ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

อิมามฮุเซน (อ)คือ แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (1)

อิมามฮุเซน (อ)คือ แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (1)

 อิมามฮุเซน (อ)คือ แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิต (1)

 

 

พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์ อัลกุรอาน เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตตามเส้นทางแห่งทางนำ

 (ฮิดายะฮ์ )และการไปถึงยังจุดสูงสุดของความความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ (ซะอาดะฮ์)ในชีวิตนั้น นอกจากเหนือจากนี้ ยังมีบทบัญญัติต่างๆ ลงมายังมนุษยชาติอีกด้วย พระองค์ยังทรงแนะนำบรรดาผู้ที่เป็นแบบอย่างในทางปฏิบัติไว้ให้แก่พวกเขาเหล่านั้น โดยที่ถ้าหากมนุษย์ยึดมั่นตามแบบอย่างของบุคคลเหล่านั้นเขาจะสามารถย่างก้าวไปบนเส้นทางอันเป็นสัจธรรมและเที่ยงตรงนี้ได้อย่างถูกต้องและง่ายดาย บรรดาศาสดา (อ.) ทั้งมวลนั้นคือส่วนหนึ่งจากบุคคล (ผู้เป็นแบบอย่าง) เหล่านี้ และในสุดยอดของบรรดาศาสดาทั้งมวลนั้นก็คือศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)

คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติตามท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไว้ดังนี้ว่า

 

«ولكم فی رسول الله اسوة حسنة »

 

“และใน (การปฏิบัติตนของ) ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์นั้น คือแบบอย่างที่ดีงามยิ่งสำหรับพวกเจ้า” (1)

 

ภายหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แล้ว แบบอย่างสำหรับอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) อิสลามนั้นก็คือบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) และอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ของท่านศาสดานั่นเอง และหนึ่งในบรรดาผู้เป็นแบบอย่าง (อุซวะฮ์) เหล่านั้น ก็คือท่านอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.)

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งไปถึงสุไลมาน บิน ซอร็อด และมุซัยยับรวมทั้งบุคคลอื่นๆ ซึ่งท่านได้เขียนว่า

 

« فلكم في اسوة »

“ดังนั้นใน (การปฏิบัติตนของ) ฉันนี้ ย่อมเป็นแบบอย่างสำหรับพวกท่าน” (2)

 

จากเหตุผลดังกล่าวนี้จึงนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่บรรดาชีอะฮ์และมวลมุสลิมทั้งหลาย จะต้องเรียนรู้ถึงคุณลักษณะและแบบอย่างในการปฏิบัติตนของท่านอิมามผู้ยิ่งใหญ่นี้และนำสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความใกล้เคียงท่านให้มากที่สุด

สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ คือการชี้ให้เห็นถึงบางส่วนของบุคลิกภาพและคุณลักษณะต่างๆ ของท่านอิมามฮุเซน บินอะลีอิ (อ.) ซึ่งบรรดานักตับลีฆ (ผู้เผยแผ่อิสลาม) สามารถจะนำเอาคุณลักษณะต่างๆ เหล่านี้ของท่านมานำเสนอในการบรรยายของพวกเขาในช่วงเดือนมุฮัรรอมอันศักดิ์สิทธิ์

 

(1) ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ)

 

ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า อะมั้ล (การกระทำ) ทั้งมวลจะมีคุณค่าและถูกยอมรับนั้น จะต้องเป็นเป็นการกระทำ (อะมั้ล) ที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) และเป็นที่พึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง การกระทำ (อะมั้ล) ทั้งมวลที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน จึงถูกกำหนดเงื่อนไขหนึ่งไว้ว่า จะต้องมีความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) และมีเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ตัวอย่างเช่นในเรื่องของญิฮาด (การต่อสู้) คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

«والذين جاهدوا فی سبيل الله »

“และบรรดาผู้ที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์” (3)

 

หรือเกี่ยวกับการเป็นชะฮีดและการถูกฆ่าในการทำศึกสงคราม ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

«الذين قتلوا فی سبيل الله »

“บรรดาผู้ที่ถูกฆ่าตายในหนทางของอัลลอฮ์” (4)

 

หรือแม้แต่ในเรื่องของการใช้จ่ายทรัพย์สินและเงินทอง (อินฟาก) คัมภีร์อัลกุรอานก็กล่าวว่า

 

«والذين ينفقون اموالهم فی سبيل الله »

“และบรรดาผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาไปในหนทางของอัลลอฮ์” (5)

 

จะเห็นได้ว่าในโองการเหล่านี้ได้ใช้คำว่า “فی سبيل الله “ (ในหนทางของอัลลอฮ์)เป็นเงื่อนไขของการกระทำ(อะมั้ล)ต่างๆ

และบรรดาบุคคลที่คัมภีร์อัลกุรอานได้หยิบยกให้เห็นในฐานะที่เป็น “อุซวะฮ์” (แบบอย่าง) การกระทำของพวกเขาเหล่านั้นล้วนดำเนินไปบนพื้นฐานความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น

 

1. ในคำพูดของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ท่านกล่าวเช่นนี้ว่า

 

قل ان صلاتی ونسكی ومحيای ومماتی لله رب العالمين لا شريك له وبذالك امرت وانا اول المسلمين

 

“จง กล่าวเถิด แท้จริงการนมาซของฉัน การอิบาดะฮ์ทั้งมวลของฉัน การมีชีวิตอยู่ของฉันและการตายของฉัน (ทั้งหมดเหล่านี้) เพื่ออัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลกเพียงเท่านั้น โดยไม่มีหุ้นส่วนใดๆ สำหรับพระองค์ และด้วยสิ่งนี้ที่ฉันถูกบัญชามา และฉันเป็นคนแรกที่ยอมสวามิภักดิ์” (6)

 

2. ในคัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวเกี่ยวกับท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ว่า

 

«ومن الناس من يشری نفسه ابتغاء مرضاة الله والله رؤوف بالعباد »

 

“และบางส่วนจากมนุษย์นั้น มีผู้ที่ขายชีวิตของเขาเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ทรงเมตตายิ่งต่อปวงบ่าว” (7)

 

3. ทำนองเดียวกันนี้ คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวเกี่ยวกับอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ว่า

 

ويطعمون الطعام علی حبه مسكينا ويتيما واسيرا انما نطعمكم لوجه الله لا نريد منكم جزاء ولا شكورا

 

“และ พวกเขาให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก ทั้งที่ (พวกเขาเอง) มีความต้องการต่อสิ่งนั้น (พร้อมกันนั้นพวกเขากล่าวว่า)

อันที่จริงเราให้อาหารแก่พวกท่านโดยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด” (8)

 

จากการอธิบายของโองการต่างๆ จากคัมภีร์อัลกรุอาน ทำให้เข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า อะมั้ล (การกระทำ) ทั้งหลายจะมีคุณค่าในทัศนะของ

อัลลอฮ์นั้น จะต้องประกอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) และความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า และบรรดาผู้ที่จะได้รับเกียรติและฐานันดร ณ พระองค์ได้นั้น พวกเขาจะต้องย่างก้าวไปบนเส้นทางแห่งความพึงพอพระทัยของพระองค์เพียงเท่านั้น

 

ความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลาย

 

1. ทุกอย่างเพื่อพระผู้เป็นเจ้า :

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

طوبی لمن اخلص لله عمله وعلمه وحبه وبغضه واخذه وتركه وكلامه وصمته

 

“ความโชคดีจงมีแด่ผู้ที่ทำให้อะมั้ล (การกระทำ) ความรู้ ความรัก ความโกรธ ความต้องการ การละทิ้ง การพูดและการนิ่งเงียบของเขามีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์” (9)

 

มีผู้เล่ามาจากรอญับอะลี ค็อยยาฏ ว่า:

ในการตัชเยี๊ยะอ์ญะนาซะฮ์ (จัดพิธีศพ) ของท่านอายะตุลลอฮ์อัลอุซมาบุรูญุรดี (รฮ.) มัรเญียะอ์ตักลีดผู้ยิ่งใหญ่ มีประชาชนจำนวนมากร่วมพิธี จนทำให้พิธีการตัชเญี๊ยะอ์ญะนาซะฮ์นี้มีความยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ในความฝันฉันได้ถามท่านว่า

“สิ่งใดหรือที่เป็นเหตุทำให้ท่านได้รับการยกย่องเทิดทูนจากประชาชนถึงเพียงนี้”

ท่านได้ตอบว่า “เนื่องจากฉันได้อบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาศาสนาทั้งหมดเพื่อพระผู้เป็นเจ้า” (10)

 

 

ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านอบูซัรว่า

 

يا اباذر ليكن لك فی كل شی ء نية صالحة حتی فی النوم والاكل

 

“โอ้อบาซัร เจ้าจะต้องมีเจตนา (เหนียต) ที่สะอาดบริสุทธิ์ในทุกๆ กิจการงาน แม้แต่ในการกินและการนอน” (11)

 

2. อะมั้ล (การกระทำ) ที่สะอาดบริสุทธิ์เพียงเท่านั้น :

ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

 

اذا عملت عملا فاعمل لله خالصا لانه لا يقبل من عباده الاعمال الا ما كان خالصا

 

“เมื่อท่านได้กระทำงานใดๆ ก็ตาม ท่านจงทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์เพียงเท่านั้น เพราะแท้จริงพระองค์จะไม่ทรงตอบรับการกระทำใดๆจากปวงบ่าวของพระองค์ นอกเสียจากสิ่งที่มีความสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น” (12)

 

3. หัวใจของการเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า  :

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

راس طاعة الله الرضا بما صنع الله فيما احب العبد وفيما كره

 

“หัวใจของการเชื่อฟังอัลลอฮ์ คือความพึงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าในสิ่งนั้นผู้เป็นบ่าวจะชอบหรือจะไม่ชอบก็ตาม” (13)

 

 

4. จะเลือกเอาความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าหรือความพอใจของมนุษย์     :

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า

 

من طلب رضا الله بسخط الناس كفاه الله امور الناس ومن طلب رضا الناس بسخط الله وكله الله الی الناس

 

“ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ จนเป็นเหตุแห่งความโกรธเกลียดของมนุษย์ อัลลอฮ์จะทรงทำให้เขาพอเพียงจากกิจการต่างๆของมนุษย์ และผู้ใดก็ตามที่แสวงหาความพึงพอใจของมนุษย์โดยแลกกับความโกรธกริ้วของอัลลอฮ์แล้ว พระองคฝืจะทรงมอบหมายเขาไปยังมนุษย์” (14)

 

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กับความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า

 

คุณลักษณะ และบุคลิกภาพที่โดดเด่นที่สุดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั่นก็คือ การที่ตลอดช่วงชีวิตของท่านนั้น คำพูด พฤติกรรมและการกระทำต่างๆ ของท่าน จะดำเนินไปบนเส้นทางของพระผู้เป็นเจ้า และวางอยู่บนความพึงพอพระทัยของพระองค์เพียงเท่านั้น ทุกลมหายใจเข้าออกของท่านเพียงเพื่อความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ทุกๆการมองและทุกๆ การพูดของท่าน เป็นไปเพื่อพระผู้เป็นเจ้า

กล่าวโดยสรุปแล้วท่านคือ บ่าวผู้ซึ่งตลอดทุกอณูแห่งการดำรงอยู่ของท่าน คือการยอมจำนนและการสิโรราบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น ซึ่งเราจะยกตัวอย่างเพียงบางส่วนในเรื่องนี้

 

1. การยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า   :

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า

 

اللهم انك تعلم انه لم يكن ما كان منا تنافسا فی سلطان، ولا التماسا من فضول الحطام ولكن لنری المعالم من دينك ونظهر الاصلاح فی بلادك ويامن المظلومون من عبادك ويعمل بفرائضك وسنتك واحكامك

 

“ข้าฯ แต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากพวกเรานั้นไม่ใช่เป็นการแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง และไม่ใช่เป็นการมุ่งแสวงหาเศษซากส่วนเกินอันไร้แก่นสาร (แห่งดุนยา) แต่เนื่องจากพวกเรา (ต้องการที่) จะเห็นสัญลักษณ์ต่างๆ แห่งศาสนาของพระองค์ (ได้รับการเชิดชู) และพวกเราจะทำให้การแก้ไขปรับปรุงปรากฏขึ้นในบ้านเมืองทั้งหลายของพระองค์ และบรรดาผู้ถูกกดขี่จากปวงบ่าวของพระองค์จะได้รับความปลอดภัย (และความสงบสุข) และจะปฏิบัติตามข้อบังคับ แบบแผน (ซุนนะฮ์) และบทบัญญัติต่างๆ ของพระองค์” (15)

 

2. การวิงวอนและการแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า      :

ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าววิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าเคียงข้างหลุมฝังศพของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ว่า

 

اللهم انی احب المعروف وانكر المنكر وانا اسئلك يا ذالجلال  والاكرام بحق القبر ومن فيه الا اخترت من امری هذا ما هو لك رضا ولرسولك فيه رضي

 

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าพระองค์รักความดีงามและรังเกียจความชั่ว โอ้ผู้ทรงเกรียงไกร (16)

ผู้ทรงเกียรติคุณ ข้าพระองค์วิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยสิทธิของหลุมฝังศพนี้และผู้ที่อยู่ในมัน ในสิ่งที่ข้าพระองค์ได้เลือกนี้ ขอให้เป็นที่พึงพอพระทัยสำหรับพระองค์ และเป็นที่พึงพอใจของท่านศาสนทูตของพระองค์ด้วยเทอญ” (17)

 

3. ทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์      :

หลังจากที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์มุ่งสู่นครมักกะฮ์แล้วนั้น ท่านได้กล่าวสุนทโรวาทอย่างมากมายในนครมักกะฮ์ และส่วนหนึ่งจากสุนทโรวาทเหล่านั้น ท่านได้กล่าวว่า

 

الحمد لله وما شاء الله ولا قوة الا بالله... رضی الله رضانا اهل البيت نصبر علی بلائه

 

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และสิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ (สิ่งนั้นย่อมบังเกิดขึ้น) และไม่มีพลังอำนาจใดเว้นแต่โดย

(พระประสงค์ของ) อัลลอฮ์... ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ คือความพึงพอใจของพวกเราบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ พวกเราจะอดทนต่อความทุกข์ยาก (และการทดสอบ) ของพระองค์” (18)

 

4. เพื่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น    :

ในช่วงเวลาที่ลูกธนูมาปะทะที่หน้าอกของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านได้ทรุดกายลงบนพื้นดินและกล่าวว่า

 

بسم الله وبالله وفی سبيل الله وعلی ملة رسول الله

 

“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ และด้วยกับการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และในหนทางของอัลลอฮ์ และบนศาสนาของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์

( ฉันได้พลีชีพ (ชะฮีด) แล้ว” (19)

 

มิใช่แต่เพียงในช่วงเวลาของการเป็นชะฮีดเท่านั้นที่อิมามฮุเซน (อ.)ได้รำพึงรำพันออกมาด้วยคำพูดที่ว่า : «فی سبيل الله » (ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) แต่ทว่าในทุกเช้าตู่และในทุกค่ำคืน ท่านมักจะรำพึงรำพันดุอาอ์บทนี้อยู่เสมอ

 

بسم الله وبالله ومن الله و الی الله وفی سبيل الله وعلی ملة رسول الله، و توكلت علی الله، ولا حول ولا قوة الا بالله العلی العظيم. اللهم انی اسلمت نفسی اليك، ووجهت وجهی اليك وفوضت امری اليك، اياك اسال العافية من كل سوء فی الدنيا والآخرة

 

“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ และด้วยการำลึกถึงอัลลอฮ์ และยัง (การมุ่งสู่) อัลลอฮ์ และในหนทางของอัลลอฮ์ และบนศาสนาของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอมอบหมายต่ออัลลอฮ์ และไม่มีพลานุภาพและพลังอำนาจใด เว้นแต่โดย (พระประสงค์ของ) อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงข้าพระองค์ขอมอบชีวิตของข้าพระองค์ให้แก่พระองค์ และข้าพระองค์ขอหันหน้าของข้าพระองค์มุ่งตรงไปยังพระองค์ และข้าพระองค์ขอมอบหมายกิจการงานของข้าพระองค์ยังพระองค์ เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ข้าพระองค์วิงวอนขอความรอดพ้นจากทุกๆ ความเลวร้าย ทั้งในโลกนี้และในปรโลก” (20)

 

ในเนื้อหาทั้งหมดของบทดุอาอ์ข้างต้นนี้ คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าท่านอิมามฮุเซน(อ.)นั้นคือผู้ที่ยึดเอาพระผู้เป็นเจ้าเป็นเป็นแกนหลักในการดำเนินชีวิตของท่านเพียงเท่านั้น และคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า ทุกๆการกระทำ ทุกๆการย่างก้าว ทุกๆการเคลื่อนไหวและความพึงพอใจของตัวท่านนั้น วางพื้นฐานอยู่บนความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์เพียงเท่านั้น

 

 

 

อ้างอิง

 

(1) ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ: อายะฮ์ที่ 21

(2) บิฮารุลอันวาร, มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 44 , หน้า 381

(3) ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์: อายะฮ์ที่ 20 และ 213

(4) ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์: อายะฮ์ที่ 169

(5) ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์: อายะฮ์ที่ 262

(6) ซูเราะฮ์อัลอันอาม: อายะฮ์ที่ 162

(7) ซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์: อายะฮ์ที่ 207

(8) ซูเราะฮ์อัลอินซาน: อายะฮ์ที่ 7-8

(9) มุนตะค็อบมีซานุลฮิกมะฮ์, มุฮัมมะคี เรย์ชะฮ์รี

(10) คีมิยอเย มุฮิบบัต, มุฮัมมะดี เรย์ชะฮ์รี, หน้า 185

(11)  มุนตะค็อบมีซานุลฮิกมะฮ์, หน้าที่ 520, ฮะดีษที่ 6322

(12) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

(13) มุนตะค็อบมีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 220, ฮะดีษที่ 2615; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 71, หน้า 208. ฮะดีษที่ 17

(14) มุนตะค็อบมีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 221, ฮะดีษที่ 2637

(15) เมาซูอะฮ์, หน้า 276

(16) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม

(17) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม, หน้าที่ 287; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 328;

 ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮูเซน (อ.), หน้า 385; มักตะลุลฮุเซน, คอรัซมี, เล่มที่ 1, หน้า 186

(18) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 366; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮูเซน (อ.), หน้า 274; อัลอะวาลิม, บะห์รอนี, เล่มที่ 17, หน้า 216

(19) ซูกนอเมฮ์ อาลิมุฮัมมัด (ศ็อลฯ), หน้า 359; มุนตะฮัลอามาล, เล่มที่ 1, หน้า 286

(20) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 86, หน้า 313; ฟัรฮังก์ ซุคอนอน อิมามฮูเซน (อ.), หน้า 316

 

แปลและเรียบเรียงโดย เชคมุฮัมมัดนะอีม ประดับญาติ

คัดลอกจากเว็บไซต์เลิฟฮุเซน

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ประวัติย่อของอิมามมุฮัมมัด ...
คุณสมบัติของอัล-กุรอาน
สานสัมพันธ์กับอิมามซะมาน
...
...
...
...
อิมามญะอฺฟัรกับวิทยาศาสตร์
ผู้ป่วยแห่งกัรบาลาอฺ (ตอนที่2)
อิมามริฎอ คือ ผู้ค้ำประกันกวาง

 
user comment