ความแตกต่างของการกระทำสองประการ
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
شَتَّانَ مَا بَيْنَ عَمَلَيْنِ: عَمَلٍ تَذْهَبُ لَذَّتُهُ وَتَبْقَى تَبِعَتُهُ، وَعَمَلٍ تَذْهَبُ مَؤُونَتُهُ وَيَبْقَى أَجْرُهُ
“ช่างแตกต่างกันเสียนี่กระไรระหว่างการกระทำสองอย่าง คือ การกระทำที่ความหวานชื่นของมันหมดไปเหลือไว้แต่เพียงผลพวงของความทุกข์ยาก ของมัน และการกระทำที่ความเหนื่อยยากของมันหมดไปเหลือไว้แต่เพียงผลรางวัลตอบแทนของ มัน” (1)
คำอธิบาย :
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาในสภาพที่มีอิสระและมีเจตจำนงเสรี ทรงมอบสติปัญญาและสามัญสำนึกให้แก่เขา เพื่อที่เขาจะเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเสรี ด้วยกับเจตจำนงและการเลือกของเขา เขาจะกระทำทุกสิ่งได้ตามที่ใจตนเองปรารถนา
แต่ทว่าในปรโลก ใครก็ตามที่กระทำความดี เขาจะได้รับผลรางวัลของมัน และใครก็ตามที่ประกอบความชั่ว เขาก็จะได้รับผลตอบแทนและโทษทัณฑ์ของมัน
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เตือนให้มุสลิมได้รับรู้ว่า ระหว่างการกระทำสองอย่างนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก อย่าได้ถูกหลอกลวงโดยรูปลักษณ์ภายนอกของมัน กล่าวคือ เราจะต้องรู้ว่า การกระทำที่ดีและเลวนั้นมันจะผ่านไปและจบสิ้นลงอย่างรวดเร็ว ทว่าผลลัพธ์และผลพวงต่างๆ ของมันจะไม่สิ้นสายไป แต่จะคงอยู่ในบันทึกแห่งการกระทำของมนุษย์
บ่อยครั้งที่เราอาจจะเคยเห็นตัวอย่างต่างๆ ของการกระทำทั้งสองแบบนี้ ในหมู่มิตรสหาย เพื่อนร่วมชั้นและคนรอบตัวของเธอ
ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่งแทนที่เขาจะเรียนหนังสือและทุ่มเทความพยายามในเรื่องนี้ เขากลับทำลายเวลาของตนเองไปด้วยการเล่น การเที่ยวเตร่และความสนุกสนานที่ไร้สาระ การละเล่นและการเที่ยวเตร่ทั้งหมดเหล่านั้นของเขา คือสิ่งที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ความสนุกสนานรื่นเริงของเขาก็จะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว แต่ผลของความสุขสนานชั่วครู่ชั่วยามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ถูกปฏิเสธ เขาได้ทำลายช่วงเวลาหนึ่งแห่งอายุขัยของตนเองลงไป ซึ่งจวบจนสิ้นอายุขัย เขาไม่อาจที่จะเรียกเวลาหนึ่งปีนั้นกลับคืนมาได้อีกเลย
ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่งที่เขาอดทนต่อความเหนื่อยยากในการศึกษาเล่าเรียน ความเหน็ดเหนื่อยและความเหนื่อยยากของเขาจะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว แต่ผลตอบแทนของความเหนื่อยยากของเขา คือการศึกษาเล่าเรียนและการเลื่อนชั้นเรียนไปสู่ระดับที่สูงกว่าและความก้าว หน้าที่จะเกิดขึ้นกับตัวเขา มันคือผลติดตามมาที่ดีงามและก่อให้เกิดความหวานชื่น ซึ่งมันจะคงคู่อยู่กับชีวิตของเขาตลอดไป
จากตัวอย่างง่ายๆ นี้ เราสามารถจะสรุปได้ว่า การทำความชั่วก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีความสุข แต่ความสุขของมันเป็นเพียงชั่วแล่น แต่ผลพวงต่างๆ ของมันคือโทษทัณฑ์ที่จะติดตามมานั้น จะยังคงอยู่ ณ พระผู้เป็นเจ้าและในปรโลก มันจะประสบกับผู้ที่กระทำชั่วนั้น ตัวอย่างเช่น คนที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันจำเริญ แต่กลับบรรจุท้องของเขาด้วยอาหาร ความเอร็ดอร่อยที่เขาได้รับจากการกินและการดื่ม เป็นความเอร็ดอร่อยเพียงชั่วครู่ชั่วยาม กล่าวคือมันจะจบสิ้นลงด้วยการเก็บสำรับอาหารและไม่หลงเหลืออะไรอีกต่อไป แต่ผลพวงของการละเมิดคำสั่งนี้จะคงอยู่จนกระทั่งถึงปรโลก พระผู้เป็นเจ้าจะลงโทษผู้ละทิ้งการถือศีลอดเนื่องจากการละเมิดฝ่าฝืนของเขา
แต่สำหรับผู้ที่ถือศีลอดนั้น เขาจะอดทนต่อความทุกข์ยากของความหิวและความกระหายเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ด้วยกับการมาถึงของยามค่ำ ความทุกข์ยากชั่วครู่ชั่วยามของวันนั้นก็จบสิ้นลง
หากเราคิดใคร่ครวญให้ดี เธอจะเห็นว่าการกระทำทั้งมวลก็เป็นสิ่งที่เหมือนกันนี้ กล่าวคือความสุขทั้งมวลของมันเป็นเพียงสิ่งชั่วแล่น และความเหนื่อยยากทั้งมวลของมันก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไปคือผลของการกระทำและพฤติกรรมของมนุษย์ แต่จากผลของการกระทำและพฤติกรรมของมนุษย์ หากเขาทำความชั่วโดยมุ่งหวังในความสุขต่างๆ ชั่วแล่น เขาจะถูกตอบแทนด้วยโทษทัณฑ์ และหากเขาอดทนต่อความทุกข์ยากและความเหนื่อยยากชั่วครู่ชั่วยามในหนทางของ การเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า เขาก็จะได้รับผลรางวัลและสิ่งตอบแทน
เชิงอรรถ :
1- นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ที่ 121
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
source : alhassanain