การตรวจสอบความประพฤติโดยตนเอง (มุฮาสะบะฮ์)
การตรวจสอบบัญชีของจิตใจ محاسبه เป็นศัทพ์เทคนิคของวิชาจริยธรรม และวิชาอิรฺฟานภาคปฏิบัติหมายถึง “ผู้ที่ทำการขัดเกลาจิตใจได้กำหนดช่วงเวลาที่แน่นอนของวัน สำหรับการคำนวณและตรวจสอบความประพฤติของตนเองในวันนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นของวันจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวว่า การตัดสินใจของตนเพื่อการกระทำภารกิจต่างๆนั้น มันขัดแย้งกับจริยธรรมคำสั่งสอนของศาสนาหรือเปล่า ? ในวันนั้นตนได้ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามอห์กามและอัล-กุรอานหรือไม่ ? การกระทำที่ได้ปฏิบัติลงไปนั้นมันเป็นการดูถูกร่างกายและจิตใจของตนไหม ?”[๑]
ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) กล่าวว่า
قال الامام موسى الكاظم:لَيْسَ مِنَّا مَنْ لَمْ يُحَاسِبْ نَفْسَهُ فِي كُلِّ يَوْمٍ فَأِنَّ عَمَلُ حَسَنًا اِسْتَزَادَ اللّهُ وَ اِن عَملُ سَيِّئًا اِسْتَغْفَرُ اللَّه مِنْهُ وَتَابَ اِلَيْهِ
“บุคคลใดไม่ทำการคำนวณนับ การกระทำของตนเองตลอดทั้งวัน ถือว่าไม่ใช่พวกของเรา ฉะนั้นถ้าเป็นคุณความดีจงขอบคุณอัลลอฮฺและวอนขอให้พระองค์ทรงเพิ่มพูน ถ้าพบว่าเป็นความผิดบาปจงกลับตัวกลับใจและทำการขอลุกโทษในความผิดนั้นต่อพระองค์”[๒]
มัรฺฮูมฮะซัน บิน ฟัฎลิ ฏ่อบัรฺระซี (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาเขา) ได้กล่าวถึงวะซียัตของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ที่มีต่อท่านอบูซัรฺว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “มนุษย์จะไม่เป็นผู้หลีกเลี่ยงหรือมีความยำเกรงเด็ดขาด นอกเสียจากว่าเขาได้ทำการตรวจสอบรายได้และรายจ่ายของเขาอย่างละเอียดว่า อาหารที่รับประทานเขาได้มาอย่างไร เครื่องดื่มเขาได้จัดหามันมาอย่างไร เสื้อผ้าที่สวมใส่เขาจัดหามันมาด้วยวิธีไหน ทรัพย์สินที่ตนมีอยู่ได้มาด้วยวิธีที่หะร่าม หรือว่าหะลาล ?
ทำไมต้องทำการตรวจสอบรายรับและรายจ่ายของตนด้วย ? เนื่องจากว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาหารที่ต้องรับประทานทุกวันร่างกายของเขาได้เจริญเติบโตด้วยกับอาหารดังกล่าว ถ้ามันเป็นที่หะลาลก็ถือว่าโชคดีสำหรับเขา แต่ถ้าเป็นอาหารที่หะร่ามถือว่าโชคร้ายสำหรับตนเอง นอกเหนือจากนี้ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มเขาต้องสวมใส่มันเพื่อทำนมาซ นมาซของเขาจะถูกยอมรับได้อย่างไร ?
การระมัดระวังพฤติกรรมอันมิชอบ (มุรอกอบะฮ์ )
มุรอกอบะฮ์ เป็นศัทพ์เทคนิคของวิชาจริยธรรม และวิชาอิรฺฟานภาคปฏิบัติเช่นกันหมายถึง “การพึงรักษาและรู้ตัวเองตลอดเวลาในทุกสภาพ เพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจกระทำลงไป หรือสิ่งที่ตนได้สัญญาไว้นั้นเขาไม่ได้ทรยศหรือบิดพลิ้วแต่อย่างไร” [๓]
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาและขัดเกลาจิตใจตนเองคือการพึงรักษาและระมัดระวังตนเองในการใกล้ชิดกับพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่างๆ และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการโน้มนำไปสู่คุณงามความดีและความจำเริญต่าง ๆ การระมัดระวังคือ ผลลัทธ์ที่บ่าวได้ระวังตนเองต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) จนอีมานของตนได้ขึ้นไปสู่ระดับหนึ่งดังต่อไปนี้
๑.ไม่ใส่ใจต่อความต้องการของตนเอง แต่ใส่ใจต่อความปรารถนาของอัลลอฮฺ
๒.ไม่เสนอความต้องการของตนต่อคนอื่น แต่สายตามุ่งหวังในความเมตตาของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
๓. ยอมถวายชีวิตบนความปรารถนาของพระองค์ และมอบความรักที่แท้จริงเพียงเพื่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
๔. จิตใจของเขามุ่งมั่นและเปี่ยมล้นไปด้วยความรักที่มีต่อัลลอฮฺ และจิตวิญญาณของเขาพร่ำรำลึกถึงแต่พระองค์
๕. สำหรับการไปถึงยังตำแหน่งที่สูงส่งเขาจะขอความช่วยเหลือเพียงเฉพาะพระองค์เท่านั้น เพื่อที่ว่าพระองค์จะได้ประทานความเมตตาแก่จิตใจของเขา อันเป็นความโปรดปรานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีการสูญสลาย และประตูแห่งการลงโทษจะถูกปิดสำหรับเขาตลอดไป
บุคคลที่ทำการระมัดระวังตนเอง เป็นไปได้ที่ผลของมันจะปลดเปลื้องม่านแห่งอบายมุขให้หมดไปภายในวินาทีเดียว ซึ่งถ้าทำการต่อสู้ด้วยวิธีการอื่น ๓๐ ปีก็ไม่สามารถปลดเปลื้องอหบายมุขนั้นได้อัล-กุรอานกล่าวว่า يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ “อัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี”[๔]
อัล-กุรอานกล่าวว่า لِلَّذِينَ أَحْسَنُواْ الْحُسْنَى وَزِيَادَةٌ
“สำหรับบรรดาผู้กระทำความดี จะได้รับความดีและได้เพิ่มขึ้นอีก”
อัล-กุรอานกล่าวว่า ذَلِكَ فَضْلُ اللّهِ يُؤْتِيهِ مَن يَشَاء وَاللّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
“นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮฺซึ่งพระองค์จะทรงประทานมันแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้”[๕]
หมายเหตุ ประสงค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ ทรงปรีชาชาญาณและพระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจของพระองค์ด้วยกับความรอบรู้ วิทยปัญญา และความยุติธรรมฉะนั้นความประสงค์ และความปรารถนาของพระองค์เป็นเช่นนั้น มิใช่เป็นไปโดยปราศจากเหตุผลหรือวิทยปัญญา ดังนั้นถ้าบุคคลใดจะตกอยู่ในความปรารถนาของพระองค์ได้นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขซึ่งมันไม่ได้ออกนอกการเลือกสรรของพระองค์ (อิคติยารฺ)
ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ขัดเกลาทั้งหลายที่ต้องหมั่นอยู่กับการระมัดระวังตนเอง การพึงรักษาระเบียบการปฏิบัติให้กับตนเอง
อัล-กุรอานกล่าวว่า وَكَانَ اللَّهُ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ رَّقِيبًا “และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเฝ้ามองทุกสิ่งทุกอย่าง”[๖]
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับสาวกบางคนของท่านว่า “จงปฏิบัติอิบาดะฮฺเหมือนกับท่านได้เห็นพระองค์ มาตรว่าท่านไม่ได้เห็นพระองค์ พระองค์ก็ทรงมองเห็นท่าน”[๗]
قال رسول الله (ص) اُعبدُ اللهَ كَانّكَ تَراَهُ فَاِنْ لَمْ تَكُنْ تَرَاهُ فَهُوَ يَرَاكَ
คำพูดของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ต้องการเน้นย้ำถึงเรื่องการระมัดระวังตัวเอง เพราะแท้จริงแล้วการระวังตนเองนั้นหมายถึง การที่คนเรารู้ตัวเองตลอดเวลาว่าพระองค์ทรงมองเห็นเราตลอดเวลาไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม
สูงสุดของความเหมาะสมสำหรับบ่าวคนหนึ่งคือ รู้ตนเองทุกลมหายใจเข้าออกว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมองเห็นการกระทำของเราอยู่ตลอดเวลา และทรงอยู่ใกล้ชิดกับเราเสมอ หมายถึงพระองค์ทรงมองเห็นการงาน ทรงได้ยินคำพูด ทรงมองเห็นการเคลื่อนไหว และทรงรอบรู้ความลับที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ การมาและจากไปอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของพระองค์ จิตใจและจิตวิญาณอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ด้วยกับสภาพดังกล่าวจะเห็นว่าเราไม่มีความสามารถหรือพลังอันใดที่จะปิดบังและซ่อนเร้นพระองค์ อีกทั้งไม่สามารถหลีกหนีออกจากอำนาจการปกครองของพระองค์ได้ดังที่เราอ่านในดุอาอฺกุเมลว่า “ข้าฯไม่อาจหนีออกจากอำนาจปกครองของพระองค์ได้”
ท่านลูกมานได้สอนบุตรชายของท่านว่า “เมื่อใดที่เจ้าต้องการกระทำความผิดบาปกับพระองค์ เจ้าจงเดินออกไปให้พ้นออกจากอำนาจปกครองของพระองค์”
คำพูดของท่านได้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าท่านจะไปทางไหน หรือทำอะไร ท่านก็ไม่อาจหลีกหนีอำนาจการปกครองของพระองค์ไปได้ ดังนั้นเจ้าอย่าได้คิดทำความผิดอย่างเด็ดขาด
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า وَهُوَ مَعَكُمْ أَيْنَ مَا كُنتُمْ وَاللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ
หมายถึง “พระองค์ทรงอยู่กับ พวกเจ้าไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ ณ แห่งหนใด และ อัลลอฮฺทรงเห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”[๘]
ได้มีเรื่องเล่าว่า มีอุละมาอ์ท่านหนึ่งท่านได้แสดงความรักและเอ็นดูลูกศิษย์ที่เป็นเด็กหนุ่มและมีความฉลาดไหวพริบดีมากกว่าลูกศิษย์คนอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ไม่พอใจของลูกศิษย์คนอื่นๆ พวกเขาได้ท้วงติงอาจารย์ของตนเอง อุละมาอ์คนดังกล่าวต้องการพิสูจน์ด้วยกับหลักการให้ลูกศิษย์ของตนเห็นว่าการกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ท่านจึงได้แจกนกให้กับลูกศิษย์ของท่านคนละหนึ่งตัวและพูดว่า “พวกเธอจงเอานกไปเชือดในที่ๆ ไม่มีคนเห็นพวกเธอ” หลังจากนั้นไม่นานนักบันดาลูกทุกคนศิษย์ของท่านได้กลับมาพร้อมกับนกที่เชือดแล้ว และหลังจากนั้นไม่นานลูกศิษย์คนที่ฉลาดที่สุดของท่านก็ได้กลับมาแต่ว่าเขาไม่ได้เชือดนกตัวดังกล่าว อาจารย์ได้ถามเขาว่า “ทำไมเจ้าถึงไม่เชือดนกล่ะ ?”
เขาได้ตอบว่า “เพราะท่านได้สั่งฉันให้เอานกไปเชือดในที่ ๆไม่มีคนเห็น ฉันได้ไปทุกที่แล้ว แต่ไม่พบสถานที่ใดที่ปราศจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียว และทรงดำรงอยู่ทุกๆ ที่” อาจารย์ได้กล่าวชมว่า “เจ้านั้นเยี่ยมยอดมาก” และได้กล่าวกับลูกศิษย์คนอื่นๆ ว่า “ด้วยเหตุนี้เองที่ฉันได้รักเขา ให้เกียรติเขาและเอ็นดูเขามากกว่าคนอื่นๆ”
ผลลัทธ์บางอย่างที่เกิดจากการระมัดระวังตนเอง ๑. จงเลือกในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้เลือกให้กับเรา
๒. จงให้เกียรติและเคารพต่อสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงให้เกียรติและเคารพมัน
๓. ให้ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยในสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงถือว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย
ด้วยเหตุนี้ จงมีความหวังต่อพระผู้เป็นเจ้าเพื่อพระองค์จะได้ให้ความหวังต่อเจ้าในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ จงกลัวในความยุติธรรมของพระองค์เพื่อจะปกป้องเจ้าให้หลอดพ้นจากการกระทำความผิดบาป และเป็นสาเหตุนำเจ้าไปสู่การระมัดระวังตนเอง.
ได้มีเด็กหนุ่มในสมัยนั้นเขียนจดหมายไปหาอัลลามะฮฺเพื่อขอคำแนะนำจากท่านนี้ เขาำได้เล่าว่า ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง อายุ ๒๓ ปี มีความหวังว่าท่านหน้าจะให้คำแนะนำที่ดีต่อกระผมได้ กระผมได้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขในสังคมที่อารมณ์ใฝ่ต่ำมีอิทธิพลครอบงำอยู่เหนือจิตใจของกระผม ซึ่งกระผมยอมรับว่าได้ตกเป็นทาสของมัน และมันเป็นสาเหตุทำให้กระผมต้องออกห่างจากแนวทางของพระองค์ ดังนั้นสิ่งที่กระผมต้องการจากท่านคือ โปรดแนะนำการกระทำบางอย่างที่ทำให้กระผมสามารถควบคุมอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเองได้ และนำพากระผมไปสู่ความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ได้
หมายเหตุ กระผมไม่ต้องการคำแนะนำที่เป็นทฤษฏีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการทฤษฏีเชิงปฏิบัติการเพื่อตัวกระผมจะได้หลอดพ้นจากสภาพดังกล่าว
ท่านอัลลามะฮฺได้กล่าวว่า
เพื่อความสำเร็จและเพื่อการบรรลุไปสู่เป้าหมายตามที่ผู้เขียนได้เขียนขอคำแนะนำมาสิ่งจำเป็นประการแรก คือเธอต้องแสดงความอดทนอย่างสูง และต้องทำการขออภัยโทษต่อพระองค์
ประการที่สอง เธอต้องทำการตรวจสอบบัญชีของจิตใจ การกระทำ และต้องระมัดระวังตนเอง
ด้วยกับขั้นตอนการปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. เมื่อตื่นนอนมาในตอนเช้าทุกๆ วันต้องตั้งเจตนาอย่างมั่นคงว่าการกระทำทุกอย่างที่จะกระทำในวันนี้ฉันจะระมัดระวังต่อความพึงพอพระทัยของพระองค์
๒.ภารกิจที่จะทำทั้งหมดต้องคำนึงถึงประโยชน์ทั้งผลบุญ และผลกรรมที่จะได้รับในวันปรโลกหน้า ถ้ามันไม่มีประโยชน์ต่อปรโลกหน้าต้องไม่ทำมันอย่างเด็ดขาด
๓. ก่อนนอนสักประมาณสี่ห้านาทีให้ทบทวนการกระทำที่ได้ทำลงไปในวันนี้อย่างละเอียดที่ละอัน ภารกิจใดตรงกับความพึงพอพระทัยของพระองค์ จงกล่าวขอบคุณ และสิ่งใดเป็นความผิดจงขออภัยและขอลุกโทษกับพระองค์
สิ่งเหล่านี้ให้ปฏิบัติทุกวันแม้ว่าในตอนแรกจะมีความยากลำบาก และเป็นความขมขื่นของจิตใจก็ตาม แต่จงรู้ไว้เถิดว่าสิ่งนี้เป็นกุญแจสำหรับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง
๔.ทุกๆ คืนก่อนนอนหากเป็นไปได้ให้อ่านอัล-กุรอานซูเราะฮฺที่เป็นมุสตะฮับอย่างเช่น ซูเราะฮฺหะดีด,หัชร์,ซอฟ, ญุมุอะฮฺ, และตะฆอบุน แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติได้ให้อ่านซูเราะฮฺหัชร์เพียงซูเราะฮฺเดียว และหลังจาก ๒๐ วันผ่านไปแล้วโปรดแจ้งให้ฉันทราบด้วยว่า สภาพของเธอเป็นอย่างไร? อินชาอัลลอฮฺขอให้ประสบกับความสำเร็จ
เชิงอรรถ
[๑] ริซาละฮฺ ซีรฺวะซุลูก, บะหฺรุลอุลูม หน้าที่ ๑๕๐-๑๕๑
[๒] อุศูลกาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๕๓, มะการิมุลอัคลาค ฟัศล์ที่ ๕ บาบที่ ๔
[๓] ริซาละฮฺ ซีรฺวะซุลูก, บะหฺรุลอุลูม หน้าที่ ๑๕๐
[๔] อัล-ฟุรกอน ๗๐
[๕] มาอิดะฮฺ ๕๔
[๖] อะหฺซาบ ๕๒
[๗] บิฮารุลอันวารฺ เล่มที่ ๗๗ หน้าที่ ๗๔ หะดีษที่ ๓
[๘] หะดีด ๔
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัชชีอะฮ์