ไทยแลนด์
Monday 25th of November 2024
0
نفر 0

รู้จักเพื่อน พิจารณามิตร เพื่อคบค้าสมาคม

รู้จักเพื่อน พิจารณามิตร เพื่อคบค้าสมาคม

รู้จักเพื่อน พิจารณามิตร เพื่อคบค้าสมาคม


มนุษย์คือสัตว์สังคม และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคบหาสมาคมกัน และแน่นอน! ในทุกยุคทุกสมัย การดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดหรือวัยใด ซึ่งตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงวัยชรา พวกเขาก็มีความจำเป็นและคุ้นเคยกับการที่จะต้องมีบุคคลอื่นอยู่ร่วมด้วย จำเป็นต้องมีผู้ที่เป็นมิตรสนิท เพื่อนที่รู้ใจ เพื่อนร่วมอุดมคติ และมิตรที่มีแนวความคิดอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งการอยู่ร่วมกันกับบรรดาเพื่อนและบรรดาบุคคลเหล่านี้ จะเป็นสาเหตุของความสุขความสบายใจ ความรักความผูกพันซึ่งกันและกัน

 

     และในทางกลับกัน มนุษย์ไม่สามารถที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวและอยู่ตามลำพังได้ การไม่มีเพื่อนหรือมิตรที่คอยเข้าอกเข้าใจ จะเป็นสาเหตุของความเศร้าโศก ความทุกข์ระทม ความหงอยเหงา และแน่นอนที่สุด มนุษย์ที่ขาดเพื่อนก็เปรียบได้ดั่งดอกไม้ที่เหี่ยวเฉา และจะร่วงโรยราไปในที่สุด

 

     มีนักวิชาการร่วมสมัยท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “มนุษย์มีความต้องการมิตรที่ดีในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีมีสุข หรือช่วงเวลาที่เลวร้ายและมีทุกข์ เพราะในเวลาที่สุขสบายนั้น เพื่อนคือมิตรที่ดีที่สุด และในยามทุกข์ยากนั้น เพื่อนก็คือผู้ช่วยเหลือและผู้เกื้อหนุนที่ดีที่สุด”

 

     มนุษย์นั้นมีความต้องการซึ่งกันและกัน ความจำเป็นในสิ่งนี้มันจะช่วยขจัดความเดียวดาย ความหงอยเหงาของกันและกันได้อย่างวิเศษ และเป็นสาเหตุของการเปิดกว้าง ซึ่งจะนำพามนุษย์ไปสู่สังคมของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองและเกื้อหนุนกัน มีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ดังนั้น ในอิสลามจึงเน้นย้ำให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลยายได้ให้ความสำคัญ ในเรื่องของการคบค้าสมาคมกันฉันเพื่อนและมิตรสหายที่ดี

 

     ในอิสลามมีริวายะฮ์ (คำรายงาน) มากมาย ที่สนับสนุนให้ทุกคนมีเพื่อนที่ดี และคอยเป็นห่วงเป็นใยต่อกันอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนหนุ่มสาวของเรา ซึ่งแน่นอนในวัยนี้นั้น เป็นวัยที่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าใครๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงถือว่าเป็นความจำเป็นอย่างมากที่บิดามารดาและครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ควรจะให้การแนะนำและเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับพวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความระมัดระวังและพิจารณาให้ดี ในการที่จะเลือกใครมาเป็นเพื่อนและมิตรสนิทของตัวเอง ในสังคมปัจจุบันนี้บรรดาเยาวชนของเรา พวกเขากำลังลังออกไปสู่สังคมที่กว้างขึ้นและห่างไกลจากสายตาของบิดามารดามากขึ้น สังคมที่มีแต่ความแปดเปื้อน ซึ่งแน่นอน ถ้าหากพวกเขาไม่ระมัดระวังตน ก็เท่ากับว่าพวกเขาได้นำตัวเองเข้าสู่ความแปดเปื้อนนั้นด้วย

 

      ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ไม่มีใครที่จะสามารถอยู่ได้โดยปราศจากการมีเพื่อนสนิทหรือมิตรแท้ได้ แต่การที่เราจะเลือกใครซักคนมาเป็นเพื่อนแท้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพิจารณาให้ดี ให้ถ้วนถี่ ว่าเขาคนนั้นเป็นคนอย่างไร? มีคุณลักษณะเช่นไร?

 

      ดังเช่นที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “การมีเพื่อนที่ดีและมีคุณธรรมนั้น ย่อมดีกว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ย่อมที่จะดีกว่าการมีเพื่อนที่เลว”

 

      ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความจำเริญจงประสบแด่ท่าน! โอ้บรรดามิตรที่มีความสัจจะและไว้วางใจได้ ดังนั้น จงรีบเร่งในการค้นหามิตรเช่นนี้เถิด เพราะพวกเขาคือผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุดในยามสุขสบาย และจะเป็นโล่หรือเกราะกำบังที่ดีที่สุดในยามทุกข์ยากของมนุษย์”

 

      ท่านอิมามอะลี ซัยนุลอาบีดีน (อ.) อิมามท่านที่สี่ ท่านได้กล่าวว่า “การนั่งร่วมสนทนาพูดคุยกับบุคคลที่ดีและมีคุณธรรมนั้น คือการเชิญชวนไปสู่ความประเสริฐและความสูงส่ง”

 

      ซึ่งจากฮะดีษเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การเป็นมิตรสนิทกับบรรดาคนดีมีคุณธรรมนั้น คือมูลเหตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการดำเนินชีวิต ถือเป็นความโชคดีและมีเกียรติ และเป็นความภาคภูมิใจที่ดีที่สุด และจะเป็นสื่อที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ความผาสุกไพบูลย์ทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮ์ บรรดาศาสดาและอะอิมมะฮ์ มะอ์ซูมีน (อ.) พวกท่านเหล่านั้นได้สนับสนุนให้มวลมนุษยชาติเลือกคบกับมิตรที่ดีและมีคุณธรรม ฉลาด มีความรู้ และมีอีหม่าน (ศรัทธา)

 

      ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้มีวจนะว่า “เพื่อนร่วมเสวนาที่ดีและมีคุณธรรมนั้น เปรียบได้ดั่งเช่นคนขายน้ำหอม ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้น้ำหอมแก่เจ้า แต่แน่นอน! เจ้าก็ได้ประโยชน์จากกลิ่นหอมของมัน”

 

      ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “การนั่งเสวนากับคนดีมีคุณธรรม คือการได้มาซึ่งความดีงาม เสมือนดั่งเช่นน้ำหอมที่ได้หอบเอากลิ่นหอมของมันมา และแน่นอน! กลิ่นของความดีงามก็ได้ร่วมมาด้วย”

 

       จากฮะดิษเหล่านี้ ได้สอนให้เรารู้ว่า การมีมิตรหรือคู่เสวนาที่ดีมีความรู้ แน่นอน! ความดีงามจากตัวเขาก็จะส่งผลที่ดีให้แก่ตัวเราด้วยเช่นกัน

 

       เพื่อนที่ดีมีคุณธรรมและมีความเข้าอกเข้าใจกันนั้น จะต้องเป็นเพื่อนในทุกสถานการณ์และในทุกสถานที่ และจะเป็นห่วงเป็นใยกันและกัน ไม่เลือกว่าฝ่ายตรงข้ามจะเป็นใคร ดั่งเช่นเรื่องเล่าที่เราจะนำมาบอกกล่าวดังต่อไปนี้

 

       วันหนึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) พร้อมกับสหายคนหนึ่งของท่านที่มีชื่อว่า “ฮาซีฟะฮ์ บิน ยามาน” ได้ออกไปนอกเมือง เพื่อจะไปทำฆุซุล ณ บ่อน้ำแห่งหนึ่ง ฮาซีฟะฮ์ได้กางเสื้อผ้าของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ออก ทำเหมือนเป็นม่านกั้น เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นมองเห็นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่กำลังทำฆุซุลอยู่ และเมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำฆุซุลเสร็จ และสวมใส่เสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว ฮาซีฟะฮ์ ก็ได้นั่งลงเพื่อที่จะทำฆุซุลต่อ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ได้กางเสื้อผ้าของเขาเหมือนอย่างที่เขาทำให้ท่าน แต่ฮาซีฟะฮ์ได้ร้องขอจากท่านว่า “ท่านไม่ต้องทำเช่นนี้ดอก” แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ยืนกรานที่จะทำให้เขา

 

       จากเรื่องเล่านี้เราจะเห็นได้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ตอบแทนความดีงามของเพื่อนที่เขาได้ทำดีต่อท่าน

 

       มีนักวิชาการชาวตะวันตกบางส่วน พวกเขากล่าวว่า “มนุษย์ทุกคนนั้น พวกเขามีความต้องการและความคาดหวังในสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป บางคนความต้องการทรัพย์สินเงินทองและสมบัติอันล้ำค่า บางคนต้องการความสวยงาม บางคนต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความสูงส่ง แต่ในทัศนะของข้าพเจ้าคิดว่า การมีเพื่อนที่ดีเพียงคนเดียวย่อมดีกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้”

 

       การร่วมเสวนาหรือการปรึกษาหารือกับคนที่ดี จะทำให้เราพบเห็นแต่ความดีงาม เพราะว่าจริยธรรมที่งดงามเปรียบได้ดั่งแสงรัศมีที่ส่องแสงประกายไปทั่วบริเวณ ซึ่งจะเป็นสาเหตุของความสว่างไสวให้กับคนรอบข้าง แน่นอน! มิตรหรือคู่เสวนาที่ดีก็ย่อมจะส่งผลที่ดีให้กับคนรอบข้างอย่างอัตโนมัติเช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า มิตรแท้ที่ดีมีคุณธรรม มีความรู้ความฉลาด มีอีหม่าน (ศรัทธา) และมีตักวา (ความยำเกรง) นั้น พอจะสรุปได้ว่า เพื่อนหรือมิตรแท้ที่มีคุณลักษณะที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้ หาได้ยากเหลือเกิน

 

       ดังที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า “ในยุคอาคีรุซซะมาน (ยุคสุดท้ายของโลก) จะมีสองสิ่งที่หายากมาก หนึ่งคือเพื่อนที่ดีมีความไว้วางใจได้ และอีกประการคือเงินที่ฮะล้าล”

 

       หรือที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ช่วงเวลาหนึ่งจะมาประสบกับมวลมนุษยชาติ ซึ่งจะไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นที่รักยิ่งและพบหาได้ยาก ยิ่งไปกว่าเพื่อนที่ดีมีเมตตาและเงินที่ฮะล้าล”

 

       และมีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้นั่งร่วมอยู่กันกับบรรดาสหายของท่าน มีคนๆ หนึ่ง ได้พูดพาดพิงให้ร้ายถึงชายอีกคนหนึ่ง ท่านอิมาม (อ.) ก็ได้สวนออกไปทันทีว่า “เจ้าสามารถที่จะหาเพื่อนที่สมบูรณ์และไม่มีจุดบกพร่องได้จากที่ใดเล่า?” และสถานที่ใดเล่าที่จะสามารถหาบุคคลที่ไม่มีความบกพร่อง!?

 

       ซึ่งแน่นอน เมื่อพูดถึงความน้อยนิดหรือความยากลำบากในการที่จะได้มาซึ่งมิตรแท้ ดังนั้นจึงขอสั่งเสียว่า เมื่อใดก็ตามที่ได้พบเจอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษามิตรภาพที่ดีนี้เอาไว้ และควรมีความบริสุทธิ์ใจต่อกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

โดยพื้นฐานของคำว่า “เพื่อน” สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 

1. เพื่อนแท้และมีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน

 

2. เพื่อนที่คบหากันโดยทั่วไปตามรูปลักษณ์ภายนอก

 

        สำหรับเพื่อนแท้ที่มีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน นั่นคือ มีความผูกพัน มีความหนักแน่นในทุกๆ สถานการณ์ เขาคือแขนขา และเปรียบได้ดั่งญาติสนิทและคนในครอบครัว และเมื่อเรามีความมั่นใจในมิตรภาพที่แท้จริงของเพื่อนแล้ว ก็จงอย่าเฉยชาและเมินเฉยต่อความต้องการและความทุกข์ยากลำบากของเพื่อน ไม่ว่าเรื่องเดือดร้อนอันใดของเพื่อนที่เราสามารถจะช่วยเหลือได้ ก็จงรีบเร่งในการช่วยเหลือเขา เขาดีกับใครเราก็จงดีด้วย เขาเป็นศัตรูกับใครเราก็จงอยู่เคียงข้างเขา ความลับต่างๆ ของเขาก็อย่าได้เปิดเผยให้ผู้ใดได้รับรู้ แต่จงพูดถึงเขาด้วยกับความดีงามต่างๆ ที่เขามี

 

        แต่ทว่าสำหรับเพื่อนที่คบหากันโดยทั่วไปตามรูปลักษณ์ภายนอก เมื่อได้รับประโยชน์จากกันและกันแล้ว ก็อย่าแยกตัวออกจากกัน แต่จงเปิดเผยความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจของกันและกันให้ได้รับรู้ และจงพูดต่อกันด้วยกับคำพูดที่ดีงาม เพื่อความเป็นเพื่อนต่อกันนั้นจะได้ไม่ขาดสะบั้นลง

 

        ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี อิบนิ อะบีฏอลิบ (อ.) ได้กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งจากบรรดาเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ทั้งหลาย นั้นคือการมีเพื่อนที่เป็นมิตรแท้และมีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน”

 

         ตรงจุดนี้ เรามีเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ซึ่งในขณะที่เขาทำการฏอวาฟ (เวียนรอบ) บัยตุลลอฮ์นั้น เขามักจะกล่าวอยู่ตลอดเวลาว่า “โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดขจัดความแปดเปื้อนให้แก่พี่น้องและมิตรสหายของข้าพระองค์ด้วยเถิด” และมีคนกล่าวกับเขาว่า “ท่านได้อยู่ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ แล้วทำไมท่านไม่ขอดุอาอ์ให้ตัวเองเลยเล่า! แต่ท่านกลับวิงวอนขอดุอาอ์ให้กับพี่น้องและมิตรของท่าน”

 

         เขากล่าวตอบว่า “ฉันมีพี่น้องและมิตรสหายอยู่กลุ่มหนึ่ง และเมื่อใดก็ตามที่ฉันได้กลับไปหาพวกเขา และพบว่าพวกเขาอยู่ในความดีงาม ฉันก็จะพบกับความดีงามไปด้วย แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาได้ประสบกับความเลวร้ายที่อยู่กับพวกเขา แน่นอน ฉันก็จะตกอยู่ในความชั่วร้ายนั้นด้วยเช่นเดียวกัน”

 

        หรือจากคำสั่งเสียของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “คู่สนทนาที่ดีคือเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) แต่คู่เสวนาที่เลวคือความทุกข์ยากและความวิบัติ (บะลาอ์)”   

 

        และแน่นอน การเป็นมิตรแท้หรือสหายที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นนั้น ก็จำเป็นจะต้องมีขอบเขตที่จำกัด และมีความพอดีด้วยเช่นเดียวกัน จริงอยู่ที่ว่า อิสลามได้ให้คำนิยามของคำว่า “เพื่อนที่ดีที่มีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน” จะต้องมีคุณลักษณะที่ดี มีอีหม่าน (ศรัทธา) และมีตักวา (ความยำเกรง) แต่ทว่าในการคบหากันนั้นก็ใช่ว่าจะต้องทุ่มเททั้งกายและใจอย่างหมดใจ โดยที่ว่าหากเขาไม่มีเพื่อนอยู่ด้วยแล้ว การดำเนินชีวิตของเขาก็จะหยุดชะงักลง ไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ หรือแม้กระทั่งว่าความอยู่รอดของตัวเอง ก็ต้องขึ้นอยู่กับเพื่อนเพียงเท่านั้น เพราะถ้าหากปราศจากเพื่อนแล้ว เขาจะสูญสิ้นซึ่งความหวัง กำลังใจและทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไป

 

        แน่นอน! อิสลามตำหนิพฤติกรรมและคุณลักษณะเช่นนี้ของมนุษย์ที่เขาคิดว่า เพื่อนคือทุกสิ่งทุกอย่างของเขา ถึงแม้ว่าเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา และเป็นเพื่อนที่ดีมีคุณธรรมและไว้วางใจได้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่น่าเศร้าใจเป็นอย่างมาก ที่คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ พวกเขายึดมั่นว่าเพื่อนที่เขามีอยู่นั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา ไม่ว่าจะเรื่องอะไรที่พวกเขาอยากจะพูด ความลับที่ควรจะเก็บไว้ หรือสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผย ต่างคนต่างก็จะพูดและเล่าสู่กันฟังอย่างที่ไม่มีอะไรเป็นความลับ (ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง) เพราะบางอย่างก็ควรจะมีข้อยกเว้นไว้บ้าง และการที่คนเราสามารถพูดกับใครคนหนึ่งได้อย่างหมดเปลือกนั้น แน่นอนว่า มันจะกลายเป็นนิสัยติดตัวที่แก้ยาก และจะกลายเป็นความเคยชิน และเขาก็จะพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงผลที่จะติดตามมา และหากวันหนึ่งวันใด ความสัมพันธ์ฉันมิตรที่เคยแนบแน่นนั้น มันเกิดมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ความรักความเข้าใจที่มีต่อกันต้องขาดสะบั้นลง และบางที่อาจจะเกิดมาจากการพูดมากเกินไป พูดโดยไม่มีขอบเขตก็เป็นได้ เมื่อนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็จะยุติและจบลงอย่างไม่สวยงามนัก ซึ่งบางทีอาจจะทำให้ต่างฝ่ายต่างก็เกลียดขี้หน้ากันไปเลย

 

        ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ในการคบหากันฉันมิตรสนิทกับบรรดาเพื่อนๆ ของเจ้านั้น จงอย่าให้มันเลยเถิดไปมาก หรือควรจะมีขอบเขตจำกัดไว้บ้าง ซึ่งมันอาจจะเป็นไปได้ว่า วันหนึ่งเขาอาจจะกลายมาเป็นศัตรูของเจ้าก็เป็นได้”

 

        ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “เจ้าจงอย่าพูดในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความลับของเจ้าให้เพื่อนและมิตรสหายของเจ้าได้รับรู้ทั้งหมด เว้นเสียแต่ว่าหากความลับนั้น เมื่อศัตรูของเจ้าได้รับรู้แล้วมันจะไม่เป็นอันตรายกับตัวเจ้า ซึ่งบางทีอาจจะเป็นไปได้ว่า วันหนึ่งเพื่อนของเจ้าอาจจะกลายมาเป็นศัตรูของเจ้าก็เป็นได้”

 

        อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า มนุษย์นั้นต่างก็มีผลกระทบต่อกันเป็นอย่างมากจากการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นอาจจะมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่วันนี้ เขาอาจจะคบหากันด้วยดี และมีสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกันเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความสัมพันธ์เหล่านี้จะยั่งยืนตลอดไป (ซึ่งมันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์) อาจจะมีซักวันหนึ่งที่ความสัมพันธ์อันดีต่อกันนั้นจะยุติและขาดสะบั้นลง ดังนั้น การคบหากันฉันเพื่อนสนิท จึงควรมีขอบเขตที่พอเหมาะ ดังเช่นการสร้างมนุษย์ขึ้นมา ก็ยังมีขอบเขตที่จำกัด และความพอเหมาะพอดีนั่นเอง

 

        และอีกประการหนึ่งของการได้มาซึ่งมิตรแท้นั้น ควรจะมีการทดสอบ เพื่อที่จะได้เกิดความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้บ้าง ซึ่งแน่นอน! มนุษย์ไม่สามารถที่จะผูกมิตรแนบแน่นกับทุกคนได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีความเหมาะสมและสมควรที่จะเป็นเพื่อนสนิทกันได้ ดังนั้นจึงเห็นสมควรว่า ก่อนที่จะรับใครมาเป็นเพื่อนสนิทได้นั้น ก็ควรจะมีการทดสอบลองใจกันก่อน เพราะตราบใดที่ยังไม่รู้จักกันดีพอ ก็ไม่สมควรที่จะให้ความมั่นใจและความไว้วางใจต่อกันได้ เพราะบางทีสิ่งที่เห็นจากพฤติกรรมที่ดีงาม ที่แสดงออกให้เห็นแต่เพียงภายนอก และคำพูดที่ดูดีที่ออกมาจากปากของเขานั้น ไม่สามารถที่จะเป็นตัวตัดสินและวัดได้ว่า เขาจะเป็นเพื่อนและมิตรแท้ที่ดีต่อกันได้

 

        ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ในยุคอาคีรุซซะมาน (ยุคสุดท้ายของโลก) จะมีชนกลุ่มหนึ่งปรากฏขึ้นมา ซึ่งหากดูแต่เพียงภายนอกนั้น พวกเขาคือมิตร แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาคือศัตรู”

 

        หรือจากคำกล่าวของท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “การไว้วางใจและการไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้อื่นก่อนที่จะทดสอบพวกเขา คือเครื่องหมายของผู้ที่ด้อยสติปัญญา” และอีกบทหนึ่ง “ในยามทุกข์ยากเท่านั้นที่จะได้พบกับมิตรแท้”

 

        คำสอนจากท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ซึ่งท่านได้สอนลูกของท่านว่า “โอ้ลูกชายของฉัน! เจ้าจงอย่าได้เป็นพี่น้องกับใครคนใดคนหนึ่ง ก่อนที่เจ้าจะได้รู้ว่าเขาคนนั้นจะไปที่ไหน หรือบุคคลประเภทใดที่เขาไปมาหาสู่และนั่งร่วมวงเสวนาด้วย และเมื่อเจ้าได้รู้จักสถานะของเขาเป็นอย่างดีแล้ว และเจ้าพึงพอใจที่จะคบหาสมาคมกับเขา ดังนั้น เจ้าจึงค่อยผูกความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับเขา เพื่อที่เจ้าจะได้นำเขาออกมาจากความวิตกกังวล และจงให้การช่วยเหลือเขาในยามทุกข์ยาก”

 

        มีเรื่องเล่าจากท่านซุลฏอลมะฮ์มูด (ในสมัยหนึ่งของอิหร่าน) และอายาซ (ซุลฏอลมะฮ์มุด มีสหายคนสนิทคนหนึ่งมีชื่อว่า “อายาซ” ซึ่งเขาไม่ได้รักท่านตรงที่ท่านเป็นซุลฏอลหรือเป็นคนดีมีเมตตา แต่เขารักท่านตรงที่ตัวตนของท่านเอง) วันหนึ่งซุลฏอลต้องการที่จะทดสอบบรรดาสหายของท่าน ท่านจึงมีคำสั่งให้นำเอาหีบมาใบหนึ่ง และให้ใส่เพชรนิลจินดาข้าวของที่มีค่าให้เต็มหีบ แล้วนำไปตั้งไว้บนหลังอูฐ และให้อูฐเดินทางไปบนเนินเขา และทำทีเหมือนกับว่าหีบนั้นได้ตกลงมาจากหลังอูฐ และก็อนุญาตให้บรรดามิตรสหายสามารถที่จะเก็บข้าวของมีค่าเหล่านั้นไปได้ ตามความสามารถของแต่ละคน และเมื่อทุกอย่างได้เตรียมการณ์ไว้แล้ว ซุลฏอลก็ขึ้นหลังม้าและออกเดินทางไปพร้อมกับสหายทั้งหมด และพร้อมกับอูฐที่บรรทุกหีบเพชรนิลจินดา

 

        เมื่อมาถึงยังเนินเขา หีบนั้นก็ตกลงมาจากหลังอูฐเกลื่อนไปทั่ว ท่านซุลฏอลก็เอาแส้ตีม้า ทำให้ม้าวิ่งออกไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อท่านเหลียวหลังมามอง ท่านก็ได้เห็นว่าบรรดาสหายทั้งหมดของท่านนั้น มีเพียงคนคนเดียวที่วิ่งตามท่านมา นั่นก็คืออายาซ ส่วนที่เหลือนั้นพวกเขาก็กำลังหมกมุ่นอยู่กับการรวบรวมเพชรนิลจินดาและข้าวของมีค่า โดยที่ไม่ได้สนใจต่อท่านซุลฏอลเลย ท่านก็เลยถามอายาซว่า “โอ้อายาซ! เจ้าได้อะไรมาบ้าง?” อายาซตอบว่า “ไม่เลย! เพราะฉันถือว่าการได้รับใช้ท่านนั้นย่อมต้องมาก่อนเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) อื่นๆ” ถึงแม้ว่าท่านซุลฏอลมะฮ์มูดจะได้รู้จักอายาซเป็นอย่างดีแล้ว แต่ท่านก็ยังต้องการทดสอบอายาซอีก และแน่นอน ความเป็นมิตรสหายของคนอื่นๆ ก็ได้เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านเช่นกัน

 

       และเรายังมีคำสั่งเสียของท่านลุกมาน ฮะกีม ซึ่งท่านได้สั่งเสียแก่ลูกชายของท่านว่า “โอ้ลูกรักของฉัน! เจ้าจงเลือกผู้ที่จะนั่งร่วมเสวนากับเจ้า บนพื้นฐานของความฉลาดหลักแหลม ความมีสติปัญญาที่ดี มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ และหากเจ้าเห็นว่าบุคคลกลุ่มหนึ่งที่พวกเขามีการรำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า เจ้าก็จงนั่งร่วมวงเสวนากับพวกเขาเถิด ซึ่งหากเจ้าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความรู้ของเจ้าก็จะยังผลประโยชน์กับตัวเจ้าเอง และหากเจ้าคือผู้ที่โง่เขลา พวกเขาก็จะอภัยให้เจ้า เผื่อว่าบางทีหากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะทรงแผ่ร่มเงาแห่งความเมตตามาปกคลุมพวกเขา แน่นอน! มันก็จะปกคลุมมายังเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน และหากเจ้าได้เห็นว่าบุคคลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพวกเขาไม่ได้รำลึกถึงพระผู้ทรงสร้างเลย เจ้าก็จงอย่านั่งร่วมกับพวกเขาอย่างเด็ดขาด เพราะถึงแม้เจ้าจะมีความรู้ ความรู้นั้นก็จะไม่ยังประโยชน์อันใดกับตัวเจ้าเลย และหากเจ้าคือผู้ที่โง่เขลามันก็จะทำให้เจ้ายิ่งโง่เขลามากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และหากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะทรงลงโทษ (อะซาบ) ยังพวกเขา แน่นอน! มันก็จะคลอบคลุมมาถึงตัวเจ้าด้วย ดังนั้น โอ้ลูกรักของฉัน! การจะเลือกคบมิตรที่จะสนิทสนมได้นั้น เจ้าจงระมัดระวังอย่างมาก และก่อนที่จะรับพวกเขามาเป็นมิตรแท้นั้น เจ้าก็จงทดสอบพวกเขาเสียก่อน”

 

บทความ โดย อามีนะฮ์ ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ดุอาอ์ คือ ตัวกำหนดอิหม่าน”
กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการถือศีลอด
อะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ในอัล-กุรอาน
อัลกุรอาน คัมภีร์แห่งทางนำ
...
คุณลักษณะของมนุษย์ผู้สมบูรณ์
...
การเป็นศาสดาคนสุดท้ายของโลก
ความโลภคือรากของความชั่วร้าย
...

 
user comment