ไทยแลนด์
Sunday 24th of November 2024
0
نفر 0

นบีมุฮัมมัดศูนย์กลางการภักดี

นบีมุฮัมมัดศูนย์กลางการภักดี

ภาระหน้าที่ของมวลสรรพสิ่งบนฟากฟ้าและพื้นพิภพที่มีต่อท่านนบีมุฮัมมัด
สรรพสิ่งทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นชาวฟ้าหรือผู้อาศัยอยู่บนพื้นพิภพก็ตาม ต่างมีหน้าที่และยอมสยบต่อท่านนบีทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์อัลลอฮ์จึงทรงกำหนดหน้าที่ดังกล่าวในอัลกุรอานไว้อย่างชัดเจน

หน้าที่ๆบรรดามะลาอิกะฮ์ได้รับมอบหมาย คือการประสาทพรแด่ท่านนบีพร้อมพระองค์ " แท้จริงอัลลอฮ์และมลาอิกะฮ์ของพระองค์ทำการประสาทพรแก่ศาสดา (มุฮัมมัด ) โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงประสาทพรแก่เขา และจงประสาทสันติสุขแก่เขาอย่างแท้จริงเถิด" อะฮฺซาบ/56

พระองค์ทรงตรัสกับมนุษย์ว่า ดังที่บรรดามะลาอิกะฮ์ต่างพากันประสาทพรแด่ท่านนบี สูเจ้าก็จงประสาทพรแด่ท่านพร้อมกับให้สลามและยอมสยบต่อท่านโดยสดุดี ก่อนที่พระองค์จะปลูกฝังมารยาทให้สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบรรดามะลาอิกะฮ์หรือมวลมนุษย์ พระองค์ได้ประสาทพรแก่ท่านนบีเป็นอุปการะคุญก่อนผู้ใด จากนั้นจึงบัญชาให้ผู้อื่นเทิดเกียรติท่านนบีโดยพร้อมเพรียง แม้กุรอานจะกล่าวถึงวิธีการเทิดเกียรติท่านนบีด้วย "วะซัลลิมู ตัสลีมา"

(และจงประสาทสันติสุขแก่เขาอย่างแท้จริงเถิด) ก็ตาม ทว่าได้อธิบายถึงแนวทางสู่วิธีดังกล่าวด้วยอายะฮ์ที่กล่าวถึงการเชื่อฟังคำบัญชาของท่านนบี ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงให้การอบรมบ่มสอนท่านด้วยความรัก และส่งเสริมให้ท่านบรรลุถึงจริยธรรมอันยิ่งใหญ่ "และแท้จริงเจ้าเป็นผู้ที่ตั้งอยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่" เกาะลัม/4 ตลอดจนปลูกฝังความเข้าใจในศาสนาและกฎเกณฑ์ต่างๆของพระองค์ในจิตใจท่าน แล้วจึงบัญชาให้ผู้อื่นภักดีต่อท่านโดยดุษดี . ด้วยเหตุผลที่พระองค์มีคุณลักษณะเป็นผู้ปลูกฝังจรรยามารยาทอันงดงาม , พระองค์จึงทรงอบรมสั่งสอนท่านให้มีมารยาทตามแนวทางของพระองค์ มารยาทคือความอ่อนโยนในการกระทำหรือวาจา ฉะนั้น ผู้ที่มีวาจาอ่อนโยนระรื่นหูย่อมเป็นสุนทรโวหาร และผู้ที่มีความอ่อนโยนในแง่มุมต่างๆของชีวิต ย่อมเป็นสุนทรจริตอย่างแท้จริง

อายะฮ์ต่างๆที่กล่าวถึงการภักดีต่อท่านนบีมุฮัมมัด
นอกเหนือจากความโดดเด่นทางวิทยปัญญาและความประพฤติแล้ว ท่านนบีมุฮัมมัด ยังมีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากผู้อื่นอีกสองประการ

1 . มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน 2 . รู้จักหนทางและวิธีการที่ถูกต้องเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายเป็นอย่างดี
เหตุผลสำคัญที่พระองค์ทรงบัญชาให้มวลมนุษย์ภักดีต่อท่านนบีคือ การที่มนุษย์มีสภาพไม่ต่างจากนักเดินทาง แน่นอนว่านักเดินทางย่อมมีจุดหมายปลายทางที่แน่นอนตามหนทางที่กำหนดไว้ ท่านนบีทราบถึงจุดหมายของคาราวานแห่งมนุษยชาติเป็นอย่างดี อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าว พระองค์ทรงตรัสถึงประเด็นดังกล่าวว่า " ขอสาบานต่อดวงดาวในยามที่ลับจากสายตา ( มุฮัมมัดผู้เป็น) มิตรของพวกเจ้ามิได้หลง( ออกจากทางที่เที่ยงตรง )และมิได้เชื่อมั่นในทางที่ผิด อันนัจมฺ/1-2

ตามพจนานุกรมแล้ว คำว่า " ฆอวี" ให้ความหมายว่าผู้ไร้ซึ่งจุดหมายในการเดินทาง ขณะที่ " ฎอลล์" ให้ความหมายถึงผู้หลงทาง ท่านนบีผู้ไม่เคยหลงทางและไม่เคยสับสนในจุดหมาย ย่อมทราบดีถึงจุดหมายของมนุษย์และหนทางสู่จุดหมายดังกล่าวอย่างแน่นอน . ในทุกยุคสมัย บรรดาอันบิยาอ์ต่างถูกเหล่าผู้ฉ้อฉลกล่าวร้ายป้ายสีว่าเป็นผู้โฉดเขลาและหลงทาง ทว่าบรรดาอันบิยาอ์ต่างตอบโต้ด้วยบัญชาจากพระองค์ว่า "( เขาตอบว่า ) โอ้กลุ่มชน ฉันมิได้โง่เขลา" อะอฺรอฟ/67

ผลพวงจากการภักดีต่อท่านนบีมุฮัมมัด
อัลกุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าว (ที่เกิดขึ้นกับบรรดาอันบิยาอ์หลายท่าน)โดยหยิบยกคำโต้ตอบของบรรดาอันบิยาอ์มาตีแผ่ แต่เมื่อกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับท่านนบีมุฮัมมัด พระองค์ทรงปกป้องท่านรอซูลด้วยพระองค์เอง เมื่อได้ตรัสว่า "( มุฮัมมัดผู้เป็น) มิตรของพวกเจ้ามิได้หลง( ออกจากทางที่เที่ยงตรง )และมิได้เชื่อมั่นในทางที่ผิด"

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ท่านนบีผู้ไม่เคยหลงทางและสับสนในจุดหมาย , ผู้เป็นคลังแห่งวิทยปัญญาและความเข้าใจในศาสนา และเป็นแบบฉบับสำหรับผู้มีมารยาททั้งกิริยาและวาจาด้วยกิริยาที่อ่อนโยนและวาจาอันไพเราะของท่าน จึงมีฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งการภักดีในแนวทางของพระองค์ โดยพระองค์ได้บัญชาให้มวลมนุษย์ภักดีต่อท่านในหลายอายะฮ์ด้วยกัน การพิจารณาความหมายของอายะฮ์เหล่านี้จะทำให้เราทราบถึงประเภทของการภักดี และผลกำไรที่ผู้ภักดีจะได้รับจากการภักดีต่อท่านนบี

"จงประกาศเถิด ท่านทั้งหลายจงภักดีต่ออัลลอฮ์และรอซูล แต่หากพวกเขาหันหลังให้ แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักบรรดาผู้ปฏิเสธ" อาลิอิมรอน/32 ในอายะฮ์นี้ การเพิกเฉยไม่ภักดีต่อท่านรอซูลถือเป็นกุฟร์ ( การปฏิเสธ ) ซึ่งหมายความว่าผู้ใดที่เพิกเฉยไม่ภักดีต่อท่านในแง่หลักศรัทธาและแนวคิด เขาย่อมเป็นกาเฟร ( ผู้ปฏิเสธ ) ในแง่ความคิด เช่นเดียวกับผู้ที่เพิกเฉยไม่ภักดีในภาคปฏิบัติ เขาย่อมเป็นกาเฟร ( ผู้ปฏิเสธ ) ในภาคปฏิบัติโดยปริยาย แม้จะภักดีในด้านความคิดแล้วก็ตาม

ฉะนั้น การเพิกเฉยไม่ภักดีต่อคำสอนของท่านนบีในทุกรูปแบบถือเป็นกุฟร์ หรือการปฏิเสธ ( ตามความหมายในมุมกว้าง )โดยไม่ต้องสงสัย
"และท่านทั้งหลายจงภักดีต่ออัลลอฮ์และรอซูล เพื่อพวกท่านจะได้รับความเมตตา" อาลิอิมรอน/132 "เราะฮ์มัต" หรือความเมตตาในที่นี่หมายถึงความเมตตาพิเศษที่มนุษย์จะได้รับด้วยการภักดีต่ออัลลอฮ์และรอซูล ความเมตตาพิเศษนี้ต่างจากความเมตตาทั่วไปของพระองค์ และมอบให้เฉพาะบรรดาผู้ศรัทธาผู้ก้าวเดินในหนทางที่เที่ยงตรงเท่านั้น

"และผู้ใดภักดีอัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ พระองค์จะให้เขาเข้าสู่สวรรค์ ที่มีธารน้ำใหลอยู่เบื้องใต้ พวกเขาอยู่ในนั้นโดยนิรันดร และสิ่งนั้นเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่" นิซาอฺ/13 อายะฮ์นี้เน้นการโน้มน้าวจิตใจผู้ศรัทธาเป็นพิเศษ กล่าวคือกุรอานแจ้งถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่อันมีสรวงสวรรค์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทั้งหลาย ซึ่งได้มาด้วยการภักดีต่ออัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้น

"และผู้ใดฝ่าฝืนอัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ และล่วงละเมิดขอบเขตของพระองค์ พระองค์จะทรงให้เขาเข้าสู่ขุมนรกโดยนิรันดร และเขาต้องรับโทษอันอัปยศยิ่ง" นิซาอฺ/14 การดื้อดึงไม่ปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮ์และรอซูลเป็นสาเหตุแห่งการลงโทษอันเจ็บแสบและอัปยศ เกียรติยศจอมปลอมย่อมเคียงคู่ความต่ำต้อยที่แท้จริง ดังที่การน้อมรับคำบัญชาของพระองค์และท่านรอซูลย่อมนำมาซึ่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และเกียรติยศที่แท้จริงเสมอ ความต่ำต้อยด้อยเกียรติแอบแฝงในการภักดีต่อนัฟซู และมนุษย์ผู้นิยมกิเลสย่อมไม่สามารถมองเห็นความต่ำต้อยที่แอบแฝงอยู่ได้อย่างเด็ดขาด

"โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงภักดีอัลลอฮ์ และภักดีรอซูล และผู้ปกครองการงานจากพวกเจ้า ดังนั้น หากพวกเจ้าพิพาทกันในกรณีใด พวกเจ้าก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺและรอซูลหากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกนั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่งและเป็นการกลับไปที่สวยงามยิ่ง" อันนิซาอฺ/59 หลังจากที่พระองค์ทรงบัญชาให้มวลมนุษย์ภักดีต่อพระองค์ , รอซูลและบรรดาอะอิมมะฮ์แล้ว พระองค์ทรงตรัสว่า "จงมอบหมายให้พระองค์และรอซูลของพระองค์เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในประเด็นความขัดแย้งต่างๆในหมู่สูเจ้า ไม่ว่าจะในด้านทฤษฏีทางวิชาการ หรือ ภาคปฏิบัติก็ตาม การน้อมรับอำนาจชี้ขาดของอัลลอฮ์และรอซูลย่อมทำให้สูเจ้ามีการกลับคืนสู่พระองค์ที่งดงาม

ท่านนบีมุฮัมมัด จุดสูงสุดแห่งความประเสริฐ
กลไกอันลี้ลับและน่าพิศวงของโลกคือข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักค้ำศาสนบัญญัติอันเป็นนามธรรม และภาพลักษณ์แห่งศาสนบัญญัติต่างๆจะปรากฎแก่สายตามนุษยชาติในวันกิยามะฮ์ กุรอานได้กล่าวว่า "วันที่ผลสุดท้ายแห่งคัมภีร์จะปรากฏ" อะอฺรอฟ/53

วันกิยามะฮ์คือช่วงแห่งการเผยภาพลักษณ์ที่แท้จริงของศาสนบัญญัติและอัลกุรอาน ( ด้วยปรากฎการณ์ที่เป็นรูปธรรรม ) ในวันนั้น ผู้ภักดีต่อท่านรอซูลจะมีคุณลักษณะ (อะฮฺซะนุตะวีล) (การคืนกลับที่ดีที่สุด) และคุณลักษณะดังกล่าวจะเป็นของผู้ที่มีคุณลักษณะ(อะฮฺซะนุตักวีม) และคุณลักษณะนี้ก็เป็นของผู้ที่รู้จักและภักดีต่อ ( อะฮ์ซะนุลอักวาล) ( วจีที่ดีที่สุด) และอะฮ์ซะนุลอักวาล ก็คือวจนะของท่านนบี ซึ่งจากการรวมอายะฮ์ต่างๆเหล่านี้เข้าด้วยกัน

"และเป็นการกลับไปที่สวยงามยิ่ง" อันนิซาอฺ/59 "โดยแน่นอน เราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง" อัตตีน/4 "ดังนั้นจงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของข้า บรรดาผู้ที่สดับฟังคำกล่าว แล้วปฏิบัติตามที่ดีที่สุดของมัน" ซุมัร/17-18 "ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮ์อย่างประจักษ์แจ้งทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน" (หมายถึงท่านรอซูล) ยูซุฟ/108

สามารถสรุปใจความได้ว่า จงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวผู้ครุ่นคิดไตร่ตรองในคำพูดและข้อเขียนต่างๆ และเลือกสิ่งที่ดีที่สุด และคำพูดที่ดีที่สุดคือสารธรรมคำสอนของผู้ที่เชิญชวนผู้อื่นสู่แนวทางของพระองค์โดยที่ตนเองยืนหยัดอยู่ในหนทางอันเที่ยงตรงเช่นกัน จากนั้นกุรอานได้ชี้ชัดถึงวจนะของท่านนบีในฐานะเป็นคำพูดที่ดีที่สุด. แน่นอนว่าบ่าวผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมมีคุณลักษณะแห่ง " อะฮฺซะนุตักวีม "และจะมีคุณลักษณะแห่ง "อะฮฺซะนุตตะวีล" ในวันกิยามะฮ์เช่นกัน อันหมายถึงการกลับคืนของเขา ( สู่พระผู้อภิบาล ) เป็นการกลับคืนที่ดีที่สุด สิ่งที่พึงคำนึงในประเด็นนี้ก็คือ ความดีและความงดงามที่แท้จริงในโลกหน้าย่อมต่างจากความดีงามอันเป็นนามธรรมในขอบเขตของกฎหมายและบทบัญญัติต่างๆอย่างแน่นอน

"และผู้ใดเชื่อฟังอัลลอฮ์ และรอซูลแล้ว ชนเหล่านั้นจะอยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ทรงกรุณาเมตตาแก่พวกเขา อันได้แก่บรรดานบี , บรรดาผู้ที่เชื่อโดยดุษฎี , ผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม และบรรดาผู้ประพฤติดี และชนเหล่านี้คือสหายที่ดีเยี่ยม" นิซาอฺ/69 ผู้ใดที่ภักดีต่ออัลลอฮ์และรอซูลจะได้เพื่อนร่วมทางที่ประเสริฐยิ่ง เพราะบรรดาอันบิยาอ์, ศิดดีกีน , ชุฮะดาอ์ และศอลิฮีนจะเป็นสหายและเพื่อนร่วมทางของเขา. เพื่อนร่วมทางคือผู้ที่จะให้การช่วยเหลือและชี้นำเพื่อนของตน คาราวานแห่งมนุษยชาติกำลังมุ่งหน้าสู่การเข้าเฝ้าพระผู้อภิบาล การฝ่าฟันอุปสรรคในหนทางอันยาวใกลดังกล่าวเป็นสิ่งยากยิ่งหากปราศจากการชี้นำของผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกโดยพระองค์เอง อนึ่ง เพื่อนร่วมทางผู้มีเมตตาแก่ผู้อ่อนล้าย่อมนำมาซึ่งความหวังและความรื่นรมย์แก่เหล่าสมาชิกคาราวานอย่างแน่นอน

ความรู้สึกนิยมความดีงามและเบื่อหน่ายความชั่วและบาปกรรม ที่ปรากฏในใจของผู้เดินทางสู่การเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่ดีระหว่างเขากับบรรดาอันบิยาอ์และเอาลิยาอ์ของพระองค์อย่างชัดเจน กล่าวคือร่องรอย (และรัศมี)แห่งนุบูวะฮ์ ( สภาวะการเป็นศาสดา) , ศิดาเกาะฮ์ ( ความสัจจริง)ชะฮาดะฮ์( การหยั่งรู้ ), เศาะลาฮ์ (การประพฤติชอบ)ได้ปรากฎในใจของเขาแล้ว

ความใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัดในเชิงรูปธรรมและนามธรรม
ข้อพึงสังเกตุในจุดนี้คือความหมายของอายะฮ์ ความหมายทั่วไปของอายะฮ์ดังกล่าวคือ "ผู้ที่ภักดีต่อศาสนบัญญัติของท่านรอซูลจะฟื้นคืนชีพพร้อมกับบรรดาอันบิยาอ์และเอาลิยาอ์ของพระองค์ในวันกิยามะฮ์" แต่ความหมายที่ลึกซึ้งกว่าของอายะฮ์นี้คือ : ความใกล้ชิดมีสองประเภทด้วยกัน

หนึ่ง ความใกล้ชิดในแง่วัตถุและประสาทสัมผัส อันจะให้ความหมายว่า ผู้ดำเนินในหนทางแห่งการภักดีจะได้อภิสิทธิที่จะอยู่เคียงข้างบรรดานบีและเอาลิยาอ์ของพระองค์ในสถานที่เดียวกัน

สอง ความใกล้ชิดในแง่สติปัญญา อันจะให้ความหมายว่า ดวงวิญญาณของพวกเขา ( ผู้ภักดีต่อท่านรอซูล ) ใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัด และมีสิทธิประจักษ์ถึงศาสนสาส์น ( ริซาละฮ์ )ของท่าน ตลอดจนสามารถประจักษ์ถึงสิ่งเร้นลับและเข้าใจความลี้ลับต่างๆอย่างถ่องแท้แม้พวกเขาจะไม่มีตำแหน่งเป็นศาสนทูตก็ตาม และแม้หากพวกเขายังไม่สามารถบรรลุถึงสภาวะดังกล่าวได้ อย่างน้อยพวกเขาก็จะสามารถประจักษ์ถึงผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะบรรลุถึงสภาวะดังกล่าวได้. แน่นอนว่าความใกล้ชิดประเภทนี้คือความใกล้ชิดในแง่จิตวิญญาณนั่นเอง มิใช่ความใกล้ชิดในแง่เรือนร่างและวัตถุ

เพราะฉนั้น ผู้เดินทางตามครรลองแห่งศาสนสาส์นจะได้ใกล้ชิดกับบรรดาอันบิยาอ์และเอาลิยาอ์ของพระองค์ในโลกที่เหนือประสาทสัมผัสและสภาวะที่เหนือกว่าโลกดังกล่าว และผู้นำแห่งกองคาราวานอันเกรียงไกรสู่การเข้าเฝ้าพระองค์ก็คือ.. ท่านรอซูลุลลอฮ์





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี
แปลและเรียบเรียงจากคำสอนของท่านอายะตุลลอฮ์ อัลอุซมา ญะวาดี ออโมลี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ ...
อิมามฮะซัน อัสการีย์(อ) ...
อิมามอะลี ...
"ฝน"ในอัลกุรอาน
ชีวประวัติท่านฮัมซะฮ์ บิน ...
หลักปฏิบัติในอิสลาม ...
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
ความพอเพียงในอิสลาม
อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ...

 
user comment