กัรบะลา ในริวายะฮ์ (คำกล่าว)ของท่านศาสดามุฮัมมัด
คำว่า “กัรบาลา” ชาวอาหรับในอดีตมิเคยได้ยินมาก่อน แต่ชื่อนี้มาจากลิซานุลเฆบ(ถ้อยคำแห่งฟากฟ้า) ชาวอาหรับได้ยินชื่อนี้เป็นครั้งแรก คือ
สะอีด บินญุฮ์มานได้เล่าว่า :
إِنَّ جَبْرَئِيلَ أَتَى النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ واَلِهِ وَسَلَّمَ بِتُراَبٍ مِنْ تُرْبَةِ الْقَرْيَةِ الَّتِيْ يُقْتَلُ فِيْهاَ الْحُسَيْنُ , وَ قِيْلَ : اُسْمُهاَ كَرْبَلاَءُ
แท้จริง ท่านญิบรออีลได้มาหาท่านนบี(ศ)พร้อมด้วยกับดินก้อนจากตำบลแห่งหนึ่ง ซึ่งฮุเซนจะถูกสังหารในที่นั้น และถูกเรียกชื่อว่า กัรบาลา (1)
ท่านอะนัส บินมาลิก เล่าว่า
أَنَّ مَلَكَ الْمَطَرِ اسْتَأْذَنَ رَبَّهُ أَنْ يَأْتِيَ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَذِنَ لَهُ فَقَالَ لِأُمِّ سَلَمَةَ امْلِكِي عَلَيْنَا الْبَابَ لَا يَدْخُلْ عَلَيْنَا أَحَدٌ قَالَ وَجَاءَ الْحُسَيْنُ لِيَدْخُلَ فَمَنَعَتْهُ فَوَثَبَ فَدَخَلَ فَجَعَلَ يَقْعُدُ عَلَى ظَهَرِ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَعَلَى مَنْكِبِهِ وَعَلَى عَاتِقِهِ قَالَ فَقَالَ الْمَلَكُ لِلنَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَتُحِبُّهُ قَالَ نَعَمْ قَالَ أَمَا إِنَّ أُمَّتَكَ سَتَقْتُلُهُ وَإِنْ شِئْتَ أَرَيْتُكَ الْمَكَانَ الَّذِي يُقْتَلُ فِيهِ فَضَرَبَ بِيَدِهِ فَجَاءَ بِطِينَةٍ حَمْرَاءَ فَأَخَذَتْهَا أُمُّ سَلَمَةَ فَصَرَّتْهَا فِي خِمَارِهَا قَالَ قَالَ ثَابِتٌ بَلَغَنَا أَنَّهَا كَرْبَلَاءُ
"มลาอิกะฮ์ (เทวทูต)ฝนได้ขออนุญาตต่อพระเจ้าของเขาเพื่อลงมาพบกับท่านนบีมุฮัมมัด(ศ) พระองค์ทรงอนุญาตให้แก่เขา
ท่านนบี(ศ)จึงกล่าวกับท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ว่า เจ้าจงเฝ้าประตูบ้านให้เราทีนะ อย่าให้ใครเข้ามาหาเราล่ะ
อะนัสได้เล่าว่า
แล้วท่านฮุเซนได้มากำลังจะเข้าไป(หาท่านนบี) นางได้ขวางเขาไว้ แต่เขาได้กระโจนเข้าไปนั่งอยู่บนหลังท่านนบี(ศ)บนบ่าบ้างบนไหล่ท่านบ้าง
มลาอิกะฮ์จึงกล่าวกับท่านนบี(ศ)ว่า
ท่านรักเขาไหม ? ท่านตอบว่า รักสิ
มลาอิกะฮ์กล่าวว่า แต่ประชาชาติของท่านจะสังหารเขา(ในอนาคต ) หากท่านต้องการ ฉันจะให้ท่านได้เห็นสถานที่ๆเขาจะถูกสังหาร
แล้วเขาได้ตีไปที่มือเขา จากนั้นเขาได้นำดินสีแดงก้อนหนึ่งมาให้ แล้วท่านหญิงอุมมุซะละมะฮ์ได้รับมันไปเก็บไว้ในฮิญาบ (ผ้าคลุม)ของนาง
อะนัสเล่าว่า ท่านษาบิตกล่าวว่า ที่เราทราบมานั้น มันคือ แผ่นดิน กัรบาลา (2)
ท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ)กล่าวว่า
إِنَّ ابْنِي هَذَا يُقْتَلُ بِأَرْضٍ مِنْ أَرْضِ الْعِرَاقِ ، فَمَنْ أَدْرَكَهُ فَلْيَنْصُرْهُ
หลานชายของฉันคนนี้(หมายถึงฮูเซน) จะถูกสังหาร ณ.สถานที่แห่งในแผ่นดินอิรัก
(คือที่กัรบาลา) ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกท่านอยู่ถึงวันนั้น ก็จงให้ความช่วยเหลือฮุเซนเถิด (3)
การเดินทางของท่านอิมามฮุเซน (อ) สู่ท้องทุ่งกัรบะลา
นับจากวันแรกที่ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้ปฏิเสธการให้สัตยาบัน(บัยอัต)ต่อยะซีดจนมาถึงวันที่ 10 มุหัรรอม ฮ.ศ. 61 รวมระยะเวลาได้ทั้งหมดประมาณ 175 วัน
12 วันท่านพำนักอยู่ที่นครมะดีนะฮ์
4 เดือน 10 วัน ท่านพำนักอยู่ที่นครมักกะฮ์
23 วันในระหว่างที่ท่านเดินทางออกจากมักกะฮ์ไปเมืองกูฟะฮ์
8 วันท่านถูกปิดล้อมอยู่ในแผ่นดินกัรบาลานับจากวันที่ 2 ถึงวันอาชูรอ
จากนครมักกะฮ์ถึงแผ่นดินกัรบาลา ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้แวะพักตามสถานที่ต่างๆด้วยกัน 38 แห่ง
แต่ละแห่งอยู่ห่างกันประมาณ 3 ฟัรซัค บางแห่งก็ 5 ฟัรซัค (1 ฟัรซัค = 4.83กม.)
จากนครมักกะฮ์ถึงแผ่นดินกัรบาลา ท่านอิมามฮุเซน (อ) เดินทางบกรวมระยะทางได้ 1,470 กม.หรือ 91,341ไมล์
ในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 60 มุอาวียะฮ์ บุตร อบูสุฟยาน ตาย ยะซีด บุตรมุอาวียะฮ์ สืบราชบัลลังค์ต่อจากบิดา
กษัตริย์ ยะซีดได้ส่งจดหมายไปถึง วะลีดบิน อุตบะฮ์ บิน อบูสุฟยาน ผู้ปกครองนครมะดีนะฮ์ว่า จงบังคับอิมามฮุเซน (อ) ให้บัยอัตต่อเขา หากขัดขืนให้ตัดหัวส่งมาให้เขาในทันที (4)
หลังอ่านสารของยะซีด วะลีดจึงขอเชิญท่านอิมามฮุเซน (อ) มาพบที่บ้านเขาตอนหัวค่ำ ซึ่งมีมัรวาน บิน ฮะกัม ร่วมอยู่ด้วย
ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ได้แจ้งความประสงค์ของยะซีดให้ท่านอิมามฮุเซน (อ) รับทราบ
แต่ท่านอิมามฮุเซน(อ) ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ท่านจะไม่ยอมบัยอัตให้กับยะซีดอย่างแน่นอน ไม่ว่าในกรณีใดๆก็ตาม
ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้กล่าวว่า โอ้วะลีด
إِنّاَ أَهْلُ بَيْتِ النُّبُوَّةِ وَمَعْدِنُ الرِّسالَةِ وَمُخْتَلَفُ الْمَلائِكَةِ، وَ بِناَ فَتَحَ اللّهُ وَ بِناَ خَتَمَ اللّهُ
แท้จริงเราคืออะฮ์ลุลบัยต์แห่งนบี ต้นกำเนิดของสภาวะการเป็นศาสนทูต บ้านของเราเป็นที่ขึ้นลงของมวลมลาอิกะฮ์ อัลลอฮ์ทรงเปิดและปิดกิจการงานต่างๆด้วยกับเรา
يَزيدُ رَجُلٌ فاسِقٌ شارِبُ الخَمرِ قاتِلُ النَّفْسِ الُمحتَرَمَةِ مُعْلِنٌ بِالفِسقِ وَ مِثْلى لا يُبايِعُ مِثْلَه
ยะซีดเป็นคนชั่ว ดื่มสุราเป็นอาจิณ ฆ่าคนบริสุทธิ์ ทำบาปอย่างเปิดเผย และคนอย่างฉันจะไม่ยอมบัยอัตให้กับคนเยี่ยงยะซีด เราจะคอยดูกันว่าใครคือผู้ทรงสิทธิแห่งตำแหน่งคอลีฟะฮ์มากกว่ากัน(5)
กล่าวจบท่านอิมามฮุเซน (อ) จึงรีบรุดออกจากบ้านของวะลีดไปทันที คืนนั้นท่านอิมามฮุเซนเดินไปเยี่ยมกุโบร์ท่านรอซูล และพบมัรวานกลางทาง มัรวานได้แนะนำกับท่านอิม่ามฮุเซนว่าให้ยอมบัยอัตเสียเถิด มันจะเป็นผลดีทั้งดุนยาและอาคิเราะฮ์สำหรับท่าน
ท่านอิมามฮุเซน (อ) จึงกล่าวว่า
إِنّا للّهِ وَإِنّا إِلَيْهِ راجِعُونَ، وَ عَلَى الاِسْلامِ اَلسَّلامُ، إِذْ قَدْ بُلِيَتِ الْاُمَّةُ بِرَاعٍ مِثْلِ يَزيدِ، وَلَقَدْ سَمِعْتُ جَدِّىْ رَسُولَ اللّهِ (ص) يَقُولُ : اَلْخِلاَفَةُ مُحَرَّمَةٌ عَلَى آلِ أَبِي سُفْياَنَ
แท้จริงเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงเราจะย้อนกลับยังพระองค์ (อายะฮ์อัลกุรอาน)
ก็คงต้องขอกล่าวอำลาต่อศาสนาอิสลามว่าวัสสลาม ถ้าหากอุมมัตอิสลามต้องถูกทดสอบด้วยผู้ปกครองเยี่ยงคนอย่างยะซีด เพราะฉันได้ยินท่านรอซูลุลลอฮ์ตาฉันกล่าวว่า การปกครองนั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับลูกหลานของอบูสุฟยาน (6)
คืนต่อมาท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้ไปเยี่ยมกุโบร์ท่านรอซูล(ศ) ท่านกล่าวว่า
اَلسَّلامُ عَلَيْكَ يا رَسُولَ للّه اَنَا الْحُسَيْنُ بْنُ فاطِمَةَ فَرْخُكَ وَابْنُ فَرْخَتِكَ وَسِبْطُكَ الَّذى خَلَّقْتَنِي في اُمَّتِكَ فَاشْهَدْ يانَبِىَّ اللّه اَنَّهُمْ خَذَلُوني وَلَمْ يَحْفَظُوني وَهذِهِ شَكْواىَ اِلَيْكَ حَتّى اَلْقاكَ
อัสสะลามุอะลัยกะ ยารอซูลัลลอฮ์ ฉันคือฮุเซน บุตรฟาติมะฮ์ บุตรสาวผู้เป็นที่รักของท่าน ฉันคือเชื้อสายของท่าน ซึ่งท่านได้ทิ้งไว้กับประชาชาติของท่าน โอ้ศาสดาแห่งอัลลอฮ์ โปรดเป็นพยานด้วยเถิดว่า พวกเขาได้ทอดทิ้งฉันให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และพวกเขาไม่เคยปกป้องฉันเลย นี่คือคำร้องเรียนของฉันไปยังท่าน จนกว่าฉันจะได้พบกับท่าน (7)
จากนั้นท่านอิมาม (อ) ได้ทำนมาซอยู่เป็นเวลานาน จนใกล้รุ่งสาง
คืนต่อมา ท่านอิมามฮุเซน (อ) มาซิยารัตกุโบร์อีกและปฏิบัติเช่นเดียวกัน หลังนมาซเสร็จท่านวิงวอนต่ออัลลอฮ์ว่า
اَللّهُمَّ اِنَّ هَذَا قَبْرُ نَبِيِّكَ مُحَمَّدٍ (ص) وَ اَنَا ابْنُ بِنْتِ نَبِيِّكَ وَقَدْ حَضَرَنِي مِنَ اْلأَمْرِ ماَ قَدْ عَلِمْتَ اَللّهُمَّ اِنِّي اُحِبُّ الْمَعْرُوفَ وَاُنْكِرُ الْمُنْكَرَ وَ أَسْأَلُكَ ياَ ذَا الْجَلالِ وَالاْكْرامِ بِحَقِّ الْقَبْرِ وَمَنْ فِيْهِ اِلاَّ اخْتَرْتَ لِي ماَ هُوَ لَكَ رِضىً وَلِرَسُولِكَ رِضىً
“โอ้อัลลอฮ์! นี่คือสุสานของท่านนบีมุฮัมมัด ส่วนฉันคือบุตรแห่งบุตรีของศาสดาของพระองค์ ฉันมีปัญหาบางอย่าง ซึ่งพระองค์ทรงรู้ดี
โอ้อัลลอฮ์! แท้จริงฉันรักการทำความดีและชิงชังความชั่ว โอ้ผู้ทรงสูงส่งและเกรียงไกร ฉันขอวิงวอนต่อพระองค์ด้วยสิทธิของสุสานนี้และผู้ที่อยู่ในสุสานนี้ ได้โปรดประทานทางเลือกสำหรับฉัน ซึ่งเป็นที่พอพระทัยสำหรับพระองค์และรอซูลของพระองค์ด้วยเถิด” (8)
จากนั้น ท่านอิมามฮุเซนนั่งลงข้างๆสุสานและแนบศรีษะลงบนหลุมศพท่านรอซูล ท่านร้องไห้อยู่ตามลำพังจนหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย
(ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้เล่าว่า) ในขณะหลับท่านฝันเห็นท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ) ได้มาหาพร้อมด้วยมลาอิกะฮ์ รายล้อมอยู่รอบกายท่าน ท่านรอซูลทรุดกายลงจุมพิตที่ดวงตาทั้งสองของท่านอิมามฮุเซน พลางกล่าวว่า
ยา ฮูเซน หลานรักของตา ดูเหมือนว่า ตาจะได้เห็นเจ้าต้องเกลือกกลิ้งอยู่บนกองเลือดของตัวเอง ที่ถูกหลั่งออกมาอย่างมากมาย ณ.แผ่นดินกัรบาลา ด้วยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของตาเอง ในสภาพที่เจ้าจะต้องกระหายน้ำอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีใครให้เจ้าได้ดื่มในสภาพที่เจ้าจะหิวกระหายอย่างแสนสาหัส แต่ก็ไม่มีใครให้เจ้ากิน บุคคลเหล่านั้นหวังในชะฟาอัตของตา แต่พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้รับมันอย่างเด็ดขาด
حَبِيْبِبيْ ياَ حُسَيْنُ اِنَّ اَباَكَ وَاُمَّكَ وَاَخاَكَ قَدَمُوْا عَلَيَّ وَهُمْ مُشْتاَقُوْنَ اِلَيْكَ، وَاِنَّ لَكَ فِي الْجِناَنِ لَدَرَجاَتٌ لَنْ تَنَالَهاَ اِلاَّ بِالشَهاَدَةِ
โอ้ฮูเซนหลานรัก พ่อเจ้า แม่เจ้าและพี่ชายเจ้าได้มาหาตา พวกเขาปรารถนาที่จะได้พบเจ้า แท้จริงแล้วในญันนะฮ์ (สวรรค์) มีฐานันดรหนึ่งเตรียมไว้สำหรับเจ้าเป็นการเฉพาะ แต่เจ้ามิอาจจะได้รับมัน นอกเสียจากด้วยการเป็นชะฮีดเท่านั้น (9)
ในความฝัน ท่านอิมามฮูเซน (อ) ได้กล่าวกับท่านตาว่า ท่านไม่ต้องการกลับมายังดุนยาอีกแล้วและขอให้ท่านรอซูลเอาตัวท่านไปอยู่ด้วย แต่ท่านรอซูลกล่าวว่า เจ้าต้องกลับไปยังดุนยาอีกครั้งหนึ่ง จนกว่าเจ้าจะได้รับตำแหน่งชะฮีดอันยิ่งใหญ่
เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ) ตื่นจากภวังค์ ท่านจึงตรงไปเยี่ยม(ซิยารัต)หลุมฝังศพของมารดาและพี่ชาย เพื่อกล่าวอำลา
เพราะท่านอิมามฮุเซน (อ) ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่า จะไม่ยอมบัยอัตกับยะซีด และจะเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์ในตอนเช้ามืด มุ่งสู่เมืองมักกะฮ์ และออกจากเมืองมักกะฮ์สู่เมืองกูฟะฮ์ เป็นอันดับต่อไป และในที่สุดท่านก็ได้รับตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ การเป็นชะฮีด ดั่งที่ท่านตาของท่านอิมามได้กล่าวไว้ล่วงหน้านั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
1. หนังสือ อัลฮูเซน ซีมาตุฮู วะซีเราะตุฮู , ซัยยิดมุฮัมมัดริฎอ อัลฮูซัยนี อัลญะลาลี ,เล่ม 1, หน้าที่ 99
2.หนังสือมุสนัดอะห์มัด บิน ฮัมบัล, ฮะดีษที่ 13050
3.หนังสือดุรรุสสะฮาบะฮ์ ,อัชเชากานี , หน้าที่ 232 และมะอ์ริฟะตุส ซอฮาบะฮ์ เล่ม 2 หน้าที่ 447
4.ตารีค อัลยะอ์กูบี ,เล่ม 2 , หน้าที่ 241
5.บิฮารุลอันวาร ,มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซี, เล่ม 44 , หน้าที่ 325
6.ลุฮูฟ ,ซัยยิด อิบนุฏอวูส , หน้าที่ 20
7.บิฮารุลอันวาร ,มุฮัมมัดบากิร มัจญ์ลิซี, เล่ม 44 ,หน้าที่ 327
8.มักตัลอาวาลิม,อับดุลลอฮ์ บะฮ์รอนี, เล่ม 17 ,หน้าที่ 177
9.มะดีนะตุลมะอาญิซ ,ซัยยิดฮาชิม บะฮ์รอนีย์ ,เล่ม 3 ,หน้าที่ 484
ขอขอบคุณเว็บไซต์ www.q4wahabi.com
(เนื้อหาบางส่วนได้ทำการปรับปรุงและเพิ่มเติมโดยเว็บมาสเตอร์อัลฮะซะนัยน์ )