ท่านอับดุรเราะห์มาน บินบะชีร ได้กล่าวว่า “เมื่อเดือนรอมฎอนมาเยือน ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) จะกล่าวดุอาบทนี้ทุกวัน ว่า โอ้แต่ข้าพระองค์ เดือนนี้คือเดือนรอมฎอน และคือเดือนแห่งการถือศีลอด”
และยังมีรายงานอีกว่า เมื่อเดือนรอมฎอนมาเยือน ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) จะเรียกเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้ว่า “เดือนแห่งการถือศีลอด”
صوم และ صيام ทั้งสองให้ความหมายเดียวกัน คือ การออกห่าง และยับยั้งจากการกระทำกิจการงานหนึ่งกิจการงานใด ซึ่งกิจการงานที่ว่านี้บางครั้งอาจจะเป็นการพูด การกิน การดื่ม การเดิน หรือการหาความสำราญใดๆ ก็ตาม
ม้าที่ไม่ยอมเดินไปข้างหน้า ถูกเรียกว่า صائمสายลมที่หยุดนิ่งไม่มีการพัดไหว ถูกเรียกว่า صوم
صوم และ صيام ในทัศนะของบทบัญญัติทางศาสนาคือ การงด ละเว้น จากกิจการงานต่างๆที่ถูกจำเพาะเอาไว้ในเวลาที่ถูกกำหนด ด้วยการตั้งจิตอธิษฐาน (เนี๊ยต) เริ่มตั้งแต่รุ่งสางจนพระอาทิตย์ตกดิน การถือศีลอดถือเป็นภารกิจที่สำคัญทีสุดในเดือนรอมฎอนอันทรงเกียรติ ในทุกๆวันของเดือนรอมฎอนทั้งสามสิบวัน จะเริ่มต้นด้วยการถือศีลอดและจบวันเหล่านั้นด้วยการละศีลอด การถือศีลอด กับเดือนรอมฎอน มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากหากเราได้ไปศึกษาดูในบทดุอาอ์ต่างๆที่มีอยู่ในเดือนนี้ ส่วนมากแล้วบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) จะสอนบทดุอาอ์ที่ขอให้พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงตอบรับการถือศีลอดของเรา และขอให้เรานั้นได้เข้าถึง เข้าใจ ต่อการถือศีลอดที่แท้จริงด้วยเช่นเดียวกัน
ซึ่งในหนังสือ กุญแจแห่งสรวงสวรรค์ (มะฟาติฮุลญินาน) ได้บันทึกบทดุอาอ์เหล่านั้นเอาไว้ เช่น เมื่อค่ำคืนแรกของเดือนรอมฎอนมาเยือนท่าน ศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้กล่าวขึ้นว่า “ขอสำนึกในพระมหากรุณาอันล้นพ้นยังพระองค์ผู้ทรงยิ่งใหญ่ พระผู้ซึ่งได้ทำให้เรามีเกียรติด้วยสื่อของเจ้าโอ้เดือนแห่งความจำเริญ โอ้อัลลอฮ์ ได้ทรงโปรดทำให้เรามีพลังในการถือศีลอดและการลุกขึ้นในเดือนนี้ด้วยเถิด”
และยังมีอีกรายงานได้กล่าวว่า เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้เห็นเดือนของเดือนรอมฎอน ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ.) ได้ผินหน้าไปยังกิบลัต และกล่าวขึ้นว่า “โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานความสำเร็จในการ ถือศีลอด การนมาซ การอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน แก่เราในเดือนนี้ด้วยเถิด”
เช่นกันท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีแก่พวกท่านทั้งหลายต่อการมาเยือนของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เนื่องจากว่าการถือศีลอดในเดือนนี้นั้นจะเป็นโล่ป้องกันไฟนรกอเวจี”