ไทยแลนด์
Thursday 28th of March 2024
0
نفر 0

ความแตกต่างระหว่างอิบลิซกับชัยฏอนในทัศนะของอัลกุรอาน

ความแตกต่างระหว่างอิบลิซกับชัยฏอนในทัศนะของอัลกุรอาน

 

บนพื้นฐานของอัลกุรอาน อิบลิซเป็นหนึ่งในหมู่ญิน เนื่องจากการทำอิบาดะฮ์อย่างมากมาย จึงทำให้อิบลิซได้ก้าวไปอยู่ในระดับเดียวกันกับมะลาอิกะฮ์ แต่หลังจากการสร้างอาดัม  อิบลิซได้ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ไม่ยอมกราบต่ออาดัม  จึงได้ถูกขับออกจากสวรรค์เนรมิตแห่งนั้น ส่วนชัยฏอนนั้นจะใช้เรียกทุกการมีอยู่ ที่แสดงความอหังการ ยโสโอหัง ละเมิด และฝ่าฝืน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ หรือญิน หรือสรรพสัตว์ก็ตาม ขณะเดียวกันอิบลิซนั้นได้ถูกเรียกว่าชัยฏอน ก็เนื่องจากโอหังและฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ดังนั้น ถ้าจะกล่าวแล้ว “ชัยฏอน” เป็นนามโดยทั่วไป ซึ่งครอบคลุมเหนือทั้งอิบลิซ และไม่ใช่อิบลิซ


สำหรับการตอบคำถามอย่างละเอียดนั้น จำเป็นต้องพิจารณาสองคำนี้ ชัยฏอน และอิบลิซ ให้กระจ่างเสียก่อน


ชัยฏอน


คำว่า ชัยฏอน มาจากรากศัพท์ของคำว่า “ชะฏะนะ” หมายถึง การเป็นปรปักษ์ ซึ่งจะใช้เรียกทุกสรรพสิ่งที่ฝ่าฝืน ละเมิด และแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับความจริง ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์ หรือญิน หรือสรรพสัตว์ก็ตาม [1]


คำว่า ชัยฏอน ถูกใช้ในอัลกุรอาน 3 ลักษณะดังนี้:


1. ใช้คำว่า ชัยฏอน เพียงอย่างเดียวโดยปราศจาก อลิฟ และลาม ในกรณีนี้ วัตถุประสงค์คือ ชัยฏอน ที่มิได้มีการระบุแน่นอนว่าหมายถึงผู้ใด แน่นอนว่า อาจหมายถึง ทุกคนทั้งที่เป็นมนุษย์และญินก็ได้ เช่น โองการที่กล่าวว่า:

 

«وَ مَنْ يَعْشُ عَنْ ذِكْرِ الرَّحْمنِ نُقَيِّضْ لَهُ شَيْطاناً فَهُوَ لَهُ قَرينٌ »

 

“ผู้ใดที่ผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงปรานี เราจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขา”[2]

 


2. คำว่า ชัยฏอน ถูกใช้พร้อมกับ อลิฟและลาม ในกรณีนี้โดยทั่วไปแล้วจะให้ความหมายเฉพาะเจาะจง นั่นคือ อิบลิซ เช่น โองการที่กล่าวว่า :

 

«يا بَني‌ آدَمَ لا يَفْتِنَنَّكُمُ الشَّيْطانُ كَما أَخْرَجَ أَبَوَيْكُمْ مِنَ الْجَنَّةِ»

 

“โอ้ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย จงอย่าให้ชัยฏอนลวงพวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ให้พ่อแม่ของพวกเจ้าออกจากสวนสวรรค์มาแล้ว” [3]

 

บางครั้งก็จะใช้ในความหมายทั่วๆ ไป เช่น โองการที่กล่าวว่า :


 «الشَّيْطانُ يَعِدُكُمُ الْفَقْرَ وَ يَأْمُرُكُمْ بِالْفَحْشاء...»


“ชัยฎอนจะขู่พวกเจ้าให้กลัวความยากจน และกำชับพวกเจ้าให้กระทำความชั่ว” [4]

 

ตรงนี้จะเห็นว่า (อลิฟ ลาม) จะเป็นตัวระบุว่า ชัยฏอนนั้นหมายถึง ชนิด (ทั่วไป) เนื่องจากการบังคับให้กลัวความอยากจน หรือการชักชวนไปสู่การก่อกรรมชั่ว บางครั้งก็เกิดได้โดยน้ำมือของชัยฏอน หรือมนุษย์

 

3. คำว่า “ชัยฏอน” ถูกใช้ในลักษณะที่เป็นพหูพจน์ ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ชัยฏอน นั้นมีองค์ประกอบภายนอกมากมาย ที่แตกต่างกัน ขณะที่ถ้าหากคำว่า ชัยฏอน เป็นคำนามสำหรับ บุคคลเฉพาะ (อิบลิซ) จะใช้ในลักษณะที่เป็นเอกพจน์เสียส่วนใหญ่ นอกจากนั้น อัลกุรอาน บางโองการหลังจากคำว่า ชะยาฏีน ในลักษณะที่เป็นชนิดต่างๆ ที่แตกต่างไปจากประเภทของ ชัยฏอน เช่น โองการที่กล่าวว่า :


 «وَ كَذلِكَ جَعَلْنا لِكُلِّ نَبِيٍّ عَدُوًّا شَياطينَ الْإِنْسِ وَ الْجِن»
 

หมายถึง “ในทำนองนั้น เราได้ให้มีศัตรูขึ้นแก่นะบีทุกคนคือ บรรดาชัยฏอนทั้งที่เป็นมนุษย์ และญิน”[5]

 

อิบลิซ


คำว่า อิบลิซ มาจากรากศัพท์คำว่า (อิบลาซ) หมายถึง ความเศร้าเสียใจ ความทุกข์ใจที่เกิดจาก การสิ้นหวังอย่างรุนแรง อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ตรัสว่า :

 
« وَ يَوْمَ تَقُومُ السَّاعَةُ يُبْلِسُ الْمُجْرِمُون‌»


หมายถึง “วันที่วาระสุดท้าย (กิยามะฮฺ) จะเกิดขึ้นพวกทำผิดต่างหมดหวัง”[6] ซึ่งตรงกับความหมายของคำตามที่กล่าวในสารานุกรม[7]

 

อิบลิซ ได้ถูกเรียกว่า อิบลิซ เนื่องจากว่า มันได้สิ้นหวังจากพระเมตตาของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เนื่องจากความดื้อดึง อวดดี และฝ่าฝืนต่อคำสั่งของพระองค์


อัลกุรอาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า : » เมื่อเราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮฺว่า จงกราบคารวะอาดัม ทั้งหมดได้กราบคารวะ เว้นแต่อิบลิซมันอยู่ในหมู่ของพวกญิน ดังนั้น จึงฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้อภิบาล«” [8]


อัลลอฮ์ ทรงถามว่า “โอ้ อิบลิซ อันใดเล่าที่ขัดขวางเจ้าไม่ให้เจ้าก้มกราบต่อสิ่งที่ข้าได้สร้างขึ้นด้วยมือทั้งสองของข้า? เจ้าเย่อหยิ่งจองหอง หรือว่าเจ้าอยู่ในหมู่ผู้สูงส่งกันแน่? เจ้าประเมินการว่าเจ้าดีและวิเศษกว่าเขา? (เจ้าคิดว่าเจ้าดีกว่าใช่ไหม) อิบลิซ ตอบว่า: กล่าวว่า ข้าฯ ดีกว่าเขา พระองค์ทรงสร้างข้าฯ จากไฟ และทรงสร้างเขาจากดิน [9]


ตรงนี้เองที่อัลลอฮ์ ทรงมีคำสั่งขับไล่อิบลิซออกไปว่า ดังนั้น เจ้าจงออกไปจากที่นี่ เพราะแท้จริงเจ้าเป็นผู้ถูกขับไล่ การสาปแช่งของข้าจะประสบแก่เจ้า ตราบจนถึงวันแห่งการตอบแทน[10]


พร้อมกับถอดถอนคุณลักษณะของ มะลัก ออกจากเขา[11] ทว่าตั้งแต่แรกแล้วที่อิบลิซ มิได้มาจากหมู่มวลมะลาอิกะฮฺ ทว่าเนื่องจากความพยายามในการอิบาดะฮฺ การแสดงความเคารพภักดี เชื่อฟัง จนทำให้เขาอยู่ในฐานะที่ใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาล และได้อยู่ในหมู่มวลมะลาอิกะฮฺ[12]

 

ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า : “ชื่อของอิบลิซคือ »ฮะรัษ หรือ ฮาริษ «แต่ได้เรียกว่า อิบลิซ เนื่องจากมารได้สิ้นหวังในพระเมตตาของอัลลอฮฺโดยสิ้นเชิง”[13]


อิบนุ อารอบี,เจ้าของหนังสือ ฟุตูฮาต มักกียะฮฺ กล่าวถึง การตั้งชื่ออิบลิซว่า : มารเป็นคนแรกที่ได้ถูกตั้งชื่อว่า ชัยฏอน [ฮาริษ] หลังจากอัลลอฮ์ ทรงเรียกเขาว่า อิบลาซ หมายถึง ผู้สิ้นหวังจากพระเมตตาของอัลลอฮ์โดยสิ้นเชิง[14]


อัลกุรอาน กล่าวว่า : เมื่ออัลลอฮ์ ทรงถอดเขาออกจากหมู่มวลมลาอิกะฮฺ มารกล่าวต่อรองว่า »โอ้ พระผู้อภิบาล ฉะนั้น โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าฯ จนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ตรัสว่า แน่นอน เจ้าอยู่ในหมู่ผู้ถูกประวิงเวลา จนกระทั่งถึงวันที่เวลาถูกกำหนดไว้แล้ว«[15]


ครั้นเมื่ออิบลิซมั่นใจว่า ตนจะได้มีชีวิตต่อไป จึงกล่าวว่า “ดังนั้น ขอสาบานด้วยเกียรติของพระองค์ว่า ข้าฯ จะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิด ยกเว้นปวงบ่าวของพระองค์ ในหมู่พวกเขาที่บริสุทธิ์ใจเท่านั้น”[16]

 

ดังนั้น มารจึงกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของอัลลอฮ์ มาตั้งแต่บัดนั้น อัลลอฮ์ทรงสำทับหมู่มนุษย์ทั้งหลายว่า »แท้จริง ชัยฏอนนั้นเป็นศัตรูกับพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงถือว่ามันเป็นศัตรู [17]«


แน่นอน การกล่าวถึงประเด็นนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดาชัยฏอนทั้งหมดได้เชื่อฟังคำสั่งของอิบลิซ และอยู่ใต้การบังคับบัญชาของมัน อัลกุรอาน จึงได้เรียกกลุ่มนี้ว่า พลพรรคของชัยฏอน (อิบลิซ)


»ชัยฎอนมารร้ายได้เข้าไปครอบงำพวกเขาเสียแล้ว มันจึงทำให้พวกเขาลืมการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ชนเหล่านั้นคือบรรดาพรรคพวกของชัยฏอน พึงทราบเถิดว่า แท้จริงพรรคพวกของชัยฏอนนั้น พวกเขาเป็นผู้ขาดทุน« [18]


สรุป :


อิบลีซ คือ ชื่อหนึ่งของชัยฏอน เนื่องจากการฝ่าฝืนในคำสั่งของอัลลอฮ์ จึงถูกขับออกจากสถานแห่งพระองค์ ส่วนคำว่า ชัยฏอน คือ ความเข้าใจรวม หมายถึง สรรพสิ่งที่ดื้อรั้น อวดดี จองหอง ละเมิด และฝ่าฝืน ซึ่งครอบคลุมเหนืออิบลิซด้วย และนอกจากนั้นยังครอบคลุม บรรดาชัยฎอนทั้งหมด ทั้งมาจากมนุษย์และมาจากหมู่ญิน หรือแม้แต่สรรพสัตว์ก็ตาม


แหล่งอ้างอิง


[1] อัลมุนญิด ฟิล ลุเฆาะฮฺ


[2] อัลกุรอาน บทอัซซุครุฟ 36.


[3] อัลกุรอาน บทอะอ์รอฟ 27.


[4] อัลกุรอาน บทบะเกาะเราะฮ์ 286.


[5] อัลกุรอาน บทอันอาม  112.

 

[6] อัลกุรอาน บทอัรโรม  12


[7] อัลมุฟรอดาต ฟี เฆาะรีบิลกุรอาน รอฆิบ เอซฟาฮานีย์.


[8] อัลกุรอาน อัลกะฮ์ฟิ 50 กล่าวว่า


 "وَ إِذْ قُلْنَا لِلْمَلَئكَةِ اسْجُدُواْ لاَدَمَ فَسَجَدُواْ إِلَّا إِبْلِيسَ كاَنَ مِنَ الْجِنّ‌ِ فَفَسَقَ عَنْ أَمْرِ رَبِّهِ...".


[9] อัลกุรอาน บทซ็อด 75-76 กล่าวว่า:


"قَالَ يَإِبْلِيسُ مَا مَنَعَكَ أَن تَسْجُدَ لِمَا خَلَقْتُ بِيَدَىَّ  أَسْتَكْبرَتَ أَمْ كُنتَ مِنَ الْعَالِين‌ (*)قَالَ أَنَا خَيرْ مِّنْهُ خَلَقْتَنىِ مِن نَّارٍ وَ خَلَقْتَهُ مِن طِينٍ"

 

[10] อัลกุรอาน บทซ็อด 77-78 กล่าวว่า:

"قَالَ فَاخْرُجْ مِنهْا فَإِنَّكَ رَجِيمٌ (*)وَ إِنَّ عَلَيْكَ لَعْنَتىِ إِلىَ‌ يَوْمِ الدِّينِ


[11] ตัฟซีรเนะมูเนะฮ์ เล่ม 19 หน้า 341.


[12] อ้างแล้ว เล่ม 12 หน้า 462


[13] สะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม 1 หน้า 99.


[14] อัลฟุตูฮาต อัลมักกียะฮ์ อิบนุอารอบีย์ เล่ม 1 หน้า 134.


[15] อัลกุรอาน บทซ็อด 79-81 กล่าวว่า:


"قَالَ رَبّ‌ِ فَأَنظِرْنىِ إِلىَ‌ يَوْمِ يُبْعَثُونَ قَالَ فَإِنَّكَ مِنَ الْمُنظَرِينَ

 

[16] อัลกุรอาน บทซ็อด 82-83 กล่าวว่า:


"قَالَ فَبِعِزَّتِكَ لَأُغْوِيَنَّهُمْ أَجْمَعِينَ  إِلَّا عِبَادَكَ مِنْهُمُ الْمُخْلَصِينَ"

 

[17] อัลกุรอาน บทฟาฏิร 6 กล่าวว่า:


 "إِنَّ الشَّيْطَانَ لَكمُ‌ْ عَدُوٌّ فَاتخَّذُوهُ عَدُوًّا..."


[18] อัลกุรอาน บทมุญาดะละฮ์ 19 กล่าวว่า :


"اسْتَحْوَذَ عَلَيْهِمُ الشَّيْطانُ فَأَنْساهُمْ ذِكْرَ اللَّهِ أُولئِكَ حِزْبُ الشَّيْطانِ أَلا إِنَّ حِزْبَ الشَّيْطانِ هُمُ الْخاسِرُون‌"

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อิสลามเควสท์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
อาณาจักรดุอาสะฮัร
อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 14 ...
ในอายะฮ์ที่ได้กล่าวว่า "فَمَنِ ...
...
...
ในประโยคคำปฏิญาณ (อัชฮะดุ อันลา ...
อัลกุรอาน บทนิซาอฺ โองการที่ 29 ...
ดุอาประจำวันที่ 18 ...
ดุอากุเมล คำอ่านพร้อมความหมาย

 
user comment