ความจำเริญของการแต่งตั้งศาสดา (ซ็อลฯ)
คัมภีร์อัลกุรอาน ถือว่าการแต่งตั้งศาสดา (ซ็อลฯ) คือความโปรดปรานและเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อมนุษยชาติ และได้กล่าวถึงมันไว้เช่นนี้ว่า :
لَقَدْ مَنّ اللّهُ عَلَی الْمُؤْمِنینَ إِذْ بَعَثَ فیهِمْ رَسُولاً
“แน่นอนยิ่งอัลลอฮ์ทรงมีพระกรุณาธิคุณเหนือปวงศรัทธาชน เมื่อพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตผู้หนึ่งมายังพวกเขา” (1)
แต่เป้าหมายแรกและสำคัญที่สุดของการส่งปวงศาสดามายังมนุษยชาติ นั่นคือ การเรียกร้องเชิญชวนทุกรูปแบบของการตั้งภาคี (ชิรก์) ต่อพระเจ้า และฏอฆูต (มารร้าย เผด็จการ และสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง) ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَ لَقَدْ بَعَثْنَا فىِ كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللَّهَ وَ اجْتَنِبُواْ الطَّغُوت
“และแน่นอนยิ่งเราได้ส่งศาสนทูตผู้หนึ่งมาในทุกประชาชาติ (โดยให้เขาประกาศว่า) ท่านทั้งหลายจงเคารพภักดีอัลลอฮ์ และจงหลีกห่างจากมารร้าย” (2)
ตามโองการ (อายะฮ์) นี้ การธำรงการศรัทธาในเอกานุภาพของพระเจ้า (เตาฮีด) และการต่อสู้กับมารร้ายและทรราช (ฏอฆูต) คือส่วนหนึ่งจากผลต่างๆ ของการแต่งตั้งปวงศาสดามายังมนุษยชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ทั้งนี้เนื่องจากว่า ด้วยการธำรงเตาฮีด (การศรัทธามั่นในเอกานุภาพของพระเจ้า) ที่คำสอนอื่นๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้าและหลักคำสอนทางด้านจริยธรรมจะเป็นที่สัมฤทธิ์ผลขึ้นในสังคม
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามจึงกล่าวว่า “วันมับอัษ (วันแห่งการแต่งตั้งท่านศาสดา) เป็นวันที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เป็นวันก่อกำเนิดคำสอนและคุณค่าที่โดดเด่นที่สุดและมีเกียรติที่สุด … สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทานให้แก่มนุษย์ในเบื้องแรกโดยสื่อของการแต่งตั้งท่านศาสดา การรำลึก การตักเตือนและการหันกลับมาสู่ตัวตนของมนุษย์” (3)
เชิงอรรถ :
(1) อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 164
(2) อัลกุรอาน บทอันนะห์ลุ โองการที่ 36
(3) สุนทโรวาทของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี / 29/9/1374 (ปีอิหร่าน)
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ