ไทยแลนด์
Wednesday 6th of November 2024
0
نفر 0

การถูกล่ามโซ่ของชัยฏอน

การถูกล่ามโซ่ของชัยฏอน

มนุษย์และชัยฎอน
มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีเกียรติ ณ พระองค์อัลลอฮ์ ดังโองการที่ว่า “ดังนั้น เมื่อข้าได้ทำให้เขามีรูปร่างสมส่วนและเป่าวิญญาณจากข้าสู่ตัวเขา ฉะนั้น พวกเจ้าจงก้มลงสุญูดต่อเขา”(อัลฮิญร์ 29) เพราะมนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อการภักดีต่อพระองค์ ดังโองการที่ว่า “และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใดเว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า” ?(อัซซาริยาต 56) หนทางอันสูงส่งย่อมมีอุปสรรคเสมอ หนทางสู่การภักดีและการยำเกรงพระองค์อันเป็นชัยชนะที่แท้จริง ดังโองการที่ว่า “และจงยำเกรงต่อพระองค์ หวังว่าสูเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อาลิ อิมรอน 130) ก็มีอุปสรรคขวางกั้นเช่นกัน หนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้มนุษย์หันเหจากหนทางแห่งการภักดีคือ “ชัยฏอน” อายะฮ์กุรอานมากมายกล่าวถึงชัยฏอน (ไม่น้อยกว่า81ครั้ง) ทำให้เราประจักษ์ถึงอันตรายของศัตรูมนุษย์ประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี ดังที่กุรอานย้ำเตือนมนุษย์ตลอดเวลาว่า “แท้จริงมันคือศัตรูตัวฉกาจของพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์) , “ข้ามิได้บัญชาแก่เจ้าดอกหรือ โอ้ลูกหลานอาดัม ว่าพวกเจ้าอย่าได้เคารพบูชาชัยฏอนมารร้าย แท้จริง มันคือศัตรูตัวฉกาจของพวกเจ้า” (ยาซีน 60)

สาเหตุของความร้ายกาจของชัยฏอนคือ การสาบานเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับมนุษย์นั่นเอง ดังโองการที่ว่า “มันกล่าวว่า ดังนั้นด้วยพระอำนาจของพระองค์ แน่นอนข้าจะลวงล่อพวกเจ้าทั้งหมดให้หลงผิด” (ศอด 83) แต่คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ “การถูกล่ามของชัยฏอนหมายความว่ามนุษย์จะหลุดพ้นจากการทำบาปได้หรือไม่ ?” เมื่อมองสภาพสังคม หรือแม้แต่ตัวเราเองในเดือนเราะมะฎอน บางครั้งอาจไม่พบความแตกต่างใดที่บ่งบอกว่าเราเป็นอิสระจากการล่วงล่อของชัยฏอนเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้? ชัยฏอนมิไช่ศัตรูตัวฉกาจของเราดอกหรือ ? ถ้าเป็นศัตรูของเรา ด้วยเหตุผลใดที่หลายคนจึงยังฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ต่อไปเหมือนมิได้เกิดอะไรขึ้น ?

ศัตรูประเภทต่างๆของมนุษย์
เพื่อการไขปริศนาดังกล่าว เราต้องทราบว่าชัยฏอนคือศัตรูประเภทเดียวของมนุษย์หรือไม่ หรือมนุษย์อาจมีศัตรูประเภทอื่นที่อาจมีอันตรายร้ายแรงกว่าชัยฏอน จากการพิจารณาในอายะฮ์กุรอาน จะพบว่ามนุษย์มิได้มีศัตรูเพียงประเภทเดียว แต่มนุษย์มีศัครูสำคัญถึงสามประเภท

1. ชัยฏอน ดังโองการที่ว่า “..แท้จริง มันคือศัตรูตัวฉกาจของพวกเจ้า” (อัลบะเกาะเราะฮ์ 168)

2. มนุษย์ผู้มีพฤติกรรมเฉกเช่นชัยฏอน ดังโองการที่ว่า “..บรรดาชัยฏอนทั้ง(ประเภท)มนุษย์และ(ประเภท)ญิน...” (อัลอันอาม 112)

3. นัฟซู(จิตไฝ่ต่ำ) ดังโองการที่ว่า“..แท้จริงจิตบัญชาสู่ความชั่วร้ายเสมอ..” (ยูซุฟ 53)

ฉะนั้น นอกจากศัตรูตัวฉกาจเช่นชัยฏอนแล้ว มนุษย์ยังมีศัตรูร้ายแรงอีกถึงสองประเภท
มนุษย์ผู้มีพฤติกรรมคล้ายชัยฏอนคือผู้ที่ชักชวนผู้อื่นสู่การฝ่าฝืนพระเจ้า เพื่อนฝูงที่สกัดกั้นเรามิให้มุ่งสู่หนทางแห่งการภักดีพระองค์ และทำทุกสิ่งที่คล้ายกับกิจวัตรของชัยฏอน แม้เพื่อนประเภทนี้บางคนอาจเป็นเพื่อนสนิทและเป็นกำลังใจให้เราในบางโอกาส แต่มีโทษมากกว่าคุณประโยชน์แน่นอนหากไม่ได้รับการขัดเกลาจิตใจ ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการเลือกคบเพื่อน เพื่อไม่ให้เสียใจในภายหลังเมื่อต้องถูกลงโทษในนรกเพราะการคบบุคคลประเภทนี้

ดังโองการที่ว่า“โอ้ความวิบัติแก่ข้า ข้าไม่น่าจะคบเขาเป็นเพื่อนเลย” (ฟุรกอน 28)

ส่วนนัฟซูในที่นี้หมายถึง ความต้องการใฝ่ต่ำของมนุษย์นั่นเอง ซึ่งเป็นศัตรูที่ฉุดกระชากมนุษย์จากฐานันดรภาพอันสูงส่งที่พระองค์ได้ประทานให้

ระหว่างศัตรูทั้งสามประเภทนี้ ศัตรูประเภทใดมีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด ?

ศัตรูประเภทใดอันตรายที่สุด
หากจะเปรียบกับสมรภูมิทั่วไป ศัตรูที่น่ากลัวและพึงระวังมากที่สุดมิไช่ศัตรูที่ปรากฏเบื้องหน้าเราในสนามรบ เนื่องจากเรามีเป้าหมายชัดเจนในการต่อสู้ เพราะศัตรูประเภทนี้ประกาศตนเป็นศัตรูกับเรา หรือไม่ก็เผยโฉมหน้าให้เราเห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศัตรูเหล่านี้อยู่นอกอาณาเขตการควบคุมของเรา

ศัตรูที่อันตรายและพึงระวังที่สุดคือ ศัตรูที่อาศัยอยู่ในเขตแดนของเรา และเป็นผู้ชักชวน,เปิดทางและสนับสนุนศัตรูภายนอกให้สามารถเข้าพิชิตอาณาเขตของเราได้สำเร็จ

ชัยฏอนและมนุษย์ผู้มีพฤติกรรมเช่นชัยฏอน แม้จะมีอันตรายต่อเรา แต่ก็ถือเป็นศัตรูภายนอกอาณาเขตจิตใจของเราอย่างชัดเจน ดังที่ชัยฏอนประกาศเป็นศัตรูกับมนุษย์อย่างโจ่งแจ้ง “มันกล่าวว่า ดังนั้นด้วยพระอำนาจของพระองค์ แน่นอนข้าจะลวงล่อพวกเจ้าทั้งหมดให้หลงผิด” (ศอด 83)

แม้ชัยฏอนจะเป็นศัตรูที่น่าสพรึงกลัว แต่ก็มิได้มีอำนาจเหนือการตัดสินใจของเราแต่อย่างใด ดังในอายะฮ์ “ฉันไม่มีอำนาจใดๆเหนือพวกเจ้า นอกจากฉันได้ชักชวนพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็ตอบรับฉัน” (อิบรอฮีม 22) มนุษย์ที่ให้ความสนใจต่อการหลอกล่อของชัยฏอนจะไม่สามารถซัดทอดความผิดไปยังชัยฏอนได้ เพราะพวกเขาปฏิบัติตามสิ่งที่ชัยฏอนลวงล่อด้วยการตัดสินใจของตนเอง ท่านอายะตุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี ได้เปรียบชัยฏอนเป็นสุนัขที่คอยเห่าใส่ผู้คน หากผู้ใดหวาดผวาและออกจากเส้นทางที่กำหนดไว้ สุนัขตัวนี้จะเข้าจู่โจมทันที

สิ่งที่พึงกล่าวถึงในจุดนี้คือ “การทดสอบ” ของพระองค์ อัลลอฮ์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีความสามารถในการเลือกทางเดินชีวิตของตน และนี่คือเหตุผลของความสูงส่งของมนุษย์เหนือสรรพสิ่งอื่นๆ เพราะผู้ที่เลือกสิ่งดีด้วยตนเองย่อมมีค่ากว่าการกำหนดสิ่งดีให้เขา เพื่อให้มนุษย์บรรลุสู่ความสูงส่งดังกล่าว เขาต้องผ่านกระบวนการทดสอบต่างๆนานา ดังโองการที่ว่า “แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์จากน้ำอสุจิ เพื่อเราจะได้ทดสอบเขา” (อัลอินซาน 2) การทดสอบเหล่านี้มิใช่มีจุดประสงค์เพื่อให้พระองค์ทราบว่าเรามีสภาพจิตใจเช่นไร เพราะพระองค์ทราบดีถึงเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ทุกคน ทว่าเป็นการพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์โดยตัวเราเอง เพื่อเป็นหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับการพิพากษาในวันกิยามะฮ์

ด้วยเหตุที่การทดสอบคือแนวทางหนึ่งของพระองค์ และจากการที่ชัยฏอนเป็นศัตรูคู่อาฆาตของมนุษย์ ทว่าไม่มีอำนาจควบคุมมนุษย์ได้นอกจากการหลอกล่อและเห่าหอน หนึ่งในสิ่งที่พระองค์ใช้เป็นเครื่องทดสอบมนุษย์จึงเป็น“ชัยฏอน” ด้วยเหตุนี้ การสร้างและการต่ออายุขัยชัยฏอนจึงมิใช่สิ่งที่ไร้คุณประโยชน์ แม้ชัยฏอนจะต้องถูกลงโทษเนื่องจากฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์โดยไม่ยอมศิโรราบแด่นบีอาดัมก็ตาม กุรอานได้กล่าวว่า “แท้จริงเราได้ทำให้ชัยฏอนเป็นมิตรกับผู้ไม่ศรัทธา” (อัลอะอ์รอฟ 28) และ “เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่าเราได้ส่งชัยฏอนให้ลวงล่อผู้ปฎิเสธศรัทธา..” (มัรยัม 83) จะเห็นได้ว่าผู้ที่พระองค์ทรงส่งชัยฏอนให้เป็นผู้หลอกล่อหรือเป็นสหายคือบรรดากาเฟรและผู้ไม่ศรัทธาทั้งหลาย

ไม่เพียงผู้ไม่ศรัทธาเท่านั้นที่ต้องถูกทดสอบด้วยชัยฏอน แม้แต่บรรดาอันบิยาอ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับชัยฏอนเช่นกัน ดังโองการที่ว่า "และเช่นนี้แหล่ะที่เราได้บันดาลให้นบีทุกคนมีศัตรู คือชัยฎอน(ทั้งประเภท)มนุษย์และญิน" (อันอาม 112) แง่คิดที่น่าสนใจอยู่ที่พระองค์ส่งชัยฏอนมาในฐานะสหายของผู้ไม่ศรัทธา แต่ส่งชัยฏอนมาทดสอบบรรดาอันบิยาอ์ในฐานะ “อะดูว์” หรือศัตรู จึงสรุปได้ว่า พระองค์ทรงปล่อยให้ชัยฏอนหลอกล่อมนุษย์เพื่อเป็นการทดสอบความศรัทธาและตักวาของเขา ส่วนชัยฏอนจะปรากฏและมีบทบาทอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวมนุษย์เอง หากเป็นผู้ไม่ศรัทธา ชัยฏอนจะเป็นสหายสนิทในทัศนะของเขาเอง เขาจึงปล่อยให้ชัยฏอนกุมบังเหียนชีวิตนำสู่ความหายนะ ทว่าหากเป็นผู้ขัดเกลาจิตใจและผูกมัดจิตวิญญาณกับความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แน่นอนว่าชัยฏอนย่อมเป็นศัตรูในสายตาอันเฉียบแหลมของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย

จิตไฝ่ต่ำ ลอบชักนำศัตรู
เรากลับมาสู่ประเภทของศัตรูมนุษย์อีกครั้ง ศัตรูภายในอาณาเขตจิตใจของมนุษย์คือ นัฟซู จิตวิญญาณของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทตามคุณลักษณะต่างๆ จิตที่ไฝ่ความสูงส่ง นิยมการขัดเกลา แสวงหาสัจจธรรม,ชัยชนะและความไพบูลย์แห่งมนุษย์ ซึ่งกุรอานกล่าวถึงในฐานะนัฟซุลเลาวามะฮ์ ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ขั้นนัฟซุลมุฏมะอินนะฮ์ ดังที่กุรอานกล่าวว่า “ยาอัยยะตุฮันนัฟซุลมุฏมะอินนะฮ์ อิรญิอีย์อิลาร็อบบิกิ รอฏิยะตัมมัรฏียะฮ์...” ( โอ้จิตที่สงบและสุขุม จงกลับมาสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด..) (อัลฟัญร์ 28-29) ส่วนจิตที่ไฝ่ความต่ำทราม ชักชวนให้หลงระเริงกับสีสันของดุนยาและพยายามปิดกั้นเส้นทางสู่พระผู้เป็นเจ้า เรียกว่า “นัฟซุลอัมมาเราะฮ์ กุรอานได้กล่าวว่า “...อินนันนัฟซะ ละอัมมาเราตุมบิสซูอ์” (แท้จริงนัฟซูบัญชาสู่ความชั่วร้ายเสมอ) (ยูซุฟ 53)

จิตไฝ่ต่ำนี้เป็นตัวการสำคัญในการนำพามนุษย์สู่กับดักของชัยฏอน และเปิดโอกาสให้ชัยฏอนทำการลวงล่อมนุษย์ตามประเภทความบกพร่องของเขา กุรอานกล่าวแก่ชัยฏอนว่า "ข้าจะทำให้ขุมนรกเต็มไปด้วยตัวเจ้าและมนุษย์ผู้ดำเนินรอยตามเจ้าทุกคน” (ศอด 83) กุรอานใช้คำว่า “มันตะบิอะกะ” (ผู้ดำเนินรอยตาม) ชัยฏอน ในอีกอายะฮ์หนึ่งกล่าวว่า "วะลาตัตตะบิอู คุฎุวาติชชัยฏอน” (จงอย่าตามฝีเท้าของชัยฏอน) ซึ่งตรงกับที่ชัยฏอนตอบมนุษย์ในนรกว่า ข้าไม่มีอภิสิทธิเหนือตัวเจ้า ตัวการที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจดำเนินรอยตามชัยฏอนคือจิตไฝ่ต่ำ หรือนัฟซุอัมมาเราะฮ์นี้เอง นัฟซูประเภทนี้ที่ตอบรับการลวงล่อของชัยฏอน เพราะชัยฏอนทำได้เพียงลวงล่อเท่านั้น “ฉันไม่มีอำนาจใดๆเหนือพวกเจ้า นอกจากฉันได้ชักชวนพวกเจ้า แล้วพวกเจ้าก็ตอบรับฉัน” (อิบรอฮีม 22) ( อิลลาอันดะเอาตุกุม ฟัสตะญับตุม ลี )

ฉะนั้น ศัตรูตัวสำคัญของมนุษย์คือความต้องการใฝ่ต่ำของตน มิใช่ชัยฏอนที่ทำได้เพียงลวงล่อและวางกับดักเท่านั้น และการฟื้นฟูและขัดเกลานัฟซู ( อัมมาเราะฮ์) คือหนทางรอดพ้นจากความชั่วร้ายทั้งมวลอย่างแท้จริงและเป็นนิรันดร์ และจะนำพามนุษย์สู่ความผาสุกสูงสุดและสรวงสวรรค์อันรื่นรมย์ ดังที่กุรอานกล่าวว่า "และผู้ใดที่หวั่นเกรงต่อการยืนเบื้องหน้าพระองค์(ในวันกิยามะฮ์) และยับยั้งนัฟซูจากกิเลสต่ำ ดังนั้น สรวงสวรรค์จะเป็นที่พำนักของเขา” (อันนาซิอาต 40-41)

อานุภาพของจิตไฝ่ต่ำที่ปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าการพิชิตศัตรูตัวฉกาจประเภทนี้เป็นสิ่งง่ายดาย สงครามและการนองเลือดมากมายในหน้าประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ไม่สำคัญนักผสมกับนัฟซูอันร้ายกาจ กอบีลนองเลือดพี่น้องร่วมสายเลือดเพียงเพราะนัฟซู และตราบใดที่มนุษย์ยังคล้อยตามนัฟซูของตน เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเป็นกงล้อประวัติศาสตร์หมุนเวียนจวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิตมนุษยชาติ

ด้วยเหตุนี้เองที่กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงจิตใจบัญชาสู่ความชั่วร้ายเสมอ นอกจากที่พระผู้อภิบาลของฉันจะเมตตา” (ยูซุฟ 53) นัฟซูมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ถึงขั้นที่ไม่มีผู้ใดจะหลุดพ้นจากบ่วงนัฟซูได้ เว้นเสียแต่พระองค์จะทรงเมตตา ท่านนบียูซุฟแม้มีตำแหน่งเป็นศาสนทูตยังเกือบจะเพลี่ยงพล้ำต่อนัฟซู หากมิได้เห็นหลักฐานหรือสัญลักษณ์จากพระผู้เป็นเจ้า ดังโองการที่ว่า “วะละก็อดฮัมมัตบิฮี วะฮัมมะบิฮา เลาลาอันเราะอาบุรฮานะร็อบบีฮี...” (นางได้แน่วแน่ในตัวเขา และเขา(ยูซุฟ)ก็แน่วแน่ในตัวนาง หากเขามิได้เห็นหลักฐาน(หรือสัญลักษณ์)จากพระผู้อภิบาลของเขา .. แท้จริงเขาคือหนึ่งในปวงบ่าวที่ได้รับการชำระให้สะอาดของข้า) (ยูซุฟ 24)

วิธีขับศัตรูอย่างถาวร
เพราะการที่ท่านเป็น “อิบาดินัลมุคละศีน”หนึ่งในปวงบ่าวที่ได้รับการชำระจิตใจให้บริสุทธิ ท่านจึงได้รับความเมตตาจากพระองค์เพื่อปัดเป่าความชั่วและความลามกสามาญ ในขณะที่ชัยฏอนผู้ชักชวนสู่ความชั่วและความลามกสามาญ ไม่สามารถลวงล่อผู้เป็น “อิบาดุกัลมุคละศีน”ได้ ดังโองการที่ว่า “มันกล่าวว่า ดังนั้นด้วยพระอำนาจของพระองค์ แน่นอนข้าจะลวงล่อพวกเจ้าทั้งหมดให้หลงผิด เว้นแต่ปวงบ่าวของพระองค์ในหมู่พวกเขาที่ได้รับการชำระจิตให้บริสุทธิแล้วเท่านั้น” (ศอด 82-83)

จากการพิจารณาถึงสิ่งต่างๆที่กล่าวไปแล้ว เราสามารถตอบปริศนาที่ตั้งในตอนต้นที่ว่า เพราะเหตุใดบางคนยังทำบาปในเดือนเราะมะฏอน ทั้งที่ชัยฏอนถูกล่ามไม่ให้สามารถลวงล่อผู้ใดได้อีกตลอดเดือนนี้ ? สรุปง่ายๆคือ สิ่งที่พระองค์ทรงล่ามไว้คือชัยฏอน แต่นัฟซูมนุษย์มิได้ถูกล่ามไว้แต่อย่างใด บังเหียนของนัฟซูถูกมอบให้มนุษย์ นัฟซูของมนุษย์จะเป็นตัวกำหนดโฉมหน้าของชัยฏอน หากนัฟซูของเราเป็นนัฟซุอัมมาเราะฮ์ แน่นอนว่าเราจะเห็นชัยฏอนในฐานะสหายสนิทอย่างแน่นอน และเป็นธรรมดาที่สหายย่อมกระทำหน้าที่ของชัยฏอนเมื่อชัยฏอนถูกล่าม ซึ่งจะปรากฏในรูปการยั่วยวนใจให้ทำบาปแม้ในเดือนเราะมะฏอน

แต่หากเราหมั่นขัดเกลานัฟซูเสมอ กระทั่งเป็น “นัฟซุลเลาวามะฮ์” (จิตที่ตำหนิและควบคุมตนเองเสมอ) ชัยฎอนก็จะเป็นศัตรูในสายตาของเรา ซึ่งแม้ว่าในบางครั้งเราอาจจะพลาดพลั้งเสียทีศัตรู แต่เมื่อใดก็ตามที่ศัตรูถอยร่นและถูกล่าม เราก็จะรีบซ่อมแซมความเสียหายจากสงครามที่เกิดขึ้นกับชัยฎอนทันที และหากเราหมั่นขัดเกลาจิตใจหรือนัฟซูตลอดเวลา ด้วยกับเราะฮ์มะฮ์(ความเมตตา)ของพระองค์ เราอาจได้รับการเปลี่ยนสถานะ ณ พระองค์จากมุคลิศีน (ผู้แสวงหาความบริสุทธิทางจิตใจ) สู่การเป็น มุคละศีน (ผู้ได้รับการชำระให้บริสุทธิแล้ว) และหากเป็นเช่นนั้น ชัยฎอนจะไม่สามารถลวงล่อเราและสร้างความเสียหายต่อนัฟซูได้อีกต่อไป แม้มิได้อยู่ในเดือนเราะมะฏอนก็ตาม ดังโองการที่ว่า “มันกล่าวว่า ดังนั้นด้วยพระอำนาจของพระองค์ แน่นอนข้าจะลวงล่อพวกเจ้าทั้งหมดให้หลงผิด เว้นแต่ปวงบ่าวของพระองค์ในหมู่พวกเขาที่ได้รับการชำระจิตใจให้บริสุทธิเท่านั้น” (ศอด 83)





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ชีวประวัติของท่านหญิงฟาติมะฮ์ ...
เรื่องเล่าในกุรอาน ตอนที่ 1
อีด อัฎฮา ตรุษใหญ่ของอิสลาม
...
...
ท่านหญิงมะอ์ศูมะฮ์ ...
เราะห์มัต (ความเมตตา) ...
...
สถานภาพการเมือง ...
ทำไมต้องห้าม “หมู” ?

 
user comment