ประวัติศาสตร์นานนับพันปีได้จารึกไว้ซึ่ง สัจธรรมอันรุ่งโรจน์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าคลื่นแห่งความอธรรมจะถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน จากหมู่มนุษย์และญินทั้งหลาย การทำลายร้างในรูปแบบของการต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และการใช้สำนวนโวหารเพื่อสร้างความเสื่อมเสียแก่เกียรติยศและชื่อเสียงของท่านศาสดา ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถทำลายได้ ผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และวิวัฒนาการทางด้านความคิดที่ก้าวไกลของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ก็ไม่อาจค้นหาความผิดพลาดแม้เท่าผงธุลีของศาสดาท่านนี้ได้ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงสัจธรรมของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
๑๗ รอบิอุลเอาวัล คือวันถือกำเนิดของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ผู้เป็นบรมศาสดาสุดท้ายแห่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้ซึ่งพระองค์ได้ประทานมาเพื่อแผ่เมตตาธรรมแก่ประชาโลกทั้งหลาย ท่านได้ถูกกำหนดให้มาทำหน้าที่สอนมนุษย์ให้รู้จักธรรมชาติแห่งตัวตน และรู้จักตนเองเพราะธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์คือ การถวิลหาพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงสร้างผู้ทรงเกรียงไกร
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาท่านกลางชนอาหรับที่โง่เขลาและขาดแคลนวัฒนธรรม แต่ท่านสามารถทำให้ชาวอาหรับที่เดิมมีความเป็นอยู่แบบเผ่า ชอบรบราฆ่าฟันกันเองสามารถรวมกันเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่สามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน และช่วยกันสร้างสังคมที่มีระเบียบแบบแผน มีกฎหมายเป็นแนวทางปฏิบัติทั้งในด้านทางโลกและทางธรรม ความมหัศจรรย์ในการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัดคือท่านเป็นผู้อ่านไม่ออก และเขียนหนังสือไม่เป็น แต่ท่านสามารถนำเอาพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า (อัล-กุรอาน) มาอธิบายแก่ผู้คนได้ อัล-กุรอานจึงถูกนับว่าเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ที่มีชีวิตอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเอาคำสอนของท่านศาสดามุฮัมมัดที่รับมาจากพระฟู้เป็นเจ้า เป็นคัมภีร์ที่ครอบคลุมความรู้ทุกด้านที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักการศรัทธาและภักดี การมีชีวิตอยู่ในสังคม วิทยาการ การให้การอบรมศึกษา การพาณิชย์ การเกษตรกรรม การสมรสและชีวิตในครอบครัว การกุศลและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การเมืองการปกครอง การทหารและการป้องกัน ตลอดจนการสงครามและการรักษาสันติภาพ ยิ่งไปกว่านั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของมวลมุสลิมทั้งหลาย จริยวัตรของท่าน (ซุนนะฮฺ) เป็นแบบอย่างในการยึดถือปฏิบัติของมุสลิมทุกคนจนถึงยุคปัจจุบันและในอนาคตกาลข้างหน้า
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ทำหน้าอันยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบตลอด ๒๓ ปีเต็ม หน้าที่อันล้ำลึกและเหนือความคาดคิดของมนุษย์คือการสอนมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ ซึ่งพระวัจนของท่านยืนยันไว้ว่า “ฉันได้รับการแต่งตั้งมาเพื่อสร้างความสมบูรณ์แก่จริยธรรมอันจำเริญยิ่ง”
انّي بعثت لمكارم الاخلاق
บรรดาผู้คนทั้งหลายอาจคิดว่าเหล่านี้คือหน้าที่อันเป็นปรกติธรรมดาของศาสดาทุกๆ ท่านมิได้มีอะไรพิเศษไปกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หากเราพิจารณาคำว่า อินซาน (มนุษย์) ให้ดีจะพบว่า อินซานนั้นมาจากคำว่า อุนซ์ อันหมายถึงการรู้จัก การใกล้ชิดและความรัก มนุษย์เป็นสรรพสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มวลสรรพสิ่งทั้งหลาย อัล-กุรอานกล่าวว่า
لَقَدْ خَلَقْنَا الْإِنسَانَ فِي أَحْسَنِ تَقْوِيمٍ
“แน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาอย่างสวยงามที่สุด” [๑]
ซึ่งความประเสริฐและความสวยงามยิ่งของมนุษย์นั้นอยู่ที่อะไร รูปพรรณสัณฐาน หรือว่าจิตวิญญาณ หากจะกล่าวว่าความสวยงามของมนุษย์นั้นอยู่ที่รูปพรรณ ท่านจะพบว่ามีสรรพสิ่งตั้งมากมายที่มีรูปร่างลักษณะสวยงามกว่ามนุษย์อาทิเช่น นกยูง ซึ่งเป็นนกที่มีความสวยงามกว่าบรรดานกทั้งหลาย ยิ่งเวลาที่นกยูงลำแพนหางความงามของมันนั้นยากที่จะหาที่เปรียบเปรยได้ และท่านลองมาพิจารณาที่ศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นามว่า บิลาล หะบะชีย์ เป็นคนแอฟริกาผิวดำ เนื้อตัวมีกลิ่นเหม็นเขียวเมื่อเทียบกับนกยูงแล้ว แน่นอนนกยูงนั้นมีความงามกว่ามากมายหากพิจารณาที่รูปพรรณ
แต่ถึงแม้ว่าท่านบิลาลจะมีรูปร่างดำ กลิ่นตัวเหม็นกระนั้นอัล-กุรอานก็ยังกล่าวชมท่านบิลาลว่า เป็นสรรพสิ่งถูกสร้างที่มีความสวยงามที่สุด หมายความว่ามนุษย์นอกจากจะมีสังขารแล้วยังมีจิตวิญญาณด้านใน อันเป็นความงามที่เลอเลิศยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบเปรยได้ ฉะนั้นความสวยงามของมนุษย์จึงไม่ได้อยู่ที่รูปพรรณสัณฐาน ทว่ามันอยู่ที่จิตวิญญาณที่สูงส่งหรือการมีจิตใจงามนั้นเองอัล-กุรอานกล่าว
يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ
“โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าทั้งเพศชาย และเพศหญิง และเราได้แยกพวกเจ้าออกเป็นเผ่า เป็นตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ ที่อัลลอฮฺ คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งแท้จริงอัลลอฮฺทรงเป็นผู้รอบรู้ยิ่ง [๒]
มนุษย์มากมายบนโลกนี้มีคุณลักษณะแตกต่างกัน ในหมู่ของมนุษย์เท่านั้นที่คิดเอาเองว่าประชาชาตินั้นดีกว่าประชาชาตินี้ คนตระกูลนั้นดีกว่าคนตระกูลนี้ คนในหมู่แถบทวีปนั้นดีกว่าคนในหมู่แถบทวีปนี้ คนร่ำรวยย่อมดีกว่าคนยากจน ฐานะภาพและเกียรติยศของมนุษย์อยู่ที่ทรัพย์สิน และอีกร้อยแปดพันประการที่มนุษย์จะคิด แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาอัล-กุรอานจะพบว่าสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากคิดกันนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่มีความแตกต่างเลย พระองค์ได้ตรัสสวนทางกับความคิดและคำพูดของมนุษย์ว่า “แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งสำหรับฉันคือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุด” ความสวยงามทางเรือนร่างสังขาร และเกียรติยศจอมปลอมทั้งหลายสำหรับมนุษย์แล้วมันคือความแตกต่าง และอาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแบ่งชนชั้นวรรณะของมนุษย์ด้วยกันก็ว่าได้ แต่สำหรับอัลลอฮฺ (ซบ.) สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความแตกต่าง หรือสามารถแบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันได้ พระองค์ได้กำหนดมาตรฐานในการจำแนกมนุษย์ออกจากกันไว้นั้นคือ ความศรัทธาและความยำเกรงที่มีต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
ซึ่งส่วนมากของมนุษย์นั้นไม่เข้าใจในความเป็นมนุษย์ หากมนุษย์เข้าใจและรู้จักเป้าหมายที่แท้จริงในการเป็นมนุษย์ การเข่นฆ่าและการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันก็คงจะไม่เกิดขึ้น ความสำคัญของมนุษย์ไม่ได้อยู่ที่การรู้จักศาสตร์ชั้นสูง การเรียนรู้ในศาสตร์ต่างๆ เหล่านั้นก็เพื่อการค้นหาตัวเอง ดังนั้นถ้ามนุษย์ค้นหาตัวเองไม่พบ เขาจะค้นหาธรรมชาติที่แท้จริงของเขาได้อย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้สังคมมนุษย์มีแต่ความวุ่นวาย การเข่นฆ่า สงคราม มีความละโมบในทรัพย์สินสฤงคารทั้งหลาย ตลอดจนลาภยศสรรเสริญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คืออาหารอันโอชะสำหรับคนที่ไม่รู้จักความเป็นมนุษย์
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้มาเพื่อสร้างจิตวิญญาณ และจิตสำนึกแห่งการเป็นมนุษย์เพื่อให้มนุษย์เดินทางไปพบกับแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ด้วยกับวิถีทางที่ท่านเป็นผู้กำหนดขึ้นมา ท่านศาสดาได้ใช้เวลาในการกำหนดวิถีทางนานถึง ๒๓ ปีด้วยกัน ท่านได้มอบความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในฐานะของบ่าวที่จงรักภักดี บิดาผู้ให้ความรักแก่บุตร สามีที่ดีของภรรยา ผู้นำที่ทรงความยุติธรรมของปวงประชา สหายที่ดีที่สุดในหมู่เพื่อนพร้องทั้งหลายและบ่าวผู้จงรักภักดีที่สุดต่อพระผู้เป็นเจ้า
ความเป็นมนุษย์ และอารยธรรมของมันได้ถูกขุดค้นขึ้นมาพร้อมกับวิถีทางอันจำเริญอันได้แก่อิสลาม ซึ่งเป็นระบบที่ผสานกลมกลืนเข้ากับชีวิตได้อย่างแท้จริง อิสลามที่ท่านศาสดานำมาประกาศเผยแพร่ มิใช่ศาสนาที่มีหลักคำสอนครอบงำจิตใจแต่เพียงอย่างเดียว หรือเพียงแค่เป็นที่พึ่งทางจิตใจเท่านั้น หากแต่ว่าอิสลามนั้นเป็นระบบและระบอบในการดำเนินชีวิตที่แท้จริง ไม่มีการจำแนกสีผิว ภาษา และเชื้อชาติทุกคนที่เป็นมุสลิมอยู่ในฐานะของพี่น้องเป็นเนื้อหน่วยเดียวกัน และนี่คือวิถีทางที่แท้จริงในการดำเนินชีวิตเพื่อค้นหาความเป็นมนุษย์
ความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกียรติยศ ลาภยศ การมีหน้าตาทางสังคม ฯลฯ แต่อยู่ที่ความเป็นบ่าวผู้ที่มีความนบนอบต่อคนอื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อองค์พระผู้อภิบาลของตน อันเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการประทานศาสดาทุกองค์มาประกาศเผยแพร่คำสอน
วันนี้ถึงแม้ว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะจากไปนานถึง ๑๔๒๔ ปีแล้วก็ตาม แต่อิสลามก็ยังคงดำรงอยู่เป็นคำสอนที่ชี้นำมนุษย์ตลอดเรื่อยมา และสิ่งนี้ไม่อาจดำรงอยู่ได้ถ้าหากวันที่ ๑๘ เดือนซิลหิจญะฮฺของปีที่ ๑๐ ท่านศาสดาไม่ทำการแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นอิมามสืบสานเจตนารมณ์ของท่านต่อไป ทุกวันนี้อาจไม่มีอิสลามให้พวกเรานับถือก็ได้ จริงอยู่แม้ว่าหลังจากท่านศาสดาได้จากไปท่านอิมามอะลีไม่ได้ขึ้นมาปกครองอิสลามอย่างเฉียบพลันก็ตาม อันเนื่องมาจากมีอุปสรรคปัญหาหลายประการ แต่บรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นก็ไม่ได้ปกครองโดยปราศจากการชี้นำของท่านอิมามอะลี (อ.) แม้แต่นิดเดียวทั้งด้านความรู้และหลักการปกครองตามระบอบอิสลามพวกเขาไม่สามารถวินิจฉัยศาสนาและดำเนินการปกครองตามลำพังด้วยตัวเองได้ แต่ในหมู่พวกเขามีผู้ที่มีความรู้มากที่สุดอยู่พวกเขาจึงสบายใจและฮึกเหิมกล้าที่จะดำเนินการปกครองทั้งที่ตนเองก็ไม่มีความรู้ และความสามารถในภารกิจดังกล่าวแม้แต่นิดเดียว แต่พวกเขาทราบดีว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรท่านอะลีก็จะไม่ละทิ้งอิสลามอย่างเด็ดขาด เพราะอิสลามคือชีวิตและจิตใจของท่านอิมามอะลี (อ.)
ขณะที่อิมามอะลี (อ.) ท่านอิมามอะลีได้ปรารภเสมอว่า “การปกครองสำหรับฉันมันไม่ได้มีค่ามากไปกว่ารองเท้าแตะคู่หนึ่ง” เป็นการมองของผู้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัดในการรู้จักอัลลอฮฺและความรักที่มีต่อพระองค์ ทุกสิ่งที่อยู่ ณ เบื้องหน้าของเขาจึงเป็นศูนย์หากเทียบกับความรักที่เขามีต่อองค์พระผู้อภิบาลของเขา ฉะนั้นจะเห็นว่าบรรดาผู้ปกตรองเหล่านั้นได้เรียนถามความรู้ต่างๆ จากท่านอิมามอะลีอย่างไม่ว่างเว้นและท่านอิมามก็ได้ตอบและอธิบายแก่พวกเขาอย่างไม่มีการปิดบัง ท่านอิมามทราบดีว่าสิ่งสำคัญที่ต้องดำรงอยู่คือคำสอนและแบบฉบับของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่ใช่ความจอมปลอมแห่งอารมณ์และอำนาจ ท่านอุมัรฺค่อลิฟะฮฺที่สองจึงได้พูดถึงท่านอิมามอะลี (อ.)ว่า “หากไม่มีอะลี อุมัรฺต้องพินาศอย่างแน่นอน”
(لو لا علي لهلك عمر)
สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าวิชาการความรู้ และมรดกของอิสลามถูกปกป้องรักษาไว้โดย อหฺลุลบัยตฺ ของท่านศาสดาอย่างแท้จริงอัล-กุรอานกล่าวว่า “และเราได้ให้คัมภีร์ เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง และบางคนในหมู่พวกขาเป็นผู้เดินสายกลาง และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” [๓]
ثُمَّ أَوْرَثْنَا الْكِتَابَ الَّذِينَ اصْطَفَيْنَا مِنْ عِبَادِنَا فَمِنْهُمْ ظَالِمٌ لِّنَفْسِهِ وَمِنْهُم مُّقْتَصِدٌ وَمِنْهُمْ سَابِقٌ بِالْخَيْرَاتِ بِإِذْنِ اللَّهِ ذَلِكَ هُوَ الْفَضْلُ الْكَبِيرُ
ตามทฤษฎีของการปกครองหากวันนั้นท่านศาสดาไม่ทำการแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลีเป็นผู้ปกครอง แน่นอนการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ของท่านศาสดามีข้อบกพร่องดังที่อัล- กุรอานกล่าวว่า “หากเจ้าไม่ประกาศเท่ากับเจ้าไม่เคยประกาศสาส์นของฉันเลย” [๔]
ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่อัล-กุรอานอย่างเดียวที่มองว่า (หากท่านศาสดาไม่ประกาศการแต่งตั้ง) มันจะเป็นความผิดพลาด แม้แต่นักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิมก็มองว่าสิ่งนี้เป็นความผิดพลาดด้วยเช่นกัน ดังบทวิเคราะห์ที่กล่าวว่า “สิ่งเดียวที่ท่านมุฮัมมัดได้ละเลยและก่อให้เกิดผลเสียมิใช่น้อย ได้แก่การมิได้แต่งตั้งผู้สืบต่อจากท่าน คำว่าผู้สืบทอดนี้ในภาษาอาหรับเรียกว่า คอลีฟะฮ์ ซึ่งเราเรียกเพี้ยนเป็นกาหลิบ การที่ท่านมุฮัมมัดมิได้ตั้งคอลีฟะฮ์ไว้ก็อาจเป็นเพราะว่าท่านมีความถ่อมตน ถือว่าหน้าที่แต่งตั้งคอลีฟะฮ์เป็นของอัลลอฮ์ มิใช่ของท่านอย่างไรก็ตามเมื่อท่านสิ้นชีวิตลงโดยไม่มีผู้สืบทอดต่อก็ก่อให้เกิดปัญหาการคัดเลือกผู้เหมาะสม แม้ว่าจะได้มีการลงมติเลือกให้ท่านอบูบักร์ เพื่อนสนิทของท่านเป็นคอลีฟะฮ์ แต่ก็มีผู้ไม่พอใจมตินี้ และเห็นควรให้อาลีบุตรเขยของท่านดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์มากกว่า พวกนี้ได้ชื่อว่าเป็นว่า “พรรคของอาลี” หรือ ชีอะห์ ซึ่งในที่สุดก็แตกแยกออกมาเป็นนิกายใหม่ของศาสนาอิสลาม การแตกแยกดังกล่าวคงจะไม่เกิดขึ้นหากท่านมุหัมมัดได้สั่งออกมาอย่างเด็ดขาดว่าจะให้ผู้ใดสืบต่อจากท่าน ”[๕]
มีคำถามอยู่ว่าพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่ทราบถึงผลเสียข้อนี้หรือ หรือไม่ได้ตระหนักว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนท่านทราบเป็นอย่างดีจึงได้มีบัญชาให้ท่านศาสดาประกาศการแต่งตั้งให้ท่านอิมามอะลีเป็นค่อลิฟะฮฺดำรงตำแหน่งปกครองสืบต่อ ซึ่งถือว่าเป็นผลงานอันยิงใหญ่ชิ้นสุดท้ายก่อนที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะอำลาโลกไปอย่างถาวร
เชิงอรรถ
[๑] ซูเราะฮฺ อัตตีน / ๔
[๒] หุจรอต / ๑๓
[๓] ฟาฎอรฺ / ๓๒
[๔] มาอิดะฮฺ / ๖๗
[๕] อารยธรรมตะวันออก หน้าที่ ๕๙ ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์