มะอาด (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) รากสำคัญที่ห้าของศาสนาอิสลามคือ วันแห่งการฟื้นคืนชีพ หรือวันแห่งการตัดสิน อ้นเป็นความเชื่อสามัญของบรรดามุสลิมว่า วันหนึ่งพระองค์อัลลอฮฺ จะทรงชุบชีวิตให้แด่มนุษย์ทั้งมวลเพื่อการตัดสิน พวกเขาจะถูกตัดสินสอดคล้องกับความเชื่อและการกระทำทั้งหลายของเขา บุคคลซึ่งมีความเชื่อถูกต้องพร้อมกับการกระทำทั้งมวลของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ะขาผู้นั้นจะได้รับความโปรดปรานและความกรุณาปรานีแห่งเอกองค์อัลลอฮฺ เพื่อพำนักในสรวงสวรรค์ และ ณ ที่นั้นเขาจะประสบกับความสุขเกษมตามคุณลักษณะแห่งดวงวิญญาณของเขา ส่วนบุคคลผู้ซึ่งมีเชื่อในแนวทางที่ผิด เขาผู้นั้นจะถูกลงโทษอยู่ในไฟนรก บุคคลผู้มีความเชื่อในแนวทางที่ถูกต้องแต่การกระทำของเขาอยู่พื้นฐานแห่งการกระทำผิด เขาจุถูกลงโทษก่อนในนรกและหลังจากนั้นจึงจะถูกส่งในพำนักในสรวงสวรรค์อันปิติสุข ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของการะกระทำผิดของเขาว่าร้ายแรงเพียงใด
มะอาดเป็นหนึ่งจากหลักการศรัทธาที่สำคัญของศาสนาอิสลาม และถือเป็นความจำเป็นของศาสนา โดยสัญชาติญาณแล้วมนุษย์ทุกคนสามารถจำแนกความดีออกจากความชั่วได้ทุกคน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ประพฤติดีก็ตาม แต่ก็รู้ว่าการทำความดีเป็นสิ่งจำเป็นและแม้ว่าการทำดีนั้นจะส่งผลเสียต่อตนเองก็ตาม ส่วนการทำชั่วโดยจิตใต้สำนึกแล้วรู้ว่าต้องหลีกเลี่ยงและไม่สงสัยเลยว่า ความดีกับความเลวหรือการทำความดีกับทำความชั่วนั้นแตกต่างกันตรงผลตอบแทน และเพราะผลตอนแทนนั้นเองที่ทำให้ทั้งสองการกระทำแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่สงสัยอีกเช่นกันว่า ต้องมีวันหนึ่งที่เป็นวันแห่งการตอบแทนผลของการทำความดีและความชั่ว เพราะคนทำความดีตั้งมากมายที่วันและเวลาของเขาผ่านไปอย่างยากลำบาก และในบางครั้งแสนจะขมขื่นเสียด้วยซ้ำ ส่วนคนที่ก่อกรรมทำเข็ญไว้และประชาชนกร่นดากันทั้งเมืองว่ามันตายเสียได้เมื่อไหร่แหละดี แผ่นดินจะได้สูงขึ้นกับมีชีวิตอย่างสุขสบายบนความทุกข์ของผู้อื่น ฉะนั้นถ้าไม่มีวันแห่งการตอบแทนจะมีความยุติธรรมได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากไม่มีวันอื่นอีกแล้วนอกจากวันบนโลกนี้เท่านั้นที่จะคอยตรวจสอบการกระทำเพื่อตอบแทนหรือลงโทษไปตามความเหมาะสมและความคิดที่ว่า (ความดีต้องปฏิบัติและความชั่วต้องหลีกเลี่ยง) แม้ว่ามันจะมีไม่มากนัก แต่ในที่สุดแล้ว สัญชาติญาณของมนุษย์ก็จะห้ามปรามเขาไม่ให้ทำความชั่วอย่างแน่นอน
มนุษย์จะต้องไม่คิดอย่างเด็ดขาดว่า เพราะรางวัลตอบแทนนั้นเอง ฉันจึงทำความดี ซึ่งในความเป็นจริงการทำความดีคือการสร้างระบบและระเบียบให้กับสังคม ทำให้มนุษย์มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี และในบั้นปลายมนุษย์เองคือผู้ได้รับประโยชน์ ในทำนองเดียวกัน การทำความชั่วและมีพฤติกรรมที่ไม่ดี มันจะเป็นสาเหตุทำให้สังคมพบกับความล้าหลังและอ่อนแอ และในที่สุด เขาเองคือผู้ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัตินั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การทำความชั่วนั้น ไม่ว่าใครก็จะเป็นผู้กระทำก็ตาม จะเป็นคนพิการหรือคนที่สมบูรณ์แข็งแรง ล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้นเพราะถือว่าเป็นการแพร่พันธ์ความชั่ว และยิ่งความชั่วในสังคมเติบโตมากเท่าใด ประชาชนก็จะพบกับความลำบากมากเท่านั้น เพราะระบบของสังคมสูญเสียไป คนในสังคมจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ
เช่นเดียวกันจะต้องไม่คิดว่าเพราะความสำเร็จของชีวิตที่สั้นนิดเดียวนี้เราจึงต้องถนอมมัน ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วชื่อเสียงก็จะเสื่อมเสีย สังคมจะรังเกียจและจะถูกประชาชนกร่นด่าไปทั้งเมือง ซึ่งการกร่นดาก็เท่ากับเป็นการทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูลและเกียรติยศของตนเองให้สูญเสียไป ดังนั้น มันไม่สมเหตุสมผลที่คนทำความดีเพราะหวังคำชมเชย และคนไม่ทำความผิดเพราะเกรงกลัวต่อคำประณาม แน่นอนถ้าไม่มีวันแห่งการฟื้นคืนเพื่อการตัดสิน (มะอาด) แล้ว ความเชื่อเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่หลงทางและเบี่ยงเบนไปจากความจริง
สำหรับมุสลิมแล้วไม่เคยสงสัยต่อความเชื่อเหล่านี้ เพราะอิสลามสอนอยู่เสมอว่า มนุษย์ต้องฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้ว เพื่อทำการตรวจสอบการกระทำของเขาที่ได้กระทำไว้บนโลกมนุษย์ ถ้าหากเป็นความดีพระองค์จะตอบแทนผลรางวัลแก่เขา แต่ถ้าเป็นความชั่วเขาก็จะถูกลงโทษตามความเหมาะสมของกรรมที่ก่อเอาไว้ ซึ่งวันที่พิจารณาการกระทำองมนุษย์นี้เรียกว่า วันแห่งการฟื้นคืนชีพ หรือ มะอาด นั่นเอง
มะอาด ศาสนาและประชาชาติ ศาสนาทั้งหลายที่เชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า สนับสนุนในคุณงามความดีและห้ามปรามความชั่วทั้งหลาย ได้สอนให้มนุษย์รู้จักวันฟื้นคืนชีพภายหลังจากความตาย แน่นอนไม่มีใครสงสัยเลยว่าความดีที่ดีที่สุด คือความดีที่มีรางวัลที่ดีรอคอยอยู่ เมื่อรางวัลนั้นไม่อาจตอบแทนให้บนโลกนี้ได้ ก็ต้องมีวันหนึ่งที่เป็นวันตอบแทน ซึ่งวันนั้นคือวันฟื้นคืนชีพ (มะอาด)
มะอาดได้ถูกแนะนำให้รู้จักโดยคำสอนของศาสนาต่าง ๆ แต่ศาสนาเหล่านั้นมิได้กำหนดว่า มะอาดต้องเป็นหลักการของศาสนา และต้องเชื่อไปตามนั้น ต่างไปจากคำสอนของอิสลามที่กำหนดว่ามะอาดเป็นหลักความเชื่อของศาสนา เพราะอิสลามเชื่อมั่นว่าที่สุดของการกระทำคือการตอบแทน มิเช่นนั้นจะหาความยุติธรรมไม่ได้
ในบรรดาศาสนาแห่งฟากฟ้าหมายถึง ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวต่างยอมรับความจริงที่ว่า ความตายไม่อาจทำให้มนุษย์สูญสิ้นไปได้ ทว่ามันเป็นเพียงการเปลี่ยนสถานที่อยู่จากโลกหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งเท่านั้น และในโลกนั้นจะมีการตอบแทนผลรางวัลต่อการกระทำความดี และลงโทษผู้กระทำความผิด
ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและลูกหลาน) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อคนหนึ่งได้ผ่านโลกแห่งมายาและหลอกลวงไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เป็นนิรันดร การกระทำทุกอย่างของเขาที่กระทำไว้บนโลกจะถูกสอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้นจงเตรียมพร้อมตัวเองเพื่อการเดินทางที่เป็นอมตะและสัจจริงยิ่ง”
“โอ้พระผู้อภิบาลของพวกเรา พระองค์มิได้ทรงสร้างสิ่งนี้มาอย่างไร้สาระ มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ โปรดทรงคุ้มครองพวกเราให้พ้นจากการลงโทษในไฟนรกด้วยเถิด” (อัล-กุรอาน บท อาลิอิมรอน โองการที่ 191)
เหตุผลของการมีมะอาด 1. วิทยปัญญาและความยุติธรรมของพระองค์
การฟื้นคืนชีพเป็นความเชื่อที่ศาสนาทั้งหลายต่างยอมรับ บรรดาศาสดา (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน) ได้เตือนประชาชนให้พึงระวังว่า การฟื้นคืนชีพไม่ใช่เรื่องของการเชื่อตามเพียงอย่างเดียว ทว่าสติปัญญาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยปัญญา ความยุติธรรมและความรักของพระผู้เป็นเจ้าทำให้เชื่อมั่นไม่สงสัยว่า การฟื้นคืนชีพเป็นความจริงแน่นอน
วิทยปัญญา กล่าวว่า จะไม่มีผู้ประกอบความดีคนใดที่จะไม่ได้รับรางวัลตอบแทน และจะไม่มีผู้กระทำความผิดคนใดไม่ถูกลงโทษ ผู้ที่กดขี่คนอื่นเขาจะได้รับการกดขี่นั้นทว่าหนักยิ่งกว่า และเมื่อพิจารณาดูโลกนี้จะเห็นว่าผลรางวัลและการลงโทษนั้นไม่สมบูรณ์ บรรดาผู้ที่กระทำความดียังไม่ได้รับผลตอบแทนที่สมบูรณ์เขาก็ได้ตายจากโลกนี้ไป ส่วนพวกที่ประกอบกรรมชั่ว พวกกดขี่ พวกที่ก่อการเสียหายบนหน้าแผ่นดิน พวกที่ดำรงชีวิตบนโลกอย่างไร้สาระยังมิได้รับผลกรรมของตน ตลอดจนบรรดาพวกที่ถูกกดขี่ยังมิได้ทวงสิทธิของตน
ด้วยเหตุนี้ถ้าทุกอย่างจบลงเพียงแค่โลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีวันแห่งการฟื้นคืนชีพถามว่าความยุติธรรม วิทยปัญญา และความรักความเมตตาที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้าจะเป็นเช่นไร
เราสามารถพูดได้อย่างไรว่าพระผู้สร้างทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ และทรงเมตตา ผู้ทรงสร้างโลกนี้ขึ้นมาโดยที่พระองค์ไม่ทรงสามารถจัดการกับพวกที่กดขี่ และประกอบกรรมชั่วทั้งหลายได้
พระองค์ไม่ทรงปรารถนาสิ่งใดจากมนุษย์ เป้าหมายในการสร้างมนุษย์เพื่อการอบรมสั่งสอนและเพื่อให้มนุษย์บังเกิดขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์ ดังนั้น ทุกอย่างจะจบสิ้นเพียงโลกนี้กระนั้นหรือ การมีอยู่ของมนุษย์ก่อนที่จะนำมาสู่โลกนี้พระองค์ทรงทราบดีว่ามนุษย์นั้นไม่สมบูรณ์ แล้วพระองค์จะปล่อยให้มนุษย์อยู่ในสภาพเช่นนั้นได้อย่างไร
เป็นความจำเป็นสำหรับพระองค์ที่ต้องตัดสินและกระทำทุกอย่างบนพื้นฐานความเมตตาของพระองค์
อัล-กุรอาน กล่าวว่า บรรดาผู้ที่กระทำความชั่ว คิดหรือว่าเราจะปฏิบัติกับพวกเขาเช่นเดียวกันกับบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายที่กระทำความดี การมีชีวิตและความตายของพวกเขาเท่าเทียมกับผู้ศรัทธากระนั้นหรือ พวกเขาตัดสินได้อย่างเลวร้ายยิ่ง อัลลอฮฺทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินด้วยความสัจจริง เพื่อให้ทุก ๆ ชีวิตได้รับการตอบแทนตามที่ตนได้ขวนขวายเอาไว้ และพวกเขาจะไม่ถูกอธรรม (อัล-กุรอาน บท ญาซียะฮฺ โองการที่ 21 – 22)
ขณะเดียวกันบนโลกที่มีความจำกัดเช่นนี้ ไม่สามารถตอบแทนผลการกระทำที่สมบูรณ์แก่ผู้กระทำได้ ตัวอย่างเช่น ท่านได้ฆ่าคนตายในเวลาเดียวกันจำนวนหลายพันคน และท่านถูกตัดสินประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน หนึ่งชีวิตของท่านไม่สามารถทดแทนหนึ่งพันกว่าชีวิตได้อย่างแน่นอน ดังนั้นผลตอบแทนการกระทำที่สมบูรณ์ของเขาต้องกระทำในโลกหน้าอันเป็นโลกนิรันดร มิเช่นนั้นแล้วความยุติธรรมจะไม่มีความหมายอันใดทั้งสิ้น
2. การลงโทษการกระทำความผิด
บนโลกนี้มนุษย์ได้ยินและประจักษ์ชัดสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของตนเองมากมาย อาทิเช่นคนที่กดขี่บิดามารดาของตน หรือปฏิบัติไม่ดีกับท่านทั้งสองเขาได้ประสบกับเคราะห์กรรมอย่างทันตาเห็นบนโลกนี้และชีวิตของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ปฏิบัติดีกับท่านทั้งสองเขาจะได้รับรางวัลตอบแทน ส่วนผู้ที่โกงกินสิทธิของเด็กกำพร้า เขาจะได้รับผลกรรมชั่วบนโลกนี้เช่นกัน
อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคนที่โกงกินสิทธิ กดขี่ และสร้างความหวาดกลัวแก่เด็กกำพร้าไว้ว่า
และบรรดาผู้ซึ่งหากพวกเขาได้ละทิ้งลูกหลานที่ไร้ความสามารถไว้เบื้องหลังพวกเขา พวกเขาจงกลัว (อันตรายจากการลงโทษ การกดขี่ที่จะเกิดขึ้นแก่ลูกหลานของพวกเขา) พวกเขาจงสำรวมตน ณ อัลลอฮฺเถิด และจงพูดด้วยคำพูดที่หนักแน่น (อัล-กุรอานบท นิซาอ์ โองการที่ 9)
ท่านอิมามซอดิก (ขอสันติพึงมีแด่ท่าน) กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงลงโทษผู้ที่โกงกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าสองเท่า ครั้งหนึ่งคือการลงโทษบนหน้าแผ่นดิน ส่วนอีกครั้งคือการตอบแทนในโลกหน้า (นูรุซซเกาะลัยน์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 370)
ในบางครั้งจะพบเห็นผู้ที่มีชีวิตตกระกำลำบากนั่นเป็นเพราะว่าผลแห่งการกระทำความผิดที่เขาได้กระทำไว้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั่นคือผลของการกระทำความผิดบนหน้าแผ่นดิน ที่พระองค์ทรงเตือนเขาให้จดจำ เพื่อว่าจะได้ไม่กระทำความผิดซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง อัล-กุรอาน กล่าวว่า
ดังนั้นบรรดาผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาสดา จงระวังตัวเถิดจากเคราะห์กรรม หรือว่าการลงโทษอันแสนสาหัสที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา (อัล-กุรอาน บทนูรฺ โองการที่ 63)
การลงโทษเหล่านี้เป็นสักขีพยานที่ชัดเจนว่าพระองค์อัลลอฮฺ ทรงยุติธรรม ทรงเมตตา และไม่ทรงยินดีกับผู้ที่กดขี่ พระองค์ต้องลงโทษพวกเขาอย่างแน่นอนในโลกหน้า ดังนั้น การลงโทษบนหน้าแผ่นดินเป็นแบบอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการลงโทษที่สมบูรณ์ในโลกหน้า และผู้ใดก็ตามที่เข้าใจการลงโทษบนโลกนี้เขาจะไม่ยอมปล่อยตัวเองให้โดนลงโทษถาวรแน่นอน เพราะว่า ณ ที่นั้นจะมีการสอบสวนอย่างละเอียดพร้อมกับการลงโทษอันแสนสาหัส
อัล-กุรอานหลายร้อยโองการได้กล่าวแนะนำให้มนุษย์รู้จักวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) และปฏิเสธความสงสัยที่อาจจะมีขึ้นอย่างสิ้นเชิง ความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ อัล-กุรอานได้กล่าวถึงการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลายว่า พระองค์ได้สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาอย่างไร เพื่อมนุษย์จะได้ไม่สงสัยว่าพระองค์จะทำให้เขาฟื้นคืนชีพได้อย่างไร อัล-กุรอาน กล่าวว่า
มนุษย์มิได้พิจารณาดูดอกหรือว่า เราได้บังเกิดเขามาจากน้ำอสุจิ แล้วจงดูซิ แต่เขากลับโต้เถียงอย่างชัดเจน และเขาได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบแก่เรา เขาได้ลืมต้นกำเนิดที่แท้จริงของเขา เขากล่าวว่า “ใครเล่าจะให้กระดูกมีชีวิตขึ้นมาอีกในเมื่อมันเป็นผุยผงไปแล้ว จงกล่าวเถิด พระผู้ทรงให้กำเนิดมันครั้งแรกนั้น ย่อมจะทรงให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีก และพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้เสมอกับทุก ๆ สิ่งที่บันดาลมา (อัล-ุรอาน บทยาซีน โองการที่ 77 – 79)
ในบางครั้ง อัลกุรอานได้แนะนำให้มนุษย์ดูพื้นดินที่แห้งแล้งแตกระแหงว่า มันกลับชุ่มชื่นขึ้นมามีชีวิตชีวาอีกครั้งได้อย่างไร เช่น กล่าวว่า "และบางสัญลักษณ์ของพระองค์ คือการที่เจ้ามองเห็นแผ่นดินที่มีแต่ความแห้งแล้งกันดาร ต่อเมื่อเราได้หลั่งน้ำฝนลงมา มันก็ได้เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นดินที่เขียวขจีและมีความอุดมสมบูรณ์ และพระผู้ทรงชุบชีวิตแก่พื้นดินนั่นแหละที่เป็นผู้ชุบชีวิตแก่ผู้ตาย แท้จริงพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง
บางครั้ง อัล-กุรอานได้สอนให้มนุษย์เป็นผู้คิดในสิ่งที่พระองค์เสนอมา เพื่อมนุษย์จะได้เปิดใจและยอมรับในสัจธรรมนั้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า
เราไม่ได้สร้างท้องฟ้าและแผ่นดินและรวมทั้งสรรพสิ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสองขึ้นมาอย่างไร้จุดหมาย นั่นเป็นการคาดเดาของพวกปฏิเสธทั้งหลาย ดังนั้น ความหายนะจากการลงโทษในไฟนรกจงประสบแก่พวกปฏิเสธทั้งปวง หรือว่าเราจะทำให้ผู้ศรัทธาและประพฤติความดีงามเหมือนกับผู้ประพฤติชั่วและสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน หรือว่าจะทำให้ผู้ยำเกรงเหมือนกับบรรดาผู้ชั่วช้ากระนั้นหรือ (อัล-กุรอาน บท ซ็อด 28)
สมมติว่า พระองค์ได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาอย่างไร้จุดหมายให้มีชีวิตอยู่สักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำให้ตายและทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมายอันใด การทำเช่นนี้จะมีประโยชน์อันใด และสมควรแล้วหรือที่พระผู้อภิบาลจะทรงกระทำเช่นนี้ แน่นอน สิ่งที่ไร้สาระย่อมไม่ออกมาจากพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงไว้ซึ่งความดีงามและยุติธรรมเสมอ
ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ย่อมยืนยันให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีวันแห่งการพิจารณาการกระทำของมนุษย์ เพราะโลกนี้เพียงอย่างเดียว มนุษย์ไม่อาจรับผลตอบแทนที่สมบูรณ์ได้ และถ้าไม่มีวันนั้นหรือไม่มีอีกโลกหนึ่งเพื่อตอบแทน หรือลงโทษโดยที่คนดีกับคนชั่วก็ไม่แตกต่างกันแล้ว ถามว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน และมนุษย์จะเรียกร้องความยุติธรรมได้จากใคร ยุติธรรมแล้วหรือที่ผู้ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน บรรดาผู้กดขี่ทั้งหลายต่างลอยนวลอยู่อย่างสุขสบายไม่มีผู้ใดกล้าลงโทษพวกเขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้น การทำความดีจะมีประโยชน์อันใดอีกต่อไป
อิสลามสอนว่า มนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างที่ประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ ร่างกายของมนุษย์เป็นเสมือนสสารทั่ว ๆ ไปที่มีการดับสิ้น มีการเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา ร่างกายมนุษย์มีการเจริญเติบโตโดยอาศัยสถานที่และเวลา เป็นอินทรีย์ญาณที่รับรู้ความร้อน ความหนาวเย็น ความเจ็บปวด แก่ชราไปตามสภาพ และวันหนึ่งเมื่อถึงกาลเวลาโดยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า อายุขัยของเขาต้องดับสลายและสึกกร่อน เนื่องจากร่างกายเป็นเสมือนวัตถุที่ต้องอิงอาศัยเวลา และสถานที่
ขณะที่วิญญาณ ซึ่งเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของมนุษย์ มิได้เป็นเหมือนวัตถุหรือสสารและไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นเช่นนั้นได้ วิญญาณถูกประกอบขึ้นจากความรู้ ชีวิต และอำนาจ และคุณลักษณะของวิญญาณ คือมีความรู้สึก ความคิด ความต้องการ เมตตา อคติ ความสุข เศร้า ความหวัง และสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ดังที่กล่าวไปแล้วว่าวิญญาณไม่ใช่ทั้งวัตถุหรือสสาร ดังนั้น วิญญาณจึงไม่มีรูปพรรณสัณฐานและไม่ต้องการกาลเวลา และสถานที่ วิญญาณมีกลไกอื่นทำหน้าที่แทน เช่น สมอง จิตใจ และอวัยวะต่าง ๆ บนร่างกาย ซึ่งอวัยวะเหล่านี้จะรับรำสั่งมาจากวิญญาณและปฏิบัติไปตามนั้น ด้วยเหตุนี้ อวัยวะต่าง ๆ บนร่างกายจึงไม่มีโอกาสเป็นผู้ออกคำสั่ง อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า
แน่นอนเราได้บันดาลมนุษย์มาจากธาตุเดิม คือดิน หลังจากนั้นเราได้บันดาลเขาให้เป็นน้ำอสุจิ และพำนักเขาไว้ในสถานที่มั่นคงปลอดภัย (มดลูก) หลังจากนั้นเราได้บันดาลอสุจิให้เป็นก้อนเลือด แล้วบันดาลก้อนเลือดให้เป็นก้อนเนื้อ และบันดาลก้อนเนื้อให้เป็นกระดูก และเราได้ห่อหุ้มกระดูกนั้นด้วยเนื้ออีกทีหนึ่ง (สร้างเป็นรูปพรรณสัณฐาน) หลังจากนั้นเราไปบังเกิดสิ่งอื่นที่ไม่เคยมีมาก่อนแก่เขา
อิสลามจึงสอนว่าความตายไม่ใช่การสูญสลาย หรือสิ้นสุดของสิ่งนั้นแต่หมายถึงการตัดขาดการติดต่อระหว่างร่างกายกับวิญญาณ เฉพาะร่างกายเท่านั้นที่เน่าเปื่อยผุสลาย ส่วนวิญญาณยังคงสภาพเดิมและดำเนินต่อไปอย่างไร้สังขารในอีกมิติหนึ่ง อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า
และพวกปฏิเสธวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) ได้พูดว่า เมื่อร่างกายของเราเน่าเปื่อยหายไปจนหมดสิ้นแล้ว พวกเรายังจะเกิดใหม่อีกกระนั้นหรือ จงบอกกับพวกเขาไปซิว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปลิดดวงวิญญาณ(มะละกุลเมาต) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ถอดวิญญาณของเจ้า (ดังนั้น มันจึงไม่สูญสลาย) หลังจากนั้นจะกลับคืนไปสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้า
ท่านศาสดามุฮมัมัด (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าว่า พวกเจ้าจะไม่ตาย เพียงแต่ได้เปลี่ยนทีอยู่อาศัยจากบ้านหลังหนึ่งไปยังบ้านอีกหลังหนึ่งเท่านั้น
source : alhassanain