ความเป็นจริงแล้ว เรามิได้เป็นบุคคลแรกที่ได้หยิบยกเรื่องพินัยกรรมนี้ขึ้นมาพิสูจน์ และพยายามหาหลักฐานเพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่พี่น้องมุสลิม เรามิได้เป็นบุคคลแรกที่ต้องการจะบอกว่า การทำพินัยกรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และมิใช่บุคคลแรกที่พูดถึงผลสะท้อนที่เกิดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่มีต่อประชาชาติอิสลาม และเราไม่คิดว่า ประชาชาติมุสลิมจะไม่สนใจในเรื่องนี้ เพราะมีบรรดานักค้นคว้าอย่างมากมาย ที่เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ได้เกิดขึ้นระหว่างท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กับบรรดาเซาะฮาบะฮฺของท่าน
ประวัติศาสตร์ได้บอกให้เรารู้ว่าในวันนั้น ท่านอิบนุ อับบาส (รฎ.) ซึ่งเป็นเซาะฮาบะฮฺผู้ทรงเกียรติ และเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือในหมู่ประชาชาติมุสลิมทุกๆมัซฮับ ซึ่งท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้กล่าวว่าالرزية كل الرزية “วิปโยคแห่งมวลวิปโยคทั้งปวง”และท่านได้พูดประโยคนี้กับบรรดาศอฮาบะฮฺหลายท่านด้วยกัน ซึ่งบางครั้งท่านได้กล่าวว่า: رزية يوم الخميس“พฤหัสบดีวิปโยค” เมื่อเราได้ยินประโยคนี้ออกมาจากปากของท่านอิบนุ อับบาส (รฎ.) เราอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรได้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนั้น ?หรือว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เสียชีวิตในวันพฤหัสบดี ?
ไม่ หามิได้เพราะประวัติศาสตร์ ได้ยืนยันว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เสียชีวิตตรงกับวันจันทร์ และทำไมท่านอิบนุ อับบาสจึงไม่ได้กล่าวถึงการจากไปของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่าเป็นวันวิปโยค ? ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ว่าท่านได้เห็นโองการอัล-กรุอานกล่าวว่า
إِنَّكَ مَيِّتٌ وَإِنَّهُم مَّيِّتُونَ
แท้จริง เจ้าจะต้องตาย และ แท้จริงพวกเขาเหล่านั้นจะต้องตายเหมือนกัน[๑]
ท่านอิบนุ อับบาสเชื่อมั่นในเรื่องความตายว่าเป็นความสัจจริง ไม่ว่าจะเป็นท่านศาสดาหรือใครก็ตามล้วนต้องตายทั้งสิ้น หรือว่าท่านได้เห็นโองการของอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่กล่าวว่า
الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الإِسْلاَمَ دِينًا
วันนี้ ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันครบบริบูรณ์แก่พวกเจ้าแล้ว และฉันพอใจที่จะให้อิสลาม เป็นศาสนาสำหรับพวกเจ้า[๒]
โองการดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาตินั้นสมบูรณ์แล้ว ถึงแม้ว่าการจากไปของท่านศาสดา จะเป็นโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่เจริญรอยตามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ก็ตาม แต่นั่นเป็นวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ทุกคนต้องเดินทางไปสู่จุดนั้น โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้นการจากไปของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สำหรับท่านอิบนุอับบาสแล้วถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ท่านจึงไม่ได้พูดถึงวันจันทร์ และไม่ถือว่าวันจันทร์เป็นวันวิปโยคทั้งๆ ที่วันนี้เป็นวันที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อำลาจากโลกไป แต่ท่านกลับพูดถึงวันพฤหัสบดีว่าเป็น “วิปโยค” อาจมีผู้สงสัยว่า อะไรได้เกิดขึ้นในวันนั้น ? ทำไมท่านอิบนุอับบาส ถึงได้ให้คุณลักษณะของวันดังกล่าวร้ายแรงถึงขนาดนั้น หรือท่านต้องการจะบอกถึงเหตุการณ์ และโศกนาฏกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาติอิสลามในอนาคตข้างหน้า ท่านจึงพูดว่า
“ความวิปโยคแห่งความวิปโยคทั้งหลาย อะไรคืออุปสรรคที่มาขวางกั้นการบันทึกพินัยกรรมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กับพวกเขา (เซาะฮาบะฮฺ) อันเป็นความขัดแย้งที่รุนแงและยิ่งใหญ่”
บางครั้งท่านจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพฤหัสบดี ท่านรู้ไหมว่าอะไรได้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี ?”
และบางครั้งท่านได้เรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นว่า “วันพฤหัสวิปโยค”
ดังนั้น คำว่า “วิปโยคอันยิ่งใหญ่ที่ท่านอิบนุอับบาสได้พูดถึง คือการยับยั้งการบันทึก พินัยกรรมนั่นเอง”
ได้กล่าวไปแล้วว่า เรามิใช่คนแรกที่กล่าวถึงเรื่องการบันทึกพินัยกรรมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และมีความสำคัญ ทว่าท่านอิบนุ อับบาส (รฎ.) ต่างหากที่เป็นคนแรกที่กล่าวถึงเรื่องนี้ และบรรดานักรายงานฮะดีซคนอื่นๆ ได้รายงานต่อเนื่องกันมาจนถึงพวกเราในยุคปัจจุบัน
ท่านอิบนุ อับบาสทราบดีถึงความสำคัญขอพินัยกรรม และผลที่จะเกิดขึ้นภายหลัง หากพินัยกรรมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มิได้ถูกบันทึก ดังนั้นจากวันพฤหัสบดีวิปโยคนั้นจนถึงทุกวันนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต้นเหตุของความวิปโยคที่ท่านอิบนุอับบาส (รฎ.) ได้พูดถึงนั้นเกิดจากการที่ท่านอุมัรได้เข้ามาขวางไม่ให้มีการบันทึกพินัยกรรม เมื่อท่านท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ร้องขอกระดาษและน้ำหมึก จนเป็นเหตุให้ประชาชาติอิสลามได้มีความขัดแย้งกันจนถึงปัจจุบัน อันเป็นรางร้าย และโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ท่านอิบนุ อับบาส (รฎ.) ได้หวั่นวิตกมาโดยตลอด แม้นว่าท่านจะมิได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็ตาม แต่ท่านก็รู้สึกเช่นนั้นด้วยจิตวิญญาณที่สูงส่ง เพราะท่านเห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะมีชีวิตอยู่แล้วหลังจากท่านศาสดาได้จากไปแล้วมันจะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะไม่ขัดแย้ง ซึ่งท่านศาสดาต้องการหาหลักประกันที่มั่นคงให้กับประชาชาติเพื่อพวกเขาจะได้ไม่หลงทาง
แต่เจตนารมณ์ที่ดีของท่านศาสดาได้ถูกขวางกั้น ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชาติอิสลามได้แบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยถึง ๗๓ กลุ่มด้วยกัน ที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ ทุกๆ กลุ่มต่างอ้างตนว่าเป็นกลุ่มเดียวที่รอดพ้นจากไฟนรก และต่างก็พยายามหาฮะดีซมาอ้างถึงความถูกต้องของตน ขณะเดียวกันได้ปฏิเสธความถูกต้องของคนอื่น พยายามหาเหตุผงมาลบล้างและกล่าวหาว่าคนอื่นผิดและหลงทาง สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพินัยกรรมที่ท่านศาสดาต้องการบันทึกนั้นมีความสำคัญต่อสังคมและวิถีชีวิตของมวลมุสลิมมากน้อยแค่ไหน ข้าพเจ้าขอนำฮะดีซที่ได้รายงานเกี่ยวกับ วันพฤหัสวิปโยคนั้นมาให้ท่านผู้อ่านได้ร่วมกันพิจารณาดังต่อไปนี้
ฮะดีซที่กล่าวถึงวันพฤหัสวิปโยค ฮะดีซที่หนึ่ง หนังสือศ่อฮีบุคคอรีย์ รายงานโดย อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิ อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุตบะฮฺ อิบนิมัสอูด จากท่านอิบนิอาสว่า หลังจากที่ท่านได้กล่าวถึงฮะดีซวะซียะฮฺ (พินัยกรรม) ท่านได้พูดว่า อิบนุ อับบาสได้กล่าวว่า “แท้จริงในวิปโยคสำหรับมวลวิปโยคทั้งหลายนั้น มีอะไรเป็นสิ่งขวางกั้นระหว่างการบันทึกพินัยกรรมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กับบรรดาเซาะฮาบะฮฺหรือ จนเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และโต้เถียงกันอย่างอลหม่าน[๓]
ฮะดีซที่สอง ท่านกุบัยเซาะฮฺได้รายงานไว้ว่าท่าน อิบนุ อัยยีนะฮฺ ได้รายงานจาก ท่านซัลมาน อะฮฺวัล จาก สะอีดิบ ญุบัยรฺ จากอิบนุ อับบาส ได้กล่าวว่า
วันพฤหัสบดี ท่านรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวันพฤหัส หลังจากนั้นท่านได้ร้องไห้จนน้ำตาได้นองแก้มทั้งสองและท่านได้พูดต่ออีกว่าในวันพฤหัสบดีนั้น เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ป่วยหนักขึ้น ท่านได้กล่าวว่า “จงนำมาให้ฉัน[๔]
ฮะดีซที่สามท่านมุสลิมได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่าน จากท่านสะอีด บิน ญุบัยรฺ ซึ่งรายงานจากท่านอิบนุ อับบาส ท่านได้กล่าวว่า “วันพฤหัสบดี วันพฤหัสบดีเกิดอะไรขึ้น”หลังจากนั้นน้ำตาของท่านได้ไหลออกมาจนนองใบหน้าเหมือนเป็นประกายไข่มุก และท่านได้พูดต่ออีกว่า: “ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า: “จงนำมาให้ฉัน….”หลังจากนั้นมุสลิมได้รายงานฮาดิษวะซียะฮฺ[๕]
ฮะดีซที่สี:จากท่านอิบนุ อับบาสเล่าว่า “เมื่ออาการไข้ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ทรุดหนักขึ้น ท่าน (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “จงนำมาให้ฉัน….”ท่านมุสลิมได้กล่าวต่ออีกว่า: อิบนุ อับบาสได้ออกมาพร้อมกับกล่าวว่า วิปโยคแห่งความวิปโยคทั้งปวง อะไรเป็นสาเหตุขวางมิให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บันทึกพินัยกรรม[๖]
ฮะดีซทที่ห้า ท่านอินนุ อับบาสได้เล่าว่า “วันพฤหัสบดี อะไรได้เกิดขึ้นหรือในวันพฤหัสบดี เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ป่วยหนักขึ้นท่านได้กล่าวว่า “จงนำมาให้ฉันเถิด[๗]
ฮะดีซที่หก:จากท่านสะอีด บุตรของญุบัยรฺได้ยินมาจากท่าน อิบนุ อับบาส (รฎ.) เล่าว่า “วันพฤหัสบดี มีอะไรได้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี!หลังจากนั้น ท่านได้ร้องไห้จนน้ำตาได้นองใบหน้าของท่าน และฉันก็ได้ถามท่านว่า “โอ้ท่านอิบนิ อับบาส อะไรได้เกิดขึ้นหรือในวันพฤหัสบดี? ท่าน (รฎ.) ได้เล่าต่อว่า “เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ป่วยหนัก ท่านได้กล่าวว่า “จงนำมาให้ฉันเถิด….” จนจบฮะดีซ[๘]
ฮะดีซเหล่านี้ และฮะดีซอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันท่านอิบนิ สะอัดได้บันทึไว้ในหนังสือฏ็อบบะกอฏุลกุบรอ เล่ม ๒ หน้า ๒๔๒-๒๔๔, ท่าน ชะฮฺริสตานีได้บันทึกในหนังสือ มิลัล วัน นิฮัล เล่ม ๑ หน้า ๒๒ พิมพ์ที่ เบรุต, ท่าน อิบนิ อบิลหะดีด บันทึกไว้ในหนังสือ ชัรห์ฮุล นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ เล่ม ๑ หน้า ๑๑๓ ได้กล่าวเอาไว้เช่นเดียวกัน
…………
เชิงอรรถ
[๑] ซุมัร/๓๐
[๒] มาอิดะฮฺ /๓
[๓] บุคคอรี, ๗/๙, มุสลิม ๕/๗๕, มุสนัดอะหมัด ๔/๓๖๕/๒๙๙๒
[๔] บุคคอรี, ๔/๒๑, มุสลิม, ๕/๗๕, มุสนัดอะหฺมัด ๕/๔๕/๓๑๑๑
[๕] มุสลิม ๕/๗๕, มุสนัดอะหฺมัด ๕/๑๑๖/๓๓๓๖, ตารีดฏ็อบรี ๓/๑๙๓,พิมพ์ที่อียิปต์ กามิลฟิต ตารีค อิบนุ อะษีรฺ ๒/๓๒๐
[๖] เซาะฮีบุคคอรี ๑: ๓๗
[๗] เซาะฮีบุคคอรี ๕/๑๓๗
[๘] เซาะฮีบุคคอรี ๔: ๖๕-๖๖
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัชชีอะฮ์