“บิลกีส บินติชะรอฮีล” [1] คือชื่อของสตรีคนหนึ่งที่ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวขานถึงนางในนาม “ราชินีแห่งซะบะอ์” (เยเมน) ผู้คนในดินแดนแห่งนี้เป็นผู้เคารพบูชาดวงอาทิตย์ [2] นางเป็นสตรีที่มีอำนาจและเป็นผู้ร่ำรวยมั่งคั่ง [3]
คัมภีร์อัลกุรอาน ได้เล่าถึงเรื่องราวของสตรีทางการเมืองผู้นี้ไว้อย่างละเอียด เคียงคู่กับเรื่องราวของเหล่าบุรุษผู้เรืองอำนาจ อย่างเช่น นัมรูด (นิมโรด) ฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) และกอรูน (โคราห์) และจากเรื่องราวดังกล่าวนี้มีประเด็นที่เป็นแง่คิดที่น่าสนใจอยู่มากมาย
ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) หรือซาโลมอน หลังจากที่ได้ทราบข่าวจาก “ฮุดฮุด” (นกหัวขวาน) ถึงการมีอยู่ของดินแดนแห่งนี้ ท่านก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับศาสดาท่านอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ได้ประกาศเชิญชวนบรรดาผู้ปกครองเมืองทั้งหลายมาสู่การยอมรับต่อศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า และเตือนพวกเขาจากการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์ [4]
ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากนิมโรดและฟาโรห์ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มต้นนางจะเผชิญกับเรื่องราวและปัญหาต่างๆ ด้วยท่าทีของการค้นหาสัจธรรมความจริง เมื่อจดหมายของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ถูกส่งไปยังนาง นางได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน และได้บรรยายถึงจดหมายของศาสดาสุมาน (อ.) ว่าเป็นจดหมายที่มีเกียรติ [5] เนื่องจากนางได้พบว่าเนื้อหาของจดหมายนั้นเป็นสิ่งที่มีเกียรติ
ราชินีแห่งซะบะอ์แตกต่างจากบรรดาผู้ปกครองเผด็จการในหน้าประวัติศาสตร์ โดยนางจะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของหมู่ชน นางได้ปรึกษาหารือกับบรรดาผู้อาวุโสและเหล่าอำมาตย์ของตนเกี่ยวกับจดหมายของศาสดาสุไลมาน (อ.) [6] ถึงแม้ว่าบรรดาอำมาตย์จะให้ความมั่นใจต่อนางเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหาร [7] แต่มหาสตรีผู้นี้ได้ล่วงรู้เป็นอย่างดีถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงอันจะเป็นผลมาจากสงครามที่จะเกิดขึ้น และนางได้กล่าวว่า
قَالَتْ إِنَّ الْمُلُوكَ إِذَا دَخَلُوا قَرْيَةً أَفْسَدُوهَا وَجَعَلُوا أَعِزَّةَ أَهْلِهَا أَذِلَّةً وَكَذَلِكَ يَفْعَلُونَ
“นางได้กล่าวว่า แท้จริงเหล่ากษัตริย์นั้น เมื่อเข้าไปในเมืองใดก็ตาม พวกเขาก็จะทำลายมัน และจะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจของเมืองนั้นเป็นผู้ต่ำต้อย และเช่นนั้นแหละพวกเขากระทำ” (อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 34)
ดังนั้นนางจึงได้ตัดสินใจที่จะทำการประนีประนอม และทำการทดสอบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ด้วยการส่งของกำนันไปให้ และรอดูปฏิกิริยาของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ที่มีต่อของกำนัลดังกล่าว [8]
ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้แสดงปฏิกิริยาต่อของกำนัลดังกล่าวตามแบบฉบับของผู้เป็นศาสดา [9] และปฏิเสธที่จะรับของกำนัลจากราชินีแห่งซะบะอ์ด้วยการให้เหตุผลบางประการ และมาคราวนี้ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนนางมาสู่การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าเดิม และได้ออกคำสั่งให้นำบัลลังก์ของราชินีบิลกีสมาให้ท่านโดยไว และให้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันเล็กน้อย เพื่อที่ว่าโดยวิธีการดังกล่าวจะได้ทดสอบระดับภูมิปัญญาของสตรีผู้นี้
ราชินีแห่งซะบะอ์ซึ่งเป็นสตรีที่ฉลาดปราดเปรื่อง นางได้ตัดสินใจไปพบท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) เพื่อสนทนาและพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อกับท่านโดยตรง หลังจากมาอยู่ต่อหน้าของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) นางได้พบการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในบัลลังก์ของตน [10]
สตรีผู้สูงศักดิ์ท่านนี้เมื่อได้ยินคำพูดต่างๆ ของศาสดาสุไลมาน (อ.) และได้เห็นความยิ่งใหญ่ของปราสาทของศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้ ทำให้นางเกิดความศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า และในที่สุดนางก็ได้รับเกียรติในการแต่งงานกับท่านศาสดาสุไลมาน (อ.)
เรื่องราวของราชินีแห่งซะบะอ์ (ชีบา) ถูกหยิบยกในฐานะที่เป็นแนวทางสำหรับการยอมรับสัจธรรมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายที่มีต่อการเรียกร้องเชิญชวนของปวงศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ของความมีภูมิปัญญาทางการเมืองของบรรดาสตรีในการเผชิญหน้าและการปฏิบัติต่อบรรดาฝ่ายตรงข้ามของตน
เชิงอรรถ :
[1] ตัฟซีร อัซซอฟี, เฟฎ กาชานี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 64, เขียนเชิงอรรถโดย ฮะซัน อะอ์ละมี ; มัจญ์มะอุ้ลบะยาน, เล่มที่ 18, หน้าที่ 98
[2] อัลอันกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 24
وَجَدتُّهَا وَقَوْمَهَا يَسْجُدُونَ لِلشَّمْسِ مِن دُونِ اللَّهِ وَزَيَّنَ لَهُمُ الشَّيْطَانُ أَعْمَالَهُمْ فَصَدَّهُمْ عَنِ السَّبِيلِ فَهُمْ لَا يَهْتَدُونَ
“และข้าพเจ้าได้พบว่านางและหมู่ชนของนางสักการะบูชาดวงอาทิตย์แทนการเคารพภักดีอัลลอฮ์ และมาร (ชัยฎอน) ได้ทำให้การงาน (ที่ชั่วร้าย) ของพวกเขาดูเป็นสิ่งดีงามสำหรับพวกเขา และได้กีดกันพวกเขาจากแนวทาง (ที่เที่ยงตรง) ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้รับการชี้นำ”
[3] คัมภีร์อัลกุรอานได้วาดภาพให้เห็นถึงอาณาจักรปกครองของนาง โดยอ้างคำพูดของฮุดฮุด (นกหัวขวาน) ไว้เช่นนี้ว่า
إِنِّي وَجَدتُّ امْرَأَةً تَمْلِكُهُمْ وَأُوتِيَتْ مِن كُلِّ شَيْءٍ وَلَهَا عَرْشٌ عَظِيمٌ
“แท้จริงข้าพเจ้าได้พบสตรีนางหนึ่ง ทำการปกครองชาวเมืองนั้น และนางมีทุกสิ่งอย่างครบถ้วน และนางมีบัลลังก์ที่ใหญ่โต” (อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 23)
[4] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 30 และ 31
إِنَّهُ مِن سُلَيْمَانَ وَإِنَّهُ بِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ* أَلَّا تَعْلُوا عَلَيَّ وَأْتُونِي مُسْلِمِينَ
“แท้จริงมัน (คือจดหมาย) จากสุไลมาน และแท้จริง (เนื้อความของ) มันมีดังนี้ว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ พวกท่านอย่าได้ทระนงตนต่อฉัน และจงมาหาฉันอย่างผู้ยอมสวามิภักดิ์เถิด”
[5] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 29
قَالَتْ يَا أَيُّهَا المَلَأُ إِنِّي أُلْقِيَ إِلَيَّ كِتَابٌ كَرِيمٌ
“(ราชินีบิลกิส) กล่าวว่า โอ้หัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย แท้จริงจดหมายอันมีเกียรติฉบับหนึ่งได้ถูกนำมามอบแก่ฉัน”
[6] อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 32
قَالَتْ يَا أَيُّهَا المَلَأُ أَفْتُونِي فِي أَمْرِي مَا كُنتُ قَاطِعَةً أَمْرًا حَتَّى تَشْهَدُونِ
“นางกล่าวต่อไปอีกว่า โอ้หัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย พวกท่านจงให้คำแนะนำแก่ฉันในเรื่องของฉันนี้เถิด เพราะฉันไม่เคยตัดสินใจในกิจการใด จนกว่าพวกท่านจะอยู่ร่วมกับฉันด้วย”
[7] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 33
قَالُوا نَحْنُ أُولُو قُوَّةٍ وَأُولُو بَأْسٍ شَدِيدٍ وَالْأَمْرُ إِلَيْكِ فَانظُرِي مَاذَا تَأْمُرِينَ
“พวกเขากล่าวว่า พวกเราเป็นกลุ่มชนที่มีพลัง และเป็นพวกที่มีกำลังรบเข็มแข็ง แต่กิจการนี้ก็อยู่ในการตัดสินใจของพระนาง ดังนั้นพระนางโปรดพิจารณาดูเถิดว่าสิ่งใดที่พระนางจะทรงบัญชาอย่างไร”
[8] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 35
وَإِنِّي مُرْسِلَةٌ إِلَيْهِم بِهَدِيَّةٍ فَنَاظِرَةٌ بِمَ يَرْجِعُ الْمُرْسَلُونَ
“และแท้จริงฉันจะส่งของกำนัลไปให้พวกเขา แล้วฉันจะรอดูว่า บรรดาผู้ที่ถูกส่งไปนั้นจะกลับมาด้วยกับสิ่งใด”
[9] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 36 – 37
فَلَمَّا جَاء سُلَيْمَانَ قَالَ أَتُمِدُّونَنِ بِمَالٍ فَمَا آتَانِيَ اللَّهُ خَيْرٌ مِّمَّا آتَاكُم بَلْ أَنتُم بِهَدِيَّتِكُمْ تَفْرَحُونَ* ارْجِعْ إِلَيْهِمْ فَلَنَأْتِيَنَّهُمْ بِجُنُودٍ لَّا قِبَلَ لَهُم بِهَا وَلَنُخْرِجَنَّهُم مِّنْهَا أَذِلَّةً وَهُمْ صَاغِرُونَ
“ครั้นเมื่อพวกเขาได้เข้าพบสุไลมานแล้ว เขา (สุไลมาน) ก็กล่าว (กับพวกเขา) ว่า พวกท่านจะหยิบยื่นทรัพย์สินเป็นของกำนัลแก่ฉันกระนั้นหรือ ที่จริงแล้วสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้แก่ฉันนั้นดีงามยิ่งกว่าสิ่งที่พระองค์ประทานให้แก่พวกท่าน แต่พวกท่านย่อมพึงพอใจต่อของกำนัลของพวกท่านแน่ จงกลับไปยังพวกเขาเถิด เพราะแน่นอนว่าเราจะนำกองทัพไปยังพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่มีกำลังที่จะต้านทานมันได้ และแน่นอน เราจะขับไล่พวกเขาออกจากที่นั่นอย่างอัปยศ และพวกเขาจะเป็นผู้ต่ำต้อย”
[10] อัลกุรอานบท อันนัมล์ โองการที่ 42
فَلَمَّا جَاءَتْ قِيلَ أَهَٰكَذَا عَرْشُكِ قَالَتْ كَأَنَّهُ هُوَ وَأُوتِينَا الْعِلْمَ مِن قَبْلِهَا وَكُنَّا مُسْلِمِينَ
“ครั้นเมื่อนางได้มา (พบกับสุไลมาน) ก็มีผู้กล่าวกับนางว่า บัลลังก์ของพระนางเป็นอย่างนี้หรือ นางได้กล่าวว่า คล้ายๆ ว่าจะใช่มัน และเราได้รับความรู้มาก่อนหน้านั้น (ว่าท่านมีปาฏิหาริย์สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้) และเราเป็นผู้ยอมสวามิภักดิ์แล้ว”
นางได้กล่าวว่า« كَأَنَّهُ هُوَ » (คล้ายๆ ว่าจะใช่มัน) และนางไม่ได้กล่าวว่า «انّه هو» (ใช่ นี่แหละบัลลังก์ของฉัน) (ซัน ดัร อออีเนะฮ์ ญะลาล วะ ญะมาล – หน้าที่ 288)
ข้อมูลจาก : Jonbeshnet
แปล/เรียบเรียง : Md Naeem Elahi