การถือกำเนิดและพัฒนาการของชีอะฮ์ ตอนที่ 3
ปัญหาสองประการเกี่ยวกับผู้สืบแทนกับผู้ทรงสิทธิ์แห่งวิชาการศาสนา
บนพื้นฐานของความรู้อิสลามที่ถูกต้องนั้น ชีอะฮ์เชื่อว่าปัญหาสำคัญที่สุดซึ่งเผชิญหน้าสังคม คือ การทำให้คำสอนของอิสลามกับบทบัญญัติของวิชาการศาสนาเป็นที่กระจ่างแจ้งและชัดเจนเสียก่อน
ส่วนประการต่อมาคือ การนำคำสอนและวิชาการเหล่านี้ไปสู่การบังคับใช้ในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีอะฮ์เชื่อว่า ก่อนสิ่งอื่นใด สมาชิกของสังคมจะต้องได้รับวิสัยทัศน์เกี่ยวกับโลกและมนุษย์ บนพื้นฐานของธรรมชาติที่เป็นจริงของสิ่งนั้น หลังจากนั้นพวกเขาจะสามารถรู้และปฏิบัติหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นมนุษย์ ซึ่งวางพื้นฐานอยู่บนหลักประกันความมั่นคงที่แท้จริงของพวกเขา แม้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนานี้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อความต้องการของพวกเขา หลังจากขั้นตอนแรกได้รับการปฏิบัติ รัฐบาลที่ปกครองโดยนักการศาสนา โดยนำเอาหลักการของอิสลามที่แท้จริงมาปฏิบัติกับสังคม และไม่แนะนำให้ประชาชนไปเคารพสักการะกับสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้า ให้ความอิสระเสรีอย่างบริบูรณ์ ให้ความดุลยภาพทั้งแก่ปัจเจกชนและสังคม จะต้องได้รับการจัดตั้งขึ้น
แน่นอนทั้งสองประการนี้ ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ ต้องเป็นบุคคลที่มีความเชื่อมั่นต่อพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ และได้รับการปกป้องจากพระองค์ให้พ้นไปจากความผิดพลาด เพราะอาจเป็นไปได้ที่ว่า อำนาจการปกครองอาจไปตกอยู่ในน้ำมือของบุคคลที่มีความรู้แต่ไม่มีความศรัทธา และมีความคิดที่เฉไฉออกไปจากอิสลาม หรือปกครองด้วยกับความฉ้อฉล และทำให้อำนาจการปกครองที่มีความยุติธรรมและความเสรีภาพต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการปกครองแบบเผ็ด็จการหรือระบบจักรพรรดิ และกษัตริย์ราชวงศ์ทั้งหลาย ทำให้ความรู้อันบริสุทธิ์ของอิสลามต้องแปดเปื้อน และถูกเปลี่ยนแปลงไปตามอำเภอใจ ด้วยน้ำมือของผู้กล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้น ผู้ที่ยอมรับท่านศาสดา ทั้งการกระทำและคำพูด และการกระทำของเขาตรงกับอัล กุรอานและแบบฉบับของท่านศาสดา มีเพียงท่านอะลี เพียงคนเดียวเท่านั้น
ตามที่ชีอะฮ์ได้เห็นนั้น แม้ว่า ประชาชนส่วนมากจะพูดว่า ชาวกุเรช ไม่เห็นด้วยกับการเป็นคอลีฟะฮ์ของท่านอะลี ดังนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จึงต้องตอบชาวกุเรชด้วยการสอดใส่สิ่งที่ถูกต้องลงไป พวกเขาจะต้องบำราบสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความถูกต้อง ในวิถีทางเดียวกับที่พวกเหล่านั้นปราบผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายทานบังคับ (ซะกาต) ประชาชนส่วนใหญ่จะต้องไม่คงความแตกต่างกับสิ่งที่ถูกต้องไว้ เพราะเกรงกลัวต่อการเป็นปฏิปักษ์กับชาวกุเรช และเหตุผลหนึ่งที่ชีอะฮ์ไม่ยอมรับคอลีฟะฮ์ที่มาจากเลือกตั้งโดยประชาชน เพราะมีความหวั่น
เกรงต่อเหตุการณ์ร้าย หมายถึงความเสื่อมทรามที่เกิดจากแนวปฏิบัติของฝ่ายปกครอง รวมไปถึงการทำลายล้างรากฐานคำสอนอันสูงส่งของศาสนา (ดีน) และสิ่งที่ชีอะฮ์คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น ก็ได้เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา จึงทำให้ฝ่ายชีอะฮ์เกิดความเชื่อมั่นตามแนวคิดของตนมากยิ่งขึ้น ดูภายนอก แม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนไม่มากตั้งแต่แรกที่แยกตัวออกมา และต้องยอมอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ แต่ภายในพวกเขาได้ตักตวงความรู้จากอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัว) ของท่านศาสดา และเชิญชวนประชาชนมาสู่แนวทางของตน แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความสงบเรียบร้อย และเพื่อพิทักษ์อิสลามให้ดำรงอยู่ ฝ่ายชีอะฮ์จึงไม่ต่อต้านอย่างเปิดเผย มิหนำซ้ำในบางครั้งยังเข้าร่วมสงครามชนิดเคียงบ่าเคียงไหล่กับฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นส่วนรวม โดยเฉพาะท่านอะลี การณ์ใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่ออิสลาม หรือมีความสำคัญต่อสังคมท่านจะคอยให้คำแนะนำเสมอ
ที่มา หนังสือชีอะฮ์ดารอิสลาม(ชีอะฮ์ในอิสลาม) เขียนโดย อัลลามะห์ ฏอบาฏอบาอี
แปลโดย เชคชรีฟ เกตุสมบูรณ์