ไทยแลนด์
Wednesday 13th of November 2024
0
نفر 0

ความกตัญญูต่อบิดามารดา

ความกตัญญูต่อบิดามารดา



ความกตัญญูต่อบิดามารดา

 

การทำดีและการแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาถือเป็นหน้าที่ทางศีลธรรม ซึ่งมีรากฐานที่มาอยู่ในความจำเป็นของการขอบคุณต่อผู้มีพระคุณ (ชุกรุลมุนอิม) โดยสัญชาตญาณเดิมทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) แล้ว มนุษย์เป็นผู้ขอบคุณและมีความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ที่ทำดีต่อตนเอง การขอบคุณและการแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา เป็นสัญลักษณ์และเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์และความมีสภาพที่เป็นปกติของสัญชาตญาณทางธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) ของมนุษย์ และผู้ใดก็ตามที่ทำดีและแสดงออกซึ่งความกตัญญูต่อบิดามารดาของตนเอง เขาคือผู้ที่ได้พิทักษ์รักษาสัญชาตญาณธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของตนเองเอาไว้

 

       ความสำคัญและความจำเป็นของการทำดีและการแสดงออกด้วยความกตัญญูต่อบิดามารดา มีความสำคัญมากถึงขั้นที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ภายหลังจากการบัญชาให้มนุษย์แสดงความกตัญญูต่อพระองค์แล้ว ได้บัญชาให้เขาแสดงความกตัญญูและขอบคุณต่อผู้เป็นบิดามารดา โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَ وَصَّیْنَا الْإِنْسانَ بِوالِدَیْهِ حَمَلَتْهُ أُمُّهُ وَهْناً عَلی وَهْنٍ وَ فِصالُهُ فِی عامَیْنِ أَنِ اشْكُرْ لِی وَ لِوالِدَیْكَ إِلَیَّ الْمَصِیرُ

 

“และเราได้กำชับสั่งเสียมนุษย์เกี่ยวกับผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเขา มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความอ่อนแอและความเหนื่อยยากเป็นที่สุด และการให้นมแก่เขาสิ้นสุดลงใน (ระยะเวลา) สองปี (โดยเหตุนี้) เจ้าจงกตัญญูต่อข้าและต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด (โดยที่) ยังข้านั้นคือการกลับคืน (ของทุกสรรพสิ่ง)”(1)

 

      การแสดงความกตัญญูและการขอบคุณต่อบิดามารดามิใช่เรื่องง่าย ทำนองเดียวกัน ผู้ใดก็ตามที่ไม่สามารถขอบคุณและกตัญญูต่อพระผู้เป็นเจ้าได้แล้วแน่นอนยิ่ง การขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดาก็ย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งสำหรับเขา หรืออาจจะถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว มีรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

 

لن یجزی ولد عن والده حتی یجده مملوكاً فیشتریه و یعتقه

 

“บุตรนั้นไม่อาจจะทดแทนบุญคุณของผู้ให้กำเนิดของตนได้ (อย่างสมบูรณ์) ถึงแม้เขาจะพบผู้ให้กำเนิดของตนเองในสภาพของทาส และเขาก็ได้ซื้อผู้ให้กำเนิด (ของตนจากนายทาส) และปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระก็ตาม” (2)

 

     ยังมีรายงาน จากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อีกเช่นกัน ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

 

برّ الوالدین افضل من الصلوه و الصوم و الحج و العمره و الجهاد فی سبیل الله

 

“การทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง ประเสริฐกว่าการนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์ การทำอุมเราะฮ์และการต่อสู้ (ญิฮาด) ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า” (3)

 

     การทำความดีต่อบิดามารดามีความสำคัญถึงขั้นที่ว่า แม้ว่าหากบิดามารดาของเราจะมีความเบี่ยงเบนทางด้านความเชื่อและความศรัทธาหรือเป็นผู้อธรรมต่อลูกของตนเองก็ตาม ก็ยังจำเป็นที่ผู้เป็นบุตรจะต้องแสดงความเคารพให้เกียรติและปฏิบัติดีต่อพวกท่าน (4)

 

     ในคัมภีร์อัลกุรอานเองก็ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า

 

وَإِنْ جَاهَدَاكَ عَلى أَنْ تُشْرِكَ بِي مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ فَلا تُطِعْهُمَا وَصَاحِبْهُمَا فِي الدُّنْيَا مَعْرُوفًا

 

“และหากบุคคลทั้งสองได้พยายามที่จะทำให้เจ้าตั้งภาคีต่อข้า โดยที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ดังนั้นเจ้าก็จงอย่าเชื่อฟังปฏิบัติตามบุคคลทั้งสอง และจงอยู่ร่วม (ปรนนิบัติ) ต่อทั้งสองในโลกนี้ด้วยความดีงาม…” (5)

 

    มารดามีสิทธิพิเศษประการหนึ่ง และการทำดีต่อท่านนั้นมาก่อนบุคคลอื่นๆ อิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

    มีชายผู้หนึ่งได้มาพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และถามท่านว่า“โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าจะต้องทำดีต่อผู้ใด” ท่านกล่าวว่า “ต่อมารดาของเจ้า” เขาถามต่อว่า “แล้วหลังจากนั้นเป็นใคร” ท่านตอบว่า “ต่อมารดาของเจ้า” เขายังคงถามต่ออีกว่า “แล้วต่อไปคือใครอีก” ท่านกล่าวว่า “ต่อมารดาของเจ้า” เขาถามต่อว่า“แล้วลังจากนั้นควรเป็นใคร” ท่านกล่าวว่า “ต่อบิดาของเจ้า” (6)

 


ความจำเป็น (วาญิบ) ในการหลีกเลี่ยงการทำร้ายจิตใจของบิดามารดา

 

     พระผู้เป็นเจ้าทรงชี้ให้เห็นในคัมภีร์อัลกุรอานว่า การทำความดีต่อบิดามารดาเป็นหน้าที่ที่เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) เหนือบุตรทุกคน มันคือหน้าที่ซึ่งถูกกล่าวถึงภายหลังจากการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَ قَضى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُوا إِلاَّ إِیَّاهُ وَ بِالْوالِدَیْنِ إِحْساناً إِمَّا یَبْلُغَنَّ عِنْدَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُما أَوْ كِلاهُما فَلا تَقُلْ لَهُما أُفٍّ وَ لا تَنْهَرْهُما وَ قُلْ لَهُما قَوْلاً كَرِیماً

 

“และพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เพียงเท่านั้น และจงทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง เมื่อผู้ใดจากทั้งสองหรือบุคคลทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นก็จงอย่ากล่าวกับบุคคลทั้งสอง (แม้เพียงด้วยคำ) ว่า “อุฟ” และอย่าขู่ตะคอกเขาทั้งสอง และจงพูดกับบุคคลทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน” (7)

 

     ตามเนื้อหาของโองการนี้ การทำดีต่อบิดามารดาถือเป็นหน้าที่บังคับ (วาญิบ) และการแสดงความไม่ให้เกียรติต่อบุคคลทั้งสองแม้จะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ความจำเป็นในการทำดีและการห้ามในการแสดงที่ไม่ให้เกียรติต่อบุคคลทั้งสองดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ได้ถูกกล่าวถึงภายหลังจากที่ได้อธิบายถึงความจำเป็น (วาญิบ) ของการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว และสิ่งนี้เองที่เป็นบทพิสูจน์ถึงความสำคัญของสิทธิของผู้ให้กำเนิดทั้งสอง

 

    การแสดงการดูถูกดูแคลน และการแสดงออกด้วยความไม่สุภาพต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองนั้นมิอาจเป็นที่ยอมรับได้ แม้แต่จะเป็นพฤติกรรมหรือคำพูดที่เล็กที่สุด ที่อาจสร้างความไม่สบายใจต่อบุคคลทั้งสอง ตามโองการข้างต้นถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “หากมีคำพูดใดที่สั้นและเบาบางไปกว่าคำว่า “อุฟ” นี้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำมาตรัสไว้ในโองการนี้” (8)

 

     และในริวายะฮ์ อีกบทหนึ่งกล่าวว่า จุดประสงค์ของคำว่า “อุฟ” คือการทำร้ายจิตใจที่เล็กน้อยที่สุด และหากมีคำที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างความไม่สบายใจที่เล็กน้อยมากไปกว่าคำนี้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็จะทรงห้ามมัน (9)

 

     มีคำรายงานจำนวนมากที่กล่าวถึงการห้ามในการทำร้ายจิตใจของบิดามารดา ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้อ้างรายงานจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

ایاكم و عقوق الوالدین فان ریح الجنه توجد من مسیره الف سنه و لا یجدها عاقٌ

“ท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงจากการเนรคุณต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสอง เพราะแท้จริงกลิ่นไอของสวรรค์นั้นจะถูกสัมผัสในระยะทางที่ยาวไกลถึงหนึ่งพันปี แต่ผู้ที่เนรคุณ (ต่อบิดาและมารดา) จะไม่ได้สัมผัสมัน” (10)

 

     การล่วงละเมิดและการทำร้ายจิตใจของผู้ให้กำเนิดทั้งสองนั้นไม่เป็นที่อนุญาต แม้บุคคลทั้งสองจะเป็นผู้อธรรมก็ตาม ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

من نظر الی ابویه نظر ماقت و هما ظالمان له لم یقبل الله تعالی له صلوه

 

“ผู้ใดที่มองไปยังบิดามารดาของตนเองด้วยสายตาที่ไม่พอใจ แม้บุคคลทั้งสองจะเป็นผู้อธรรมต่อเขาก็ตาม พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงตอบรับการนมาซของเขา” (11)
การแสดงความนอบน้อมต่อบิดามารดา

 

    การแสดงความนอบน้อมต่อบิดามารดาด้วยความเมตตา คือคำบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำดีต่อบิดามารดา และถือว่าเป็นเครื่องหมายหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการขอบคุณและความกตัญญู พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสในคัมภีร์ของพระองค์ว่า

 

وَ اخْفِضْ لَهُما جُناحَ الذُّلِّ مِنَ الرَّحْمَهِ وَ قُلْ رَبِّ ارْحَمْهُما كَما رَبَّیانِی صَغِیراً

 

“และจงลดปีกแห่งความนอบน้อม (ของเจ้า) แด่ทั้งสองด้วยความเมตตา และจงกล่าว (ขอพร) แก่ทั้งสองว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ โปรดเมตตาท่านทั้งสองประดุจเดียวกับที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูข้าฯ มานับจากช่วงวัยเด็ก” (12)

 

     และจากส่วนหนึ่งของโองการนี้ที่กล่าวว่า

 

وَ قُلْ رَبِّ ارْحَمْهُما كَما رَبَّیانِی صَغِیراً

 

“และจงกล่าว (ขอพร) แก่ทั้งสองว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ โปรดเมตตาท่านทั้งสองประดุจเดียวกับที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูข้าฯ มานับจากช่วงวัยเด็ก”

 

     ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

لا تملأ عینیك من النظر الیهما الّا برحمه و رقّه، و لا ترفع صوتك فوق اصواتهما، و لا یدك فوق ایدیهما، و لا تقدم قدمهما

 

“จงอย่าใช้ดวงตาทั้งสองของเจ้าจ้องมองไปยังบุคคลทั้งสอง นอกจากด้วยความเมตตาและมีจิตใจสงสาร และจงอย่ายกเสียงของเจ้าให้ดังกว่าเสียงของท่านทั้งสอง และจงอย่าเดินล้ำหน้าบุคคลทั้งสอง” (13)

 


หน้าที่ของบุตรภายหลังจากการเสียชีวิตของบิดามารดา

 

      แม้แต่ภายหลังจากที่บิดามารดาได้เสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ผู้เป็นบุตรก็ยังคงมีหน้าที่ทางศีลธรรม เขาจำเป็นจะต้องนมาซขอพรให้แก่ท่านทั้งสอง และวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงเมตตาและอภัยโทษให้แก่พวกท่าน ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

رَبَّنَا اغْفِرْ لِی وَلِوَالِدَیَّ وَلِلْمُؤْمِنِینَ یَوْمَ یَقُومُ الْحِسَابُ

 

“โอ้พระเจ้าของเรา ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และแก่บิดามารดาของข้าพระองค์ และแก่บรรดามุอมิน ในวันที่การสอบสวนจะมีขึ้น”

(อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 41)

 

      มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

انّ العبد لیكون بارّاً بوالدیه فی حیاتهما ثم یموتان فلا یقضی عنهما دینهما و لا یستغفر لهما فیكتبه الله عاقاً و انه لیكون عاقاً لهما فی حیاتهما غیر بارّ بهما فاذا ماتا قضی دینهما و استغفر لهما فیكتبه الله بارّاً

 

“แท้จริงบ่าว (ของอัลลอฮ์) หากแม้เขาทำดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองของตนในช่วงที่ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ แต่ภายหลังจากที่ทั้งสองเสียชีวิตลง เขาไม่ได้ชดใช้หนี้ให้แก่บุคคลทั้งสอง และไม่วอนขอการอภัยโทษ (จากอัลลอฮ์) ให้แก่บุคคลทั้งสอง อัลลอฮ์จะทรงบันทึกว่าเขาคือผู้อกตัญญู และแท้จริงหากแม้เขาเป็นผู้อกตัญญูต่อบุคคลทั้งสองในขณะที่ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ โดยไม่เคยทำดีใดๆ ให้แก่บุคคลทั้งสองเลย แต่เมื่อบุคคลทั้งสองได้เสียชีวิตลง เขาชดใช้หนี้ให้บุคคลทั้งสองและวิงวอนขออภัยโทษให้บุคคลทั้งสอง ดังนั้นอัลลอฮ์จะทรงบันทึกว่าเขาเป็นผู้กตัญญู” (14)

 

     จากริวายะฮ์บทนี้ สามารถสรุปได้ว่า ประการแรก หน้าที่ในการแสดงออกซึ่งความกตัญญูและการทำดีต่อบิดามารดา มิได้สิ้นสุดลงด้วยกับการสิ้นชีวิตของท่านทั้งสอง และประการที่สองก็คือ พระผู้เป็นเจ้ายังทรงเปิดโอกาสเสมอสำหรับผู้เป็นบุตรที่จะชดเชยความบกพร่องในหน้าที่ต่างๆ ของผู้เป็นบุตร และความผิดพลาดต่างๆ ที่เขาเคยปฏิบัติไว้ต่อผู้ให้กำเนิดของตน และประการที่สาม คำว่า “หนี้” หรือ “หนี้สิน” ในที่นี้คือหมายรวมทั้งสิ่งที่เป็นสิทธิของมนุษย์ (ฮักกุลนาซ) เช่น หนี้สินอันเป็นทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ และที่เป็นสิทธิหน้าที่ที่ท่านทั้งสองมีต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่น นมาซ การถือศีลอด ฯลฯ ซึ่งผู้เป็นบุตรพึงปฏิบัติชดเชย (กอฎออ์) ให้แก่ท่านทั้งสอง

 


แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 14

(2) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎ้ออ์, เล่มที่ 3, หน้า 434

(3) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

(4) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม, หน้า 441- 442

(5) อัลกุรอานบทลุกมาน โองการที่ 14

(6) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎ้ออ์, เล่มที่ 3, หน้า 439

(7) อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 23

(8) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 341, ฮะดีษที่ 7

(9) มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 6, หน้า 631

(10) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม, หน้า 44

(11) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

(12) อัลกุรอานบทอัลอิสรออ์ โองการที่ 24

(13) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎ้ออ์, เล่มที่ 3, หน้า 438

(14) อัลมะฮัจญะตุลบัยฎ้ออ์, เล่มที่ 3, หน้า 441


เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ความสมถะของอิมามอะลี
...
เราะห์มัต (ความเมตตา) ...
อับบาส ธงทรนงเหนือศัตรู
อิสลามกับการบริจาค
อิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ...
ชีวประวัติอิมามซัยนุลอาบิดีน ...
บทเรียนจากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์
"ฝน"ในอัลกุรอาน
...

 
user comment