บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 6
ทัศนะสายกลาง
ทัศนะนี้ คือ แนวคิดของกลุ่มชีอะห์ ซึ่งเราได้อรรถธิบายในอัดลฺอิลาฮี 1 มาแล้ว โดยยกฮาดิษของอิมามศอดิก (อ) ความว่า
“لاجبرولاتفویض ولکن امر بین الامرین”
“ไม่ใช่ทั้ง”ญับร์”{กลุมที่ปฏิเสธสิทธิเสรีในการเลือกของมนุษย์} และไม่ใช่ทั้ง “ตัฟวีฎ”{กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีในการเลือก โดยที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการงานของเขาอีก} แต่ทว่ามันคือเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสอง”
แนวคิดของกลุ่มชีอะห์ เป็นทัศนะที่เป็นทางสายกลาง ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์สามารถรับรู้และจำแนกความดีความชั่วได้
คำถาม : ทัศนะสายกลางนี้รับรู้และจำแนกความดีความชั่วได้ด้วยอะไร?
คำตอบ : ด้วยพลังแห่งฟิตรัต( มโนธรรม)และสติปัญญา
ฟิตรัต {มโนธรรม} คือ ความสำนึกทางศีลธรรมที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่โดยธรรมชาติ ความสำนึกนี้เป็นเสียงที่อยู่ภายใน จิตใจ เป็นจิตสำนึกที่จะบอกให้เรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด
ตัวอย่าง “ฟิตรัต (มโนธรรม)”
– เมื่อเรามองใบไม้ที่เป็นสีเขียว สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเรา เราก็รู้ได้โดยทันทีว่ามีสีเขียวอยู่ในใบไม้ การที่เราเห็นเป็นสีเขียวก็เพราะดวงตาเราเป็นผู้บอกเช่นเดียวกับลิ้นของเรา บอกเราได้ว่าน้ำตาลมีรสหวาน เมื่อน้ำตาลสัมผัสลิ้นเรา เราก็รู้ได้ทันทีว่า น้ำตาลมีรสหวาน
-เมื่อความกตัญญูปรากฏต่อมโนธรรมของเรา ตัวตนของเราก็รู้ได้โดยตรงว่า มันเป็นการกระทำดี เมื่อการโกหก ปรากฏต่อมโนธรรมของเรา เราก็รู้ได้โดยตรงว่า การกระทำนี้มีความเลวอยู่ในตัว
พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาพร้อมกับฟิตรัต
การสร้างมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า ชี้ถึงความสามารถเเละความรอบรู้อันสมบูรณ์เพียบพร้อมของพระองค์ จะเห็นได้ว่า เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์แล้ว ยังมอบพลังฟิตรัต ทำให้มนุษย์สามารถจำแนกแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ ซึ่งสองสิ่งนี้นอกจากไม่มีขอบเขตจำกัดแล้วยังสามารถพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้นและยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด การรับรู้และแยกแยะชั่วดี ก็สามารถลงลึกในรายละเอียดและสูงส่งมากขึ้นเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างทัศนะ
ในขณะที่แนวคิดหนึ่ง ไม่ยอมรับสติปัญญาของมนุษย์ว่า สามารถจำแนกแยกแยะและรับรู้ความดีและความชั่วได้ เท่ากับว่า แนวคิดนี้ปฏิเสธฟิตรัตและสติปัญญาของมนุษย์ เมื่อเชื่อว่าความดีความชั่วไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติแล้ว แน่นอนว่า บทบาทของฟิตรัตและสติปัญญา ย่อมจะไม่มีประโยชน์อันใดต่อมนุษย์
ประเด็นความแตกต่างระหว่างทัศนะจากนิยามความยุติธรรมทั้ง 4 จะเห็นได้ว่า นิยามที่ 3 และนิยามที่ 4 ของอัดลฺ (ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า) เป็นนิยามที่สมบูรณ์ ส่วนสองนิยามที่เหลือนั้นเป็นนิยามที่ยังไม่สามารถอธิบายความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ เพราะหากนิยามความยุติธรรม คือ ความเท่ากัน ความเหมือนกัน ความเสมอภาค อยู่ในความหมายเดียวกันหมด สังคมโดยรวมก็จะยุ่งเหยิง ตัวอย่างเช่น สังคมตะวันตกที่พยายามนำเสนอความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชายโดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสมทางธรรมชาติของเพศที่ต่างกัน
ดังนั้นแล้ว หากพิจารณาในรายละเอียด นิยามที่ 4 จึงเป็นนิยามที่ดีที่สุดและเกิดประโยชน์ต่อมนุษย์มากที่สุด
ตัวอย่างที่ 1: ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน
สมมติ เมื่อผู้ชายทำงานนอกบ้านได้ ทำงานก่อสร้างได้ เป็นประธานาธิบดีได้ หากใช้บรรทัดฐานจากนิยามความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ผู้หญิงย่อมสามารถทำเช่นนั้นได้เช่นเดียวกัน ทว่าหากพิจารณาการปฏิบัติให้เป็นอย่างเดียวกัน ผู้ชายทำอะไร ผู้หญิงก็ต้องทำเหมือนกัน แน่นอนว่า จะนำไปสู่การเกิดปัญหาต่างๆทั้งในครอบครัวและสังคมอย่างมากมาย ฉะนั้น สำหรับอิสลามไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความยุติธรรม เพราะเป็นความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแบบไม่มีวิทยปัญญาใดๆ
ตัวอย่างที่ 2
สมมติ ครูคนหนึ่งปฏิบัติกับนักเรียนทุกคนเหมือนกันโดยไม่แยกแยะนักเรียนที่ดีและนักเรียนที่ไม่ดี
คำถาม : ครูคนนี้มีความยุติธรรมหรือไม่?
คำตอบ : แน่นอนว่า ไม่ยุติธรรม เพราะจะเกิดปัญหาต่างๆนานาตามมาอย่างมากมาย เพราะนักเรียนทั้งหมดมีทั้งนักเรียนที่ขี้เกียจและขยัน นักเรียนที่ขี้เกียจบางคนไม่สำนึก ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และบางคนจะไม่มีวันได้พัฒนา เมื่อครูไม่แยกแยะในการปฏิบัติ ส่งผลทำให้นักเรียนที่ดี ที่ขยัน เกิดความท้อแท้และหมดกำลังใจ เฉกเช่นเดียวกันการปกครองในสังคม หากไม่เห็นความแตกต่าง ไม่จำแนกแยกแยะระหว่างคนดีกับคนไม่ดี ระหว่างคนขี้เกียจกับคนขยัน ส่งผลให้สังคมไม่เกิดการพัฒนา
ดังนั้น หากมีการแยกแยะตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้คนที่ขี้เกียจขยันขึ้น คนที่ขี้เกียจจะต้องถูกตำหนิ ถูกตักเตือน ถูกลงโทษ ส่วนคนที่ดีจะต้องได้รับการชื่นชม หรือสมควรได้รับรางวัล กรณีคนที่ขยันอยู่แล้ว สมควรเพิ่มขวัญและกำลังใจให้ปฏิบัติต่อไป
ความผิดพลาดของนิยามที่สอง ประเด็น “การไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น”
แม้นิยามนี้จะดีกว่านิยามแรกแต่ก็ยังมีข้อบกพร่อง เพราะสังคมมนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงเรื่องของ ‘สิทธิ’ เท่านั้น เพราะถ้าหากเน้นย้ำกันเพียงเรื่อง “สิทธิ” ของแต่ละปัจเจกแล้ว สังคมโดยรวมก็จะเต็มไปด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน
ในทัศนะอิสลาม สามีไม่มีสิทธิที่จะสั่งใช้ภรรยา ซักผ้า หุงข้าว ล้างจาน ทำงานบ้าน หากมีบังคับ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ เช่นเดียวกับฝ่ายสามีก็มีสิทธิมากมาย เช่น หากสามีต้องการจะมีภรรยาสี่คน ภรรยาไม่มีสิทธิห้าม หรือกรณีอื่นๆ
คำถาม หากเป็นเช่นนี้ อะไรจะเกิดขึ้นภายในครอบครัว?
คำตอบ จากการอ้างสิทธิกันเต็มที่ ย่อมเกิดความวุ่นวาย ความผูกพันและความสงบสุขของครอบครัวจะไม่เกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่า บางครั้งการเน้นย้ำในเรื่องสิทธิ์จนเลยเถิด เป็นส่วนหนึ่งของความบกพร่อง ด้วยเหตุนี้นิยามที่ 2 จึงไม่ถูกนำมาใช้อธิบายความยุติธรรม
นิยามที่สาม ประเด็น “การให้สิทธิตามที่ควรจะได้รับ”
ตัวอย่าง การได้สิทธิระหว่างเด็กดีกับเด็กไม่ดี
สมมติ มีนักเรียนสองคน คนหนึ่งเป็นเด็กดีกับอีกคนหนึ่งเป็นเด็กไม่ดี ในเรื่องการได้สิทธิ ครูปฏิบัติกับนักเรียนทั้งสองคนไม่เหมือนกัน กรณีนักเรียนที่ดี ครูให้สิทธิพิเศษอย่างมากมายและง่ายดาย ส่วนเด็กที่ไม่ดีอาจจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ หรืออาจจะได้ยากกว่า เช่นนี้แล้ว เราจะกล่าวได้ไหมว่าครูไม่ยุติธรรม?
แน่นอนว่า ไม่ได้ เพราะมีประเด็นความเหมาะสมเข้ามาให้พิจารณาด้วย หรือตัวอย่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล คู่กรณีขัดแย้งกันเรื่องสิทธิในที่ดิน
คำถาม : เรื่อง สิทธิในที่ดิน ศาลจะตัดสินแบ่งให้ฝ่ายละครึ่งทันทีเพื่อความเท่าเทียมกันได้หรือไม่? และเช่นนี้แล้ว จะถือว่า ศาลได้ตัดสินคดีความนี้ยุติธรรมแล้วหรือไม่?
คำตอบ คือ ไม่ได้ เพราะความเท่าเทียมกันไม่ใช่ความยุติธรรมเสมอไป ในที่นี้สิทธิในทรัพย์สินของแต่ละฝ่ายอาจไม่เท่ากันก็ได้
ดังนั้น การตัดสินจะต้องนำนิยามข้อที่สามมาพิจารณา เพื่อพิสูจน์ว่าสิทธิที่แท้จริงเป็นของฝ่ายใด หากพิสูจน์แล้ว เห็นว่าเป็นของฝ่ายเดียวก็จะต้องยกให้ฝ่ายนั้นทั้งหมด ตามสิทธิของเขา ไม่ใช่นำมาแบ่งเท่าๆกัน
ลำดับต่อไป หากถามว่า ทำไมความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องยึดนิยามข้อที่สี่เป็นหลัก ซึ่งหมายความถึง “การวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะของมัน” ทำไมไม่ใช้นิยามข้อที่สามเป็นหลัก?
คำตอบ : เพราะนิยามข้อที่สาม พูดถึงเรื่องสิทธิเป็นหลัก แต่นิยามข้อที่สี่ไม่ได้พูดถึงเพียงคำว่า “สิทธิ”เท่านั้น ทว่ายังมีองค์ประกอบอื่นรวมอยู่ด้วย
กรอบคิด คือ แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่มีสิทธิใดๆเหนือพระองค์
มนุษย์ คือ บ่าวทาสของพระองค์ ไม่มีสิทธิจะอ้างอะไรกับพระองค์ แต่พระองค์ก็ให้สิทธิบางอย่างให้แก่มนุษย์ หากเขาทำความดี พระองค์ก็จะตอบแทนในสิ่งที่ดี ด้วยการให้รางวัล หรือมอบสวรรค์แก่เขา
ดังนั้น หากจะกล่าวถึงความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า นิยามที่สี่ จึงเป็นนิยามที่สมบูรณ์ที่สุด