บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 14
การพิสูจน์คุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับหลักปรัชญา
การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับสติปัญญาในระดับที่สอง วิธีการนี้จะยากกว่าวิธีการแรก คือการใช้วิธีการทางด้านปรัชญา ซึ่งต้องใช้สมมุติฐานที่ลึกซึ้ง ต้องใช้ขั้นตอนที่มากขึ้นในการพิสูจน์ นักปรัชญาได้แบ่งสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ออกเป็นหลักๆสองประเภท คือ “สิ่งที่การมีอยู่ของมันจะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้” ภาษาอาหรับเรียกว่า “มุมกินุลวูญูด” และ “สิ่งที่จำเป็นต้องมี” ภาษาอาหรับเรียกว่า “วาญิบุลวูญูด”
เรื่องแรกที่ปรัชญาพูดถึงในการพิสูจน์พระผู้เป็นเจ้าคือเรื่องของ “การมีอยู่” ภาษาอาหรับเรียกว่า “วูญูด”
เรามาทำความเข้าใจกันในความหมายของคำว่า “มุมกินุลวูญูด” และ “วาญิบุลวูญูด”
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของ”มุมกินุลวูญูด” และ “วาญิบุลวูญูด” จะทำความเข้าใจทฤษฎีหนึ่งทางปรัชญาคือ ทฤษฎี “อิลลัตและมะลูล” (ทฤษฎีว่าด้วยเหตุและผลที่เกิดขึ้น)( ยกตัวอย่างเช่น “ความร้อน” เมื่อถามว่า ความร้อนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แสดงว่ามนุษย์กำลังแสวงหา “อิลลัต” (เหตุ)ของมัน แต่ถ้ามนุษย์ถามว่า ไฟสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง แสดงว่ามนุษย์กำลังหา “มะลูล” (ผล)ของมัน นี่คือทฤษฎีที่ว่าด้วยเหตุและผลทางหลักปรัชญา
“มุมกินุลวูญูด” คือสิ่งที่การมีอยู่ของมัน “มีก็ได้หรือไม่มีก็ได้” เมื่อก่อนมันไม่มีแล้วเพิ่งมามีทีหลัง เมื่อก่อนมันยังไม่มีแล้ว วันหนึ่งมันก็มีขึ้นมาในการมีอยู่ของมันต้องพึ่งพาไปยังสิ่งที่มีอยู่อื่น คือสิ่งมีอยู่ที่การมีอยู่ของมันขึ้นอยู่สิ่งอื่น มีความเกี่ยวข้องกับอิลลัต (เหตุ) เพื่อจะทำให้มันมีขึ้นมา ในเมื่อมันไม่มีมาก่อนแล้วมันมีขึ้นมาเองได้อย่างไร ทำไมมันไม่มี ตอนที่มันไม่มีและเมื่อมันมีแล้วอะไรคือสาเหตุของการมีของมัน ก่อนจะมีคำว่า”มีก็ได้หรือไม่มีก็ได้”นั้นต้องมีคำว่า”มี”ก่อน” เพราะสิ่งที่”มี”เท่านั้นที่จะให้กำเนิดสิ่งที่”มี”อื่นๆได้ ไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นมาจากความว่างเปล่าได้ และจะต้องมีสิ่งที่มีอันหนึ่งที่การมีอยู่ของมันไม่ได้มีขึ้นมาจากสิ่งใดๆมันมีมาแต่เดิม มันไม่ได้เป็น”มะลูล”(ผล)ของสิ่งใด มันเป็น”อิลลัต"(เหตุ)แรก มันเป็นแก่นแท้ของสรรพสิ่ง เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนี้ สมมุติว่า ถ้ามนุษย์บอกว่าสิ่งที่มีอันนี้ก็เกิดมาจากสิ่งที่มีอันอื่น แล้วสิ่งที่มีอันอื่นนั้นก็มาจากสิ่งที่มีอันอื่นอีกสมมุติต่อกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนหาปฐมเหตุแรกไม่ได้มันก็จะเป็น (ทฤษฎีตะซัลซุล) ทฤษฎีกฏลูกโซ่ หรือถ้าไม่เป็นทฤษฎีนี้ก็จะเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งคือ (ทฤษฎีโดร) ทฤษฎีวัฏจักร คือ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของมันไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นที่แท้จริงได้ เช่นตัวอย่างเพื่อที่ทำให้เข้าใจง่ายๆ “ฝนมาจากเมฆ เมฆมาจากการระเหยของน้ำ น้ำมาจากฝน ฝนมาจากเมฆ…” วนเวียนไปแบบนี้เรื่อยๆจนไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นหรือปฐมเหตุที่แท้จริงได้ ซึ่งทั้งสองทฤษฎี นักปรัชญาต่างก็ไม่ยอมรับ และเป็นเรื่องที่ใช้ในวิชาปรัชญาไม่ได้ เพราะปรัชญาพูดถึงการหาแก่นแท้ของสรรพสิ่ง ซึ่งทั้งสองทฤษฏีไม่สามารถนำไปสู่การหาแก่นแท้ของสรรพสิ่งได้ วกไปวนมาในวัฏจักรเดิม หรือต่อกันยาวเป็นลูกโซ่โดยที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นการคาดคะเนเดียวที่เหลืออยู่ คือสิ่งที่มีอยู่อันนั้น (มุมกินุลวูญูด) จะต้องมาจากปฐมเหตุหนึ่งเป็นปฐมเหตุแรกสุด และปฐมเหตุนั้นไม่ได้เป็นผลของปฐมเหตุใดๆอีก สิ่งนั้นก็คือ วาญิบุลวูญูด นักปรัชญาถือว่า วาญิบุลวูญูด ก็คือ พระผู้เป็นเจ้า
ทฤษฎี “อิลลัตวะมะลูล”(ทฤษฏีเหตุและผล) สามารถนำไปสู่แก่นแท้ได้ นำไปสู่ปฐมบทแรกสุดของสรรพสิ่งได้ นำมนุษย์ไปสู่การรู้จักสิ่งหนึ่งที่มันเป็น”อิลลัต”(ปฐมเหตุ)ของทุกสรรพสิ่งซึ่งการมีอยู่ของมันไม่ได้เป็น”มะลูล”(ผล)ของสิ่งใด เพราะถ้าเป็น”มะลูล”(ผล) ของสิ่งใด มันก็จะต้องมี”อิลลัต”(ปฐมเหตุ)อื่นๆขึ้นไปอีกเรื่อยๆจนไม่มีจุดจบ มันจะต้องไม่เป็น”มะลูล”(ผล)ของสิ่งใด และสิ่งที่ไม่ได้”มะลูล”ของสิ่งใด วิชาทางปรัชญาเรียกว่า “วาญิบุลวูญูด”(สิ่งจำเป็นที่จะต้องมีอยู่) มันไม่ต้องการ”อิลลัต”(สาเหตุ) มันมีด้วยตัวของมันเอง ส่วน”มุมกินุลวูญูด”นักปรัชญาถือว่า คือมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆ
“วาญิบุลวูญูด”คืออะไร คือสิ่งที่มันมีอยู่มาแต่เดิม และการมีอยู่ของมันเป็นสาเหตุการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งอื่นๆทั้งหมด วาญิบุลวูญูดไม่ต้องการ”อิลลัต”(ปฐมเหตุ)ใดเพราะถ้ามันยังต้องการ”อิลลัต”(สาเหตุ) มันก็ไม่ใช่ “วาญิบุลวูญูด”(สิ่งที่มีมาแต่เดิม) เพราะเท่ากับว่ามันเพิ่งมามี และเท่ากับว่ามีสิ่งที่มีอื่นๆอยู่อีกก่อนหน้ามัน เท่ากับว่ามันไม่มีมาก่อนแล้วเพิ่งมามี แต่”วาญิบุลวูญูด”ไม่ใช่เช่นนี้ มันมีมาแต่เดิม ไม่มีใครทำให้มันมีในการมีของมันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งใด และวาญิบุลวูญูดที่แท้จริงก็คือพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
ทางปรัชญาเรียกพระผู้เป็นเจ้าว่า “วาญิบุลวูญูด” ดังนั้นเมื่อมนุษย์พิสูจน์ “วาญิบุลวูญูด”ก็เท่ากับว่าเขากำลังพิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง คุณลักษณะของวาญิบุลวูญูดที่ได้มาจากวิธีทางปรัชญาตรงกับคุณลักษณะ”ซีฟัต”ของอัลลอฮ์(ซบ) คือ (อะซะลี) มีมาแต่เดิม และ“(อะบะดี )มีอยู่ตลอดไป เพราะถ้าไม่คงอยู่ตลอดไปแสดงว่ามันเป็นสิ่งที่มีก็ได้หรือไม่มีก็ได้ ดังนั้น จะเป็นพระเจ้าได้นั้นต้องเป็นทั้ง อะซาะลี” และ “อะบะดี” ร่วมเป็นคำเดียวกันก็คือ “ซัรมาดี” คือ (มีมาแต่เดิมและมีอยู่ตลอดไป)
สรุปได้ว่า “มะลูล”(ผล)ทั้งหมดต้องไปจบที่”อิลลัต”(ปฐมเหตุหนึ่ง) ที่ไม่ได้เป็น”มะลูล”(ผล)ของสิ่งใดซึ่งวิชาปรัชญาเรียก”วาญิบุลวูญูด”หรือ พระผู้เป็นเจ้า”นั่นเอง ถ้าไม่เป็นเช่นนี้ก็จะไปตรงกับทฤษฎีกฏลูกโซ่ หรือไม่ก็ทฤษฎีกฏวัฏจักร ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปรัชญาได้ปฏิเสธ
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี