ไทยแลนด์
Sunday 24th of November 2024
0
نفر 0

ชีวประวัติของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยสังเขป

ชีวประวัติของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยสังเขป



ชีวประวัติของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยสังเขป

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือกำเนิดในวิหารกะอฺบะฮฺ ตรงกับวันที่ ๑๓ เดือน เราะญับ ปีที่ ๓๐ ปีช้าง

บิดาของท่านมีนามว่า อบูฏอลิบ

มารดาของท่านมีนามว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินติ อะซัด

ชะฮีดที่เมืองกูฟะฮฺ ตรงกับวันที่ ๒๑ เดือน เราะมะฎอน ปีที่ ๔๐ ฮิจเราะฮฺศักราช

สุสานอันประเสริฐของท่านอยู่ที่ เมืองนะญัฟอัชรอฟ ประเทศอิรัก

 

วิถีชีวิตของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถือกำเนิดในปีที่ ๑๐ ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้างท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) มาตลอดและตลอดระยะเวลา ๓๐ปี หลังจากที่ท่านศาสดาได้เสียชีวิตไป เราสามารถแบ่งชีวิตความเป็นอยู่ของท่านอิมามอะลี (อ.) ออกเป็น ๕ สมัย ดังต่อไปนี้

 

- สมัยแรก นับตั้งแต่ถือกำเนิดจนถึงการแต่งตั้งท่านศาสดมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)

 

- สมัยที่สอง หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ

 

- สมัยที่สาม หลังจากการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงช่วงการเสียชีวิตของท่าน

 

- สมัยที่สี่ หลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ

 

- สมัยที่ห้า ช่วงการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺอันประเสริฐ

 

สมัยแรก นับตั้งแต่ช่วงถือกำเนิดจนถึงการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ในข้างต้นได้กล่าวแล้วว่า ถ้าแบ่งการใช้ชีวิตของท่านอิมามอะลี (อ.) ออกเป็น ๕ สมัยด้วยกัน แน่นอนสมัยแรกของการใช้ชีวิตของท่านคือ ช่วงก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งท่านศาสดาเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งช่วงนี้จะมีระยะเวลาไม่เกิน ๑๐ ปี เพราะว่าช่วงที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือกำเนิดขึ้นมา ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีอายุประมาณ ๓๐ ปี และเมื่อท่านศาสดามีอายุครบ ๔๐ ปี อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นศาสนฑูตของพระองค์ ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงมีอายุไม่เกิน ๑๐ ปี ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)

 

ภายใต้การดูแลของท่านศาสดา

 

ในช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงแห่งการเจริญเติบโตของร่างกาย และจิตวิญญาณ และการยอมรับการอบรมสั่งสอนต่าง ๆ ท่าน อิมามได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของท่านศาสดา ภายใต้การชี้นำของท่าน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ทำการบันทึกไว้ว่า ในปีหนึ่ง ความอดอยากแร้งแค้นได้เกิดขึ้นที่เมืองมักกะฮฺ ซึ่งสมัยนั้นท่านอบูฏอลิบมีศักดิ์เป็นลุงของท่านศาสดา มีลูกและภรรยาหลายคนทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ท่านศาสดาได้เสนอต่อท่านอับบาสซึ่งเป็นลุงของท่านศาสดอีกคนหนึ่ง ที่มีฐานะร่ำรวยทีสุดของชาวบะนีฮาชิมว่า

ในพวกเราทุกคนรับเอาลูกของท่านอบูฏอลิบไปดูแลที่บ้านหนึ่งคน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระความลำบากของท่านอบูฏอลิบให้ลดน้อยลง ท่านอับบาสได้เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ในที่สุด ทั้งสองได้เดินทางไปที่บ้านของท่านอบูฏอลิบ และได้อธิบายให้ท่านอบูฏอลิบทราบถึงเป้าหมายของการมาในครั้งนี้ ท่านอบูฏอลิบได้ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ท้ายสุด ท่านอับบาสได้พาท่านญะอฺฟัรไปอยู่ในการอุปการะของท่าน ส่วนท่านศาสดาได้พาท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในการดูแลของท่านเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงได้อาศัยอยู่ที่บ้านของท่านศาสดา จนกระทั่ง ท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูตของพระผู้เป็นเจ้า และให้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้ช่วยเหลือ และเป็นผู้ปฏิบัติตามท่านศาสดา

หมายเหตุ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือดังต่อไปนี้

 

- อิบนุ อะซีร, อัลกามิลฟิลตารีค, เบรุต. ดารุลซอดีร ปี ๑๓๙๙ ฮ.ศ. เล่ม ๒ หน้า ๕๘

 

- อิบนุ ฮิชาม, อับดุลมาลิก, ซีเราะตุลนบูวัต, ค้นค้วาโดย มุซเฎาะฟาชิกอ, อิบรอฮีมอับยารี, อับดุลฮาฟีซซะละบี, ไคโร เรียบเรียงโดย มุซเฏาะฟาบาบีฮาละบี ปี ๑๓๕๕ ฮ.ศ. เล่ม ๑ หน้า๒๖๒

 

- ฏ็อบรียฺ มุฮัมมัด อิบนิญะรีร ตารีคคุลอุมัม วัลมุลกฺ, เบรุต, ดารุลกอมูซซิลฮะดีซ เล่ม ๒ หน้า ๒๑๓

 

- อิบนุ อบีลฮะดีด, อธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัดอบุลฟัฏลฺ อิบรอฮีม พิมพ์ครั้งที่ ๑ ไคโร จัดพิมพ์โดยอะฮฺยากุตุบุลอาเราะบียะฮฺ ปี ๑๓๗๘ เล่ม ๑๓ หน้า ๑๑๙

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หลังจากที่ได้รับท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในการดูแลท่านได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า “สาเหตุที่ฉันเลือกเจ้าคือ เหตุผลเดียวกันกับที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเลือกเจ้าเพื่อฉัน”

 (อบูฟัจรฺ เอซฟาฮานี, มะกอติลุลตาบิยีน, นะญัฟ พิมพ์โดย มักตะบุลดารียะฮฺ หน้า ๑๕)

 

สมัยที่ท่านศาสดายังเป็นเด็กมีอายุได้ประมาณ ๒ ปี (หลังจากท่านอับดุลมุฏอลิบเสียชีวิต) ท่านได้อาศัยอยู่ที่บ้านของที่อบูฏอลิบ และอยู่ภายใต้การดูแลของท่านอบูฏอลิบจนเติบใหญ่ ท่านศาสดาต้องการที่จะทดแทนบุณคุณของท่านอบูฏอลิบ ซึ่งในสมัยที่ท่านศาสดาเป็นเด็กได้สร้างความลำบากและภาระรับผิดชอบให้กับท่านอบูฏอลิบ และภรรยาของท่าน (ฟาฏิมะฮฺ บินติอะซัด) อย่างมากมาย ด้วยการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรของท่านเป็นการตอบแทน ซึ่งในจำนวนลูกหลานของท่านอบูฏอลิบทั้งหมด ท่านศาสดาได้เลือกท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺท่านได้กล่าวถึงสมัยที่ท่านอยู่กับท่านศาสดาในคำเทศนาที่มีชื่อว่า “กอชีอะฮฺ” ไว้ดังนี้ว่า

 

“พวกท่านทั้งหลาย (เซาะฮาบะฮฺนบี ) ทราบดีถึงสถานะภาพและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฉันกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และพวกท่านรู้ดีว่าสมัยที่ฉันยังเป็นทารกอยู่นั้น ท่านศาสดาได้อุ้มฉันไว้ในอ้อมกอดของท่านเสมอ และให้ฉันนอนอยู่บนเตียงนอนเคียงข้างกับท่าน ฉันได้สัมผัสร่างกายของท่าน และสูดดมกลิ่นไอความหอมของท่าน และท่านเป็นผู้ป้อนอาหารให้ฉันฉันก็เปรียบเสมือนเด็กทั่วไปคนหนึ่ง ที่คอยติดตามแม่ของเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าท่านศาสดาจะไปไหนฉันก็จะร่วมทางไปกับท่านด้วยเสมอ ท่านศาสดาได้สอนมารยาทที่ดีงามให้กับฉัน และฉันได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด

 (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ ๑๙๒)

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) ในถ้ำฮิรอ

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยแผ่สารของพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้นมัสการอยู่ในถ้ำเป็นเวลา ๑ เดือน (ฮิรอ คือ ชื่อของถ้ำแห่งหนึ่งที่อยู่บนภูเขาลูกหนึ่งทางตอนเหนือของมักกะฮฺ) ซึ่งในช่วงนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้นำอาหารไปส่งให้ท่านและเมื่อถึงช่วงสุดท้ายของเดือน ท่านศาสดาได้กลับบ้าน สถานที่แรกที่ท่านศาสดาไปคือ มัสญิดอัลฮะรอม ท่านได้ทำการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺ ๗ รอบตามที่พระองค์ทรงประสงค์ หลังจากนั้นท่านจึงเดินทางกลับบ้าน

 (อิบนุ ฮิชาม, อับดุลมาลิก, ซีเราะตุลนบูวัต, ค้นค้วาโดย มุซเฎาะฟาชิกอ, อิบรอฮีมอับยารี, อับดุลฮาฟีซซะละบี, ไคโร เรียบเรียงโดย มุซเฏาะฟาบาบีฮาละบี ปี ๑๓๕๕ ฮ.ศ. เล่ม ๑ หน้า๒๕๒)

 

จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าท่านศาสดามีความพึงพอใจต่อท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นพิเศษ เพราะท่านได้พาท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในถ้ำด้วยเป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อถึงเวลาที่ฑูตสวรรค์ (ญิบรออีล) นำสารมาให้ท่านศาสดาเป็นครั้งแรก และได้ทำการแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ประกาศสารของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็อยู่ในเหตุการณ์เคียงข้างท่านศาสดา ณ ถ้ำฮิรอด้วย และวันนั้นก็คือเดือนที่ท่านศาสดาได้เดินทางไปที่ถ้ำฮิเราะอฺเพื่อทำการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ในคำเทศนากอซิอะฮฺอีกว่า

 

ท่านศาสดาจะเดินทางไปที่ถ้ำฮิรอทุกปี เพื่อทำการนมัสการต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งไม่มีใครเคยเห็น ท่านอิบาดะฮฺเลย นอกจากฉันเพียงคนเดียว และขณะที่วะฮฺยูได้ถูกประทานลงมา ฉันได้ยินเสียงร้องของมารร้าย ฉันได้ถามท่านศาสดาว่า นั่นเป็นเสียงของใคร ท่านกล่าวว่า

 “นั่นคือเสียงร้องไห้คร่ำครวญของมารร้าย ซึ่งสาเหตุที่มันร้องไห้ก็เนื่องจากว่า มันหมดหวังที่จะหลอกลวงบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามวะฮฺยู และสิ่งที่ฉันได้ยิน เจ้าก็ได้ยิน สิ่งที่ฉันเห็นเจ้าก็เห็นเช่นกัน นอกเสียจากว่า เจ้าไม่ใช่ศาสดา แต่ทว่าเจ้าคือตัวแทนของฉัน” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ ๑๙๒)

 

จากคำเทศนาของท่านอิมามอะลี (อ.) ถ้าหากจะกล่าวว่า ท่านศาสดาได้ทำการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าภายหลังจากที่ท่านได้รับการแต่งตั้งตามความเชื่อของมุสลิมทั่วไป จะขัดแย้งกับคำพูดของท่านอิมามทันที ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านศาสดาได้ทำการนมัสการอัลลอฮฺ (ซบ.) ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้ง ด้วยเหตุนี้ คำเทศนาของท่านอิมามจึงมีความสัมพันธ์ในสมัยก่อนหน้าที่ท่านศาสดาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูต

 

ความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจของท่านอิมามอะลี (อ.) ผนวกกับได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านศาสดา เป็นสาเหตุทำให้ท่านอิมามาขณะที่ยังเป็นเด็กอยู่ได้เห็นและได้ยินในสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปไม่อาจสัมผัสได้

 

อิบนุ อบีลฮะดีด มุอฺตะซิละฮฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ คำอธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺว่า “ในหนังสือ ซิฮาฮฺได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่ฑูตสวรรค์ได้นำวะฮฺยูมาให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นครั้งแรก และทำการแต่งตั้งท่านเป็นศาสนฑูต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้างท่านศาสดา”

 (อิบนุ อบีลฮะดีด, คำอธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, ค้นคว้าโดย มุฮัมมัดอบุลฟัฎลฺ อิบรอฮีม, ไคโร, จัดพิมพ์โดย ดารุล อะฮฺยากุตุบิลอาเราะบียะฮฺ ปี ๑๓๗๘ เล่ม ๑๓ หน้า ๑๐๘)

 

มีบันทึกจากท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า หลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้างท่านศาสดา ท่านได้เห็นรัศมีแห่งนบูวัต ได้ยินเสียงของฑูตสวรรค์ หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “ถ้าหากฉันไม่ใช่ศาสดาคนสุดท้าย เจ้าเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะไดรับตำแหน่งนี้ แต่เจ้าคือ ตัวแทนของฉัน เป็นผู้สืบทอดมรดกของฉัน เจ้าคือหัวหน้าแห่งตัวแทนของฉัน และเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงทั้งหลาย” (เล่มเดิม หน้า ๒๑๐)

 

สมัยที่สอง หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ ในช่วงที่สองของชีวประวัติของท่านอิมามอะลี (อ.) เริ่มตั้งแต่หลังจากท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูต จนกระทั่งท่านอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ ๑๓ ปี ในสมัยนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รับใช้ศาสนาด้วยการเสียสละและการยืนหยัดที่ยิ่งใหญ่ เพื่อที่จะทำให้อิสลามได้แพร่กระจายออกไป ตามหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามไม่มีใครที่มีส่วนร่วมรับใช็อิสลามมากเท่าท่านอิมามอะลี (อ.)

 

บุคคลแรกที่ยอมรับอิสลาม

 

เกียรติยศประการแรกที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รับคือ ท่านเป็นบุคคลแรกที่เข้ารับอิสลาม หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านอิมามอยู่ในสมัยแรกแห่งการประกาศศาสนาอิสลาม เนื่องจากท่านอิมามนับถือพระเจ้าองค์เดียวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และท่านไม่เคยนับถือรูปปั้นมาก่อนหน้านั้นเลย (อัลมะนากิบ, นะญัฟ, มักตะบะตุลอาเราะบียะฮฺ ปี ๑๓๕๕ หน้า ๑๘) ขณะที่บรรดาเซาะฮาบะฮฺท่านอื่นไม่มีใครเป็นเช่นนี้เลย สมัยแรกแห่งการเข้ารับอิสลาม อัล-กรุอานได้ประกาศยกย่องไว้อย่างชัดเจนว่า บรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามในสมัยแรก เขามีค่ายิ่งในทัศนะของผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสไว้ในอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-วากิอะฮฺ อายะฮฺที่ ๑๐-๑๑ ว่า “และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า เขาเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด”

 

ถ้าหากให้ความสำคัญในประเด็นที่วา “ผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อน” จะพบว่า บรรดาบุคคลที่เข้ารับศาสนาอิสลาม ก่อนการยึดครองนครมักกะฮฺ ซึ่งการที่พวกเขาได้เสียสละทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขาในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ย่อมมีความประเสริฐกว่าบรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามหลังจากที่ได้ยึดครองนครมักกะฮฺเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถเทียบเท่า บรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อนหน้าการอพยพได้อย่างแน่นอน และย่อมไม่ทัดเทียมกันแน่นอนซึ่งในทัศนะของพระองค์ชนกลุ่มแรก ย่อมมีฐานันดรเหนือกว่า ทรงตรัสว่า“และไฉนเล่าพวกเจ้าจึงไม่บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ทั้ง ๆ ที่มรดกแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้เป็นของอัลลอฮฺ ในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้บริจาคและได้ต่อสู้ (บนหนทางของอัลลอฮฺ) ก่อนการพิชิต (นครมักกะฮฺ) ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงส่งกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้ (บนทางของอัลลอฮฺ) หลังการพิชิต(นครมักกะฮฺ) อัลลอฮฺทรงสัญญาความดีงามแก่ทั้งสองฝ่าย และอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (ซูเราะฮฺ อัล-ฮะดีด อายะฮฺที่ ๑๐)

 

สาเหตุที่อีมานหรือการศรัทธาของมุสลิมที่ยอมรับอิสลามก่อนหน้าที่อิสลามจะยึดครองนครมักกะฮฺ (ในปีที่ ๑๐ ฮ.ศ) เหนือกว่า ก็เพราะว่าในสมัยที่พวกเขามีศรัทธามั่นต่อศาสนาอิสลาม อิสลามในครบสมุทรอาหรับในสมัยนั้น ยังไม่พบกับความยิ่งใหญ่ประการใด ซึ่งในสมัยนั้นนครมักกะฮฺ คือ ศูนย์กลางของพวกบูชารูปปั้น และมีอันตรายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับบรรดามุสลิมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและทรัพย์สิน และสำหรับบรรดามุสลิมที่ยอมรับอิสาลามภายหลังจากการอพยพสู่มาดีนะฮฺหรือภายหลังจากที่บรรดาเผ่าต่างๆ มีศรัทธาต่อศาสนิสลาม เพราะความรุ่งเรืองของอิสลาม และบางกลุ่มจากเครือญาติของพวเขามีศรัทธาต่ออิสลาม แต่ทว่าอันตรายก็ยังคงหลงเหลืออยู่

 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ยอมรับศาสนาอิสลาม เสียสละชีวิต และทรัพย์สิน ภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมีเกียรติเป็นการเฉพาะ และสำหรับบรรดาผู้ที่ยอมรับศาสนาอิสลามในยุคแรกของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ซึ่งไม่มีผู้ใดให้การสนับสนุนท่าน แม้แต่ชาวกุเรชก็ตาม แน่นอนพวกเขาย่อมมีเกียรติและตำแหน่งที่เหนือกว่า

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์บะลาเฆาะฮ์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ถ้าหากท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ...
สถานภาพสตรีในอิสลาม
วันอีดกุรบาน ...
ยะกีนมีกี่ระดับ?
การปฏิบัติตามหน้าที่ในกัรบะลา ...
...
อิคลาศ(ความบริสุทธิ์ใจ)ในอิสลาม
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
...
ข้อเท็จจริง (ฮะกีกัต) ...

 
user comment