มนุษย์เรามีหน้าที่อะไรบ้าง ตอนที่ 1
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกคนในสังคมจะต้องช่วยเหลือกันทำงาน เป็นเสมือนกิจกรรมแห่งชีวิต ซึ่งผลของการเพียรพยายามก็ คือ ผลประโยชน์ที่ได้รับร่วมกัน สังคมเปรียบเสมือนคนร่างใหญ่คนหนึ่ง
และสมาชิกแต่ละคนก็ คือ อวัยวะของร่างนั้นซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถ แต่มีความสอดคล้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน อวัยวะแต่ละส่วนจะให้ประโยชน์ต่อตัวเองและให้ความสมบูรณ์แก่อวัยวะส่วนอื่น ดังนั้น ถ้าอวัยวะส่วนใดของร่างกายไม่ทำงาน ก็จะส่งผลกระทบไปถึงอวัยวะส่วนอื่นทันที
หน้าที่ของบุคลากรในสังคมก็เหมือนกับอวัยวะของร่างกาย กล่าวคือ ขณะที่ทำประโยชน์ให้ตนเองก็ต้องให้ประโยชน์กับสังคมด้วย ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวเสมอว่า “มุสลิมเป็นพี่น้องกัน อยู่ในฐานะเรือนร่างเดียวกัน มีจิตใจและเป้าหมายเดียวกัน”
ท่านศาสดากล่าวอีกว่า “มุสลิม คือบุคคลที่ให้ความปลอดภัยกับคนอื่นทั้งวาจาและการกระทำ”
และกล่าวอีกว่า “ใครก็ตามที่ตื่นขึ้นมาในตอนเช้า แต่ไม่สนใจต่อภารกิจของมุสลิมคนอื่น เขาไม่ใช่มุสลิม”
1. ความยุติธรรม
อัล-กุรอานและรายงานจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวว่า “ ความยุติธรรมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ยุติธรรมกับตนเองและสังคม”
ความยุติธรรมกับตัวเอง หมายถึง การที่มนุษย์ไม่ทำบาป เช่น ไม่โกหก ไม่นิทาว่าร้าย ไม่ทำบาปใหญ่และบาปเล็ก ดังนั้น ใครก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าวถือว่าเป็นผู้มีความ ยุติธรรม และถ้าหากพิจารณาตามหลักการของอิสลามแล้ว คนที่มีความยุติธรรมสามารถเป็นผู้พิพากษา เป็นผู้ปกครอง เป็นผู้นำ เป็นผู้วินิจฉัยศาสนา และมีอาชีพอื่นๆ ทางสังคมได้
ความยุติธรรมกับสังคม หมายถึง การที่มนุษย์ได้เคารพในสิทธิของผู้อื่นและของสังคมโดยเสมอภาคกัน และ ณ กฎหมายของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีการเอาเปรียบและล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง อัลลอฮ์ ตรัสว่า “แท้จริง อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้มีความยุติธรรม” (อัล-กุรอาน บทอัน-นะหลิ โองการที 90)
ยังมิโองการและรายงานอีกจำนวนมาก ได้มีบัญชาให้มนุษย์มีความยุติธรรม ขณะเดียวกัน พระองค์ได้ทรงสาปแช่งผู้กดขี่และไร้ความยุติธรรม
จริยธรรมได้ให้ความหมายคำว่า “ยุติธรรม” หมาย ถึง การปฏิบัติตัวอยู่ในแนวทางสายกลางอันเป็นคุณสมบัติและความเคยชินของจิตใจ ซึ่งผู้ใดก็ตามที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เขาจะให้ความยุติธรรมกับตนเองและสังคมเสมอ
2. การพูดความจริง
คำพูด คือ สื่อในการสร้างความสัมพันธ์และการติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การพูดความจริงจึงถือว่าเป็นการปกป้องแก่นแท้ของความสัจจริงทั้งหลาย และถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นของสังคม หรืออาจกล่าวได้ว่า ความสมบูรณ์ของสังคมขึ้นอยู่กับการพูดความจริง ดังนั้น การพูดความจริงจึงมีคุณประโยชน์นานัปการ เช่น
1- การพูดความจริง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กันและกัน และทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากคำพูดของตน
2- การพูดความจริง เป็นเหตุทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง และไม่ต้องเดือดร้อนเพราะการพูดปด
3- คนที่พูดจริงเท่านั้นมีความซื่อสัตย์ และไม่บิดพลิ้วสัญญา เพราะคนที่มีความสัจจริงจะแสดงออกทั้งการกระทำและคำพูด
4- การพูดความจริง เป็นสื่อช่วยป้องกันและขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดไป เพราะส่วนมากของความขัดแย้งเกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายปฏิเสธความจริง
5- ข้อบกพร่องและความเสื่อมเสียที่ร้ายแรงทีสุดที่มีต่อจริยธรรม และการกระทำที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่พูดความจริง
ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “มุสลิมที่แท้จริง คือ ผู้พูดความจริงแม้ว่ามันจะขมขื่น และความจริงจะสร้างความเสียหายให้กับตนก็ตาม ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้จิตใจเป็นสุข”
3. การพูดโกหก
เมื่อเข้าใจว่าการพูดความจริงคืออะไร การพูดปดก็จะปรากฏชัดเจนขึ้นมาเอง ซึ่งถือว่าการพูดปดนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจของสังคม ส่วนคนพูดปดคือฆาตกรที่น่ากลัวที่มุ่งหวังแต่ทำลายล้างสังคม เพราะคำพูดปดถ้าจะเปรียบแล้วเหมือนกับวัตถุดิบ หรือสารเคมีประเภททำลาย ที่มักทำลายและสึกร่อนพลังแห่งการนึกคิดและสติปัญญาของสังคม อีกมุมหนึ่ง คำพูดปดไม่แตกต่างอะไรไปจากสุราที่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วเมาไม่ได้สติ ไม่สามารถจำแนกได้ว่าสิ่งดีและไม่ดีคืออะไร
ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงถือว่าการพูดปดมดเท็จเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นบาปใหญ่ และถือว่าคนพูดปดเป็นคนที่ไม่มีศาสนา ซึ่งพวกเขาต้องได้รับโทษทัณฑ์อันแสนสาหัสจากพระผู้เป็นเจ้า การพูดปดมดเท็จเป็นการกระทำที่ขัดต่อบัญญัติอิสลามและจริยธรรม
ท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า “มีคนอยู่สามกลุ่มถึงแม้ว่าเขาจะดำรงนมาซและถือศีลอด แต่ยังถือว่าเป็นพวก พวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) อยู่ดีได้แก่ ผู้พูดปดมดเท็จ ผู้บิดพลิ้วสัญญา และผู้ที่ไม่รักษาอะมานะฮ (ของที่ฝากไว้) “
ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “คนที่ได้ลิ้มรสที่แท้จริงของความศรัทธา คือคนที่ละเว้นการพูดปดแม้ว่าจะล้อเล่นก็ตาม”
โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัลบะลาเฆาะฮ์