คุณลักษณะทางด้านจริยธรรมที่สำคัญสองประการที่มุสลิมเราทุกคนจำเป็นต้องมี และถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การดำเนินชีวิตและสัมพันธภาพทางสังคมของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความดีงามและมีความสงบสุข นั่นก็คือ 1) การรักษาอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ในสิ่งที่ได้รับมอบหมาย และ 2) การรักษาความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ในการตัดสินต่างๆ ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงตรัสว่า
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้พวกท่านปฏิบัติตามความไว้วางใจทั้งหลายของเจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จงตัดสินด้วยความยุติธรรมเถิด แท้จริงช่างดีงามเสียยนี่กระไรที่อัลลอฮ์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงได้ยินอีกทั้งทรงมองเห็น” (ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/58)
คำว่า “อะมานะฮ์” (ของฝากให้ช่วยดูแลหรือความไว้วางใจ) มีความหมายที่กว้างขวางและครอบคลุมทุกๆ ความไว้วางใจที่มนุษย์มอบให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ในสิ่งที่เป็นวัตถุหรือไม่ใช่วัตถุ (เช่นเรื่องราวที่ขอให้ปกปิดเป็นความลับ) และตามคำชี้ชัดของโองการนี้มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องรักษาและปฏิบัติตามอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) โดยไม่มีสิทธิ์บิดพลิ้ว ไม่ว่าเจ้าของ (ผู้ฝาก) อะมานะฮ์นั้นจะเป็นมุสลิมหรืไม่ใช่มุสลิมก็ตาม และไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นคนดีมีคุณธรรมหรือจะเป็นคนชั่วก็ตาม
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ท่านจงอย่าบิดพลิ้วต่อบุคคลที่ไว้วางใจในตัวท่าน ถึงแม้เขาจะบิดพลิ้วท่านก่อนก็ตาม และจงอย่าเปิดเผยความลับของเขา ถึงแม้เขาจะเปิดเผยความลับของท่านก่อนก็ตาม” (มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 345)
ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า “สามสิ่งที่อัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ไม่ทรงกำหนดข้อผ่อนปรนแก่ผู้ใดในสิ่งเหล่านั้นเลย นั่นคือ 1) การปฏิบัติตามความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) ทั้งต่อคนดีและคนชั่ว 2) การรักษาคำมั่นสัญญาทั้งต่อคนดีและคนชั่ว และ 3) การปฏิบัติดีต่อผู้ให้กำเนิดทั้งสองไม่ว่าบุคคลทั้งสองจะเป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วก็ตาม” (มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 344)
และท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “แท้จริงผู้ที่ฟันท่านอะลีด้วยดาบและสังหารท่าน หากเขาได้มอบหมายความไว้วางใจต่อฉัน ขอให้ฉันแนะนำตักเตือนและขอคำปรึกษาหารือจากฉัน โดยที่ฉันได้ตอบรับสิ่งเหล่านั้นต่อเขา แน่นอนยิ่งฉันย่อมจะต้องปฏิบัติตามความไว้วางใจต่อเขา” (มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 345)
ในความเป็นจริงแล้วโองการอัลกุรอ่านข้างต้น และบรรดาฮะดีษ (วจนะ) เหล่านี้ คือคำแถลงการณ์หรือปฏิณญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนประการหนึ่งของอิสลามที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในเรื่องของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ที่จะต้องได้รับการพิทักษ์รักษาและปฏิบัติตาม
ในเรื่องของ “อะดาละฮ์” หรือการมีความยุติธรรมในการตัดสินก็เช่นเดียวกัน เป็นกฎเกณฑ์สากลอย่างหนึ่งที่ครอบคลุมทุกๆ การตัดสินและการปกครอง และไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตหรือเรื่องเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังตัวอย่างของคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งที่กล่าวว่า
วันหนึ่งเด็กสองคนได้มาหาท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) เพื่อให้ช่วยตัดสินลายมือในการเขียนหนังสือของพวกเขาว่าของใครสวยกว่ากัน ท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงพูดกับลูกชายของตนในทันที่ทันใดว่า “โอ้ลูกรัก! จงพิจารณาให้ดีว่าเจ้าจะตัดสินอย่างไร? เพราะแท้จริงสิ่งนี้ก็คือการตัดสินอย่างหนึ่ง และอัลลอฮ์จะทรงสอบถามเจ้าเกี่ยวกับมันในวันกิยามะฮ์” (มัจญ์มะอุลบะยาน, เล่มที่ 3, หน้า 64)
กรณีลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นเสมอในการดำเนินชีวิตของเรา เช่น เพื่อนสองคนของเราเกิดทะเลาะกันหรือมีข้อพิพาทกัน เยาวชนหรือลูกๆ ของเราที่มีเรื่องกับลูกๆ ของคนอื่น หรือแม้แต่ตัวเราเองเมื่อมีกรณีพิพาทและขัดแย้งไม่ลงรอยกับผู้อื่น จะต้องมองปัญหาและตัดสินด้วยความยุติธรรม แน่นอนยิ่งว่าในการใช้ชีวิตร่วมกันแบบสังคม ย่อมมีการกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและการตัดสินที่มีความยุติธรรมและไม่ลำเอียง โดยจะต้องไม่คำนึงถึงตัวเองและพวกพ้องของตนว่าสำคัญกว่า
เกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) และการดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นมีฮะดีษ (วจนะ) จากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้กล่าวไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ตัวอย่างเช่น
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงอย่าพิจารณาเพียงแค่การรุกูอ์และการซุญูดที่ยาวนานของคน เพราะสิ่งนั้นสามารถฝึกฝนจนกลายเป็นความเคยชิดได้ โดยที่หากเขาละทิ้งมันจะทำให้รู้สึกเป็นกังวล แต่ทว่าพวกท่านจงพิจารณาดูคนที่ความสัจจริงในคำพูดของเขา และการรักษาอะมานะฮ์ของเขา” (นูรุษษะกอลัยน์, เล่มที่ 1, หน้า 496)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “เครื่องหมายของผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) มีสามประการคือ เมื่อเขาพูดเขาก็พูดโกหก และเมื่อเขาสัญญาเขาก็ละเมิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็บิดพลิ้ว” (มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 10, หน้า 153)
อย่างไรก็ดี อะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของทรัพย์สินที่มนุษย์มอบหมายและฝากไว้ให้ดูรักษาเพียงเท่านั้น วิชาความรู้ที่ผู้รู้ (อาลิม) มีอยู่ก็ถือเป็นอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) อย่างหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ หากปิดบังและไม่ยอมสั่งสอนแก่ผู้อื่นก็นับว่าเป็นการบิดพลิ้วต่ออะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) ที่ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน หน้าที่ของพ่อแม่นั้นไม่ใช่แค่เพียงเลี้ยงดูลูกๆ ให้เจริญเติบโตเฉพาะด้านร่างกายเท่านั้น แต่อะมานะฮ์ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การให้อาหารทางด้านจิตวิญญาณแก่ลูกๆ อันได้แก่การอบรมสั่งสอนและการขัดเกลาพวกเขาให้มีความรู้ในศาสนาและมีจริยธรรมตามแบบอิสลาม
ชีวิต อายุขัย พละกำลังและสุขภาพร่างกาย รวมทั้งอวัยวะทุกๆ ส่วนในร่างกายของคนเรา ก็คือคืออะมานะฮ์จากพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องระวังรักษาและใช้มันไปอย่างระมัดระวังในหนทางที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นแล้วก็ถือเป็นการบิดพลิ้วต่ออะมานะฮ์เช่นกัน
ตัวอย่างของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของความยุติธรรม (อะดาละฮ์) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “การดำรงความยุติธรรมเพียงชั่วโมงเดียว ดีกว่าการทำอิบาดะฮ์ถึงเจ็ดสิบปีด้วยการนมาซในยามค่ำคืนและการถือศีลอดในช่วงกลางวันของมัน และความอธรรมเพียงชั่วโมงเดียวในการตัดสินนั้นเป็นสิ่งที่ร้ายแรง ณ อัลลอฮ์ ยิ่งกว่าการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ ถึงเจ็ดสิบปี” (มีซานุลฮิกมะฮ์, เล่มที่ 6, หน้า 79)
นี่คือส่วนหนึ่งจากโองการอัลกุรอานและบรรดาคำรายงาน (ริวายะฮ์) ของอิสลามที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอะมานะฮ์ (ความไว้วางใจ) และอะดาละฮ์ (ความยุติธรรม) ต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสิน และกฎเกณฑ์สำคัญทั้งสองประการนี้คือรากฐานของสังคมที่สงบสุขของมนุษย์ สังคมใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นสังคมของผู้ศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือไม่ว่าจะเป็นสังคมของพวกวัตถุนิยม หากปราศจากการดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งสองประการนี้แล้ว สังคมนั้นก็ไม่อาจพบกับความสงบสุขได้อย่างแน่นอน กล่าวคือ เมื่อบุคคลในสังคมขาดอะมานะฮ์ความไว้วางใจซึ่งกันและกันและขาดความยุติธรรม การพิทักษ์รักษาสิทธิต่างๆ ที่ถูกต้องชอบธรรมของบุคคลในสังคมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้.