สถานะและเกียรติของมนุษย์
สรรพสิ่งทั้งมวลที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ในแง่ของการสร้างแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ :
- สิ่งที่มีมิติของความเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว
- สิ่งที่มีมิติของความเป็นจิตวิญญาณเพียงอย่างเดียว
- สิ่งที่มีทั้งสองมิติ คือทั้งด้านวัตถุและจิตวิญญาณรวมอยู่ในตัวเอง
และท่ามกลางสรรพสิ่งดำรงอยู่ทั้งมวลนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง ได้ทรงบันดาลให้บางส่วนของมันมีความประเสริฐเหนือกว่าอีกบางส่วน ตัวอย่างเช่น ท่ามกลางสถานที่ทั้งมวลนั้น สถานที่ที่มีความประเสริฐสูงสุดคือแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารกะอ์บะฮ์อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง :
اِنّ اوّلَ بَیتٍ وُضِعَ لِلنّاس لَلَّذی ببَکَّةَ مُبارکاً وَ هُدیً لِلعالَمینَ
“แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกวากรากฐานสำหรับมวลมนุษย์ คือบ้านที่อยู่ ณ มักกะฮ์ อันเป็นสถานที่ที่มีความจำเริญ และเป็นสิ่งชี้นำแก่ชาวโลกทั้งมวล” (1)
ในท่ามกลางช่วงเวลาทั้งหลายนั้น เวลาที่ดีที่สุดก็คือ “ลัยละตุลก็อดริ์” (ค่ำคืนแห่งอานุภาพ) ดั่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
لَیلَةُ القَدرِ خَیرٌ مِن اَلفِ شَهر
“ลัยละตุลก็อดริ์ (ค่ำคืนแห่งอานุภาพ) นั้นประเสริฐกว่าหนึ่งพันเดือน” (2)
แต่สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงเนรมิต นั้นก็คือสิ่งดำรงอยู่ที่มีนามว่า “มนุษย์” ซึ่งหลังจากที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบรรยายถึงขั้นตอนต่างๆ ของการสร้างมนุษย์ในคัมภีร์อัลกุรอาน ในตอนท้ายพระองค์ได้ทรงตรัสว่า :
فَتبارَکَ الله اَحسنُ الخالقین
“ดังนั้นอัลลอฮ์ทรงจำเริญยิ่ง ผู้ทรงเป็นเลิศแห่งปวงผู้สร้างทั้งหลาย” (3)
มนุษย์ในท่ามกลางสิ่งถูกสร้างทั้งมวลนั้นมีสถานะและเกียรติที่สูงส่งที่สุด เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง ได้ทรงคัดเลือกมนุษย์ในฐานะตัวแทนของพระองค์ในหน้าพื้นพิภพ โดยตรัสกับมวลมลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ในขณะที่จะทรงสร้างมนุษย์ว่า :
إِنِّی جَاعِلٌ فِی الْأَرْضِ خَلِیفَة
“แท้จริงข้าจะสร้างตัวแทนขึ้นในแผ่นดิน” (4)
เกียรติ (กะรอมะฮ์) ของมนุษย์นั้นมี 2 ระดับ
เกียรติที่ติดกายมาโดยกำเนิด (อัลกะรอมะฮ์ อัซซาตียะฮ์) เป็นเกียรติที่มนุษย์ไม่ต้องแสวงหา เมื่อเทียบกับสรรพสิ่งดำรงอยู่ทั้งมวล มนุษย์คือผู้มีเกียรติสูงสุด ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้น และสรรพสิ่งทั้งมวลนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้และยังคุณประโยชน์แก่มนุษย์ ดังตัวอย่างที่อัลกุรอานกล่าวว่า :
وَ لَقَدْ كَرَّمْنا بَني آدَمَ وَ حَمَلْناهُمْ فِي الْبَرِّ وَ الْبَحْرِ وَ رَزَقْناهُمْ مِنَ الطَّيِّباتِ وَ فَضَّلْناهُمْ عَلى كَثيرٍ مِمَّنْ خَلَقْنا تَفْضيلاً
“และแน่นอนยิ่ง เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้ให้พวกเขาขี่พาหนะทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาประเสริฐเหนือกว่าสรรพสิ่งอันมากมายที่เราได้บังเกิดขึ้นมาอย่างล้นเหลือ” (5)
เกียรติที่เกิดจากการแสวงหา (อัลกะรอมะฮ์ อัลอิกติซาบียะฮ์) จุดประสงค์จากเกียรติดังกล่าวนี้ คือ การที่มนุษย์จะบรรลุสู่ความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ต่างๆ ภายใต้ความศรัทธา (อีหม่าน) และการกระทำความดี (อะมั้ลซอและห์) ทั้งหลาย ด้วยเจตจำนงเสรี (อิคติยาร) ของตน
เกียรติ (กะรอมะฮ์) ในระดับนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยการความอุตสาห์พยายาม การขวนขวายและความมุ่งมั่นของมนุษย์เอง และจะเป็นบรรทัดฐานในการจำแนกระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองว่า ใครจะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด และมีสถานะสูงส่งกว่ากัน ณ พระองค์ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :
یا أَیُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْناكُمْ مِنْ ذَكَرٍ وَ أُنْثى وَ جَعَلْناكُمْ شُعُوباً وَ قَبائِلَ لِتَعارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقاكُمْ
“โอ้มวลมนุษย์เอ๋ย! แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นกลุ่มชนและเผ่าพันธ์ต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักต่อกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮ์นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า” (6)
และพระองค์ยังได้ทรงตรัสอีกว่า :
اِنَّ الانسانَ لَفی خُسر اِلاّ الّذینَ آمنوا وَ عَملوا الصّالحات
“แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย” (7)
ดังที่โองการเหล่านี้และโองการอื่นๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็น เกียรติที่เกิดจากการแสวงหา (อัลกะรอมะฮ์ อัลอิกติซาบียะฮ์) นี้ ขึ้นอยู่กับการกระทำ (อะมั้ล) ที่เกิดจากการเลือกและเจตจำนงเสรี (อิคติยาร) ของมนุษย์เอง การที่จะบรรลุสู่ความมีเกียรติ (กะรอมะฮ์) นี้ไม่อาจเป็นไปได้ นอกเสียจากการมีความยำเกรง (ตักวา) มีความศรัทธา (อีหม่าน) และการประกอบคุณงามความดี (อะมั้ลซอและห์) เพียงเท่านั้น และหากมนุษย์ไม่สามารถบรรลุสู่เกียรติ (กะรอมะฮ์) ในระดับนี้ได้แล้ว เกียรติในระดับแรก (เกียรติที่ติดกายมาแต่กำเนิด) ก็ไม่มีคุณค่าและยังประโยชน์ใดๆ ต่อมนุษย์ ในด้านของจิตวิญญาณแล้ว มนุษย์จะถูกยอมรับจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยเกียรติระดับที่สอง (เกียรติที่เกิดจากการขวนขวายแสวงหา) นี้
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง เมื่อมีผู้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “มะลาอิกะฮ์ประเสริฐที่สุด หรือลูกหลานของอาดัม?” ท่านอ้างคำพูดของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิอะบีฏอลิบ (อ.) ซึ่งกล่าวว่า :
اِنَّ اللهَ عَزَّوَجَلَّ رَکَّبَ فِي الْمَلائِکَةِ عَقْلاً بِلا شَهْوَةِ وَ رَکَّبَ فِي الْبَهائِمِ شَهْوَةً بِلا عَقْلٍ وَ رَکَّبَ في بَني آدَمَ کِلْتَيْهِما فَمَنْ غَلَبَ عَقْلُهُ شَهْوَتَهُ فَهُوَ خَيْرٌمِنَ المَلائِکَةِ وَ مَنْ غَلَبَ شَهْوَتُهُ عَقْلَهُ فَهُوَ شَرٌّمِنَ البَهائِمِ
“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ประกอบไว้ในมะลาอิกะฮ์ซึ่งสติปัญญาโดยปราศจากความใคร่ และพระองค์ได้ทรงประกอบเข้าไว้ในสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายซึ่งความใคร่โดยปราศจากสติปัญญา และพระองค์ได้ทรงประกอบไว้ในลูกหลานของอาดัมซึ่งสิ่งทั้งสอง ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่สติปัญญาของเขาสามารถพิชิตความใคร่ของเขาได้ ดังนั้นเขาคือผู้ที่ประเสริฐกว่ามะลาอิกะฮ์ และผู้ใดก็ตามที่ความใคร่ของเขาพิชิตสติปัญญาของเขา ดังนั้นเขาคือผู้ที่เลวร้ายยิ่งกว่าบรรดาสัตว์เดรัจฉาน” (8)
เชิงอรรถ :
(1) อัลกุรอาน บทอาลุอิมรอน โองการที่ 96
(2) อัลกุรอาน บทอับก็อดริ์ โองการที่ 3
(3) อัลกุรอาน บทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 14
(4) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 30
(5) อัลกุรอาน บทอัลอิสรออ์ โองการที่ 70
(6) อัลกุรอาน บทอัลหุญุร๊อต โองการที่ 13
(7) อัลกุรอาน บทอัลอัศริ์ โองการที่ 2-3
(8) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 57, หน้า 299
โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ