เงื่อนไขในการถูกยอมรับของอะมั้ล (การกระทำความดี)
การกระทำความดีใดๆ ก็ตามจะต้องนำหน้าด้วยตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า)
เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
إِنَّمَا یَتَقَبَّلُ اللّهُ مِنَ الْمُتَّقِینَ
“แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงยอมรับจากบรรดาผู้มีความยำเกรงเท่านั้น” (1)
คำว่า “ตักวา” นั้นมาจากรากศัพท์ว่า “วิกอยะฮ์” ซึ่งหมายถึง “การปกป้องตน” คือการดำรงตนอยู่ในสภาพหนึ่งที่สามารถดูแลและปกป้องคุ้มครองตนเองได้ คำว่า “ตักวา” หรือความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ก็คือการปกปักษ์รักษาและการคุ้มครองตนเองจากความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้าเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นว่า หากท่านทั้งหลายเป็นผู้มีตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) อย่างแท้จริงแล้ว ผลสองประการจะบังเกิดขึ้นกับพวกท่าน
ผลประการหนึ่งก็คือ การคลี่คลาย ความกว้างขวางและทางออกในกิจการงานต่างๆ จะบังเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการส่งผลกระทบทางจิตวิญญาณของการมีความตักวาดังกล่าว คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
وَمَن يَتَّقِ اللَّهَ يَجْعَل لَّهُ مَخْرَجًا وَيَرْزُقْهُ مِنْ حَيْثُ لَا يَحْتَسِبُ وَمَن يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ إِنَّ اللَّهَ بَالِغُ أَمْرِهِ قَدْ جَعَلَ اللَّهُ لِكُلِّ شَيْءٍ قَدْرًا
“และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงประทานทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยดำรงชีพแก่เขา โดยที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายต่ออัลลอฮ์ พระองค์ก็ทรงเพียงพอแก่เขาแล้ว แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์ แน่นอนยิ่งอัลลอฮ์ทรงกำหนดขอบเขตไว้แล้วสำหรับทุกสิ่ง” (2)
وَمَنْ يَتَّقِ اللَّهَ يَجْعَلْ لَهُ مِنْ أَمْرِهِ يُسْرًا
“และผู้ใดยำเกรงต่ออัลลอฮ์ พระองค์จะทรงทำให้กิจการของเขาสะดวกง่ายดายสำหรับเขา” (3)
ผลประการที่สองของการมีตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) คือ จะเพิ่มพูนความรู้แจ้งและการมีญาณทิพย์ หากผู้ใดก็ตามเป็นผู้มีตักวา เขาจะมองและเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและแจ่มแจ้งมากขึ้น เนื่องจากตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) จะช่วยทำให้จิตใจและจิตวิญญาณของเขาเกิดความสะอาดบริสุทธิ์ ความมีตักวาจะช่วยขจัดความมืดมนต่างๆ และม่านปิดกั้นหัวใจที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ ทำความเข้าใจ และจำแนกแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ก็จะหมดไปจากเขา คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِن تَتَّقُوا اللَّهَ يَجْعَل لَّكُمْ فُرْقَانًا وَيُكَفِّرْ عَنكُمْ سَيِّئَاتِكُمْ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ۗ وَاللَّهُ ذُو الْفَضْلِ الْعَظِيمِ
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! หากพวกเจ้ายำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงประทานเครื่องจำแนก (ความจริงและความเท็จ) แก่พวกเจ้า และจะทรงลบล้างความผิดทั้งหลายของพวกเจ้าออกไปจากพวกเจ้า และจะทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์นั้นทรงไว้ซึ่งความกรุณาอันใหญ่หลวง” (4)
มนุษย์นั้นตราบที่ยังมีความอคติอยู่ในหัวใจต่อเรื่องใดๆ ก็ตาม เขาจะไม่สามารถรับรู้หรือยอมรับสิ่งนั้นได้ตามที่มันเป็นอยู่ ตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) จะช่วยชำระล้างฝุ่นและความมืดมนของความอคติออกไป หรือจะช่วยดับความโกรธแค้นและความเกลียดชังออกไปจากจิตใจของเรา และผลของมันก็คือ จะทำให้สติปัญญาของเราคิดใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ หลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ใฝ่ต่ำ
เมื่อมนุษย์ปฏิบัติอะมั้ลและความดีต่างๆ จำนวนมาก ก็จะหลงคิดว่าตัวเองนั้นจะต้องได้รับรางวัลตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหนังสือฮะดีษต่างๆ หรือในหนังสือดุอาอ์ ตัวอย่างเช่น หนังสือ “มะฟาตีฮุลญินาน” ได้เขียนว่า หากท่านนมาซ 2 ร่อกะอัต พระผู้เป็นเจ้าจะตอบแทนรางวัลเท่านั้นเท่านี้ และหากอ่านซิยาเราะฮ์หรือดุอาอ์บทนั้นบทนี้ พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบแทนรางวัลเท่านั้นเท่านี้ เราก็จะกล่าวกับตัวเองว่า ดังนั้นเราได้สะสมภาคผลและเสบียงไว้อย่างมากมายแล้วในปรโลก แต่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
إِنَّمَا یَتَقَبَّلُ اللّهُ مِنَ الْمُتَّقِینَ
“แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงยอมรับจากบรรดาผู้มีความยำเกรงเท่านั้น”
จริงอยู่ที่ว่า เราอาจจะทำอะมั้ลและความดีไว้อย่างมากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นจะถูกตอบรับหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่เงื่อนไขของมัน และเงื่อนไขของการตอบรับอะมั้ลก็คือความเป็นมุตตะกีย์ หรือการมีตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) หากเราเป็นมุตตะกีย์หรือมีตักวา พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยอมรับอะมั้ลของเรา แต่หากเราขาดตักวา อะมั้ลทั้งหมดของเราก็จะไม่ถูกยอมรับ ณ พระองค์ ดังนั้นจำเป็นที่เราจะต้องมีตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) เราจะต้องตรวจสอบตนเอง แก้ไขปรับปรุงตนเอง และยกระดับอีหม่าน (ความศรัทธา) และตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) อยู่ตลอดเวลา คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า
يَاأَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَلْتَنْظُرْ نَفْسٌ مَا قَدَّمَتْ لِغَدٍ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์ และแต่ละชีวิตจงพิจารณาดูเถิดว่า ได้เตรียมอะไรไว้บ้างแล้วสำหรับพรุ่งนี้ (ปรโลก) และจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (5)
ในโองการนี้ได้กล่าวย้ำเรื่อง “ตักวา” ไว้ถึง 2 ครั้ง บรรดานักวิชาการได้กล่าวว่า ตักวาแรกนั้นคือตักวาที่จะต้องมี นับตั้งแต่ก่อนการกระทำอะมั้ล (มุก็อดดิมะตุ้ลอะมัล) และเป็นเงื่อนไขของการถูกยอมรับของอะมั้ล และตักวาที่สองนั้นคือตักวาภายหลังจากการกระทำอะมั้ล และทุกๆ อะมั้ลที่กระทำโดยมีตักวานั้น จะเตรียมพร้อมและนำเราไปสู่การมีตักวาในระดับที่สูงกว่า ตักวาที่แท้จริงคือสิ่งเดียวที่จะช่วยทำให้มนุษย์รอดพ้น จะช่วยปลดปล่อยและทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง และยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اتَّقُواْ اللّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلاَ تَمُوتُنَّ إِلاَّ وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ
“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงยำเกรงอัลลอฮ์อย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาด นอกจากพวกเจ้าจะเป็นผู้ยอมสวามิภักดิ์เพียงเท่านั้น” (6)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์/อายะฮ์ที่ 27
(2) ซูเราะฮ์อัฏฏอลาก/อายะฮ์ที่ 2-3
(3) ซูเราะฮ์อัฏฏอลาก/อายะฮ์ที่ 4
(4) ซุเราะฮ์อัลอันฟาล/อายะฮ์ที่ 29
(5) ซูเราะฮ์อัลฮัชร์/อายะฮ์ที่ 18
(6) ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน/อายะฮ์ที่ 102
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน