ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) กล่าวว่า
“เมื่อค่ำคืนแห่งก็อดรฺ (ลัยละตุลก็อดรฺ) มาถึง อัลลอฮ์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ทรงสั่งแก่ญิบรีลให้ลงมายังโลกร่วมกับบรรดาเทวทูตกลุ่มหนึ่ง พร้อมกับธงสีเขียว”
เขาจะคลุมธงนั้นบนยอดของกะอฺบะฮ์โดยที่มีปีกหกร้อยปีก ซึ่งจะไม่กางแผ่ออกนอกจากในค่ำคืนแห่งก็อดรฺ เขาจะกางแผ่ปีกเหล่านั้นออกในค่ำคืนนั้น และเขาพร้อมด้วยเทวทูตองค์อื่นๆ จะอวยพรให้แก่ทุกคนที่ยืนทำนมาซ นั่ง ชื่นชมหรืออ่านคัมภีร์กุรอาน พวกเขาจะจับมือกับเขา และจะขอต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.) ให้ตอบรับคำขอของพวกเขา และพวกเขาจะทำเช่นนั้นไปจนกระทั่งรุ่งอรุณ
ทำไมค่ำคืนนี้จึงดีเลิศกว่าหนึ่งพันเดือน?
โดยการคำนวณในค่ำคืนนี้ ซึ่งประกอบด้วยชั่วโมงใหม่ๆ จะได้รับเกียรติจากอัลลอฮ์(ซ.บ.) และได้รับการยกย่องให้สูงส่งกว่าเวลาประมาณแปดสิบสามปี ซึ่งเท่ากับหนึ่งพันเดือน
ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ต่อสู้กับอิสลามมาตั้งแต่แรกเริ่ม และพวกเขาได้ต่อสู้กับวงศ์วานของท่านศาสดา(ศ.) หรืออะฮ์ลุลบัยต์(อ.) ของท่านตลอดเวลาที่พวกเขาอยู่ในอำนาจ ผู้นำตระกูลอุมัยยะฮ์ที่ประกาศตัวเป็นคนแรกคืออะบูซุฟยาน และคนสุดท้ายคือ มุอาวียะฮ์ อัล-ฮิมัรฺ
ถ้าหากเราคำนวณดูระยะเวลาของยุคสมัยนั้นตั้งแต่ปีแรกที่อะบูซุฟยานใช้อำนาจของเขากับชาวมุสลิมจนกระทั่งตระกูลอุมัยยะฮ์สูญสิ้นอำนาจ เราจะได้ตัวเลขเวลาเท่ากับหนึ่งพันเดือน ซึ่งมันดูราวกับว่าคัมภีร์กุรอานจะบอกว่าหนึ่งคืนในสายตาของอัลลอฮ์(ซ.บ.) นั้น ดีกว่าหนึ่งพันเดือนเหล่านั้นที่ตระกูลอุมัยยะฮ์ผู้ฉ้อฉลได้ปกครองประชาชาติมุสลิมด้วยการบังคับกดขี่มาตลอดยุคสมัยนั้น
ในหนังสือ “อัล-ซอฮิห์ อัล-ญามิอฺ” หน้า 5351 ได้อ้างอิงบทรายงานจากท่านอิบนฺ อับบาส ที่ได้บอกว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ.) ได้กล่าวว่า
“ค่ำคืนแห่งก็อดรฺเป็นค่ำคืนที่สบาย อากาศปลอดโปร่ง ไม่ร้อนหรือหนาวมากนัก ดวงอาทิตย์ขึ้นในเช้าของคืนนั้นจะเป็นสีแดงอ่อน”
ในหนังสือ “อัล-อิกบาล” ของท่านอะบุลฟัฎล์ อิบนฺ มุฮัมมัด อัล-ฮัรวี ได้กล่าวว่า ท่านศาสดา(ศ.) ได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ตื่นอยู่ในค่ำคืนแห่งก็อดรฺเพื่อทำอามัลอิบาดัต (ศาสนกิจ) เขาจะได้รับการเลื่อนการลงโทษไปจนกระทั่งถึงปีหน้า”
ในค่ำคืนแห่งก็อดรฺ เป็นค่ำคืนที่ท่านศาสดา(ศ.) เดินทางในยามค่ำคืนสู่ฟากฟ้า(อิสรออฺ) และเป็นค่ำคืนที่อัลลอฮ์ทรงยกศาสดาอีซา(อ.) บุตรของมัรยัมขึ้นไปยังพระองค์ และในค่ำคืนนั้น ศาสดามูซา(อ.) ได้ถึงแก่กรรม และโจชัว(ยูชาอฺ บิน นูน) “วะซี” ของศาสดามูซา(อ.) ก็เช่นเดียวกัน หลังจากนบีฮารูน(อ.) เสียชีวิต เขาได้ร่วมเดินทางกับนบีมูซา(อ.) ในดินแดนทะเลทรายเป็นเวลาสี่สิบปี และทำหน้าที่ทุกอย่างที่นบีฮารูน(อ.) เคยทำ ชื่อของเขาไม่ได้ถูกระบุถึงในคัมภีร์กุรอาน แต่ถูกอ้างอิงถึงในบทอรรถาธิบายเรื่องราวของนบีมูซา(อ.) ในซูเราะฮ์ มาอิดะฮ์, กะฮ์ฟฺ และ วากิอะฮ์ (อ้างอิงจาก ซัยยิด มุฮัมมัด ฮุเซน ชัมซี, หน้า 51)
ประมุขแห่งศรัทธาชน
ประมุขแห่งศรัทธาชน อิมามอะลี(อ.) ได้พลีชีพในค่ำคืนแห่งก็อดรฺนี้ด้วยเช่นกัน
“การพลีชีพของประมุขแห่งศรัทธาชน ขอความสันติพึงประสบแด่ท่าน ได้เกิดขึ้นก่อนรุ่งสางของวันศุกร์ วันที่ยี่สิบเอ็ดของเดือนรอมฎอน ในปี ฮ.ศ.40 ท่านถูกลงมือด้วยดาบ อิบนฺ มุลญิม อัลมุรอดี (ขออัลลอฮ์ทรงสาปแช่งเขา) ได้สังหารท่านที่มัสยิดกูฟะฮ์ ซึ่งอิมามอะลี(อ.) ได้ไปที่นั่นเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนตื่นขึ้นเพื่อทำนมาซซุบฮฺในค่ำคืนที่สิบเก้าของเดือนรอมฎอน
ท่านทนพิษบาดแผลผ่านวันที่สิบเก้า และทั้งคืนและวันของวันที่ยี่สิบ ไปจนถึงสามช่วงแรกของค่ำคืนที่ยี่สิบเอ็ด ท่าน(อ.) จึงเสียชีวิตด้วยการพลีชีพและไปพบกับพระผู้อภิบาล ผู้ทรงสูงสุด ในฐานะผู้ถูกประทุษร้าย ท่าน(อ.) รู้เรื่องนี้ก่อนถึงเวลาของมัน และท่านได้บอกเรื่องนี้กับประชาชนก่อนถึงเวลาของมัน” (“ชีวิตของอิมามอะลี(อ.) อิมามคนที่หนึ่งจากอิมามัตผู้บริสุทธิ์”, นิตยสาร Victory News, 2002)
อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงตรัสว่า “ศานติในค่ำคืนนี้ จนกระทั่งรุ่งอรุณ” ซึ่งหมายถึง ค่ำคืนแห่งก็อดรฺเป็นค่ำคืนแห่งความสันติสุขและความราบรื่น ปลอดพ้นจากความชั่วร้ายทั้งปวง ความยากลำบาก และความมุ่งร้ายของมารร้าย