เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 37
Email
0 ทัศนะต่างๆ 0.0 / 5
บทความต่างๆ ›
หลักศรัทธา ›
หลักศรัทธา ›
หลักศรัทธา
จัดพิมพ์ใน
2017-02-27 11:31:10
ผู้เขียน:
ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี
บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 37
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวกับการตั้งภาคีจากทัศนะของอัลกุรอาน
1.อัลกุรอานได้ปฏิเสธการมีภาคีในทุกรูปแบบต่อพระองค์ไว้อย่างชัดแจ้ง โดยได้กำชับให้ทุกย่างก้าวชีวิตของมนุษย์ต้องเป็นไปเพื่อพระองค์เท่านั้น
ซูเราะฮ์อัลอันอาม โองการที่ 162 163
قُلْ إِنَّ صَلَاتىِ وَ نُسُكِى وَ محَْيَاىَ وَ مَمَاتىِ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِين ، لَا شرَِيكَ لَهُ وَ بِذَالِكَ أُمِرْتُ وَ أَنَا أَوَّلُ المُْسْلِمِين
“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด (ศ็อล) แท้จริงการนมาซของฉันและการอิบาดัตของฉันและการมีชีวิตของฉันและการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ) พระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล”
“ไม่มีภาคีใดๆแก่พระองค์และด้วยสิ่งนั้นแหละข้าพระองค์ถูกบัญชาและข้าพระองค์คือบุคคลแรกจากหมู่ผู้สวามิภักดิ์ทั้งหลาย”
โองการดังกล่าวท่านศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) ได้รับบัญชาให้ประกาศถึงความความบริสุทธิ์ที่สมบูรณ์ต่อการเคารพภักดี“อิบาดัต” และหลังจากนั้นได้อธิบายอีกว่า ไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธภาคีทุกประเภท เช่น
-ภาคีในอาตมันของพระองค์
-ภาคีในการกระทำของประองค์
-ภาคีในการอิบาดัตต่อพระองค์
-ภาคีในการอภิบาลของพระองค์
-ภาคีในการสร้างของพระองค์
-ภาคีในการวางบทบัญญัติของพระองค์
กล่าวโดยรวมคือ พระองค์บริสุทธิ์จากทุกภาคี และอัลกุรอานอีกจำนวนหนึ่งปฏิเสธการมีหุ้นส่วนการมีภาคีในอำนาจการปกครองของพระองค์
ตัวอย่าง ในซูเราะฮ์อัลอิสรออ์ โองการที่ 111
وَ قُلِ الحَْمْدُ لِلَّهِ الَّذِى لَمْ يَتَّخِذْ وَلَدًا وَ لَمْ يَكُن لَّهُ شَرِيكٌ فىِ الْمُلْكِ وَ لَمْ يَكُن لَّهُ وَلىٌِّ مِّنَ الذُّلِّ وَ كَبرِّْهُ تَكْبِيرَا
“และจงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด การสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ (ซบ) ซึ่งไม่ทรงตั้งพระบุตรและมีภาคีใดๆรวมกับอำนาจของพระองค์”
2.การตั้งภาคี คือ ความเชื่อที่ไม่มีรากฐานที่มั่นคงใดๆ จากทัศนะของอัลกุรอาน การตั้งภาคีทั้งหมดมาจากรากฐานที่ไม่มีวิทยะปัญญาใดๆ
ตัวอย่าง :
ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 151
سَنُلْقِى فىِ قُلُوبِ الَّذِينَ كَفَرُواْ الرُّعْبَ بِمَا أَشرَْكُواْ بِاللَّهِ مَا لَمْ يُنزَِّلْ بِهِ سُلْطَنًا
“เราจะโยนความกลัวเข้าไปในหัวใจของบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้น เนื่องจากการที่พวกเขาให้มีภาคีแก่อัลลอฮ์ (ซบ) ซึ่งพระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆมายืนยันในสิ่งนั้น...”
ซูเราะฮ์อัลฮัญจ์ โองการที่ 71
وَ يَعْبُدُونَ مِن دُونِ اللَّهِ مَا لَمْ يُنزَِّلْ بِهِ سُلْطَانًا
“และพวกเขาเคารพภักดีสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ (ซบ) ซึ่งพระองค์มิได้ทรงประทานหลักฐานใดๆลงมาแก่พวกเขา”
สองโองการดังกล่าวได้ยืนยันว่าความเชื่อของบรรดาผู้ตั้งภาคี และวิถีชีวิตของพวกเขาวางอยู่บนความไร้แก่นสารและไร้วิทยะปัญญาใดๆ เป็นความเชื่อ เป็นวิถีชีวิตที่ไม่มีหลักฐานทางสติปัญญามารับรอง
3.การตั้งภาคี คือ บาปที่ไม่ได้รับการอภัย โองการอัลกุรอานจำนวนหนึ่งยืนยันว่าการตั้งภาคีเป็นบาปเดียวที่ไม่ได้รับการอภัย
ตัวอย่าง :
ซูเราะฮ์อันนิสาอ์ โองกางที่ 48
إِنَّ اللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِ وَ يَغْفِرُ مَا دُونَ ذَالِكَ لِمَن يَشَاءُ وَ مَن يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدِ افْترََى إِثْمًا عَظِيمًا
“แท้จริงอัลลอฮ์(ซบ)จะทรงไม่อภัยโทษแก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้ภาคีขึ้นแก่พระองค์และพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่สิ่งอื่นนอกจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮ์(ซบ)แน่นอนเขาได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น”
โองการดังกล่าวได้แยกการตั้งภาคีออกจากบาปอื่นๆถ้าหากเอาบาปต่างๆวางไว้บนตาชั่งฝั่งหนึ่งและการตั้งภาคีวางไว้บนตาชั่งอีกฝั่งหนึ่ง แน่นอนว่าการตั้งภาคีมีน้ำหนักที่มากกว่า
4.จุดจบของการตั้งภาคี
อัลกุรอานได้เตือนและแจ้งข่าวร้ายแก่บรรดาผู้ตั้งภาคีว่า จะประสบกับบั้นปลายที่เลวร้าย
ผลร้ายหนึ่งของการตั้งภาคี คือ จะทำให้อามั้ลการกระทำและรางวัลความดีของมนุษย์นั้นสูญเปล่า ถ้าหากบุคคลหนึ่งตลอดชีวิตเขาอยู่กับการปฏิบัติอิบาดัตต่ออัลลอฮ์(ซ.บ)และทำความดีต่างๆ แต่ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาได้ตั้งภาคีขึ้นกับอัลลอฮ์(ซ.บ)และได้จากโลกนี้ไปในสภาพของผู้ตั้งภาคี อัลกรุอานได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้ว่า การกระทำรางวัลแห่งความดีของเขาจะขาดทุนและสูญเปล่า
ตัวอย่าง :
ในซูเราะฮ์อัซซุมัร โองการที่ 65
وَ لَقَدْ أُوحِىَ إِلَيْكَ وَ إِلىَ الَّذِينَ مِن قَبْلِكَ لَئنِْ أَشْرَكْتَ لَيَحْبَطَنَّ عَمَلُكَ وَ لَتَكُونَنَّ مِنَ الخَْاسِرِين
“และแน่นอนเราได้มีวะฮีมายังเจ้า (มูฮัมหมัด) และมายังบรรดาศาสดาก่อนหน้าเจ้า หากเจ้าตั้งภาคีกับอัลลอฮ์ (ซบ) แน่นอนการงานของเจ้าก็จะสูญเปล่าและแน่นอนเจ้าจะอยู่ในหมู่ชนผู้ขาดทุน”
เป็นที่แน่นอนว่าเป้าหมายคู่สนทนาที่แท้จริงของพระองค์ คือ ประชาชาติของบรรดาศาสดาต่างๆ ทว่าเพื่อจะเน้นถึงผลร้ายของการตั้งภาคี อัลกุรอานจึงได้ยกตัวอย่างเช่น แม้แต่บรรดาศาสดา (ถึงแม้ว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้) หากเขาทำการตั้งภาคี ความเหน็ดเหนื่อยในการเผยแพร่และความดีทั้งหมดก็จะสูญเปล่าและสุดท้ายก็จะพบกับความขาดทุน
อัลกุรอานได้อธิบาย จุดจบของการตั้งภาคี คือ เขาจะตกเป็นชาวนรก ดั่งซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 72
إِنَّهُ مَن يُشرِْكْ بِاللَّهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَ مَأْوَاهُ النَّارُ وَ مَا لِلظَّلِمِينَ مِنْ أَنصَار
“แท้จริงผู้ใดก็ตามที่ตั้งภาคีแก่อัลลอฮ์ (ซ.บ) แน่นอนพระองค์จะให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา และที่พำนักของเขาคือนรก และจะไม่มีผู้ช่วยเหลือใดๆสำหรับบรรดาผู้อธรรม”
5.เมื่อเรารู้ถึงสาเหตุต่างๆของการเกิดชีริก จะเห็นได้ว่า การตั้งภาคีเกิดขึ้นอย่างมากมายและกว้างขวาง โดยเฉพาะการตั้งภาคีที่เกิดขึ้นจากน้ำมือบรรดาผู้นำ {ผู้ปกครอง} ที่อธรรม (ฏอฆูต) ซึ่งส่งผลกว้างขวางเป็นอย่างมาก
ดังนั้น ภารกิจแรก หรือหนึ่งในภารกิจกิจหลักของบรรดาศาสดา หลังจากที่เชิญชวนมนุษย์เข้าสู่การศรัทธาต่อพระเจ้าองค์เดียวแล้ว คือ การนำมนุษย์ออกห่างจากการตั้งภาคี
จะเห็นได้ว่า หนึ่งในสาเหตุหลักใหญ่ที่ทำให้เกิดการตั้งภาคีในสังคม มาจากผู้นำ{ผู้ปกครอง} ที่อธรรม “ฏอฆูต”
ตัวอย่าง :
ในซูเราะฮ์อันนะล์ โองการที่ 36 ได้กล่าว...
وَ لَقَدْ بَعَثْنَا فىِ كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللَّهَ وَ اجْتَنِبُواْ الطَّغُوتَ
“พระองค์ทรงส่งศาสดามาในทุกประชาชาติ เพื่อนำพวกเขาเข้าสู่การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ) และออกห่างจากผู้นำที่อธรรม (ฏอฆูต)”
ฏอฆูต หมายถึง ผู้นำที่เป็นศัตรูของศาสดา
ฏอฆูตมีอำนาจในการทำให้เกิดชีริกมาก(การตั้งภาคี) เช่น เมื่อฏอฆูตเห็นประชาชนเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาก็อยากให้ประชาชนเคารพภักดีพวกเขาด้วย ก็เลยนำตัวเองขึ้นเป็นหุ้นส่วนกับพระเจ้า โดยขึ้นปกครองเหมือนกับว่าเขาเป็นพระเจ้า ซึ่งฏอฆูตในที่นี้มีหลายรูปแบบ บางครั้งมาในรูปแบบของอวตารอ้างเป็นบุตรของพระเจ้า บางครั้งมาในรูปแบบการแบ่งภาค และบางครั้งที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก คือ การตั้งตนเป็นพระเจ้า ตัวอย่างเช่น “ฟิรอูน” ที่ประกาศตนเป็นพระเจ้า โดยกล่าวว่า “ฉันคือพระผู้อภิบาลผู้ทรงสูงส่ง”
ฏอฆูต คือ คนที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากอัลลอฮ์(ซบ)ในการปกครอง ทว่าต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายที่พระองค์ทรงส่งศาสดาไม่ได้ส่งมาแย่งชิงอำนาจของฏอฆูตแต่มาเพื่อล้มฏอฆูต ศาสดามาเพื่อนำประชาชนออกห่างจากฏอฆูต เพราะฏอฆูตมีอิทธิพลในการทำให้ประชาชนตั้งภาคีมาก ซึ่งหากเข้าใจว่าศาสดามาแย่งอำนาจของฏอฆูต แน่นอนว่า ต้องมาด้วยกองทัพอันยิ่งใหญ่ ทว่าในประวัติศาสตร์เห็นได้ว่าศาสดามาเพียงท่านเดียว หรือบางครั้งมาพร้อมสหายเพียงท่านเดียว ซึ่งเนื้อหารายละเอียดจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องของความเป็นศาสดา “นบูวัต”ต่อไป อินชาอัลลอฮ์
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี