บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 102 บทอัตเตาบะฮ์
โองการนี้กล่าวถึงบรรดามุสลิมทั้งหลายเกี่ยวกับการให้ความหวังแก่ผู้กระทำความผิดพลาดที่กลับตัวกลับใจแล้ว โดยกล่าวว่า
وَآخَرُونَ اعْتَرَفُوا بِذُنُوبِهِمْ خَلَطُوا عَمَلًا صَالِحاً وَآخَرَ سَيِّئاً عَسَى اللّهُ أَن يَتُوبَ عَلَيْهِمْ إِنَّ اللّهَ غَفُورٌ رَحِيمٌ
คำแปล :
102. และมีชนกลุ่มอื่นที่สารภาพความผิดของพวกเขา โดยที่พวกเขาประกอบความดีปะปนกับงานที่ชั่ว หวังว่าอัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ คือ พระผู้ทรงอภัยโทษ พระผู้ทรงเมตตาเสมอ
สาเหตุแห่งการประทานลงมา :
มีคำกล่าวถึงสาเหตุแห่งการประทานลงมา ดังกล่าวว่า อบูลุบาบะฮ์ อันซอรีย์ และเพื่อนพร้องอีกหลายคน หลีกเลี่ยงไม่ได้เข้าร่วมสงครามตะบูก แต่หลังจากโองการได้ถูกประทานลงมาเพื่อกล่าวประณามและต่อว่าเขา เขาได้สำนึกผิด หลังจากนั้นได้มัดตัวเองไว้กับเสาภายในมัสญิดศาสดา (ซ็อล ฯ) พร้อมกับสาบานว่า ถ้าหากท่านศาสดาไม่มาปล่อย ฉันก็จะอยู่เช่นนั้นตลอดไป ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รออยู่นานพอสมควรจนกระทั่งโองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมา และท่านได้ไปแก้มัดเขาออก พวกเขาได้สำนึกผิดและเพื่อเป็นการขอบคุณ พวกเขาได้มอบทรัพย์สินแก่ทานศาสดา (ซ็อล ฯ) เพื่อใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮ์ (ซ.บ) ซึ่งเป็นเพราะว่าความห่วงใยในทรัพย์สินนั่นเอง ได้กลายเป็นอุปสรรคทำให้พวกเขาไม่ได้ออกไปสงคราม ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มิได้รับทรัพย์สินนั้นโดยทันที่ ทว่าท่านได้รอจนกระทั่งโองการถูกประทานลงมา ท่านจึงรับทรัพย์สินไปเพียงบางส่วนเท่านั้น[1]
คำอธิบาย :
คำว่า อะซา «عَسى» หมายถึง บางที ซึ่งโดยปกติจะใช้ในความหมายที่บ่งบอกถึงความหวัง หรือคาดว่าจะได้รับชัยชนะ หรือไม่ประสบความสำเร็จ หมายความว่าโอกาสที่การกลับตัวกลับใจของพวกเขา จะถูกตอบรับยังพอมีอยู่บ้าง แต่พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะปล่อยพวกเขาไว้ท่ามกลางความหวาดกลัวและความหวัง เพื่อว่าสิ่งนี้จะได้กลายเป็นปัจจัยทำให้การอบรมพวกเขาสมบูรณ์[2]
นักตัฟซีรบางท่านมีความเชื่อว่าคำว่า อะซา บ่งชี้ให้เห็นว่าคนที่กระทำความผิดและฝ่าฝืนคำบัญชานั้น นอกจากการกลับตัวกลับใจแล้ว ยังต้องสำนึกผิดและประพฤติความดีอีกด้วย อีกทั้งยังต้องชดเชยสิ่งที่กระทำผ่านมาแล้ว เพื่อให้การกลับตัวกลับใจของตนถูกตอบรับ
โองการข้างต้นแม้จะถูกประทานลงมาเกี่ยวกับเรื่องราวของ อบูลุบาบะฮ์ และอีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามตะบูก แต่ความเข้าใจและความหมายของโองการนั้นกว้างและครอบคลุมทั่วถึงทุกคน ที่พวกเขาประกอบความดีปะปนกับงานที่ชั่ว และได้สำนึกผิดในตอนหลัง ด้วยเหตุนี้ ในฮะดีษบทหนึ่งของท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) จึงกล่าวว่า โองการข้างต้นได้ถูกประทานลงมาให้แก่บรรดาชีอะฮ์ของเราที่กระทำความผิด[3] หมายความว่า ชีอะฮ์ที่กระทำความผิดถือว่าเป็นตัวอย่างของโองการนี้
แม้ว่าสาวกจำนวนมากของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จะเป็นนักต่อสู้ที่แท้จริง และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือศาสนามาโดยตลอด แต่จากโองการข้างต้นสามารถเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่ว่าพวกเขาทุกคนจะเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากความผิด เพราะมีบางคนในหมู่พวกเขากระทำความผิด
บทเรียนจากโองการ :
1. การสารภาพผิดต่อพระเจ้าถือเป็นการสร้างโอกาสเพื่อการอภัยของพระองค์
2. ถ้าหากเกิดมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในชีวิต จงวิงวอนขออภัยต่อพระองค์ พระผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรานียิ่งเสมอ
เชิงอรรถ
[1] บิฮารุลอันวาร เล่ม 21 หน้า 121 ได้กล่าวถึงความหมายดังกล่าวเอาไว้ ยังมีสาเหตุการลงโองการอื่นอีกที่ได้กล่าวเกี่ยวกับโองการข้างต้นเอาไว้ เช่น ตัฟซีรมัจญ์อุลบะยาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว ตัฟซีรซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 317
[2]บางที่อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้เอง ที่บางฮะดีษบางบทได้กล่าวถึงคำว่า อะซา เอาไว้เกี่ยวกับพระเจ้า ซึ่งให้ความหมายว่า วาญิบ หรือจำเป็น(ตัฟซีร ซอฟี เล่ม 3 หน้า 317
[3]ตัฟซีร ซอฟีย์ เล่ม 2 หน้า 317