สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 3
ผู้นำ (อิมาม) ประเภทต่างๆ
ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) กล่าวถึงบุคคลสองกลุ่มที่มีลักษณะตรงข้ามกัน และกล่าวถึงผู้นำสองประเภทไว้ใน
คำพูดของท่าน โดยอ้างอิงไปยังโองการอัลกุรอานสองโองการ โดยที่บุคคลแต่ละกลุ่มก็จะยึดถือปฏิบัติตาม
ผู้นำหนึ่ง และจะได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องของแนวคิดและทัศนคติต่างๆ จากผู้นำของตนเอง ซึ่งในสนามและเวทีแห่งการดำเนินชีวิตมันได้ปรากฏให้เห็นถึงบุคคลกลุ่มต่างๆ และผู้นำทั้งสองประเภทนี้ และมันจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในทุกยุคสมัย จำเป็นที่เราจะต้องทำความรู้จักกับผู้นำเหล่านี้ด้วยกับแบบแผนการดำเนินชีวิตของพวกเขา และเราจะต้องยึดมั่นปฏิบัติตามผู้นำซึ่งเรียกร้องเชิญชวนเราไปสู่หนทางแห่งทางนำและความไพบูลย์
คำตอบสำหรับคำถามอีกข้อหนึ่ง
นี่คือคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ที่มีขึ้น ณ สถานที่พักแห่งซะอ์ละบียะฮ์ โดยที่ชายผู้หนึ่งจากชาวกูฟะฮ์ได้เข้ามาพบท่าน และในระหว่างการสนทนาอยู่นั้นท่านอิมาม (อ.) ถามเขาว่า “เจ้าเป็นคนจากเมืองใด” เขาตอบว่า “เป็นชาวเมืองกูฟะฮ์”
ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวกับเขาเช่นนี้ว่า “พึงรู้ไว้เถิด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ หากว่าฉันได้พบกับเจ้า ณ นครมะดีนะฮ์ แน่นอนยิ่ง ฉันจะแสดงให้เจ้าเห็นร่องรอยของญิบรออีลในบ้านของเรา (1) และ (ร่องรอย) ของวะฮ์ยูที่เขาได้นำลงมาให้แก่ตาของฉัน โอ้สหายชาวกูฟะฮ์เอ๋ย ณ ที่เราเท่านั้นคือขุมคลังแห่งความรอบรู้ หรือว่าเราคือผู้โง่เขลากระนั้นหรือ สิ่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน” (2)
คำพูดดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งถูกอ้างไว้ในหนังสือ “บาซออิรุดดารอญาต” และ “อุศูลุลกาฟีย์” แสดงให้เห็นว่าท่านอิมาม (อ.) ได้ยกคำพูดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการตอบคำถามอย่างหนึ่งต่อบุรุษจากเมืองกูฟะฮ์ผู้นี้ เราได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เท่าที่โอกาสจะอำนวย ในการค้นคว้าหาต้นกำเนิดของคำถาม เพื่อว่ามันจะได้ทำให้คำพูดและการสนทนาข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) เป็นที่ชัดเจนขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นกำเนิดของคำถามดังกล่าวยังไม่ถูกค้นพบในขณะนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของคำพูดของท่านอิมาม (อ.) โดยเฉพาะประโยคที่ว่า
“ดังนั้นพวกเราเป็นผู้โง่เขลา” ซึ่งมันถูกนำมาใช้ในรูปของคำถามในเชิงปฏิเสธ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ท่านอิมาม (อ.) สนทนาด้วยนั้น เป็นบุรุษที่ไม่มีความรู้และไม่มีความเข้าใจดีพอ และเป็นผู้ที่มองเหตุการณ์เพียงภายนอก เขามองการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับบนีอุมัยยะฮ์ของท่านอิมาม (อ.) ในครั้งนี้เป็นเหมือนขบวนการต่อต้านคัดค้านกับรัฐบาลทั่วๆ ไป ดังนั้นเขาจึงแสดงออกด้วยการคัดค้านต่อขบวนการของท่านอิมาม แม้ท่านอิมาม (อ.) จะอธิบายให้เห็นถึงความเสียหายและอาชญากรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากน้ำมือของวงศ์วานแห่งบนีอุมัยยะฮ์ในครั้งนี้ ซึ่งมันปรากฏให้เห็นภายหลังจากที่ “คอตามุลอัมบิยาอ์” (ศาสดาท่านสุดท้าย) ผู้เป็นผู้นำแห่งอิสลาม
จนในที่สุดวงศ์วานแห่งบนีอุมัยยะฮ์ (ซึ่งตลอดเวลาพวกเขาเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสลามและอัลกุรอาน) ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งการเป็นเจ้าเมืองและผู้ปกครองประชาชาติมุสลิม พวกเขาสร้างความแปดเปื้อนให้เกิดขึ้นด้วยการก่ออาชญากรรมและสร้างความเสื่อมเสียต่างๆ ภายใต้นามแห่งอิสลาม และพวกเขาได้บิดเบือนและสร้างเรื่องไร้สาระให้เกิดขึ้นกับอิสลามอย่างมากมาย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บุรุษแห่งกูฟะฮ์ผู้นั้นก็ยังไม่เข้าใจในคำตอบของท่านอิมาม (อ.) เขามองแบบแผนทั้งหมดเหล่านั้นเช่นเดียวกับมุสลิมบางส่วนที่มีสายตาสั้น โดยยึดถือว่าอะมั้ลและพฤติกรรมต่างๆ รวมทั้งการถือศีลอด การนมาซญุมอะฮ์และญามาอะฮ์ต่างๆ ที่วงศ์วานแห่งบนีอุมัยยะฮ์ได้กระทำกันนั้น ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงความเป็นสัจธรรมและความถูกต้องของบุคคลเหล่านั้น
สิ่งที่ได้รับจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)
จากคำกล่าวข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) เราสามารถนำแง่คิดต่างๆ มาใช้ได้อย่างมากมาย แต่ด้วยกับคำอธิบายที่ถูกกล่าวถึงไปแล้วข้างต้นว่า คำพูดดังกล่าวนี้จะดึงดูดความสนใจของเราไปยังประเด็นหนึ่งซึ่งมีความสำคัญกว่าประเด็นอื่นๆ นั่นก็คือ กฎเกณฑ์พื้นฐานประการหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่สามารถมั่นใจได้ว่า “เจ้าของบ้านย่อมมีความรอบรู้มากกว่า (บุคคลอื่น) เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในบ้าน” หมายความว่า สิ่งต่างๆ และสถานการณ์ต่างๆ ที่ดำเนินไปภายในบ้าน ย่อมไม่มีบุคคลอื่นใดที่จะรอบรู้ได้มากกว่าเจ้าของบ้าน จากกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้เราสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งและความเป็นฝักฝ่ายที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติมุสลิม ภายหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้
อธิบายเพิ่มเติม : แนวทางสองแนวทางอันได้แก่ ชีอะฮ์และซุนนะฮ์ อันที่จริงแล้วในเรื่องของอุศูลุดดีนและฟุรูอุดดีนนั้น มีความสอดคล้องและมีความเหมือนกันในหลายๆ เรื่อง เช่นเรื่องของ “เตาฮีด” (การยอมรับในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) “นุบูวะฮ์”(ความเป็นศาสดา) “มะอาด” (วันกิยามะฮ์) และในเรื่องอัลกุรอาน, กิบลัต, นมาซ, ซะกาต, ฮัจญ์ ส่วนปัญหาอื่นๆ จะมีความขัดแย้งกันก็แต่เฉพาะปัญหาปลีกย่อยบางส่วนเท่านั้น และในเรื่องอุศูลุดดีนแม้จะมีทัศนะที่แตกต่างกันบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อย เช่นเรื่องของ
“อิมามัต” (ความเป็นผู้นำ) ซึ่งหากเราสามารถทำลายความอคติด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ด้วยการตรวจสอบค้นคว้าวิจัยในทางวิชาการ พวกเขาก็สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสมบูรณ์ และสายธารสองสายก็จะกลายมาเป็นสายธารหลักอันเดียวซึ่งเป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) และศาสนทูตของพระองค์ (ซ็อลฯ)
แต่ทว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดเป็นความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้นั้น สัจธรรมและความถูกต้องอยู่กับฝ่ายใดเล่า! นี่คือคำถามซึ่งมีคำตอบอยู่มากมาย ทั้งคำตอบที่เป็นสากลและคำตอบที่เป็นการเฉพาะ และหนึ่งจากคำตอบที่เป็นสากลนั้นก็คือกฎเกณฑ์ที่ว่า “เจ้าของบ้านย่อมมีความรอบรู้มากกว่า (บุคคลอื่น) เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ในบ้าน” ซึ่งเราได้รับคำตอบจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ที่ว่า “แท้จริงบรรดาชีอะฮ์จะเรียนรู้หลักการศรัทธาและบทบัญญัติทางศาสนาทั้งหมด (ซึ่งเรียกว่า อุศูลุดดีนและฟุรูอุดดีน) จากครอบครัวแห่งวะฮ์ยู และจากอะฮ์ลุลบัยต์ของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อันเป็นแหล่งกำเนิดแห่งวิชาการทั้งหลายของอิสลาม” ในความเป็นจริงแล้วสายธารชีอะฮ์ก็คือสายธารแห่งวะฮ์ยู และเป็นสายธารของอะฮ์ลุลบัยต์นั่นเอง ซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงแนะนำบุคคลเหล่านี้ไว้เช่นนี้ว่า
“โดยแท้จริง อัลลอฮ์เพียงแต่ประสงค์ที่จะขจัดมลทินให้หมดไปจากพวกเจ้า
โอ้อะฮ์ลุลบัยต์ และพระองค์จะทรงทำให้พวกเจ้านั้นบริสุทธิ์ผุดผ่องโดยแท้จริง”
แต่ทว่าสายธารซุนนีย์ได้ศึกษาเรียนรู้หลักการศรัทธาและบทบัญญัติต่างๆ ของตนมาจากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของบ้าน ชีอะฮ์เรียนรู้หลักศรัทธาและมะอาดมาจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) และจากลูกหลานของท่าน (อ.) ส่วนอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เรียนรู้มาจากอบูฮุร็อยเราะฮ์ และบรรดานักรายงานฮะดีษที่เหมือนกับเขา แต่ชีอะฮ์ได้เรียนรู้บทบัญญัติและนิติศาสตร์ต่างๆ มาจากท่านอิมามบากิร (อ.) และท่านอิมามซอดิก (อ.) ในขณะที่อะฮ์ลิซซุนนะฮ์เรียนรู้มาจากอบูฮะนีฟะฮ์ อิมามมาลิก อิมามชาฟิอีย์ และอื่นๆ
นี่คือสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้จากคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ที่ว่า “โอ้ สหายแห่งเมืองกูฟะฮ์ ณ ที่นี่เราคือขุมคลังแห่งความรู้ ดังนั้น (ในความคิดของท่าน) พวกเขาคือบุคคลที่มีความรอบรู้ และพวกเราคือผู้โง่เขลากระนั้นหรือ สิ่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้”
ณ สถานที่พักแห่ง “ชุกูก”
เมื่อท่านอิมาม (อ.) เข้ามาใกล้เขตแดนแผ่นดินอิรัก ในทุกๆ วันท่านจะต้องพบกับบุคคลต่างๆ จากชาวเมืองกูฟะฮ์และชาวอิรัก หลังจากที่ท่านออกจากสถานที่พักแห่งซะอ์ละบียะฮ์ และเข้าสู่สถานที่พักแห่งใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “ชุกูก” ท่านได้พบกับชายผู้หนึ่งซึ่งเดินทางมาจากเมืองกูฟะฮ์ ท่านได้ถามไถ่สถานการณ์ในเมืองกูฟะฮ์และทัศนคติต่างๆ ของประชาชน
ชายผู้นั้นกล่าวว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ประชาชนชาวอิรักได้รวมตัวกันและมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในการคัดค้านต่อต้านท่าน และพวกเขาสัญญากันแล้วที่จะทำสงครามกับท่าน”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวกับเขาว่า “แท้จริงกิจการงานทั้งมวลอยู่ในอำนาจของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงกระทำในสิ่งซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ และพระผู้อภิบาลผู้ทรงจำเริญยิ่งของเรานั้น พระองค์จะทรงดำเนินกิจการหนึ่งๆ ในทุกๆ วัน”
หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านบทกวี ซึ่งมีความหมายว่า
“มาตรว่าโลกนี้จะถูกนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่ทว่าโลกแห่งการตอบแทนรางวัล ณ อัลลอฮ์นั้นสูงส่งกว่าและมีความประเสริฐมากกว่า
และมาตรว่าการสะสมทรัพย์และความมั่งคั่ง เพียงเพื่อว่าในวันหนึ่งเราจะต้องละทิ้งมันไป ดังนั้น สมควรหรือที่บุรุษจะตระหนี่จากสิ่งที่เขาจะต้องละทิ้งมันไป
และมาตรว่าปัจจัยต่างๆ ได้ถูกจัดสรรปันส่วนไว้อย่างแน่นอนแล้ว ดังนั้นย่อมเป็นสิ่งสวยงามกว่าที่บุรุษจะมักน้อยจากการไขว่คว้าหามัน
และมาตรว่าบรรดาเรือนร่างทั้งหลายได้ถูกบังเกิดมาสำหรับความตายแล้ว ดังนั้นการถูกสังหารของบุรุษด้วยคมดาบในหนทางของอัลลอฮ์ ย่อมมีเกียรติเหนือกว่า
ความสันติสุขแห่งอัลลอฮ์จงมีเหนือพวกเจ้าทั้งหลาย โอ้ ลูกหลานแห่งอะฮ์มัดเอ๋ย เพราะแท้จริงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ฉันจะต้องอำลาจากพวกเจ้าไปในไม่ช้านี้” (3)
เจตจำนงอันแน่วแน่
หนึ่งจากบรรดาเงื่อนไขแห่งชัยชนะและความสำเร็จในขบวนการและการยืนหยัดต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขประการสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ ก็คือ จะต้องไม่หันเหและเบี่ยงเบนออกจากความตั้งใจของตนเอง แม้ว่าจะต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ อันแสนยากเข็ญและขมขื่น แม้ว่าจะมีกำแพงและความลังเลเกิดขึ้น สำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ มันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในคำพูดข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) เมื่อมีบุรุษจากเมืองกูฟะฮ์ได้บอกข่าวกับท่านเกี่ยวกับเรื่องราวอันแสนขมขื่นและไม่อาจจินตนาการได้ นั่นก็คือ การที่ประชาชนชาวกูฟะฮ์ ซึ่งเป็นกองกำลังและเป็นผู้ช่วยเหลือของท่านอิมามได้รวมตัวกันเพื่อสู้รบกับท่าน แม้ท่านอิมาม (อ.) จะได้รับทราบข่าวดังกล่าว ทว่าท่านไม่ได้แสดงออกให้เห็นถึงความอ่อนแอและความท้อแท้แม้เพียงเล็กน้อย และยังคงดำเนินต่อไปบนแนวทางของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น จากการกล่าวบทลำนำของท่านแสดงให้เห็นถึงความไร้ค่าของการมีชีวิตและความมั่งคั่งอันจอมปลอมแห่งโลกนี้ ท่านได้กล่าวเสริมความเข้มแข็งและความเด็ดเดี่ยวมั่นคงให้กับตนเองและผู้ร่วมเดินทางของท่านให้มีมากยิ่งขึ้น และนี่คือบทเรียนหนึ่งที่ฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้สั่งสอนแก่มนุษยชาติทั้งมวล
ณ สถานที่พักแห่ง “ซะอ์บาละฮ์”
หลังจากที่ได้ออกมาจากที่พักแห่งชุกูก คาราวานของท่านอิมาม (อ.) มาถึงยังสถานที่พักอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ซะอ์บาละฮ์” ในสถานที่แห่งนี้ที่ข่าวการถูกสังหารของมุสลิม
บินอะกีล, ฮานีย์และอับดุลลอฮ์ บินยักฏุร (4) ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้รับทราบข่าวนี้อย่างเป็นทางการจากชีอะฮ์คนหนึ่งของท่านที่อยู่ในเมืองกูฟะฮ์ที่ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งมายังท่าน
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวท่ามกลางกลุ่มชนที่ร่วมติดตามท่านมา โดยที่จดหมายดังกล่าวนั้นอยู่ในมือของท่านซึ่งมีความว่า “ข่าวอันน่าสลดใจได้มาถึงเรา นั่นก็คือการถูกสังหารของมุสลิม บินอะกีล ฮานีย์ บินอุรวะฮ์ และอับดุลลอฮ์ บันยักฏุร ชีอะฮ์ของเราได้ละทิ้งการช่วยเหลือเราเสียแล้ว ดังนั้นบุคคลใดก็ตามจากพวกท่านที่ปรารถนาจะแยกตัวกลับไป ดังนั้นก็จงกลับไปเถิด ไม่มีพันธสัญญาใดๆ จากเราทั้งสิ้นที่อยู่เหนือตัวของพวกท่าน” (5)
ความชัดเจนในคำพูด
จุดเด่นและความแตกต่างอันชัดเจนประการหนึ่งของหัวหน้าและผู้นำทางศาสนา ที่มีต่อผู้นำทางการเมืองที่มิใช่ศาสนา นั่นก็คือ ความชัดเจนที่ไม่มีการอำพราง และความจริงใจในการบอกกล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงโดยผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางศาสนาต้องยึดมั่นต่อความศรัทธามั่นของตนเอง เขาจะต้องเป็นผู้ที่สัตย์จริงและไม่อำพรางข้อเท็จจริงใดๆ ต่อสาวกและประชาชาติของตน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อชะตากรรมของพวกเขา แม้ว่าการพูดความจริงดังกล่าวจะจบลงด้วยอันตรายที่จะมีขึ้นกับพวกเขาก็ตาม เพราะเหนือสิ่งอื่นใดนั้น เป้าหมายและเจตนารมณ์ของผู้นำก็คือการสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหัวใจของบุคคลทั้งหลาย ความพยายามและความบากบั่นทั้งหมดของพวกเขาก็เพื่อที่จะปูพื้นฐานไปสู่เป้าหมายและเจตนารมณ์ดังกล่าว ส่วนในหมู่ผู้นำทางการเมืองนั้น การไปถึงเป้าหมายของพวกเขาโดยทั่วไปคือการแสดงออกแค่เพียงภายนอก เป็นการตบตาประชาชนและปิดบังความเป็นจริงต่างๆ ในทุกเวลาเขาจะแสดงออกภายนอกด้วยรูปแบบหนึ่ง แต่กับบุคคลอื่นพวกเขาจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมและท่าทางที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ
ความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจ และความเป็นผู้สัจจริงในคำพูด สามารถที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนในผู้นำทางศาสนาทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตัวของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ผู้ซึ่งเป็นแบบอย่างสำหรับมวลมนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งจะพบเห็นได้ในทุกๆ สนามศึกสงคราม และในทุกเสี้ยวส่วนแห่งการดำเนินชีวิตของท่าน และสำหรับท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ซึ่งเป็นผู้นำแห่งบรรดาสุภาพชนและอิสรชนทั้งหลาย ท่านไม่เพียงไม่ถูกยกเว้นจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ในทางกลับกัน เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ ตัวท่านเองคือกฎเกณฑ์และแบบอย่างสำหรับบรรดาผู้นำทางด้านศาสนาและจิตวิญญาณ
ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่อิมาม (อ.) ได้คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้เกี่ยวกับอนาคตของตนเอง ท่านจะบอกกล่าวมันแก่บรรดาสาวกและผู้ติดตามท่านในสถานที่ต่างๆ ในโอกาสอันเหมาะสม โดยไม่มีการปิดบังอำพรางใดๆ ตั้งแต่นครมะดีนะฮ์จนกระทั่งถึงแผ่นดินกัรบาลาอ์ ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยที่ท่านได้กระทำในโอกาสที่ออกเดินทางจากนคร มักกะฮ์ และไม่ว่าจะเป็นการสนทนาของท่านที่มีต่ออับดุลลอฮ์ทั้งสาม (อิบนิอับบาส, อิบนิอุมัร และอิบนิซุบัยร์) และต่อมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์
ท้ายที่สุดคือการเขียนจดหมายฉบับหนึ่งจากชีอะฮ์คนหนึ่งของท่าน ที่มาพบท่านเพื่อแจ้งข่าวการเป็นชะฮีดของบุคคลทั้งสามซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือที่ซื่อสัตย์ที่สุดของท่าน และเพื่อเป็นการตอกย้ำด้วยความหนักแน่น ท่านอิมาม (อ.) ได้ถือจดหมายฉบับดังกล่าวยกขึ้นมาอ่านต่อหน้าบรรดามิตรสหายของท่าน
สาเหตุและผลบั้นปลายของการเสนอแนะในครั้งนี้
ท่านฏ็อบรีย์ นักประวัติศาสตร์ผู้เรืองนาม และอัลมัรฮูม เชคมุฟีด นักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ของชีอะฮ์ หลังจากการอ้างอิงคำพูดข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) ท่านทั้งสองได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุและผลที่เกิดขึ้นจากคำเสนอแนะของท่านอิมามเอาไว้ ด้วยเนื้อหาที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการแปลคำพูดของท่านฏ็อบรีย์ เกี่ยวกับสาเหตุในการเสนอแนะของท่านอิมาม (อ.) มีดังนี้
ท่านอิมาม (อ.) รู้ดีว่าผู้ที่ติดตามท่านมาตลอดบนเส้นทางอันยาวไกล พวกเขามีความหวังว่าท่านอิมาม (อ.) จะเข้าไปยังเมืองที่ประชาชนในเมืองนั้นได้ส่งจดหมายมาว่าจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน แต่เป็นเพราะท่านไม่ต้องการให้บุคคลเหล่านี้เดินทางไปกับท่าน โดยที่ท่านมิได้บอกให้พวกเขาได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นจริง และท่านก็รู้ดีว่าหากเรื่องราวความจริงต่างๆ เป็นที่ประจักษ์สำหรับพวกเขา พวกเขาก็จะหันเหออกจากการเดินทางในครั้งนี้ นอกเสียจากบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วที่จะให้การช่วยเหลือท่าน จวบจนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเสนอแนะข้อเสนอดังกล่าวแก่พวกเขา และบอกพวกเขาเกี่ยวกับเนื้อหาของจดหมายฉบับนั้น
และเช่นเดียวกัน ท่านฏ็อบรีย์ได้อ้างถึงผลที่ติดตามมาจากข้อเสนอดังกล่าวไว้ดังนี้ “หลังจากการพูดคุยของท่านอิมาม (อ.) เสร็จสิ้นลง กลุ่มชนที่อยู่กับท่านอิมามต่างก็ทยอยแยกย้ายกันออกไปเป็นกลุ่มๆ ทางด้านขวาและด้านซ้าย จนกระทั่งเหลืออยู่แค่เพียงสาวกของท่านที่ออกเดินทางมาพร้อมกับท่านตั้งแต่นครมะดีนะฮ์” และประโยคทำนองเดียวกันนี้ก็ถูกบันทึกในหนังสือ “ฏอบากอต” ของ อิบนิซะอัด เช่นเดียวกัน
ดังที่ได้ชี้ให้เห็นไปแล้วว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือในสถานที่เดียว แต่ทว่ามันได้ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอในโอกาสและสถานที่ต่างๆ อันเหมาะสม ซึ่งหลังจากการเสนอแนะและการอนุญาตให้ผู้ร่วมเดินทางเบี่ยงเบนออกจากการเดินทาง ณ สถานที่พักแห่ง “ซะบาละฮ์” คงเหลือผู้ที่สนับสนุนท่านเพียงจำนวนจำกัด เป็นผู้ที่มีความสัตย์จริง มีความเสียสละ และเป็นผู้ยืนหยัดอย่างแท้จริงจากเหล่าสาวกของท่าน เมื่อท่านมาถึงยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “บัฏนุลอุกบะฮ์” ท่านได้เสนอประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งด้วยคำพูดใหม่ และมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะได้พินิจพิเคราะห์ต่อไป
ณ บัฏนุลอุกบะฮ์
หลังจากที่คาราวานของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เคลื่อนย้ายออกจากซะบาละฮ์ ก็มาถึงสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “บัฏนุลอุกบะฮ์” และเป็นไปตามการอ้างอิงของ
“อิบนิเกาลูยะฮ์” ที่อ้างจากท่านอิมามซอดิก (อ.) และเช่นเดียวกันนี้ เป็นไปตามการอ้างอิงของบรรดานักรายงานฮะดีษและนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ ว่า เนื่องจากการนอนหลับฝันของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เมื่อตื่นขึ้นมาท่านจึงกล่าวแก่บรรดาสาวกและผู้ร่วมติดตามท่านในสถานที่แห่งนี้ด้วยคำพูดที่ว่า
“ฉันมิได้มองเห็นตัวฉันเองเป็นอื่นใดนอกจากผู้ที่จะต้องถูกสังหาร เพราะแท้จริงฉันได้เห็นในความฝันของฉันว่า มีสุนัขจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้ามาหาฉัน และที่เลวร้ายที่สุด ในจำนวนสุนัขเหล่านั้นคือสุนัขสีเทา”
มัรฮูมมุฟีด ได้รายงานไว้ในหนังสือ “อิรชาด” ว่า ในขณะนั้นเองชายแก่คนหนึ่งจากเผ่า “อักรอมะฮ์” ซึ่งมีนามว่า “อัมร์ บินเลาซาน” ได้มาพบกับคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ณ สถานที่แห่งนั้น เขาถามท่านอิมาม (อ.) ว่า “จุดหมายของท่านคือที่ใด” ท่านตอบว่า “ยังทิศทางแห่งกูฟะฮ์”
อัมร์ บินเลาซาน กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านจงเดินทางกลับ ณ สถานที่นี้เถิด เพราะข้าพเจ้าคิดว่าท่านไม่พบสิ่งใดนอกจากคมหอกและคมดาบ และบุคคลเหล่านี้ที่พวกเขาเชื้อเชิญท่านมา หากพวกเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสงครามและมีการเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน ก็ย่อมไม่มีปัญหาอันใดที่ท่านจะมุ่งหน้าไปหาพวกเขา แต่ทว่าด้วยกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ท่านเองย่อมรู้ล่วงหน้าดีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าไม่เห็นผลดีใดๆ เลยในการเดินทางไปของท่าน”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบเขาว่า “โอ้ บ่าวของอัลลอฮ์เอ๋ย ประเด็นดังกล่าว (ดังที่ท่านคิด) มันก็มิได้ถูกปิดบังไปจากฉัน แท้จริงอัลลอฮ์มิทรงถูกพิชิตบนกิจการงานของพระองค์ (ที่จะทำให้กิจการงานของพระองค์เปลี่ยนแปลงไป)” (6)
หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวต่อว่า “แท้จริงพวกเขาจะไม่ละมือไปจากฉันอย่างแน่นอน จนกว่าพวกเขาจะควักก้อนเลือด (หัวใจ) ก้อนนี้ออกมาจากอกของฉัน และหลังจากที่พวกเขาได้กระทำเช่นนั้น อัลลอฮ์จะทรงทำให้บุคคลหนึ่งมีอำนาจเหนือพวกเขา ซึ่งจะสร้างความอัปยศและความไร้เกียรติให้แก่พวกเขา จนกระทั่งพวกเขาได้กลายเป็นผู้ที่ไร้เกียรติที่สุดในหมู่ประชาชาติทั้งหลาย” (7)
คำปราศรัยของท่านอิมาม (อ.) หลังจากนมาซซุฮ์ริ ณ “ชะรอฟ”
หลังจากเคลื่อนย้ายออกจาก “บัฏนุลอุกบะฮ์” คาราวานของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ก็มาถึงสถานที่พักแห่งใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “ชะรอฟ” หลังจากท่านอิมามมาถึง “ฮูร บินยาซีด รอยยาฮีย์” ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มายับยั้งการเดินทางต่อไปของท่านอิมาม (อ.) ก็ได้เดินทางมาถึงยังสถานที่นั้นด้วยเช่นกัน พร้อมด้วยทหารหนึ่งพันคนที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของเขา ในสถานที่แห่งนี้เองที่ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวคำปราศรัยสั้นๆ สองครั้ง ด้วยการอธิบายให้ทหารของฮูรได้รับรู้ถึงฐานภาพของตัวท่าน และฐานภาพของวงศ์วานแห่งบนีอุมัยยะฮ์ เป็นการชี้ให้พวกเขาเข้าใจถึงเหตุผลและสาเหตุของการเดินทางในครั้งนี้ของท่าน
ความมีเมตตาจิตของบุตรแห่งฟาฏิมะฮ์ (อ.)
ก่อนที่เราจะตรวจสอบคำปราศรัยทั้งสองนี้ เรามาพินิจพิเคราะห์ถึงลักษณะและวิธีการในการเผชิญหน้าของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อฮูรและกองทหารของเขา ซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความมีเมตตากรุณาของบุตรแห่งฟาฏิมะฮ์ (อ.) เป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่มีแก่บรรดาผู้นำของโลกและผู้นำแห่งการปฏิวัติต่อสู้ทั้งหลาย ซึ่งเราได้รับรู้จากคำพูดของบรรดานักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย
หลังจากที่มาถึงยัง “ชะรอฟ” ท่านอิมาม (อ.) ได้ออกคำสั่งให้บรรดาชายหนุ่มไปยังแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรตีส) ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น และให้พวกเขาตระเตรียมน้ำสำหรับการใช้สอยไปยังคาราวานที่พักให้มากกว่าปกติ ก่อนบ่ายของวันนั้นท่ามกลางอากาศอันร้อนจัด ฮูร บินยาซีด นำกองทหารประมาณหนึ่งพันคนมาถึง ณ สถานที่แห่งนี้ เมื่อท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) เห็นกองทหารของฮูรอยู่ในสภาพที่หิวกระหายอย่างรุนแรง ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยและความเมื่อยล้าจากการแบกหามอาวุธ รวมทั้งฝุ่นที่ตลบอบอวนมาตลอดการเดินทาง ท่านจึงสั่งให้สาวกของท่านจัดการหาน้ำดื่มให้กับทหารเหล่านั้น และแก่ม้าศึกทั้งหมดของพวกเขา และท่านสั่งให้สาดน้ำให้แก่สัตว์พาหนะของพวกเขา ตามปกติวิสัยของการมาถึงจากการเดินทาง สาวกของท่านอิมามกระวีกระวาดในการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านอิมาม (อ.) กลุ่มหนึ่งจัดการหาน้ำดื่มให้กับเหล่าทหาร อีกกลุ่มหนึ่งเอาน้ำใส่ในภาชนะไปวางไว้ข้างหน้าม้าเหล่านั้น และอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่คอยสาดน้ำไปที่ขนตามแผงคอและราดไปที่หน้าอกและขาของม้าเหล่านั้น
ทหารคนหนึ่งของฮูร ซึ่งมีนามว่า “อะลี บินฏออาน มุฮาริบีย์” ได้กล่าวว่า เนื่องจากความหิวกระหายและความเหน็ดเหนื่อยอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าจึงมาถึงยังสถานที่ที่มีชื่อว่า “ชะรอฟ” และเป็นที่ตั้งค่ายพักของทหาร ซึ่งในช่วงเวลานั้นสาวกของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) กำลังหมกมุ่นอยู่กับการให้น้ำแก่กองทหารเหล่านั้นจึงไม่มีใครมองเห็นข้าพเจ้า ในเวลานั้นเองมีชายซึ่งมีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกดีคนหนึ่งยืนอยู่ข้างๆ ที่พักและได้มองเห็นข้าพเจ้า ซึ่งภายหลังจึงรู้ว่าท่านคือฮูเซน บินอะลี (อ.) นั่นเอง ท่านรีบเร่งเข้ามาช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยการหิ้วถุงน้ำมาด้วย เมื่อมาถึงข้าพเจ้าท่านกล่าวว่า “จงทำให้อูฐของเจ้านอนลงซิ”
อิบนิฏออาน กล่าวว่า เนื่องจากความไม่คุ้นเคยกับภาชนะของชาวฮิญาซ ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าใจคำพูดของท่าน ดังนั้นท่านจึงพูดใหม่ว่า “จงทำให้อูฐนอนลงซิ” ข้าพเจ้าจึงทำให้อูฐนอนลง และข้าพเจ้าก็ได้ดื่มน้ำ ท่านรดน้ำลงบนศีรษะและใบหน้าของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำนั้นได้อย่างสะดวก เนื่องจากความหิวกระหายอันรุนแรงและความหุนหันพลันแล่น ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวว่า “จงตะแคงถุงน้ำซิ” ข้าพเจ้าไม่เข้าใจคำพูดของท่านอีกเช่นเดิม ท่านอิมามซึ่งถือถุงน้ำอยู่ ท่านจึงใช้มือข้างหนึ่งของท่านจับปากถุงจนกระทั่งข้าพเจ้าสามารถดื่มน้ำนั้นได้อย่างง่ายดาย
เมื่อเวลานมาซมาถึง
หลังจากแสดงความเมตตาจิตและการต้อนรับดังกล่าว และหลังจากการพักผ่อนชั่วขณะหนึ่ง ช่วงเวลาบ่ายและการนมาซดุฮ์ริก็มาถึง ท่านอิมาม (อ.) ยืนอยู่ด้านหน้าสุด บรรดาสาวกของท่าน ฮูรและทหารของเขาก็ยืนเรียงแถวกันด้านหลังท่านอิมาม และพวกเขาก็ทำนมาซดุฮ์ริร่วมกับท่าน
คำปราศรัยของท่านอิมาม (อ.)
หลังจากนมาซเสร็จสิ้นลงแล้ว ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้ยืนขึ้นและหันหน้ามาทางประชาชน โดยที่มือของท่านถือดาบไว้ในลักษณะของไม้เท้า ท่านสวมรองเท้าแตะและสวมเสื้อผ้าธรรมดาๆ และผ้าคลุมของอาหรับ ท่านกล่าวกับประชาชนว่า
“โอ้ ประชาชนเอ๋ย แท้จิรง (การเทศนาในครั้งนี้) คือ (การทำให้หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล) การขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ และ (การทำให้ข้อผูกมัดและหลักฐานสมบูรณ์สำหรับ) พวกท่าน (เพื่อจะได้ไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ อีก) แท้จริงฉันมิได้เดินทางมายังพวกท่าน นอกเสียจากว่าภายหลังจากที่จดหมายของพวกท่านได้มาถึงฉันแล้ว และผู้ถือสาส์นของพวกท่านได้นำมันมา (มอบให้กับฉัน ซึ่งเนื้อความของจดหมายมีว่า) ขอให้ท่านจงเดินทางมายังพวกเราเถิด แท้จริงพวกเราไม่มีผู้นำ (อิมาม) และหวังว่าอัลลอฮ์จะทรงรวมพวกเราเข้าอยู่ในหนทางแห่งทางนำของท่าน
ดังนั้น หากพวกท่านยังคงมั่นคงอยู่บนอุดมการณ์ดังกล่าว บัดนี้ฉันมาถึงแล้ว ดังนั้นจงให้คำมั่นสัญญาที่มั่นคงต่อฉันเถิด เพื่อว่าฉันจะได้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น แต่หากพวกท่านมีความรังเกียจและไม่พึงพอใจต่อการมาถึงของฉัน ฉันก็จะหันกลับจากพวกท่านไปยังสถานที่ซึ่งฉันออกเดินทางมา” (8)
บรรดาทหารของฮูรนิ่งเงียบต่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) และไม่ได้ตอบคำถามแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นในเชิงตอบรับหรือปฏิเสธ
เมื่อนมาซซุฮ์ริเสร็จสิ้นลง ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวคำปราศรัยจนกระทั่งเวลานมาซอัซริมาถึง และในนมาซอัซริก็เช่นเดียวกัน บรรดาสาวกของท่านอิมามและบรรดาทหารของฮูร ต่างก็ได้เข้าร่วมนมาซญะมาอะฮ์ภายใต้การนำของท่านอิมาม (อ.) หลังจากการนมาซเสร็จสิ้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ลุกขึ้นยืนกล่าวคำปราศรัยอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้สัมผัสมันในหน้าต่อไป
เชิงอรรถ :
(1) มัรอาตุ้ล อุกูล ได้กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของคำว่า “ร่องรอยของญิบรออีล” หมายถึง สถานที่หนึ่งที่ญิบรออีลหยุดอยู่ที่นั้น เพื่อขออนุญาตท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกัน และประตูที่อยู่ใกล้กับสถานที่แห่งนี้ถูกเรียกว่า “บาบุลญิบรออีล”
(2) บะศออิรุด ดะรอญาต หน้า 11; อุศูลุลกาฟีย์ บาบ มุสตะกอ อัลอิลม์ มินบัยติ อาลิมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
(3) อิบนิอะซากิร หน้า 164 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 223 ; อัลมะนากิบ เล่มที่ 4 หน้า 95
(4) อิบนิฮะญัร รายงานเหตุการณ์การถูกสังหารของอับดุลลอฮ์ บินยักฏุร ไว้ในหนังสือ “อัลอิศอบะฮ์” โดยสรุปว่า หลังจากที่เดินทางออกจากนครมักกะฮ์ ท่านอิมาม (อ.) ได้ส่งเขาไปหามุสลิม พร้อมด้วยจดหมายฉบับหนึ่ง โดยที่ใน “กอดิซียะฮ์” เขาถูกจับกุมโดยฮะศีน บินนะมีซ และถูกส่งตัวไปยังอับดุลลอฮ์ อิบนิซิยาด ในเมืองกูฟะฮ์
อิบนิซิยาดออกคำสั่งให้เขาขึ้นสู่มิมบัร พร้อมกับให้ประณามให้ร้ายต่อท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) และท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) แต่ทว่าอับดุลลอฮ์ บินยักฏุร์ได้กระทำตรงกันข้าม โดยการประณามสาปแช่งลูกหลานแห่งบนีอุมัยยะฮ์ และยกย่องสรรเสริญต่อวงศ์วานของท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) โดยเขาได้กล่าวว่า “โอ้ประชาชนเอ๋ย ข้าพเจ้าคือผู้ถือสาสน์ของท่านฮูเซน บุตรแห่งฟาฏิมะฮ์ และข้าพเจ้ามายังพวกท่านเพื่อให้พวกท่านลุกขึ้นให้การช่วยเหลือท่านในการต่อสู้กับบุตรของมัรญานะฮ์” (หมายถึงอิบนิซิยาด)
อิบนิซิยาด ได้ออกคำสั่งให้เอาตัวเขาขึ้นไปบนดาดฟ้าของ “ดารุลอิมาเราะฮ์” และผลักเขาลงมาสู่พื้นดิน ในสภาพที่ถูกมัดมือ กระดูกของเขาแตกละเอียด ในช่วงลมหายใจสุดท้ายของเขายังคงเหลืออยู่ ชายผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “อับดุลมาลิก บินอะมีร” ได้กระโจนเข้ามาฟันลงไปที่คอของเขา และเมื่อมีการคัดค้านและตำหนิเขา เขาได้กล่าวว่า “เพราะฉันเห็นเขาอยู่ในสภาพที่ทุรนทุราย ฉันจึงทำให้เขาได้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวนั้น”
(5) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 294 ; อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 128
(6) กามิลุซซิยารอต หน้า 75 ; ตารีค ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 294
(7) อิรชาด เชคมุฟีด หน้า 223 ; อิบนิอะซากิร หน้า 211
(8) ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 297 และ 298 ; กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้า 270 ; อัรชาด เชคมุฟีด หน้า 224 และ 225 ; มักตัล คอวาริซมีย์ หน้า 231 และ 232
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน