ความสำคัญของผลไม้ ในอิสลาม
ความสำคัญที่อิสลามได้กล่าวถึงเกี่ยวกับผลไม้นั้นมีมากกว่าอาหารประเภทอื่น ในคัมภีร์อัลกุรอานมีโองการมากมายที่กล่าวถึงบรรดาผลไม้ไว้โดยรวม และได้กล่าวถึงผลไม้เหล่านั้นว่า เป็นหลักฐานบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่และเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้าง และบางโองการก็กล่าวถึงชื่อของผลไม้ไว้อย่างเจาะจง ดังโองการต่อไปนี้
وَهُوَ الَّذِي أَنْشَأَ جَنَّاتٍ مَعْرُوشَاتٍ وَغَيْرَ مَعْرُوشَاتٍ وَالنَّخْلَ وَالزَّرْعَ مُخْتَلِفًا أُكُلُهُ وَالزَّيْتُونَ وَالرُّمَّانَ مُتَشَابِهًا وَغَيْرَ مُتَشَابِهٍ كُلُوا مِنْ ثَمَرِهِ إِذَا أَثْمَرَ
“และพระองค์ คือผู้ที่ทรงบันดาลสวนต่างๆ ซึ่งมีทั้งไม้เลื้อย และไม่ใช่ไม้เลื้อยและ(ทรงบันดาล)ต้นอินทผลัม และพืชไร่ที่ผลของมันแตกต่างกันรวมทั้งต้นซัยตูน(มะกอกชนิดหนึ่ง) และต้นทับทิมมีทั้งลักษณะคล้ายคลึงกันและไม่คล้ายคลึงกันพวกเจ้าจงรับประทานจากผลของมันเถิด เมื่อมันออกออกผล…..” (1)
ในโองการนี้ได้กล่าวถึงอินทผลัมและพืชต่างๆ (เช่น ข้าวบาเลห์ ข้าวสาลี เป็นต้น) มะกอกและทับทิม จำเป็นจะต้องรับรู้ไว้อย่างหนึ่งว่า บรรดาผลไม้ที่ชื่อของมันได้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงส่งยิ่งนัก ซึ่งผลไม้อื่นๆ ไม่อาจเทียบได้เลย
ความสำคัญของผลไม้ ในมุมมองของท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ช่างมากมาย ซึ่งปรากฏในคำรายงานบทหนึ่งว่า :
کان رسول الله صل الله علیه و آله اذا اتى بفاکهة حدیثة قلبها و وضعها على عینیه و یقول : اللهم اریتنا اولها فارنا اخرها
“เมื่อผลไม้สดๆถูกนำมามอบให้ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) ท่านจะจูบมันและวางมันลงบนดวงตาทั้งสองของท่านและท่านจะกล่าวว่า : “โอ้อัลลอฮ์พระองค์ได้ทรงให้เราเห็นในช่วงเริ่มต้นของมันดังนั้นได้โปรดทำให้เราได้เห็นในช่วงท้ายของมันด้วยเถิด”(2)
จากคำรายงาน(ริวายะฮ์)บทนี้เราได้รับรู้สองประเด็นคือ
1.การให้เกียรติต่อความโปรดปราณและปัจจัยอำนวยสุข(เนี๊ยะอ์มัต)ต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่เรา ทั้งนี้เนื่องจากพระเดชานุภาพ(กุดเราะฮ์)และความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกสำแดงออกมาอย่างสมบูรณ์ในผลไม้แต่ละชนิด จากต้นไม้ที่แห้งเหี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ระยะเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนภายหลังจากได้รับน้ำฝน มันได้ให้ผลที่สวยสด มีสีสันที่สวยงาม และมีกลิ่นที่หอมหวนชวนรับประทาน
2.ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของผลไม้ ในด้านของสารอาหารและคุณค่าต่างๆของมันที่ต่อสุขภาพพลานามัย และการรักษาความหนุ่มแน่นของมนุษย์ไว้
เป็นสิ่งที่ดีทีเดียวที่เราจะรับรู้ถึงบทบาทสำคัญของผลไม้ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการท่านหนึ่งคือ ดร.โอโตคาร์ก กล่าวว่า
“เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านทั้งหลายได้ใช้จ่ายไปในการซื้อผลไม้ต่างๆนั้นมันคือต้นทุนที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคต่างๆให้แก่พวกท่านพวกท่านอาจจะกล่าว่าผลไม้ต่างๆมีราคาแพงแต่ข้าพเจ้าขอถามพวกท่านว่าแล้วยารักษาโรคเล่าราคาเป็นอย่างไร?” (3)
ผลไม้ คือ แหล่งของเกลือแร่
ผลไม้มีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายอยู่มากทีเดียว ตัวอย่างเช่น :
1.ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก มีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงในกรณีของการขาดเลือดและโรคโลหิตจางของสตรี และเมื่อเปรียบเทียบกับธาตุเหล็กที่มีอยู่ในเนื้อสัตว์และไข่แล้ว ยังมีโปรตีนจำพวกอัลบูมีน (Albumin)(4) อยู่ในปริมาณสูง จึงไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย
2.แคลเซียม
แคลเซียมเป็นสารอาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายในการเสริมสร้างกระดูก และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรคชนิดต่างๆ เช่นวัณโรค ฝีหนองต่างๆ โรคมะเร็ง การอักเสบและการติดเชื้อของต่อมต่างๆ และสารอาหารที่มีอยู่มากในผลไม้คือ แคลเซียมนั้นเป็นที่ต้องการของร่างกาย
3.ฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัส คือ สารอาหารชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อสมองและพลังงานของกล้ามเนื้อต่างๆ และจะช่วยต้านทานโรคต่างๆ เกี่ยวกับระบบประสาท
ท่านศาสตราจารย์บูชาร์ ได้กล่าวว่า “หากปราศจากฟอสฟอรัส เซลล์ต่างๆ ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตได้”
4.แมกนีเซียม
แมกนิเซียมเป็นสารอาหารที่มีอยู่มากในผลไม้ ช่วยทำให้กระเพาะและลำไส้ ปฏิบัติหน้าที่ของมัน ช่วยให้การย่อยอาหารง่ายขึ้นและดีขึ้น ช่วยในการจัดระบบการทำงานของประสาทส่วนต่างๆ และยับยั้งโรคมะเร็ง
5.โปรแตสเซียม
โปรแตสเซียมจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหัวใจ ช่วยให้ขับถ่ายปัสสาวะได้มากขึ้น ช่วยให้การทำงานของลำไส้ต่างๆ เข้มแข็งและมีการขับถ่ายที่ดี คนจีนและคนญี่ปุ่นจะรับประทานข้าวเจ้ากันมาก ดังที่ทราบดีว่าข้าวเจ้ามีโปรแตสเซียมอยู่ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ค่อยประสบกับปัญหาโรคเกาต์และโรครูมาติสซึม
6.โซเดียม
โซเดียมช่วยจัดระบบการทำงานต่างๆ ของลำไส้
7.กำมะถัน
กำมะถันจะช่วยฟอกเลือด และต้านการติดเชื้อ มีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อภายในร่างกาย โรคผิวหนังต่าง และโรคหลอดลมอักเสบ
8.ซิลิคอนไดออกไซด์
ช่วยเสริมสร้างกระดูกและเส้นเลือดต่างๆ ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดดำเนินไปด้วยดี ช่วยรักษาโรคกระดูกอ่อนและการแข็งตัวของเส้นเลือดใหญ่
9.ไอโอดีน
มีความจำเป็นต่อการทำงานของต่อมต่างๆ และการหลั่งสารภายในร่างกาย โดยเฉพาะการหลั่งสารของต่อมไทรอยด์ ไอโอดีนจะต้านทานโรคลักปิดลักเปิด ช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะได้มากขึ้น ช่วยเยียวยารักษาโรคเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง โรคกระดูกอ่อน โรคหนองใน โรคเกาต์ และโรครูมาติสซึม
10.อาร์ซะนิค (สารหนู)
อาร์ซะนิคจะให้พลังงาน ช่วยยับยั้งวัณโรค เมื่อร่างกายเกิดมีอาการไข้ตัวร้อน ธาตุเหล็กและเกลือแร่ต่างๆ ในร่างกายจะถูกทำลายไปมาก ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นโรคไทฟอยด์หรือไข้อีดำอีแดง (Scarlet) พวกเขาจำเป็นต้องกินผลไม้ให้มากๆ
11.น้ำตาล
น้ำตาลที่อยู่ในผลไม้แตกต่างจากน้ำตาลโดยทั่วไปและดีกว่ามาก น้ำตาลของผลไม้มีความจำเป็นอย่างมาก ในการเสริมสร้างพลังงานแก่กล้ามเนื้อต่างๆ น้ำตาลของผลไม้ประกอบด้วย ‘กลูโคส’ และ ‘ลูโลส’ ซึ่งจะถูกย่อยสลายและถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายโดยตรงไม่เหมือนน้ำตาลโดยทั่วไป
“น้ำตาลของผลไม้ เป็นที่อนุญาตสำหรับบุคคลที่ต้องงดเว้น (จากอาหารต่างๆ) เพราะน้ำตาลประเภทนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพวกเขา”(5)
จงอย่าปอกเปลือกของผลไม้
คำสอนอันสูงส่งของอิสลามประการหนึ่งหลังจากที่กาลเวลาได้ผ่านพ้นไปนับสิบศตวรรษนักวิชาการจึงได้ค้นพบปรัชญาและวิทยปัญญาของมัน นั่นคือ การไม่ปอกเปลือกของผลไม้ ขอนำตัวอย่างหนึ่งจากคำพูดของผู้นำผู้บริสุทธิ์แห่งอิสลาม มาเสนอเพื่อให้ผู้อ่านได้ประจักษ์
ท่านอิหม่ามศอดิก(อ)ได้เล่าถึงจริยวัตรของบิดาของท่านคือ อิหม่ามบากิร(อ) โดยกล่าวว่า
کان یکره تقشیر الثمرة
“ท่านรังเกียจที่จะปอกเปลือกของผลไม้” (6)
เนื่องจากเปลือกของผลไม้ต้องเผชิญกับอากาศและแสงแดดอยู่ตลอดเวลา จึงมีวิตามินต่างๆ ในปริมาณที่มากกว่าเนื้อของมันโดยเฉพาะวิตามิน เอ
“ในอีกด้านหนึ่งเปลือกของผลไม้มี “ไดอัสเทส” (Diastase) อยู่หลายชนิดและหนึ่งในนั้นคือ “เอนไซม์” ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเปลี่ยนสารอาหารชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง ในลักษณะเช่นนี้เป็นไปโดยธรรมชาติจากการช่วยเหลือของไดอัสเทสชนิดต่างๆ ที่รวมอยู่ในเปลือกของผลไม้จึงทำให้เนื้อของผลไม้สามารถย่อยสลายและดูดซึมได้ง่ายด้วยเหตุนี้หากปอกเปลือกผลไม้ทิ้งไป เท่ากับได้ทำสิ่งผิดพลาดอย่างมหันต์”(7)
จงล้างผลไม้
คำแนะนำสั่งสอนอีกประการหนึ่งของอิสลาม คือ การล้างผลไม้ก่อนการรับประทานจากการพัฒนาการในด้านความรู้ ในแต่ละวันความลี้ลับในหลักคำสอนของอิสลามก็จะถูกเปิดเผยขึ้น และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของผู้นำอิสลามต่อบรรดาชาวโลกทั้งมวล
ส่วนหนึ่งจากคำพูดของบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์ของอิสลาม เกี่ยวกับการล้างผลไม้ก่อนการรับประทานคือคำพูดของท่านอิมามซอดิก(อ.)ที่ได้กล่าวว่า :
ان لکل ثمرة سماما، فاذا اتیتم بها فامسوها بالماء او اغمسوها فى الماء
“สำหรับผลไม้ทุกชนิดนั้นมีพิษดังนั้นเมื่อพวกท่านทั้งหลายได้รับมันมาพวกท่านจงทำความสะอาดมันด้วยน้ำหรือจุ่มมันลงไปในน้ำ”(8)
บรรดาผลไม้ที่วางขายอยู่ตามร้านผลไม้ หรือตามข้างทางที่สัญจรไปมา เป็นไปได้ว่าอาจปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคต่างๆ เชื้อโรคจำนวนมากจะอยู่เฉพาะที่เปลือกของผลไม้ โดยจะไม่ผ่านเปลือกเข้าสู่เนื้อของมัน ดังนั้นหากเรานำผลไม้ต่างๆ ที่เราซื้อมาจากตลาดไปล้าง เราก็จะปลอดภัยมากกว่า และยิ่งไปกว่านั้นหากผลไม้เหล่านั้นถูกฉีดพ่นสารเคมีการล้างก็จะทำให้สารพิษเหล่านั้นถูกขจัดออกไปจนหมด”(9)
ผลไม้สวรรค์
“ผลไม้สวรรค์”นั้นมีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณค่าทางอาหารเฉพาะตัวของมัน แต่ท่ามกลางผลไม้ทั้งหมดเหล่านี้ มีบางชนิดที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์มากกว่า อิสลามได้ไห้ความสำคัญต่อผลไม้ดังกล่าวนี้เป็นอย่างมาก และแนะนำให้รู้จักในฐานะ”ผลไม้แห่งสวรรค์”
ท่านอิหม่ามศอดิก(อ) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :
خمس من فاکهة الجنة فى الدنیا، الرمان الاملیسى و التفاح والسفرجل و العنب و الرطب المشان
“ห้าชนิดจากผลไม้สวรรค์ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ (ดุนยา) คือทับทิม แอปเปิล ซะฟัรญัล(Quince)(10) องุ่น และอินทผาลัม” (11)
และเช่นเดียวกันในคัมภีร์อัลกุรอาน ก็กล่าวถึงผลไม้เหล่านี้ไว้รวมทั้ง “ซัยตูน”(มะกอก) และ”มะเดื่อ “ เพื่อจะอธิบายถึงคุณค่าทางอาหารของผลไม้เหล่านี้ ซึ่งทางทีมงานซอฮิบซะมานได้นำเสนอไปบ้างแล้วในเว็บไซต์นี้ และเราจะได้นำเสนอในส่วนที่เหลือต่อไป อินชาอัลลอฮ์(หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)
แหล่งอ้างอิง :
(1)- อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 141.
(2)-บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 66 , หน้าที่ 119.
(3)-ซับซีฮอ วะ มีเวฮ์ฮอเย ชะฟาบัคช์ , หน้าที่ 118.
(4)-โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในไข่ นม เนือสัตว์ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
(5)-ซับซีฮอ วะ มีเวฮ์ฮอเย ชะฟาบัคช์ , หน้าที่ 119.
(6)-บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 66 , หน้าที่ 116.
(7)-ซับซีฮอ วะ มีเวฮ์ฮอเย ชะฟาบัคช์ , ลิโอเนส คาร์ลิเยฮ์ , หน้าที่ 126.
(8)-บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 66 , หน้าที่ 118.
(9)-ซับซีฮอ วะ มีเวฮ์ฮอเย ชะฟาบัคช์ , หน้าที่ 126.
(10)-ผลไม้ขนาดเล็กของต้นไม้จำพวก Cydonia oblonga คล้ายมะตูม
(11)-อัลคิซ้อล , เชคซุดูก , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 289.
ที่มา : หนังสืออิสลามกับการแพทย์ไม่พึ่งยา
แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth