บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 31
ประเภทของพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
“อิรอดะฮ์” พระประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ)แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ตักวีนีและตัชรีอี”
1.“อิรอดะฮ์ ตักวีนี” เป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ) ที่มีความสัมพันธ์เฉพาะระหว่างพระองค์กับสรรพสิ่งในการทำให้สรรพสิ่งเกิดขึ้นมา ซึ่งเมื่อพระองค์ประสงค์แล้ว สิ่งนั้นมันจะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่มีใครสามารถขัดขวางได้
อัลกุรอานได้อธิบายว่า ความประสงค์นี้ของพระองค์จะครอบคลุมไปยังทุกสรรพสิ่งและทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระองค์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆพระองค์จะทำให้มันเกิดขึ้นมา
ในซูเราะฮ์อันนะล์ โองการที่ 40
إِنَّمَا قَوْلُنَا لِشىَْءٍ إِذَا أَرَدْنَاهُ أَن نَّقُولَ لَهُ كُن فَيَكُون
“แท้จริงเมื่อเราประสงค์สิ่งใดแล้ว เราเพียงแค่ประกาศิตว่า จงเป็นแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นมาโดยพลัน”
แน่นอนว่าการที่พระองค์กล่าวว่า “จงเป็น” นั้นไม่ได้หมายถึงคำพูดเหมือนที่มนุษย์เข้าใจ แต่ เป็นเพียงการเปรียบเทียบ โองการดังกล่าวยังยืนยันว่า แม้แต่วินาทีเดียว การไม่เกิดขึ้นไปตามพระประสงค์ของพระองค์นั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อพระองค์กล่าวว่าจงเป็นมันก็เป็นขึ้นทันที
ซูเราะฮ์อัลฟัตฮ์ โองการที่ 11
قُلْ فَمَن يَمْلِكُ لَكُم مِّنَ اللَّهِ شَيًْا إِنْ أَرَادَ بِكُمْ ضَرًّا أَوْ أَرَادَ بِكُمْ نَفْعَا بَلْ كاَنَ اللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيرَا
“จงกล่าวเถิดมูฮัมมัดใครเล่าจะมีอำนาจอันใดที่จะปกป้องพวกเจ้าจากอัลลอฮ์ หากพระองค์ทรงประสงค์ความทุกข์ให้แก่พวกเจ้าหรือพระองค์ทรงประสงค์ให้ประโยชน์แก่พวกเจ้าแต่ทว่าพระองค์ทรงตระหนักยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ”
โองการดังกล่าวยืนยันถึงความจริงที่ว่าไม่มีใครสามารถขัดขวางความประสงค์ของพระองค์ได้ เป็นความประสงค์ที่ไม่มีสิ่งใดมาจำกัด เมื่อพระองค์ประสงค์ พระองค์ก็จะให้เกิด และจากความหมายของโองการดังกล่าวก็ไม่ได้หมายถึงพระองค์กระทำสิ่งที่น่ารังเกียจหรือการกดขี่ แต่ทว่าทุกๆความประสงค์การกระทำของพระองค์นั้นวางอยู่บนความมี “ฮิกมะฮ์” มีปรัชญาของเป้าหมาย มีวิทยปัญญา ซึ่งจะนำไปสู่การทำความเข้าใจในเรื่องของ “อัดล์อิลาฮี” “ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า”
2."อิรอดะฮ์ ตัชรีอี” ความประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ)ที่มีความสัมพันธ์กับการกระทำของมนุษย์ เมื่อพระองค์ประสงค์ มันอาจจะเกิดก็ได้หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และพระองค์ให้ “อิคติยาร” สิทธิ์ที่จะเลือกแก่มนุษย์ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาจะทำตามพระประสงค์ ความชอบ ความรักของพระองค์หรือความต้องการของตัวเองและมนุษย์จะได้รับผลตอบแทนหรือการลงโทษตามที่เขาได้เลือกไป
ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 185
يُرِيدُ اللَّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَ لَا يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ
“อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้าและไม่ทรงประสงค์ให้มีความยากลำบากแก่พวกเจ้า”
เนื้อหาก่อนหน้าโองการนี้ได้อธิบายเรื่องบทบัญญัติเกี่ยวกับการถือศีลอดในเดือนรอมฏอนโดยการบอกถึงกรณีที่ได้รับการยกเว้นในการถือศีลอดสำหรับผู้ที่ป่วยและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง เห็นได้ว่าความประสงค์ของอัลลอฮ์(ซบ)ในโองการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชะรีอัตบทบัญญัติทางศาสนา พระองค์ประสงค์ให้เกิดความสะดวกแก่มนุษย์นั่นเอง
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี