุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ต่อข้อเสนอแนะเหล่านั้น
คำเสนอแนะของอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ต่อท่านอิมามฮูเซน (อ.)
บุคคลหนึ่งที่ได้เข้าพบท่านอิมามฮูเซน (อ.) หลังจากที่ทราบข่าวว่าท่านประกาศการเดินทางของท่าน และได้เสนอให้ท่านเลิกล้มการเดินทางเสีย นั่นคือ “อับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส” เขาเริ่มต้นคำพูดของเขาว่า “โอ้บุตรแห่งลุงของฉัน แท้จริงฉันได้พยายามอดทนแล้ว แต่ทว่าฉันไม่สามารถอดทนได้จริงๆ เพราะฉันมีความหวาดกลัวว่าท่านจะต้องถูกสังหารในการเดินทางครั้งนี้ บรรดาลูกหลานของท่านก็จะต้องตกเป็นเชลยของศัตรู เพราะประชาชนชาวอิรักนั้นเป็นกลุ่มชนที่ชอบบิดพลิ้วสัญญา ไม่สมควรที่บุคคลใดจะไว้วางใจพวกเขา”
หลังจากนั้น อิบนิอับบาส กล่าวต่อไปอีกว่า “เพราะว่าท่านคือนายและเป็นผู้นำแห่งแผ่นดินฮิญาซ และเป็นที่เคารพของประชาชนชาวมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ตามความเชื่อมั่นของฉัน ฉันคิดว่าหากท่านเลือกที่จะอยู่ต่อไป ณ นครมักกะฮ์นี้จะดีกว่า และหากประชาชนอิรักเป็นดังที่พวกเขาแสดงออก ว่าพวกเขามีความต้องการในตัวท่าน และพวกเขาต่อต้านรัฐบาลของยะซีดจริงๆ แล้ว สิ่งแรกที่พวกเขาควรทำ คือการขับไล่ผู้ปกครองของยะซีดและศัตรูของพวกเขาออกไปจากเมืองของตนเสียก่อน หลังจากนั้นท่านจึงค่อยเดินทางไปยังพวกเขา”
อิบนิอับบาส กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า “แต่หากท่านยังคงยืนกรานที่จะเดินทางออกจากมักกะฮ์แล้ว เป็นการดีกว่าที่ท่านจะเดินทางสู่เยเมน เพราะนอกจากในเมืองนั้นจะมีชีอะฮ์ของบิดาของท่านอยู่มากมายแล้ว ยังเป็นที่ๆ ห่างไกลและเป็นที่กว้างขวางที่มีภูเขาสูงจำนวนมาก ท่านสามารถปฏิบัติตามความมุ่งมั่นของท่านเองต่อไปได้ โดยอยู่นอกเหนือจากอำนาจรัฐที่จะคอยควบคุมขัดขวาง ท่านจะได้เชิญชวนประชาชนเข้าสู่หนทางนี้ โดยการส่งจดหมายและผู้ถือสาส์นไปยังพวกเขา ด้วยวิธีนี้ฉันเชื่อมั่นว่าท่านจะไปถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ของท่านได้โดยปราศจากความทุกข์ยากใดๆ”
คำตอบของท่านอิมามต่อ “อิบนิอับบาส”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบเขาไปว่า “โอ้ บุตรแห่งลุงของฉัน แท้จริงฉันรู้ดีว่าท่านเป็นผู้ให้การชี้แนะด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ฉันตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก” (5)
เมื่ออิบนิอับบาส ได้ยินคำตอบดังกล่าวก็รู้ได้ทันทีว่าท่านอิมาม (อ.) ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว และไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแนะใดๆ ก็ไม่อาจทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงมิได้เสนอแนะใดๆ ต่อไป ได้กล่าวแต่เพียงว่า “เมื่อท่านตัดสินใจที่จะเดินทางอย่างแน่วแน่แล้ว ฉันขอร้องว่าท่านอย่าได้นำบรรดาผู้หญิงและเด็กๆ ร่วมเดินทางไปกับท่านด้วยเลย เพราะฉันกลัวว่าพวกเขาจะสังหารท่านต่อหน้าบุคคลเหล่านี้”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบกลับไปอีกว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แท้จริงบรรดาผู้หญิงและเด็กจะไม่ละทิ้งไปจากฉัน จนกระทั่งบรรดาศัตรูได้หลั่งเลือดฉัน และเมื่อศัตรูได้กระทำการดังกล่าวแล้ว อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงให้บุคคลผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา ที่จะนำความต่ำต้อยและความไร้เกียรติมาสู่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาได้กลายเป็นผู้ต่ำต้อยและไร้เกียรติ ยิ่งกว่าผ้าที่ใช้ซับเลือดประจำเดือนของสตรีเสียอีก” (6)
สรุป
ความหนักแน่นและความมั่นคงในการเป็นผู้นำจากสุนทรพจน์ดังกล่าว ทำให้เราประจักษ์ถึงความศรัทธามั่นของท่านอิมาม (อ.) ต่อเจตนารมณ์และเป้าหมายของท่าน ความหนักแน่นในการเป็นผู้นำที่จะนำพาท่านไปสู่เป้าหมาย ทั้งที่ท่านเองก็เชื่อมั่นในคำทักท้วงและความปรารถนาดีของอิบนิอับบาส ผู้เป็นบุตรของลุงของท่าน ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้ท่านได้รับรู้อย่างถูกต้อง แต่ท่านอิมาม (อ.) กลับกล่าวกับเขาว่า “ฉันจะมุ่งหน้าไปบนหนทางดังกล่าวนี้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคใดๆ ก็ตาม”
เมื่ออิบนิอับบาส ได้เตือนท่านในการที่จะนำเอาผู้หญิงและเด็กๆ ไปด้วย ท่านอิมาม (อ.) ก็ตอบเขาไปอย่างหนักแน่นและมั่นคง และนี่คือความหมายของคำว่า “อิมามัต” และการเป็นผู้นำที่ไม่มีสิ่งใดจะมาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่และความรับผิดชอบได้
คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ต่อ “อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์”
อีกผู้หนึ่งที่ได้เสนอแนะให้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก คืออับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาลยาซีด ความจริงแล้วเขาก็คือนักต่อสู้คนหนึ่ง และเหตุนี้ทำให้เขาต้องหนีออกจากมะดีนะฮ์ไปยังมักกะฮ์ เมื่อท่านอิมามเข้าสู่มักกะฮ์แล้วเขาก็ไปมาหาสู่ยังที่พักของท่านอิมามทุกวัน หรือไม่ก็หาเวลาหนึ่งไปเหมือนกับบรรดามุสลิมคนอื่นและร่วมสนทนากับท่าน เมื่อเขาได้ทราบข่าวที่แน่ชัดถึงการตัดสินใจของท่านอิมาม (อ.) ที่จะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก เขาได้มาพบท่านอิมาม (อ.) โดยเสนอแนะให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางครั้งนี้เสีย
และตามรายงานของ บะลาดุรีย์ และฏ็อบรีย์ คำพูดของอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ เป็นคำพูดสองแง่สองมุม เพราะเขาได้กล่าวว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ หากแม้นว่าข้าพเจ้ามีพรรคพวกอยู่ในแผ่นดินอิรักเหมือนกับบรรดาชีอะฮ์ของท่านแล้ว ข้าพเจ้าก็จะเลือกไปยังสถานที่แห่งนั้นก่อนสถานที่อื่นเช่นเดียวกัน”
เพื่อไม่ให้เกิดความคลุมเครือ อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ได้พูดเสริมคำพูดของตนต่อไปว่า “แต่ทว่าในสภาพการณ์เช่นนี้ หากท่านเลือกที่จะดำรงอยู่ต่อไปในมักกะฮ์และยังคงปรารถนาที่จะดำรงความเป็นอิมามและเป็นผู้นำในเมืองนี้ต่อไปแล้ว เราก็พร้อมที่จะให้สัตยาบันต่อท่าน และตราบเท่าที่ยังคงเป็นไปได้ เราจะไม่หยุดยั้งการสนับสนุนและการเป็นผู้ร่วมคิดกับท่าน”
ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบเขาไปว่า “บิดาของฉันได้บอกข่าวแก่ฉันว่า แท้จริงจะมีแกะตัวหนึ่งอยู่ในแผ่นดินมักกะฮ์ ซึ่งแกะตัวนี้จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมักกะฮ์ถูกทำลายลง ดังนั้นฉันไม่ปรารถนาที่จะเป็นแกะตัวนั้น (ซึ่งจะถูกเชือดในแผ่นดินมักกะฮ์) และหากฉันจะต้องถูกสังหารนอกเขตมักกะฮ์แม้เพียงคืบหนึ่ง ก็ยังเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหาร ณ แผ่นดินนี้ และหากฉันจะต้องถูกสังหารนอกเขตมักกะฮ์ออกไปถึงสองคืบ ก็จะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งไปกว่าการถูกสังหารห่างออกไปจากมันเพียงคืบเดียว”
ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวเสริมคำพูดของท่านต่อไปว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) แม้ว่าฉันจะหลบหนีเข้าไปอยู่ในรูของสัตว์ก็ตาม พวกเขาก็จะนำตัวฉันออกมาเพื่อสังหารให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเขา ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า พวกเขาจะต้องล่วงเกินฉันอย่างแน่นอน เหมือนกับที่บรรดาพวกยะฮูดีได้ล่วงละเมิดและทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของวันเสาร์ (อันเป็นวันสำคัญทางศาสนาของพวกเขา)”
หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า “โอ้ บุตรของซุบัยร์ หากฉันจะถูกฝังลง ณ ชายฝั่งฟุรอต (ยูเฟรติส) แล้ว มันจะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่จะถูกฝังลง ณ ลานแห่งกะบะฮ์นี้”
อิบนิ เกาลูยะฮ์ ได้รายงานว่า ภายหลังจากที่อับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ ออกไปจากวงสนทนา ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวขึ้นว่า “แท้จริงชายผู้นั้นกำลังจะบอกกับฉันว่า ท่านจงเป็นหนึ่งจากนกพิราบทั้งหลายที่ใช้ฮะรอมเป็นที่พักพิงเถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า หากฉันจะต้องถูกสังหารในสถานที่ที่ห่างไกลออกไปจากฮะรอมนี้เพียงหนึ่งศอก ย่อมเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหารโดยห่างจากมันเพียงคืบเดียว และหากว่าฉันจะถูกสังหาร ณ แผ่นดินฏ็อฟ (กัรบะลาอ์) มันย่อมจะเป็นที่ปรารถนาสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ฉันจะถูกสังหาร ณ ฮะรอมแห่งนี้”
รายงานจากฏ็อบรีย์และอิบนิอะซีร หลังจากที่อิบนิซุบัยร์ออกไปแล้ว ท่านอิมาม (อ.) กล่าวแก่สาวกของท่านว่า “แท้จริงบุคคลผู้นี้ (แม้ว่าเขาจะแสดงความปรารถนาที่จะให้ฉันอยู่ต่อไปในมักกะฮ์ แต่ความเป็นจริงแล้ว) ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะเป็นที่รักยิ่งสำหรับเขามากไปกว่าการที่ฉันจะออกไปให้พ้นจากแผ่นดินฮิญาซ เพราะเขารู้ดีว่าแท้จริงแล้วประชาชนจะไม่ให้ความสำคัญแก่เขาเท่าเทียมกับฉัน เขาปรารถนาที่จะให้ฉันออกไปเพื่อที่จะได้เป็นการเปิดทางให้กับตนเอง” (7)
บทสรุป
แม้ว่าท่านอิมาม (อ.) จะมิได้กล่าวพาดพิงถึงอดีตของอิบนิซุบัยร์ และจุดยืนของเขาในการต่อต้านการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) และมิได้กล่าวถึงสงครามแห่งเมืองบัศเราะฮ์ ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นเพื่อโค่นล้มและกำจัดรัฐบุรุษเยี่ยงท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) โดยตรง ในสงครามนี้อิบนิซุบัยร์เป็นแกนนำคนสำคัญและเป็นเสาหลักของแผนการนี้ อย่างไรก็ตาม ท่านได้แสดงให้เห็นเส้นทางเดินแห่งอนาคตของท่านและของอิบนิซุบัยร์ให้เราได้รับรู้จากคำพูดของท่าน
ในเรื่องของจุดยืนของท่านนั้นท่านได้กล่าวว่า “ไม่ว่าฉันจะอยู่ในมักกะฮ์หรือจะอยู่ในสถานที่ใด หรือแม้ฉันจะหลบเข้าไปอยู่ในรูของสัตว์ก็ตาม คนของรัฐบาลนี้ก็จะไม่วางมือจากฉัน และความขัดแย้งของฉันที่มีต่อรัฐบาลนี้ก็ไม่สามารถที่จะประนีประนอมได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาปรารถนาจากฉันนั้น ฉันไม่สามารถจะอดทนแบกรับมันได้ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ฉันต้องการจากพวกเขาก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มีความพร้อมที่จะยอมรับได้เช่นกัน”
การที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวอ้างถึง “ชายฝั่งแม่น้ำฟุรอต” (ยูเฟรติส) และชื่อหนึ่งของแผ่นดินกัรบะลาอ์ สะท้อนให้เห็นสิ่งต่างๆ อีกหลายประการ
ท่านยังได้เตือนสติอิบนิซุบัยร์อีกว่า “บิดาของฉันได้กล่าวว่า ด้วยสาเหตุของแกะเพียงตัวเดียวที่เกียรติยศแห่งบัยตุลลอฮ์และความศักดิ์สิทธิ์ของฮะรอมแห่งนี้จะต้องถูกทำลายลง และเพื่อที่จะไม่ให้แกะตัวนั้นเป็นฉัน และเพื่อมิให้ความเสื่อมเสียและความน่าตำหนิแม้เพียงเล็กน้อยที่จะเกิดขึ้นกับกะบะฮ์และฮะรอมแห่งนี้ โดยเหตุจากการหลั่งเลือดของฉัน ดังนั้นฉันจำต้องออกไปจากเมืองนี้เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเกียรติยศแห่งฮะรอมและกะอ์บะฮ์นี้ แม้ว่าฉันจะถูกสังหารห่างออกไปจากบ้านของอัลลอฮ์ (ซบ.) แห่งนี้เพียงคืบเดียวก็ตาม ย่อมจะเป็นการดีกว่าที่ฉันจะถูกสังหารลง ณ ที่นั้น และเจ้าก็ไม่สมควรที่จะพึงพอใจในอนาคตของเจ้าด้วย ที่เพียงแต่ความมุ่งหวังที่จะมีชีวิตรอดของเจ้า ก็ทำให้เจ้าต้องทำตัวเหมือนนกพิราบที่ยึดเอาบ้านอันศักดิ์สิทธิ์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) มาเป็นที่พักพิงของเจ้า และในที่สุดเจ้าจะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียและการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านแห่งนี้ไป”
เหตุการณ์ที่เป็นจริงตามความคาดการณ์ของท่านอิมาม (อ.)
อิบนิซุบัยร์ มิได้ใส่ใจต่อคำตักเตือนของท่านอิมาม (อ.) แต่อย่างใด หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้บัยตุลลอฮ์ต้องถูกกระหน่ำด้วยก้อนหินถึงสองคราว (ช่วงเวลาเพียง 30 ปี) ทำให้เกิดไฟไหม้และการพังทลายในสถานที่นั้น ซึ่งการคาดการณ์ล่วงหน้าของท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ได้กลายเป็นจริง
เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงสามปี หลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ซึ่งตรงกับวันที่ 3 รอบิอุลเอาวัล ปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 64 เนื่องจากอิบนิซุบัยร์ไม่ยอมให้สัตยาบันต่อยะซีด ดังนั้นหลังจากสงคราม “ฮุรรอฮ์” เมื่อการสังหารและการปล้นสะดมชาวเมืองมะดีนะฮ์ได้ยุติลง ทหารของยะซีดได้เคลื่อนพลมุ่งสู่มักกะฮ์โดยมีเป้าหมายที่จะโค่นล้มอิบนิซุบัยร์ กองทหารได้ปิดล้อมเมืองมักกะฮ์ไว้ เมื่ออิบนิซุบัยร์เข้าไปหลบภัยในอาคารกะอ์บะฮ์เพื่อเอาตัวรอด ทหารที่ปิดล้อมจึงตีวงแคบเข้ามาและยิงก้อนหินจำนวนมากเข้าไปในมัสยิดิลฮะรอมและถูกตัวอาคารกะอ์บะฮ์ ทหารเหล่านั้นยังได้เหวี่ยงคบเพลิงเข้าไปอีกด้วย ซึ่งผลจากการกระทำครั้งนี้ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารกะบะฮ์พังทลายลงมา ผ้าคลุมอาคาร เพดาน และเขาของแกะที่ถูกส่งมาจากสวรรค์เพื่อใช้เชือดพลีแทนศาสดาอิสมาอีล (อ.) ก็ถูกเผาทำลายไปด้วย และในระหว่างการโจมตีอย่างดุเดือดนี้เอง ข่าวการตายของยาซีดก็มาถึงมักกะฮ์ ทำให้ทหารเหล่านั้นกระจัดกระจายกันไป หลังจากนั้นอิบนิซุบัยร์ได้บูรณะซ่อมแซมอาคารกะอ์บะฮ์ขึ้นมาใหม่
ส่วนเหตุการณ์ครั้งที่สอง เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของยะซีด อิบนิซุบัยร์ได้เรียกร้องให้ประชาชนมาให้สัตยาบันแก่ตนเอง และมีผู้คนทยอยกันมาให้สัตยาบันกับเขา จนกระทั่งมาถึงปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 73 ซึ่งเป็นช่วงสมัยการปกครองของอับดุลมาลิก เขาได้ส่งฮัจญาจ บินยูซุฟ มาโค่นอิบนิซุบัยร์ ดังนั้นฮัจญาจพร้อมด้วยกองทหารจำนวนหลายพันคนจึงเข้าปิดล้อมมักกะฮ์ไว้ ในการปิดล้อมครั้งนี้อิบนิซุบัยร์ได้เข้าไปหลบอยู่ในอาคารกะอ์บะฮ์เป็นเวลานานหลายเดือน ในที่สุดฮัจญาจก็มีคำสั่งให้ยิงลูกหินเข้าไปในมัสยิดิลฮะรอมจากห้าจุดด้วยกัน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่ออาคารกะอ์บะฮ์ ซึ่งตามรายงานของนักประวัติศาสตร์บางท่าน อาคารกะอ์บะฮ์ได้พังทลายลงอย่างราบคาบ และอิบนิซุบัยร์ก็ถูกสังหารในสงครามครั้งนี้ หลังจากนั้นฮัจญาจ บินยูซุฟก็บูรณะซ่อมแซมกะอ์บะฮ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (8)
การเอาอิสลามเป็นโล่คุ้มกัน กับการเป็นโล่คุ้มกันอิสลาม
ประเด็นหลักและเป็นประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่งจากคำพูดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ต่ออิบนิซุบัยร์ และจากการเปรียบเทียบแนวทางของท่านอิมามและพฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์ เป็นการจำแนกแยกแยะให้เห็นถึงขบวนการยืนหยัดต่อสู้ที่เกิดขึ้นในช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ความแตกต่างและจุดเด่นของแต่ละขบวนการต่อสู้เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบุรุษสองคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ในสังคมและสภาพแวดล้อมเดียวกัน และกล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้ต่อสู้กับความอธรรมและความเลวร้ายต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลทั้งสองยังเริ่มต้นการต่อสู้ของตนจากนครมะดีนะฮ์ และเคลื่อนตัวสู่มักกะฮ์ด้วยเช่นเดียวกัน (9)
เมื่อเวลาและสภาพการณ์ต่างๆ ผ่านไป จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สำหรับบุคคลหนึ่ง การที่จะไปให้ถึงอำนาจการเป็นผู้นำและรักษาฐานะของตำแหน่งของตนนั้น เขาได้ใช้กะอ์บะฮ์เป็นปราการและโล่กำบังสำหรับตนเอง ในขณะที่อีกบุคคลหนึ่งได้เอาตนเอง ครอบครัวและผู้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของตน เป็นปราการคุ้มกันและเป็นโล่กำบังให้แก่กะอ์บะฮ์ซึ่งเป็นบ้านของพระผู้เป็นเจ้า ผู้หนึ่งพลีอิสลามให้กับฐานะและตำแหน่งชื่อเสียงของตนเอง ในขณะที่อีกผู้หนึ่งยอมพลีเลือดเนื้อของตนเพื่อปกป้องรักษาบ้านแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลกะอ์บะฮ์)
สรุปแล้วบุคคลหนึ่งเรียกร้องเชิญชวนไปสู่ตนเอง ในขณะที่อีกคนหนึ่งเรียกร้องเชิญชวนไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างประการหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสาเหตุแห่งความสับสนและความผิดพลาด ของผู้ที่มีความคิดและวิสัยทัศน์ที่คับแคบในทุกยุคสมัย พวกเขาไม่สามารถจำแนกความถูกผิดที่แท้จริงได้เลย ว่าการคัดค้านและการต่อต้านที่อิบนิซุบัยร์ปฏิบัติต่อยาซีดนั้นมีเป้าหมายและเจตนารมณ์อันใดติดตามมา ซึ่งตามรูปแบบภายนอกแล้วทั้งสองฝ่ายต่างก็ต่อต้านยาซีดและพวกพ้อง และเป็นการต่อสู่ในหนทางแห่งอิสลาม
หากอิบนิซุบัยร์เป็นผู้สัจจริงต่อคำกล่าวอ้างของตน และมุ่งมั่นในการต่อสู่ในหนทางของอิสลามจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อปกป้องรักษาความเป็นผู้นำและฐานะส่วนตนแล้ว เขาก็จะต้องรีบเร่งในการต่อสู้กับศัตรูก่อนหน้าอิมามฮูเซน (อ.) เสียอีก ไม่ใช่ปล่อยให้ตนเองต้องถูกฆ่าตายเยี่ยงนกพิราบที่พักพิงอยู่ ณ ฮะรอม ในขณะเดียวกัน ก็ปรารถนาที่จะให้อิมามฮูเซน (อ.) ออกไปให้พ้นจากเขตแคว้นฮิญาซ เพราะเขาตระหนักดีว่า การคงอยู่ของอิมามฮูเซน (อ.) ในแผ่นดินฮิญาซ จะทำให้ไม่มีใครสามารถก้าวสู่เวทีการเมืองได้เลย
ใช่แล้ว! ไม่มีใครเลยที่จะสนใจเขา ดังนั้นเจตนารมณ์ของอิบนิซุบัยร์ในการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ การที่จะได้มาซึ่งอำนาจแห่งการเป็นผู้นำ และเพื่อการดึงดูดความสนใจจากประชาชน เป็นการแสวงหาผลประโยชน์และการครอบงำบุคคลเหล่านั้น
พฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์
พฤติกรรมของอิบนิซุบัยร์เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงเนื้อแท้ของความขัดแย้ง และข้อเท็จจริงของการต่อสู้ของเขากับพรรคพวกของยาซีด (หากสามารถเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้) ในขณะหนึ่งเขาต้องหลบหนีออกจากมะดีนะฮ์ เนื่องจากการต่อต้านยะซีดและไปพำนักอยู่ในมักกะฮ์ แต่อีกขณะหนึ่ง ในช่วงที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ต้องการปลดปล่อยมุสลิมให้พ้นจากการครอบงำจากบรรดาสหายของอุษมาน และต้องการให้พวกเขาหลุดพ้นจากความต่ำต้อยและความไร้เกียรติทั้งหลายในอดีต และปรารถนาที่จะให้อิสลามปลอดภัยจากการบิดเบือนและการอุตริ (บิดอะฮ์)
เมื่อท่านอิมามอะลี (อ.) จะตัดมือผู้ที่ปล้นสะดมและฉวยโอกาสจากบัยตุ้ลมาน อิบนิซุบัยร์ผู้นี้เองที่กลายเป็นจุดหมายในการหลบภัยของบรรดามุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) เป็นแหล่งซ่องสุมของพวกนากีซีน (ผู้ละเมิดสัตยาบัน) และเป็นเกราะคุ้มกันให้พวกมาริกีน (พวกนอกรีตหรือคลอวาริจญ์) โดยการจัดตั้งพลพรรคและเตรียมแผนการชั่วร้ายขึ้นในนครมักกะฮ์ และเขาได้นำแผนการร้ายดังกล่าวไปปฏิบัติในเมืองที่อยู่ห่างไกลที่มีชื่อว่า “บัศเราะฮ์” โดยใช้บรรดาผู้ต่อต้านและผู้ครองนครที่ถูกปลดออกจากอำนาจ (10) รวมทั้งบรรดามุสลิมที่โง่เขลาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (11) ต้องตกเป็นเครื่องมือในการประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) เขาได้ลุกขึ้นต่อต้านอิสลามโดยใช้สัญลักษณ์ของอิสลาม โดยอาศัยมุสลิมผู้อ่อนแอกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในอุ้งมือของคนเหล่านั้นตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองของอุษมาน และพวกนี้ที่ทำให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ขึ้น
แต่ด้วยสาเหตุของอดีตที่รุ่งโรจน์ของท่านอิมามอะลี (อ.) และการเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องอิสลามนั่นเองที่เป็นเครื่องยับยั้งสัญลักษณ์จอมปลอมในคราบของอิสลาม ที่มุ่งหวังจะทำลายท่านได้อย่างอัตโนมัติ สำหรับการโค่นล้มรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) นั้น พวกเขาใช้จุดโจมตีสองประเด็น ซึ่งความจริงประเด็นดังกล่าวนั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับท่านอิมามอะลี (อ.) เลย อย่างไรก็ตามมันก็กลายเป็นอาวุธที่ร้ายกาจที่สุดในการโจมตีและปักปรำท่าน
ประเด็นแรก คือการแก้แค้นให้อุษมาน ซึ่งพวกเขาได้กล่าวอ้างว่าเป็นสหายและผู้ที่อยู่รอบข้างท่านคือผู้ที่ลอบสังหารอุษมาน และท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นไม่เพียงแต่จะต้องกำจัดคนสนิทของท่าน อย่างเช่น มาลิก อัชตัร และอัมมาร บินยาซีร เท่านั้น แต่ท่านจะต้องจับบุคคลเหล่านี้และส่งมอบให้กับผู้ที่ปฏิวัติอีกด้วย
ประเด็นที่สอง เป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อเป็นภาพลวงตาประชาชนด้วยคำพูดที่ว่า “เสรีภาพและการปกครองเป็นของประชาชน” ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้กล่าวหาว่าระบบการปกครองของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นระบบเผด็จการและเป็นการจำกัดอำนาจ พวกเขาต่างพูดกันว่า เรามิได้มีความเป็นศัตรูกับอะลี แต่เขาจะต้องละมือออกจากกการปกครอง และประชาชาติมุสลิมจะคัดเลือกบุคคลที่พวกเขาต้องการขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองและเป็นผู้นำของเขาโดยอิสระและปราศจากเงื่อนไขใดๆ
แม้ว่าแผนการอันชั่วร้ายของอิบนิซุบัยร์ จะถูกกำจัดไปพร้อมกับการหลั่งเลือดมุสลิมจำนวนมากกว่าสามพันคน (12) และแม้อิบนิซุบัยร์เองจะกลายเป็นที่ชิงชังของประชาชนจนต้องเก็บตัวเงียบไปชั่วระยะหนึ่งก็ตาม แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าแผนการดังกล่าวนี้เองที่เป็นชนวนและสาเหตุของการเกิดสงครามซิฟฟินและสงครามนะฮ์ระวาน การเป็นชะฮีดของท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เป็นผลพวงมาจากแผนการอันเลวร้ายในการต่อต้านอิสลามในครั้งนี้เช่นกัน (ซึ่งตามความคิดของผู้ไร้สติปัญญานั้นถือว่าการกระทำดังกล่าวนั้นคืออิสลามที่สมบูรณ์แบบ)
สรุปได้ว่า ถึงแม้อิบนิซุบัยร์จะไม่ยอมเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของยาซีด เพียงเพื่อจะรักษาอำนาจของการเป็นผู้นำ และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นประโยชน์ทางด้านวัตถุและเป็นการสวมเขาให้กับประชาชนก็ตาม ในขณะเดียวกันเขาก็ยังทำทุกวิถีทางที่จะโค่นล้มรัฐบาลของท่านอิมามอะลี (อ.) เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น อิบนิซุบัยร์ผู้ที่แสดงตนว่าเป็นผู้ต่อต้านยะซีด และกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องทางศาสนาและการเมืองผู้นี้ ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ผู้คนที่ไม่มีความรู้เท่าทัน ต่างกรูกันมาให้สัตยาบันต่อเขา แทนการให้สัตยาบันต่อท่านอิมามอะลี บินฮูเซน (อ.) (อิมามซัยนุลอาบิดีน) และมอบความรักให้แก่เขาในฐานะผู้นำที่มีความเฉลียวฉลาดคนหนึ่ง
ในวันซึ่งมักกะฮ์และสนามแห่งการเมืองไร้อิมามฮูเซน (อ.) และยะซีด จึงเป็นวันที่เขาได้รับความสมหวังสูงสุด แต่เขาก็ยังไม่วางมือจากแผนการชั่วร้าย โดยการแสดงการดื้อด้านและเป็นศัตรูต่อบุคคลในครอบครัว (อะฮ์ลุลบัยต์) ของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) นั่นคือในช่วงเวลาที่เขาเป็นผู้นำในมักกะฮ์ซึ่งห่างไกลจากรัฐบาลของยะซีดและอับดุลมาลิก เขาได้ละเว้นการกล่าวนามของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในการอ่านคุฏบะฮ์ (คำเทศนา) ในนมาซญุมอะฮ์ เมื่อได้รับการคัดค้านจากประชาชน เขาให้คำตอบว่า “เพราะว่าท่านศาสนทูตนั้นมีเครือญาติและลูกหลานที่ไม่ดีและเป็นคนชั่วร้ายอยู่ในหมู่มุสลิม การกล่าวนามของท่านจะทำให้พวกเขาเกิดการลำพองตนและมีหน้ามีตา ฉันจึงยับยั้งการเอ่ยนามของท่านศาสนทูต เพื่อจะได้ทำลายความลำพองของพวกเขาให้หมดไป” (13)
(โปรดติดตาม ภาค 2 ตอนที่1 : สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) จากมักกะฮ์ถึงกัรบะลาอ์)
เชิงอรรถ :
(1) มุรูญุซซะฮับ เล่ม 2 หน้า 79
(2) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 237, อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 204, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 196
(3) อัล ลุฮูฟ หน้า 53, มุซีรุล อะฮ์ซาน หน้า 21
(4) บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 111
(5) อันซาบุล อัซรอฟ เล่ม 8 หน้า 162, ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 270, อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 4 หน้า 39
(6) อิบนิอะซีร หลังจากอ้างคำพูดนี้ของท่านอิมาม (อ.) ไว้ในหนังสือ “กามิล” เขาได้อธิบายความหมายของคำว่า “ผ้าซับเลือดประจำเดือน (ฟิ-รอม)” ไว้ดังนี้ “ชิ้นส่วนของผ้าที่ผู้หญิงใส่ไว้ในอวัยวะด้านหน้าของเธอขณะมีประจำเดือน”
(7) อันซาบุลอัชรอฟ เล่ม 3 หน้า 164, ฏ็อบรีย์ เล่ม 5 หน้า 383, อัลกามิล อิบนิอะซีร เล่ม 4 หน้า 38, กามิลุซ ซิยารอต หน้า 88
(8) สรุปจากอัลกามิล อิบนิอะซีร, อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์ และตารีคุล คุลาฟาอ์
(9) หรือไม่ทั้งสองก็อาจถูกจำคุกเหมือนกัน
(10) ตัวอย่างดังกล่าว เช่น ฏ็อบรีย์ ได้รายงานว่า ยะอ์ลี บินอุมัยยะฮ์ ผู้ปกครองของอุษมานที่เมืองเยเมน ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในช่วงการปกครองของท่านอะลี (อ.) เขาเข้ามักกะฮ์พร้อมด้วยทรัพย์สินจำนวนมากและอูฐถึง 400 ตัว เพื่อช่วยเหลือผู้ก่อกบฏแห่งเมืองบัศเราะฮ์
(11) จากการรายงานของฏ็อบรีย์ เช่นเดียวกัน (เล่ม 5 หน้า 12) บุคคลจากเผ่าซัดของเมืองบัศเราะฮ์ ต่างแย่งชิงมูลอูฐของอาอิชะฮ์กัน เพื่อแสวงหาตะบัรรุก พวกเขาต่างสูดดมพร้อมกับกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้โห มันช่างหอมอะไรเช่นนี้”
(12) ตารีค ยะอ์กูบีย์ หมวดสงครามญะมัล (สงครามอูฐ)
(13) มุรูญุซซะฮับ เล่ม 3 หน้า 28, รายละเอียดของพฤติกรรมต่างๆ ของอิบนุซุเบร ผู้เขียนและคุณฮาวีซีได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “โดตารีคฮัมกุน”