สิทธิของสรรพสัตว์ สิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้าจากอัลกุรอานและฮะดีษ
คุณประโยชน์ของสัตว์ จากอัลกุรอาน :
อัลลอฮ์ (ซบ.) พระผู้เป็นเจ้า ทรงตรัสว่า :
أَوَلَمْ يَرَوْا أَنَّا خَلَقْنَا لَهُم مِّمَّا عَمِلَتْ أَيْدِينَا أَنْعَامًا فَهُمْ لَهَا مَالِكُونَ وَذَلَّلْنَاهَا لَهُمْ فَمِنْهَا رَكُوبُهُمْ وَمِنْهَا يَأْكُلُونَ وَلَهُمْ فِيهَا مَنَافِعُ وَمَشَارِبُ ۖ أَفَلَا يَشْكُرُونَ
“และพวกเขามิได้พิจารณาดูดอกหรือ เราได้สร้างปศุสัตว์ขึ้นมาเพื่อพวกเขาจากสิ่งที่มือของเราได้ทำขึ้น แล้วพวกเขาก็ได้ครอบครองมัน และเราได้ทำให้มันยอมจำนนแก่พวกเขา ดังนั้น บางชนิดของมันก็เป็นพาหนะแก่พวกเขา และบางชนิดพวกเขาก็ใช้กินเป็นอาหาร และในตัวมันนั้นมีประโยชน์มากหลายและมีเครื่องดื่มสำหรับพวกเขา แล้วพวกเขาจะยังไม่ขอบคุณอีกหรือ?” (1)
อัลลอฮ์ (ซบ.) พระผู้เป็นเจ้า ทรงตรัสว่า :
وَإِنَّ لَكُمْ فِي الْأَنْعَامِ لَعِبْرَةً ۖ نُّسْقِيكُم مِّمَّا فِي بُطُونِهَا وَلَكُمْ فِيهَا مَنَافِعُ كَثِيرَةٌ وَمِنْهَا تَأْكُلُونَ
“และแท้จริงในปศุสัตว์ทั้งหลายนั้น มีบทเรียนสำหรับพวกเจ้า เราให้พวกเจ้าดื่มสิ่งที่อยู่ในท้องของมัน (น้ำนม) และในตัวมันมีประโยชน์มากมายสำหรับพวกเจ้า และบางชนิดพวกเจ้าก็บริโภคมัน” (2)
สิทธิของสัตว์จากฮะดีษ (วจนะ) :
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
للدّابّةِ على صاحِبِها سِتُّ خِصالٍ : يَعْلِفُها إذا نَزلَ ، و يَعْرِضُ علَيها الماءَ إذا مَرَّ بهِ ، و لا يَضْرِبُها إلاّ على حقٍّ ، و لا يُحَمّلُها ما لا تُطيقُ ، و لا يُكلّفُها مِن السَّيرِ إلاّ طاقَتَها ، و لا يَقِفُ علَيها فُواقا
“สัตว์นั้นมีสิทธิเหนือเจ้าของมันหกประการ คือ
1) เขาจะให้หญ้าแก่มันเมื่อลงพัก
2) เขาจะให้น้ำแก่มันเมื่อผ่านแหล่งน้ำ
3) เขาจะไม่ตีมันนอกจากกรณีจำเป็น
4) เขาจะไม่บรรทุกมันเกินกำลัง
5) เขาจะไม่บังคับให้มันเดินทางที่เกินความสามารถของมัน
6) เขาจะไม่หยุดอยู่บนหลังมันเป็นเวลานาน” (3)
ท่านหญิงอุมมุกุลซูม ได้เล่า (ในเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่านอิมามอะลี (อ.) บิดาของนาง) ว่า : เมื่อท่านได้ไปถึงบ้าน และใน (ลาน) บ้านนั้นมีห่านหลายตัวที่ท่านได้มอบมันให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) พี่ชายของฉัน เมื่อท่านได้เข้ามาถึง ห่านเหล่านั้นก็ได้ออกมาข้างหลังท่าน พวกมันได้กระพือปีกและส่งเสียงร้องต่อหน้าท่าน ในขณะที่ก่อนหน้าคืนนั้น มันไม่ได้ส่งเสียงร้อง.... จากนั้น ท่านได้กล่าว (กับฉัน) ว่า :
يا بُنَيّةُ ، بحَقّي علَيكِ إلاّ ما أطْلَقْتِيهِ ؛ فقد حَبسْتِ ما لَيس لَهُ لسانٌ و لا يَقْدِرُ على الكلامِ إذا جاعَ أو عَطِشَ ، فأطْعِميهِ و اسْقِيهِ و إلاّ خَلِّي سبيلَهُ يأكُل مِن حَشائشِ الأرضِ
“โอ้ลูกสาว! ขอสาบานด้วยสิทธิของพ่อที่มีเหนือเจ้า จงปล่อยสัตว์เหล่านี้ให้เป็นอิสระเถิด แน่นอนเจ้าได้กักขังสัตว์ที่พูดไม่ได้ และไม่สามารถจะบอกเจ้าได้เมื่อมันหิวหรือกระหาย ดังนั้นจงให้อาหารแก่มันและให้น้ำดื่มแก่มัน หากมิเช่นนั้น เจ้าก็จงปล่อยให้มันหากินอย่างอิสระจากหญ้าของพื้นดิน” (4)
ได้มีบันทึกในหนังสือ “มันลายะห์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์” ว่า :
حَجَّ عليُّ بنُ الحسينِ عليهما السلام على ناقَةٍ لَهُ أربَعينَ حِجّةً ؛ فما قَرَعَها بسَوْطٍ
“ท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) เดินทางได้ไปทำฮัจญ์ถึง 40 ครั้ง โดยอูฐของท่าน แต่ท่านไม่เคยตีมันด้วยแส้แม้แต่ครั้งเดียว” (5)
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอาน บทยาซีน โองการที่ 71 – 73
(2) อัลกุรอาน บทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 21
(3) ญะอ์ฟะรียาต, หน้าที่ 85 ; มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 8, หน้าที่ 258
(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 42, หน้าที่ 278
(5) มันลายะห์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 293
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ