แหล่งที่มาของฟิกฮฺชีอะฮฺ (นิติศาสตร์) คืออะไร
คำตอบ : ชีอะฮฺได้ยึดถือปฏิบัติตามอัล-กุรอานและซุนนะฮฺ (แบบฉบับ) ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างเคร่งครัด ส่วนการพิสูจน์อะฮฺกามชัรอียฺ ได้ยึดแหล่งที่มาอันเป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาการและความรู้ ได้แก่
๑. อัล-กุรอาน
๒. ซุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านศาสดา)
๓. อิจมาอฺ (การเห็นพ้องต้องกันของนักปราชญ์ที่ต่างยุคสมัย)
๔. สติปัญญา
จากแหล่งที่มาของความรู้ อัล-กุรอานและซุนนะฮฺของท่านศาสดาเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดของฟิกฮฺชีอะฮฺ
อัล-กุรอาน ผู้ปฏิบัติตามแนวทางชีอะฮฺทุกคนยึดอัล-กุรอานเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับฟิกฮฺ และเป็นมาตรฐานในการรู้จักอะฮฺกามของพระผู้เป็นเจ้า เพราะบรรดาผู้นำชีอะฮฺได้ยึดอัล-กุรอาน เป็นที่ย้อนกลับของความรู้สูงสุดในการพิสูจน์อะฮฺกามและกฎต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ คำพูดอื่นจะถือว่าถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อนำไปเทียบกับอัล-กุรอานแล้วไม่มีความขัดแย้งกัน แต่ถ้ามีความขัดแย้งต้องละทิ้งคำพูดเหล่านั้น และยึดอัล-กุรอานเป็นเกณฑ์
ท่านอิมามญะอฺฟัรซอดิก (อ.) อิมามท่านที่ 6 ของชีอะฮฺ กล่าวว่า
و كلّ حديثٍ لا يوا فق كتاب الله فهو زخرفٌ
ทุกคำพูดที่ไม่สอดคล้องกับอัล-กุรอานถือว่าไม่มีรากที่มา [1]
ท่านอิมาม (อ.) ได้รายงานริวายะฮฺจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยกล่าวว่า
أيها النّاس ما جاءكم عنّى يوافق كتاب الله فأنا قلته و ماجاءكم يخالف كتاب الله فلم أقله
โอ้ประชาชนเอ๋ย ทุกคำพูดที่กล่าวว่ามาจากฉัน ถ้าสอดคล้องกับอัล-กุรอานเป็นคำพูดของฉัน แต่ถ้าคำพูดใดไม่สอดคล้องกับอัล-กุรอานไม่ใช่คำพูดของฉัน [2]
จากฮะดีษทั้ง ๒ ที่กล่าวมาทำให้รู้ว่าบรรดาผู้นำชีอะฮฺได้ยึดเอาอัล- กุรอานเป็นแหล่งพิสูจน์อะฮฺกามที่สำคัญที่สุด
ซุนนะฮฺ
ซุนนะฮฺหมายถึง คำพูด การกระทำ หรือการที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สนับสนุนการกระทำบางอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของความรู้ด้านฟิกฮฺของชีอะฮฺ และด้านอื่น ๆ บรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์เป็นผู้รักษาและอธิบายซุนนะฮฺโดยตรงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และยังเป็นคลังวิชาสำหรับท่านอีกต่างหาก แน่นอนถ้าซุนนะฮฺของท่านได้รับการถ่ายทอดโดยกลุ่มบุคคลหรือ วิธีการอื่นที่สามารถเชื่อถือได้ ชีอะฮฺก็ยอมรับเช่นกัน
เป็นการดีถ้าหากพิจารณา 2 ประเด็นที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้
เหตุผลที่ยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บรรดาอิมาม (อ.)ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการปฏิบัติตามอัล-กุรอาน และยังได้กล่าวแนะนำให้ยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งทั้ง ๒ เป็นความสมบูรณ์ของกันและกัน ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
إذا ورد عليكم حديثٌ فوجدتم له شاهداً من كتاب الله أو من قول رسول الله و إلا فالّذى جاءكم به اولى به
เมื่อใดก็ตามที่คำพูดหนึ่งได้มาถึงท่าน ดังนั้น ถ้าอัล-กุรอานและซุนนะฮฺรับรองคำพูดท่านจงรับไว้ แต่ถ้าไม่รับรอง คำพูดนั้นดีสำหรับคนนำมา [3]
ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) กล่าวว่าการยึดมั่นในซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับบุคคลที่เป็นมุจตะฮิด ท่านกล่าวว่า บุคคลที่เป็นฟะกีฮฺที่แท้จริงได้แก่ผู้ที่หลีกเลี่ยงความลุ่มหลงโลก มีความพึงปรารถนาในโลกหน้า และยึดมั่นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างเคร่งครัด [4]
หมายเหตุ ฟะกีฮฺ หมายถึงบุคคลที่มีความชำนาญ และเชี่ยวชาญพิเศษด้านนิติศาสตร์อิสลาม
บรรดาอิมาม (อ.) ของชีอะฮฺมีความเคร่งครัดต่อซุนนะฮฺอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ว่า ใครก็ตามขัดแย้งกับซุนนะฮฺ และอัล-กุรอานเป็นกาฟิร เกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
مَن خَالَفَ كتاب الله و سنة محمدٍ فقد كفر
บุคคลใดก็ตามขัดแย้งกับอัล-กุรอานและซุนนะฮฺเป็นกาฟิร [5]
จากคำอธิบายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ชีอะฮฺเป็นนิกายที่มีความเคร่งครัดต่อซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างยิ่ง อาจกล่าวได้ว่ามากกว่านิกายอื่น ๆ ทั้งหมด ดังนั้น การที่มีบางคนกล่าวหาชีอะฮฺว่าเป็นนิกายที่ละเลยต่อซุนนะฮฺ จึงไม่เป็นความจริง เป็นคำพูดที่ไม่มีแก่นสารและมูลความจริงแต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง
[1] อุซูล กาฟียฺ เล่มที่1 กิตาบฟัฎลุอิลมฺ ฮะดีษที่ 3
[2] อ้างแล้วเล่มเดิม ฮะดีษที 5
[3] อ้างแล้วเล่มเดิม
[4] อ้างแล้วเล่มเดิม ฮะดีษที่ 8
[5] เล่มเกิม ฮะดีษที่ 6
ขอขอบคุณเว็บไซต์อิมามอะลี