การถือกำเนิดศาสดาอีซาในไบเบิลและอัลกุรอาน
เนื่องในวโรกาสครบรอบปีการถือกำเนิดของศาสดาอีซา (อ)
การเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) ซึ่งจะมีการจัดขึ้นทุกปีในวันที่ 25 December หรือตรงกับปฏิทินไทยคือวันที่ 25 ธันวาคม เป็นที่รู้จักกันดีในนามวันคริสต์มาส ประวัติความเป็นมาของวันคริสต์มาส (การเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู) ถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 330 และสำนักคริสตจักรของแผ่นดินในภูมิภาคตะวันออก มีการจัดงานเฉลิมฉลองนี้อย่างเป็นทางการในช่วงศตวรรษที่ 6
ตำนานวันคริสต์มาส
คำว่า “คริสต์มาส” เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า “บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า” ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas
เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร?
วันที่ 25 ธันวาคม ในยุคโรมันโบราณตรงกับการเฉลิมฉลองการไหว้บูชารูปเคารพในนามวันเกิดของสุริยะเทพผู้อยู่ยงคงกระพัน นักประวัติศาสตร์บางคนได้กล่าวว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์ที่ให้แสงสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ.330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย
พระเยซูหรือศาสดาอีซา (อ.) ถือกำเนิดในสภาวะเงื่อนไขที่ชาวยิว (ยะฮูดี) กำลังรอคอยและเฝ้าติดตามการมาของพระเยซูเพื่อที่จะสร้างความพ่ายแพ้ให้แก่กองกำลังแห่งความชั่วร้ายและมุ่งรอคอยการสร้างอาณาจักรการปกครองใหม่ โดยทั่วไปแล้วสามารถกล่าวได้ว่า ชาวยิวในยุคสมัยนั้นมีมุมมองในการรอคอยและความหวังในการมาของพระเยซูในรูปที่แตกต่างกันไป บางกลุ่มเชื่อว่าท่านจะต้องมาในฐานะเป็นกษัตริย์นักรบ และบางกลุ่มกำลังรอคอยการมาของบุคคลผู้ซึ่งยึดมั่นอย่างมั่นคงต่อคัมภีร์เตารอตของศาสดามูซา (อ.) หรือโมเสส และบางกลุ่มก็คิดว่าท่านจะต้องเป็นบุรุษผู้เคร่งครัดในการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระเจ้า พระเยซูหรือท่านศาสดาอีซา (อ.) ถือกำเนิดในสภาวการณ์และสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักค้นคว้าวิจัยต่างมีทัศนะตรงกันว่าท่านถือกำเนิดก่อนปีคริสต์ศักราชเป็นเวลาถึงสี่ปี
การถือกำเนิดของพระเยซูในคัมภีร์ไบเบิล (อินญีล)
ในคัมภีร์ไบเบิล : มัททิว บทที่ 1 โองการที่ 18 ถึง 25 ได้เล่าถึงการถือกำเนิดของพระเยซูในยุคสมัยของ Herod the Great หรือ เฮโรดมหาราชแห่งยูเดีย ไว้เช่นนี้ว่า:
1:18 เรื่องพระกำเนิดของพระเยซูคริสต์เป็นดังนี้ คือ มารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้ว ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้วด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์
1:19 แต่โยเซฟสามีของเธอเป็นคนชอบธรรม ไม่พอใจที่จะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ หมายจะถอนหมั้นเสียลับๆ
1:20 แต่เมื่อโยเซฟยังคิดในเรื่องนี้อยู่ ดูเถิด มีทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟ บุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์
1:21 เธอจะประสูติบุตรชาย แล้วเจ้าจะเรียกนามของท่านว่า เยซู เพราะว่าท่านจะโปรดช่วยชนชาติของท่านให้รอดจากความผิดบาปของเขาทั้งหลาย”
1:22 ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตรัสไว้โดยศาสดาพยากรณ์ (อิสยาห์) ว่า
1:23 ดูเถิด หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่า อิมมานูเอล ซึ่งแปลว่า พระเจ้าทรงอยู่กับเรา
1:24 ครั้นโยเซฟตื่นขึ้นก็กระทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งเขานั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา
1:25 แต่มิได้สมสู่กับเธอจนประสูติบุตรชายหัวปีแล้ว และโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่า “เยซู”
การถือกำเนิดของอีซา บุตรของมัรยัม ในคัมภีร์อัลกุรอาน
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นเดียวกัน ในบทอาลิอิมรอน และบทที่เกี่ยวกับเรื่องราวการถือกำเนิดของท่านศาสดาอีซา (อ.) หรือพระเยซู ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถพิจารณาดูได้ในโองการ (อายะฮ์) ที่ 16 ถึง 35 จากอัลกุรอาน บท (ซูเราะฮ์) มัรยัม ซึ่งกล่าวว่า
และจงกล่าวถึง (เรื่องของ) มัรยัมที่อยู่ในคัมภีร์ เมื่อนางได้ปลีกตัวออกจากหมู่ญาติของนาง ไปยังมุมหนึ่งทางตะวันออก (ของบัยตุลมักดิส(
แล้วนางได้ใช้ม่านกั้นให้ห่างพ้นจากพวกเขา แล้วเราได้ส่งวิญญาณของเรา (ญิบรีล) ไปยังนาง แล้วเขาได้จำแลงตนแก่นางให้เป็นชายอย่างสมบูรณ์
นางกล่าวว่า “แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีให้พ้นจากท่านหากท่านเป็นผู้ยำเกรง”
เขา (ญิบรีล) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นเพียงทูตแห่งพระเจ้าของเธอ เพื่อฉันจะให้ลูกชายผู้บริสุทธิ์แก่เธอ”
นางกล่าวว่า “ฉันจะมีลูกได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่มีชายใดมาแตะต้องฉันเลย และฉันก็มิได้เป็นหญิงชั่ว”
เขา (ญิบรีล) กล่าวว่า “กระนั้นก็เถิด พระเจ้าของเธอตรัสว่า มันง่ายสำหรับข้า และเพื่อเราจะทำให้เขาเป็นสัญญาณหนึ่งสำหรับมนุษย์และเป็นความเมตตาจากเรา และนั่นเป็นกิจการที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
แล้วนางได้ตั้งครรภ์ และนางได้ปลีกตัวออกไปพร้อมกับบุตรในครรภ์ ยังสถานที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง
ความเจ็บปวดใกล้คลอดทำให้นางหลับไปที่ใต้ต้นอินทผลัม นางได้กล่าวว่า “โอ้! หากฉันได้ตายไปเสียก่อนหน้านี้ และฉันเป็นคนไร้ค่าถูกลืมเสียก็จะดี”
ดังนั้น เขา (มะลัก) ได้เรียกนางทางเบื้องล่างต้นอินทผลัมว่า “อย่าได้เศร้าเสียใจ แน่นอน พระเจ้าของเธอทรงจัดลำธารไว้เบื้องล่างเธอแล้ว
“และจงเขย่าต้นอินทผลัม ให้มันเอนมาทางตัวเธอ มันจะหล่นลงมาที่ตัวเธอ เป็นอินทผลัมที่สุกน่ากิน”
“ฉะนั้น จงกิน จงดื่ม และจงทำจิตใจให้เบิกบานเถิด หากเธอเห็นมนุษย์คนใดก็จงกล่าวว่า ฉันได้บนการสงบนิ่งไว้ต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานีฉันจะไม่พูดกับผู้ใดเลยวันนี้”
(หลังจากที่นางได้ให้กำเนิดบุตร) แล้ว นางได้พาเขามายังหมู่ญาติของนางโดยอุ้มเขามา พวกเขากล่าวว่า “โอ้ มัรยัมเอ๋ย! แท้จริงเธอได้นำเรื่องประหลาดมาแล้ว”
“โอ้ น้องหญิงของฮารูน พ่อของเธอมิได้เป็นชายชั่ว และแม่ของเธอก็มิได้เป็นหญิงไม่บริสุทธิ์”
นางชี้ไปทางเขา พวกเขากล่าวว่า “เราจะพูดกับผู้ที่อยู่ในเปลที่เป็นเด็กได้อย่างไร?”
เขา (อีซา) กล่าวว่า “แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี (ศาสดา(”
“และพระองค์ทรงให้ฉันได้รับความจำเริญ ไม่ว่าฉันจะอยู่ ณ ที่ใด และทรงสั่งเสียให้ฉันทำการนมาซและจ่ายซะกาต ตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่”
“และทรงให้ฉันทำดีต่อมารดาของฉัน และจะไม่ทรงทำให้ฉันเป็นผู้หยิ่งยโส ผู้เลวทรามต่ำช้า”
“และความศานติจงมีแด่ฉัน วันที่ฉันถือกำเนิดและวันที่ฉันตาย และวันที่ฉันถูกฟื้นขึ้นให้มีชีวิตใหม่”
นั่นคืออีซาบุตรของมัรยัม มันเป็นคำบอกเล่าที่เป็นจริง ซึ่งพวกเขายังมีความสงสัยกันอยู่
ไม่เป็นการบังควรสำหรับอัลลอฮ์ ที่พระองค์จะทรงตั้งผู้ใดเป็นพระบุตร มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงกำหนดกิจการใด พระองค์จะตรัสแก่มันว่า “จงเป็น” แล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา
ในพระวรสาร (คัมภีร์ไบเบิล) ของยอห์น (14:27 – 28) ได้อ้างคำพูดของพระเยซูหรืออีซา (อ.) โดยกล่าวว่า
14:27 เรามอบสันติสุขไว้ให้แก่ท่านแล้ว สันติสุขของเราที่ให้แก่ท่านนั้น เราให้ท่านไม่เหมือนโลกให้ อย่าให้ใจของท่านวิตกและอย่ากลัวเลย
14:28 ท่านได้ยินเรากล่าวแก่ท่านว่า “เราจะจากไปและจะกลับมาหาท่านอีก” ถ้าท่านรักเรา ท่านก็จะชื่นชมยินดี (ต่อข่าวนี้(…
แหล่งข้อมูล :
http://www.mehrnews.com/fa/NewsDetail.aspx?NewsID=269501
http://www.neoxteen.com/bible/มัทธิว/
http://software77.com/onlinebibles/thai/40_001.htm
http://thaipope.org/webbible/43_014.htm
http://hilight.kapook.com/view/18771
http://www.alquran-thai.com/ShowSurah.asp
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ