บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 1
“อัลอาดิล” (ผู้ทรงความยุติธรรม) เป็นคุณลักษณะหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า (ศีฟัต) แต่ทำไมศิฟัตนี้ จึงถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในรากฐานของศาสนา (อูศูลุดดีน)
เหตุผลประการหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่มีข้อโต้แย้งมากที่สุด ในที่นี้การอธิบายความยุติธรรมของพระเจ้านั้น ประเด็นหลักของความขัดแย้ง ( เรื่องความดี ความชั่ว และเรื่อง กอฎอ กอดัร "การกำหนดสภาวะ" )นั้น ที่มีทัศนะสุดโต่งมีอยู่สองจำพวก และอีกทัศนะหนึ่ง ยึดหลักทางสายกลาง
ทัศนะกลุ่มแรก คือ กลุ่ม “อาชาอิเราะฮฺ”
“อาชาอิเราะฮฺ"กลุ่มนี้ มีทัศนะในเรื่อง "กอฎอ กอดัร" แบบ “ญับรฺ”
แบบ “ญับรฺ” มีความเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีสิทธ์เลือกทำอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างอัลลอฮ์ (ซ.บ) เป็นผู้กำหนด
กลุ่ม"อาชาอิเราะฮฺ” ปฏิเสธเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร) ของมนุษย์ อย่างสิ้นเชิง โดยอธิบายว่า มนุษย์ไม่มีสิทธิ์เลือกกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดอย่างอิสระเสรี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกกำหนดโดยพระเจ้า เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างพระองค์เป็นผู้ทรงกำหนดโดยที่มนุษย์ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆได้ พวกเขาจึงดำเนินชีวิตไปตามยถากรรม ไม่มีความกระตือรือร้นขวนขวายใดๆ เมื่อมีความเชื่อแบบนี้ พวกเขาก็นำไปสู่การปฏิเสธสิทธิในการเลือกของมนุษย์ (อิคติยาร)
ซึ่งทัศนะนี้ เราได้วิพากษ์และชี้ให้เห็นแล้วว่า แท้จริงมนุษย์มีอิสระเสรีในการเลือก ซึ่งเราได้พิสูจน์ด้วย "อิลมุลฮูศูรี" (ความรู้ที่มนุษย์รู้ได้ด้วยตัวเอง) คือ ความรู้โดยตัวตนของมนุษย์ เขามีสิทธิในการเลือก เป็นความรู้ที่อยู่ด้านในตัวตนของมนุษย์ เป็นความรู้ที่ไม่ต้องมีใครบอกกล่าวสั่งสอน เป็นการรับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆของมนุษย์เอง เช่น ความสุข ความสงบ ความเศร้าโศกเสียใจ ความเบิกบาน ฯลฯ
เรารับรู้ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ด้วยตัวเราเองว่ามันมีอยู่ และในเรื่องของ “อิคติยาร” (อิสระะเสรีในการเลือก) ก็เช่นกัน เรารับรู้ได้ว่าเรามีสิทธิในการเลือก เช่น เมื่อเข้าสู่วัยที่สมควรต่อการแต่งงาน ไม่มีใครมาบังคับให้เราแต่งงานกับใคร หรือกำหนดวันเวลาในการแต่งงาน หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง มนุษย์โดยตัวตนของเขานั้น เขารู้ว่าเขามีสิทธิเลือกในการกระทำสิ่งต่างๆ เช่น เขาเลือกเรียนด้านศาสนาหรือเรียนด้านอื่นๆ ทั้งหมดล้วนมาจากการเลือกอย่างเสรี (อิคติยาร) โดยตัวของมนุษย์
โดยตัวตนมนุษย์รู้ว่า เขามีสิทธิทำสิ่งต่างๆ แต่บางครั้งการที่มนุษย์ไม่สามารถทำบางประการได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะเลือก เขามีสิทธิที่จะเลือก เพียงแต่เขาไม่มีความสามารถเพียงพอ เขายังไม่เข้มแข็งพอในการทำสิ่งนั้นๆ
ดังนั้น เมื่อกลุ่มนี้มีทัศนะปฏิเสธ “อิคติยาร” ความคิดริเริ่มในการจะเปลี่ยนแปลง สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อพวกเขาเชื่อว่า หากจะมีอะไรเกิดขึ้น พระเจ้าก็จะบันดาลให้กับเขา
สมมุติ : บุคคลหนึ่งจะร่ำรวยขึ้นมา พระองค์ก็จะบันดาลให้บุคคลนั้นร่ำรวยขึ้นมา ในประเด็นนี้ มีฮะดิษบทหนึ่งรายงานว่า
“พระองค์จะไม่ทรงกำหนดภาระใดๆนอกจากต้องมีสาเหตุเริ่มของมัน และ”อิคติยาร” ก็เป็น สาเหตุหนึ่ง”
ทัศนะที่สอง คือ กลุ่ม“มุฮฺตะซิละฮฺ”
“มุฮฺตะซิละฮฺ” มีทัศนะเรื่องในเรื่อง "กอฎอ กอดัร" แบบ “ตัฟวีฎ”
แบบ “ตัฟวีฎ” มีความเชื่อที่ตัดขาดจากอำนาจการอภิบาลของอัลลอฮ์ (ซ.บ) มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร) อย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งพิงพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด
สมมุติ : ถ้ามนุษย์เลือกกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เขาก็จะได้รับผลจากการกระทำนั้นๆ พระเจ้าไม่ได้เข้าแทรกแซงเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ คือ เชื่อว่า ต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ปฏิเสธการเป็นผู้กำหนดผลของการกระทำของอัลลอฮ์(ซบ) เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์เสร็จแล้วประองค์จะไม่ยุ่งเกี่ยวใดๆอีก แต่หากเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์หรือผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น แม้บางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์เลือกกระทำเองแล้วและตั้งใจกระทำอย่างดี แต่ผลลัพธ์ในสิ่งนั้นกลับยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ได้รับผลจากการกระทำนั้นๆตามที่หวังกันทุกคน
ตัวอย่าง :
สมมุติ บุคคลหนึ่ง ขยันขันแข็งในการทำงานอย่างหนักเพื่อหวังความมั่งคั่ง แต่เขาอาจยังคงจนอยู่เหมือนเดิม ไม่ร่ำรวยเหมือนบางคน หากพิจารณาจากตรรกะทั่วไป เหตุเป็นเช่นใดผลของของมันย่อมเป็นเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงในชีวิตมนุษย์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
กรณีสมมติฐานข้างต้น บุคคลที่ทำงานหนักกลับไม่ใช่บุคคลที่ร่ำรวยกันทุกคน เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีที่มีความเชื่อในการเลือกและรับผลของมันเองอย่างสมบูรณ์ โดยพระเจ้าไม่ได้เข้าแทรกแซงใดๆ จึงเป็นทัศนะที่ขัดกับความเป็นจริง เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้กลับทำให้ มนุษย์สามารถรับรู้ได้ว่า อำนาจในการเลือกและผลของมันนั้น แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว เพราะอำนาจที่แท้จริงนั้นเป็นของพระองค์ผู้ทรงอภิบาล ทรงควบคุมและทรงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านั้น
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี