ความสำคัญของการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว
เหตุการณ์นั้นสอนเราไม่ให้ละทิ้งออกจากแนวทางที่ถูกต้อง และไม่ตื่นตระหนกเสียขวัญในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนา เราต้องรำลึกถึงวันปรโลก และจดจ่อจิตใจอยู่กับผลที่จะตามมาอย่างถาวรในวันปรโลก
จิตสำนึกในการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่วนี้จะต้องมีอยู่ไม่ว่าศัตรูจะยิ่งใหญ่หรือแข็งแกร่งเพียงใด และไม่ว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร แต่จะต้องปฏิบัติไปด้วยความรู้ในหลักการศาสนาว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรทำภายใต้สถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด
2. การตักลีด หรือการปฏิบัติตามผู้รู้ และทำการตัดสินปัญหาศาสนาด้วยตัวเอง
เมื่อเราปฏิบัติตามผู้นำและความรู้ของเขาแล้ว เราจะเชื่อฟังคำพูดของเขาโดยไม่มีการคัดค้านหรือลังเลใจ ความสำคัญของการรู้หลักการศาสนาเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์เมื่อท่านหญิงซัยนับ(อ.) ได้ขอคำวินิจฉัยจากอิมามซัยนุลอาบีดีน(อ.) แม้ในขณะที่กระโจมที่พักกำลังถูกเผา
3. การเลือกคู่ครองและการเลี้ยงดูบุตร
เรื่องนี้เห็นได้จาก 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรก อิมามอะลี(อ.) ได้เลือกท่านหญิงอุมมุลบะนีนมาเป็นภรรยาเพื่อจะได้มีบุตรอย่างท่านอับบาส(อ.) และเหตุการณ์ที่สอง เมื่ออิมามฮุเซน(อ.) กล่าวแก่บรรดาทหารของยะสีดว่า มันเป็นความผิดของบรรพบุรุษของพวกเขาและการเลี้ยงดูพวกเขามา ซึ่งทำให้พวกเขาเหล่านั้นมาต่อสู้กับท่าน
4. ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา
เรื่องราวแห่งกัรบะลาสอนเราว่า ภรรยาคือที่มาของความสงบสุขสำหรับสามี อิมามฮุเซน(อ.) จึงกล่าวว่า ‘ฉันไม่ชอบบ้านที่ปราศจากรุบ้าบ และสะกีนะฮ์’ ภรรยาไม่ควรห้ามสามีจากการกระทำหน้าที่ของเขาต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.) ดังเช่นที่ท่านหญิงรุบ้าบไม่ได้ห้ามอิมามฮุเซน(อ.) แม้เมื่อท่านจะนำลูกออกไปหาความตาย
บางครั้ง ผู้หญิงทั่วไปถึงขนาดไม่ยอมให้สามีไปทำฮัจญ์หากไม่พาพวกเธอไปด้วย ผู้หญิงควรสนับสนุนและให้กำลังใจสามีในการทำหน้าที่ของเขาต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.) และในเรื่องอื่นๆ ด้วย
5. ความสำคัญของความรู้ เพื่อการดำเนินชีวิตไปตามที่อัลลอฮ์(ซ.บ.) ทรงประสงค์
เป้าหมายของการเสียสละของบรรดาอิมาม(อ.) ถูกกล่าวถึงไว้ในซิยารัตอัรบะอีนว่า “ฉันขอปฏิญาณว่า จุดมุ่งหมายทั้งหมดของการสละพลีทุกอย่างคือเพื่อ “รักษาประชาชาติให้พ้นจากความไม่รู้”
6. ความสำคัญของอิคลาส หรือความบริสุทธิ์ใจ
เราต้องมีความบริสุทธิ์ใจในการทำหน้าที่เพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์(ซ.บ.) เท่านั้น โดยไม่มีเจตนาเพื่อการโอ้อวด ความเชื่อในวันปรโลกหรือกิยามัตจะต้องมั่นคงยิ่ง เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถสละพลีความสุขและทุกสิ่งทุกอย่างได้เพื่อประโยชน์สุขถาวรในวันปรโลก
7. การควบคุมอารมณ์ความรู้สึก
เราต้องควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของเราในขณะกระทำสิ่งใดเพื่อความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ(ซ.บ.) ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ห้ามตัวเองจากการแสดงออกถึงความรู้สึกของเรา เพียงแต่ต้องไม่ทำให้การกระทำเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์(ซ.บ.) ต้องแปดเปื้อนไป
8. ความสำคัญของฮิญาบและการสงวนตัวจากผู้ที่ไม่ใช่มะฮ์รอม(ห้ามการแต่งงานด้วย) ทุกคน
ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวหรือญาติสนิทที่ไม่ใช่มะฮ์รอม สิ่งนี้เห็นได้จากหลายเหตุการณ์หลังวันอาชูรอ
9. ไม่หลงระเริงกับสิ่งล่อใจทั้งหลาย
อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) กล่าวว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามท่านควรจะหลีกเลี่ยงเสียงเพลงและดนตรี, ไม่ควรโกนเครา และไม่ควรเล่นการพนัน/หมากรุก หรือดื่มสุรา เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นนิสัยของยะสีด และมันเตือนท่านให้นึกถึงวันที่ยืนอยู่ในท้องพระโรงของวังยะสีด
10. ความสำคัญของการนมาซ
แม้ในขณะที่อยู่ระหว่างการสู้รบ การนมาซก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ ดังตัวอย่างจากอิมามฮุเซน(อ.) เราต้องให้ความสำคัญการนมาซตรงต่อเวลาและนมาซเป็นหมู่คณะ(ญะมาอัต) อิมามซัยนุลอาบีดีน(อ.) เป็นผู้ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งชีวิตไปกับการนมาซและขอดุอาอฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทำการสุญูดอย่างมากมายและยาวนาน จนท่านได้รับฉายานามว่า ‘ซัจญาด’ (ผู้ดำรงการสุญูด)