คัมภีร์ของศาสนาอิสลาม คือ คัมภีร์อัล – กุรอาน (Al-Quran) หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า โกราน (Koran) และคำว่า “อัล” เท่ากับ The ในภาษาอังกฤษที่ไม่ได้มีความหมายพิเศษอะไร คำว่า “กุรอาน” แปลว่า “สิ่งที่จะต้องอ่าน” (That which is to be read) บ้างแปลว่า “บทอ่าน” หรือ “บทท่อง” (The Reading) บ้าง
ถอดความง่าย ๆ ก็คือแปลว่า“พระคัมภีร์” เพราะเป็นสิ่งที่ศาสนิกชนจะต้องอ่านต้องศึกษาให้เข้าใจ รวมทั้งให้สามารถอ่านด้วยทำนองที่ไพเราะและมิศิลปะได้
คัมภีร์อัลกุรอาน กำเนิดมาจากการเขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของท่านนบีมูฮัมมัด ผู้อ้างว่าได้รับทราบจากฑูตสวรรค์บ้าง จากพระองค์อัลลอฮ์โดยตรงบ้าง กล่าวคือ พระองค์อัลลอฮ์ทรงประทานมาให้แก่ท่านนบีมูฮัมมัด ในลักษณะลงวะฮีย์ (เผยโองการ) โดยตรงบ้าง โดยผ่านญิบรีล (กาเบรียล) สู่ท่านนบีบ้าง เพื่อให้ใช้เป็นธรรมนูญ ในการดำเนินชีวิตของมุสลิมทั่วโลก มุสลิมทุกคนถือว่าคัมภีร์อัล-กุรอานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องแสดงความเคารพอย่างเคร่งครัด เพราะทุกตัวอักษรทุกคำเกิดจากการเปิดเผย (วะฮีย์) ของพระเจ้า เป็นเทวบัญชาของพระเจ้า และเป็นสัจพจน์ ที่บริสุทธิ์ของพระเจ้าที่ไม่มีใครจะสงสัยดัดแปลงแก้ไขได้
คัมภีร์อัล-กุรอานนี้ได้มีการรวบรวมบันทึกไว้ด้วยภาษาอาหรับ เป็นรูปเล่มอย่างสมบูรณ์ครั้งแรกหลังจากที่ท่านนบีสิ้นชีวิตแล้ว 5 เดือน มีขนาดหนังสือน้อยกว่าคัมภีร์ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ บันทึกไว้ในทำนองร้อยแก้ว และมีบางตอนในบทท้ายเล่มทีถ้อยคำสอดคล้องกัน มีจังหวะรับกันเหมือนโคลงกลอนในกวีนิพนธ์ มีเนื้อหาหลายตอนที่คล้ายคลึงกับคัมภีร์ของศาสนายิวและศาสนาคริสต์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ว่าความจริงแล้วคัมภีร์อัล-กรุอาน ถือเป็นคัมภีร์สุดท้ายที่บูรณ์ที่สุดเพราะได้เพิ่มเติมสิ่งที่ขาดในคัมภีร์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางทฤษฎีหรือการปฏิบัติไว้อย่างครบถ้วน สำหรับบุคคลและสังคมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตการอยู่รวมกัน การแต่งงาน การตาย อาชีพการทำมาหากิน เศรษฐกิจ สังคม การปกครอง และการเมือง
ลักษณะการบรรจุเนื้อหาในคัมภีร์อัล-กุรอานแบ่งออกเป็น “ซูเราะฮ์” หรือ บทมี 114 บท (หรือจะเรียกว่า “บรรพ” ก็ได้) แต่ละบทประกอบด้วย
“อายะฮ์” หรือโองการ มีทั้งหมด 6,666 โองการ (หรือจะเรียกว่า “วรรค” ก็ได้) จำนวนโองการของแต่ละบทจะไม่เท่ากัน ถ้าคิดเป็นคำทั้งหมดในคัมภีร์มีจำนวนนับได้ 77,639 คำ แต่ละบท
(ซูเราะฮ์) จะมีชื่อหัวข้อกำกับและบอกว่า ทรงส่งข้อความลงมา ณ ที่ไหน คือ ที่เมืองเมกกะหรือที่เมืองเมดินะ ทั้ง 2 เมืองนี้มีเนื้อหาสาระแตกต่างกัน คือ
1.ซูเราะฮ์ที่เมืองเมกกะ เรียกว่า มักกียะฮฺ มีจำนวน 93 ซูเราะฮ์ เป็นโองการสั้น ๆ กล่าวถึง
1.1 เรื่องราวของชนชาติต่าง ๆ และความพินาศล่มจมแห่งสังคมชนชาติต่าง ๆ
1.2 ลักษณะอันเป็นเอกภาพของพระองค์อัลลอฮฺ และศรัทธาที่ควรมีต่อพระองค์
1.3 ข้อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของอัลลอฮฺ และคำสอนให้ประพฤติดี เว้นชั่ว
2.ซูเราะฮ์ที่เมืองเมดินะ เรียกว่า “มะดะนียะห์” มีจำนวน 21 ซูเราะฮ์ เป็นโองการที่ค่อนข้างยาวกล่าวถึง
1.1 ประมวลกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายมรดก การซื้อขาย การหย่าร้าง ฯลฯ
1.2 หลักปฏิบัติของมุสลิม เช่น การถือศีลอด การประกอบพิธีฮัจญ์ ฯลฯ
ข้อควรทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ปราชญ์มุสลิมในสมัยต่อมาได้นำเอาซูเราะฮ์ทั้งหมดในคัมภีร์อัล-กุรอานมาแบ่งเป็น 30 บท แต่ละบทมีความยาวใกล้เคียงกัน เรียกว่า “ญุซฮ์” เพื่อให้มุสลิมผู้มีศรัทธาได้ใช้อ่านวันละบทในระหว่างถือศีลอดในเดือน รอมฎอนครบ 30 วัน 30 บทพอดี ปัจจุบันนี้คัมภีร์อัล-กุรอานได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เกือบทุกภาษา และแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งฉบับภาษาไทย
ในราวปี ค.ศ.610 เมื่อมุฮัมมัดนั่งบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำบนยอดเขาฮิรออ์ ตามดั่งที่เคยทำเป็นประจำ ญิบรีล ทูตแห่งอัลลอฮ์ ก็ปรากฏตนขึ้น และนำพระโองการจากพระผู้เป็นเจ้ามีความว่า จงอ่านเถิด ด้วยพระนามแห่งผู้อภิบาล ผู้ทรงให้บังเกิด พระองค์ผู้ทรงให้มนุษย์เกิดมาจากเลือดก้อนหนึ่ง จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเธอนั้นคือผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนมนุษย์ด้วยปากกา ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้... (บทอัลอะลัก)
ตั้งแต่นั้นมา มุฮัมมัดก็ได้กลายเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ที่ต้องรับหน้าที่ประกาศศาสนาของพระองค์ นั่นคือศาสนาอิสลาม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการที่ไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงองค์เดียว
การวิวรณ์ การรับสาส์น หรือโองการจากอัลลอฮฺนั้นเรียกในภาษาอาหรับว่า วะฮีย์
ศาสดามุฮัมมัดได้รับวะฮีย์เป็นคราวๆ ทะยอยลงมาเรื่อยๆ จากวะฮีย์แรกถึงวะฮีย์สุดท้ายใช้ระยะเวลา 23 ปี ทุกครั้งที่วะฮีย์ลงมา ท่านศาสนทูตจะประกาศให้บรรดาสาวกของท่านทราบ เพื่อจะได้ไปประกาศให้คนอื่นทราบอีกต่อไป สาวกจะพยายามท่องจำวะฮีย์ที่ลงมานั้นจนขึ้นใจ และท่านศาสดาจะสั่งให้อาลักษณ์ของท่านบันทึก ลงในสมุดที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือสิ่งอื่นๆที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ คัมภีร์อัลกุรอานสุดยอดของวาทศิลป์ ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า ที่กะอ์บะฮ์นั้นก็มี บทกวีที่แต่งโดยเจ็ดยอดกวีอาหรับ เขียนด้วยน้ำทองคำแขวนอยู่ ในงานแสดงสินค้าประจำปีที่ อุกาศ ในอาราเบีย ที่จัดให้อาหรับทุกเผ่าพันธุ์มาพบปะแลกเปลี่ยนก็จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดร่วมอยู่ด้วย นั่นคือการประชันบทกวี อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้ โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่
อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะฮ์ซึ่งมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮ์แต่ละซูเราะฮ์ แบ่งเป็นวรรค สั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะฮ์ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะฮ์ทั้งหมด 6236 อายะฮ์ ตามการนับมาตรฐาน
(ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดิอารเบีย)
เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้ สามหมวดคือ
หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า
ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละ และเทศะ
หมวดที่สองคือพงศาวดารของประชาติก่อนอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ในแต่ละซูเราะฮ์หรือแม้ใน แต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน คัมภีร์อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง
ประการแรก ก็คือความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยองสยบ
ประการที่สอง คือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ
การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่แก่เฒ่าหรือตายเหมือนภาษาอื่นๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอาน ไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปัญญาเป็นพื้นฐาน คัมภีร์ที่เก่าแก่นานถึง 1400 ปีนี้จึงไม่เก่าแก่ตามอายุ ทว่ายังใช้การได้ประดุจดังคัมภีร์นี้เพิ่งลงมา เมื่อวันนี้นี่เอง
ด้วยความมหัศจรรย์ของกรุอานดังที่กล่าวมาคือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่ ท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อยืนยันว่า อัลกรุอานเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์ และถ้าพวกเธอยังแคลงใจใน(อัลกรุอาน)ที่เราประทานแก่บ่าวของเรา พวกเธอก็จงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกผู้ช่วยเหลือของพวกเธอมา -นอกจากอัลลอฮ์- ถ้าพวกเธอแน่จริง หลังจากศาสดามุฮัมมัดประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ อัลลอฮ์ก็ได้ทรงประทานโองการอันสุดท้าย นั่นคือ วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเธอสมบูรณ์ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันที่มีต่อพวกเธอนั้น บริบูรณ์ และฉันได้เลือกให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเธอ (บทอัลมาอิดะฮ์ : 3 )
การเรียบเรียงโองการนั้นไม่ได้ถือหลักระดับก่อนหลังเป็นหลัก ทว่าอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงกำหนดวิธีการเรียง โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะฮ์ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลัง อพยพไปมะดีนะฮ์ คือทีเรียกว่า มะดะนียะฮฺ ก่อนญิบรีลจะมาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนโองการที่ได้รับ ปีละครั้งทุกๆปี แต่ในปีสุดท้ายก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตนั้น ญิบรีลได้มาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวน อัลกุรอานสองครั้งเพื่อความมั่นใจว่าท่านศาสดาได้จดจำโองการทั้งหมด โดยไม่มีที่ตกบกพร่อง ท่านศาสดาเสียชีวิตหลังจากโองการอัลกุรอานได้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มบริบูรณ์ เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ๆแตกแขนงมาจากอัลกุรอาน หลายสาขา เช่น วิชาตัจญวีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัลกุอาน หรือที่เรียกว่า อุศูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของอัลกุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟซีรอัลกุรอาน
ตั้งแต่อดีดจนถึงปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบท่านที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัลกุรอาน เรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟซีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัซซิร การตีความหมายอัลกุรอาน จะใช้หลักของอุลูมอัลกุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับพระวจนะของท่านศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟซีรเก่าๆเป็นหลักในการเขียนตัฟซีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่นๆ การตีความหมายอัลกุรอาน เนื่องจากคัมภีร์อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มีวาทศิลป์เลอเลิศ จึงไม่มีใครแม้แต่ผู้เดียวยอมรับว่าสามารถ แปลอัลกุรอานได้ดีพอ แน่นอนทีเดียว นั่นก็เป็นการท้าทายของอัลกุรอานอีกประการหนึ่ง เพราะถ้าหากสามารถแปลเป็นภาษาอื่นให้มีอรรถรสเหมือนแม่บทได้ ความมหัศจรรย์ก็จะหมดไป อย่างไรก็ตามง านแปลเป็นที่จำเป็นต้องทำ นักวิชาการมุสลิมในแต่ละประเทศในโลกจะพยายามแปลความหมาย ของอัลกุรอาน ในปัจจุบันอัลกุรอานได้รับการแปลเป็นภาษาส่วนใหญ่ของโลกทุกภาษาแล้ว
ในประเทศไทย คัมภีร์อัลกุรอานได้รับการแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยท่านอดีตจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสตร์ ซึ่งเป็นการแปลและอธิบายความหมายพร้อมๆ กัน จึงทำให้ผู้อ่านไม่ทราบว่าแม่บทในภาษาอาหรับเป็นอย่างไร ในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 70 คุณดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ ได้เป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์ความหมายอัลกุรอาน ที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณครูอิสมาอีล อะหมัด ปากพยูน เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแปลครั้งนี้ ต่อมาคุณมัรวาน สะมะอูนได้ทุ่มเทความสามารถและกำลังกายแปลความหมายของอัลกุรอานให้กระทัดรัดขึ้นอีก พยายามรักษาสำนวนให้ใกล้เคียงกับแม่บทให้มากที่สุด ซึ่งก็ได้กลายเป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับชาวไทยมาหลายปี แต่ก็ยังมีข้อบกพร่อง เช่นประโยคแปลถึงแม้จะตรงกับแม่บทแต่ก็ผิดกับสำนวนไทย การแปลความหมายผิด การแปลขาดตอน เป็นต้น ต่อมาสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับได้แปลความหมายอัลกุรอานตีพิมพ์ออกมาอีก โดยมีฟุตโน้ตอธิบายความหมาย ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ดีขึ้น จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และถือว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดในเวลานี้ แต่การแปลนี้ ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหาความสมดุลระหว่างการพยายามรักษาคำในแม่บทเดิมและการใช้สำนวนไทยได้ อัลกุรอานจึงท้าทายนักแปลตลอดเวลา ให้ยอมรับว่า อัลกุรอานแปลไม่ได้ อัลกุรอานคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าที่บริบูรณ์ เป็นคัมภีร์ที่มานำทางมนุษยชาติชั่วฟ้าดินสลาย นอกจากนี้ยังมีการแปลของ คุณชากิรีน บุญมาเลิศ เป็นการแปลที่ละเอียด มีเชิงอรรถด้านล่างเพื่อขยายความ สร้างความเข้าใจได้ดีขึ้น สมบูรณ์กว่าการแปลของฉบับอื่นที่ผ่านมา ลักษณะการแปลใกล้เคียงกับการแปลของสมาคมนักศึกษาอาหรับ และมีการปรับสำนวนภาษาไทยให้อ่านเข้าใจได้มากกว่า การแปลอีกฉบับหนึ่งแปลโดยคุณ บรรจง บินการซัน เป็นการแปลล่าสุด ซึ่งถือว่ามีความสมบูรณ์ไม่น้อยเลยที่เดียว จุดเด่นของงานแปลฉบับนี้คือ การใช้สำนวนการเป็นเป็นภาษาไทยที่เหมาะสม น่าเรียนรู้และเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ตามยังไม่อาจกล่าวได้ว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ก็คาดหวังว่าในอนาคตหน้าจะมีการแปล อัลกุรอาน ขึ้นมาอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลแต่อย่างใดที่จะมีงานแปลหรืองานที่เกี่ยวข้องกับอัลกุรอานอีกหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในสังคมอย่างน้อยที่สุดเป็นการช่วยเหลือกัน ในการเผยแพร่พระดำรัสแห่งพระเจ้า เพราะอัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อมวลมนุษย์ชาติทั้งโลกนี้
ขอขอบคุณเว็บไซต์ตักรีบ
(เนื้อหาบางส่วนได้รับการปรับปรุงและแก้ไขโดยเว็บไซต์อัลฮะซะนัยน์)
source : alhassanain