เหตุผลของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ในการทำสัญญาสงบศึกกับมุอาวิยะฮ์
การเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยน้ำมือของคอวาริจญ์ ได้ขจัดอุปสรรคขวากหนามที่ยิ่งใหญ่ออกไปจากเส้นทางการเป็นกษัตริย์ของมุอาวิยะฮ์ และเป็นสาเหตุของความปิติยินดีอย่างมากมายของเขา แต่แล้วปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อบุตรชายชายคนโตของท่านอิมามอะลี (อ.) หมายถึงท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ที่อยู่ในเมืองกูฟะฮ์ และชาวเมืองกูฟะฮ์ซึ่งหวั่นเกรงว่ามุอาวิยะฮ์จะพิชิตเมืองของตน จึงได้ให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อท่าน (1)
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ในฐานะที่เป็นค่อลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ของชาวมุสลิม ได้เขียนจดหมายหลายฉบับส่งถึงมุอาวิยะฮ์ เพื่อห้ามปรามเขาจากการก่อกบฏ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่ามุอาวิยะฮ์จะไม่ยอมละวางจากอำนาจการปกครอง (2) หลังจากการโต้ตอบจดหมายเหล่านี้ที่ไร้ประโยชน์ ท่านอิมามฮะซัน (อ.) จึงได้กล่าวกับผู้ถือสาส์นคนสุดท้ายของมุอาวิยะฮ์ว่า “ระหว่างฉันกับพวกเจ้าจะไม่เป็นอื่นใด นอกจากต้องใช้ดาบ” (3)
ตามการยืนยันทางประวัติศาสตร์ ประชาชนชาวกูฟะฮ์จำนวน 12,000 คน ได้ตอบรับการเรียกร้องของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ในการทำสงครามกับมุอาวิยะฮ์ พวกเขาได้มารวมตัวกันที่ค่ายในตำบล “นุค็อยละฮ์” แต่ไม่มีสงครามใดๆ เกิดขึ้นระหว่างท่านอิมามฮะซัน (อ.) กับมุอาวิยะฮ์
คำถามประวัติศาสตร์
การทำสัญญาสงบศึก (ซุลห์) ของท่านอิมามฮะซัน (อ.) กับมุอาวิยะฮ์ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดคำถามมายาวนานแล้ว ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้ตอบคำถามนี้ไว้ในสถานการณ์ต่างๆ หนึ่งในคำตอบต่างๆ ของท่านอิมามฮะซัน (อ.) เกี่ยวกับสาเหตุของการประนีประนอมกับมุอาวิยะฮ์ คือการอธิบายถึงซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ต่างๆ ในประวัติศาสตร์
ท่านอิมาม (อ.) นำมาสามหลักฐานสำหรับซุนนะฮ์ (แบบฉบับ) ดังกล่าวนี้ โดยกล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนมีพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย การนิ่งเงียบของศาสดาฮารูน บินอิมรอนต่อซามิรีและความเบี่ยงเบนของสังคม การซ่อนตัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อยู่ในถ้ำฮิรออ์และการอพยพไปยังมะดีนะฮ์ และการประนีประนอมของท่านอิมามอะลี (อ.) ในเหตุการณ์ที่ตำบลซะกีฟะฮ์ ในสามประเด็นดังกล่าวนี้ ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้ชี้ถึงมันพร้อมกับอธิบายถึงสาเหตุของการประนีประนอมของท่านกับมุอาวิยะฮ์
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสัญญานัดหมายกับมูซา กะลีมุลลอฮ์ (อ.) เป็นเวลา 30 วัน ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้มอบหมายให้ฮารูน (อ.) พี่ชายของท่านดูแลประชาชนในช่วงที่ท่านไม่อยู่ หลังจากการเดินทางของมูซา (อ.) พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงวะห์ยู (วิวรณ์) มายังมูซา (อ.) ว่ากำหนดการเข้าเฝ้าได้ถูกขยายขึ้นเวลาอีกสิบวัน และการภาวนาขอพรต่างๆ จะต้องดำเนินไปให้ครบสี่สิบคืน (4) การประวิงเวลาออกไปอีกสิบวันดังกล่าวนี้เป็นการทดสอบสำหรับบนีอิสรอเอล ในช่วงเวลานี่เอง ซามิรีได้สร้างรูปปั้นลูกวัวที่ทำจากทองคำขึ้นมา และเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ทำการเคารพบูชามัน ประชาชนก็ได้ละทิ้งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และหันไปเคารพบูชารูปปั้นวัวนั้น!
ศาสดามูซา (อ.) เมื่อได้รับรู้ถึงความล้มเหลวในการถูกทดสอบจากพระเจ้าของหมู่ชนของตน ก็ได้กลับมายังพวกเขาอย่างรีบเร่ง ศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้หลังจากการเอาผิดประชาชน ก็ได้สอบสวนศาสดาฮารูน (อ.) ว่าทำไมท่านถึงไม่ยับยั้งการเบี่ยงเบน ฮารูนไม่ได้แก้ตัวอะไรนอกจากบอกเหตุผลว่า ประชาชนอ่อนแอ เขาได้พูดกับมูซา กะลีมุลลอฮ์ (อ.) น้องชายของตนว่า ประชาชนมิได้ไม่เชื่อฟังเขาเพียงอย่างเดียว ทว่ายังได้ทำให้เขาต่ำต้อยไร้เกียรติต่อหน้าซามิรีอีกด้วย พวกเขาเกือบจะฆ่าเขาแล้ว (5)
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) หลังจากการชี้ถึงเรื่องราวนี้ท่านได้กล่าวว่า “ประชาชนทั้งๆ ที่รู้ดีว่าฮารูน (อ.) คือตัวแทนของมูซา (อ.) แต่กลับไปเชื่อฟังปฏิบัติตามซามิรี และทอดทิ้งฮารูนให้อยู่อย่างเดียวดาย หากฮารูนมีผู้ช่วยเหลือแล้ว เขาจะไม่นิ่งเฉยต่อซามิรีอย่างเด็ดขาด” (6)
หลักฐานประการที่สองของท่านอิมามฮะซัน (อ.) คือเรื่องราวการเดินทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ออกจากนครมักกะฮ์ การซ่อนตัวอยู่ในถ้ำฮิรออ์และจากนั้นได้อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์ สิบสามปีที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ประกาศเชิญชวนประชาชนมักกะฮ์อย่างเปิดเผยมาสู่การนับถือศาสนาอิสลาม แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับคือการถูกกลั่นแกล้งทำร้ายของบรรดาสาวกที่มีจำนวนน้อยนิดของท่าน การเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของพวกเขา การถูกปิดล้อมอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจในหุบเขาอบีฏอลิบ และท้ายที่สุดคือการที่ตัวท่านเองได้ถูกทำร้ายโดยหมู่ชนของท่าน การไม่เชื่อฟังเหล่านี้เป็นเหตุทำให้พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง มีบัญชาให้ท่านศาสดาของพระองค์อพยพไปยังนครมะดีนะฮ์
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้วิเคราะห์รายละเอียดการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยกล่าวว่า “หากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีผู้ช่วยจำนวนที่เพียงพอในการเผชิญหน้ากับมุชริกีน (พวกตั้งภาคี) ชาวมักกะฮ์แล้ว แน่นอนท่านจะต่อสู้กับพวกมุชริกีนแทนการละทิ้งไปจากนครมักกะฮ์” (7) คำอธิบายนี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของประชาชนในการตอบรับสิบสามปีของการประกาศเชิญชวนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงทำให้ท่านจำเป็นต้องนิ่งเงียบต่อบรรดามุชริกีน และยิ่งไปกว่านั้น ทำให้ท่านต้องหลบหนีและทำการอพยพ
หลักฐานประการสุดท้ายของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ที่ชี้ถึงผลกระทบของความอ่อนแอของประชาชนที่มีผลต่อการตัดสินใจของบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า นั่นคือเหตุการณ์แย่งชิงตำแหน่งผู้นำ (คิลาฟะฮ์) ภายหลังจากการวะฟาต (เสียชิวิต) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในโอกาสต่างๆ ในการพูดและคำปราศรัยต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ท่านได้แนะนำตัวท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะ “ค่อลีฟะฮ์” (ผู้สืบทอดอำนาจปกครอง) ภายหลังจากท่าน (8) แต่กระนั้นก็ตาม หลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสดาของอิสลาม คนบางกลุ่มได้ฉกชิงตำแหน่งค่อลีฟะฮ์ไปจากท่านอิมามอะลี (อ.)
เหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ของการฉกชิงตำแหน่งค่อลีฟะฮ์นั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ย้ำเตือนแก่ประชาชนหลายต่อหลายครั้งเกี่ยวกับเหตุการณ์แต่งตั้งท่านในตำบลฆอดีรคุม คำพูดและคำสั่งเสียต่างๆ ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ได้เรียกร้องพวกเขาให้แสดงจุดยืนต่อต้านการเบี่ยงเบนนี้ แต่ทว่าความอ่อนแอของประชาชนได้บังคับท่านให้ต้องนิ่งเงียบและยอมโอนอ่อนต่ออำนาจการปกครองของบรรดาผู้ฉกชิงทั้งหลาย (9)
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกันว่า “ในเริ่มแรกนั้นบิดาของฉันไม่ได้ยื่นมือสู่การบัยอัต (ให้สัตยาบัน) ต่อพวกเขา และขอให้พวกเขาสาบาน (ว่าได้ลืมสิ่งต่างๆ ที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ได้กล่าวเกี่ยวกับตัวท่านไปแล้วหรือ) และได้ขอความช่วยเหลือจากหมู่มิตรของท่าน แต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ต่อคำเรียกร้องของท่าน และไม่มีผู้ใดช่วยเหลือท่าน ในขณะที่หากท่านมีผู้ช่วยเหลือ (ที่เพียงพอ) แน่นอนท่านจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับความต้องการของคนเหล่านั้น” (10)
ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) หลังจากการอธิบายเหตุการณ์ทั้งสามนี้ และสาเหตุการล่าถอยต่อศัตรูของบรรดาผู้ปกครองแห่งพระเจ้า ท่านได้กล่าวว่า “ประชาชนก็ได้ทอดทิ้งฉันไว้อย่างเดียวดาย และได้มอบกายมอบใจให้กับอำนาจการปกครองอื่นจากฉัน ในสภาพเช่นนี้ประวัติศาสตร์ก็กำลังซ้ำรอย และฉันเองก็ไม่มีผู้ช่วยเหลือที่เพียงพอสำหรับการต่อสู้ ฉันจึงต้องวางดาบจากการต่อสู้กับความอธรรม”
ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวภายหลังจากการอธิบายประเด็นนี้ว่า :
و إِنَّما هی السُّنَنُ و الأَمثالُ یَتبَعُ بَعضُها بَعضاً
“แท้จริงมันคือประเพณีและกรณีต่างๆ ที่คล้ายกัน ที่ปฏิบัติตามกันมา” (11)
และด้วยกับคำพูดนี้ท่านได้เตือนไปยังผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ทั้งมวลตลอดหน้าประวัติศาสตร์ว่า “หากพวกท่านบกพร่องและอ่อนแอในการช่วยเหลือผู้ปกครองที่สัจธรรมแล้ว ท่านก็จะถูกบังคับให้ต้องประนีประนอมกับบรรดาศัตรู”
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
มีเพียงอิมามท่านเดียวที่จะไม่มีพันธะใดๆ ในการให้สัตยาบันต่อผู้อธรรม นั่นก็คือท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (12) เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่ท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวเกี่ยวกับสัญญาสงบศึกของท่านกับมุอาวิยะฮ์ สามารถสรุปได้เช่นนี้ว่า หนึ่งในสาเหตุของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) นั่นก็คือความอ่อนแอของประชาชนในยุคสมัยของท่าน หากท่านอิมามปรากฏกาย (ซุฮูร) ในสภาพที่มีผู้ช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ ท่านก็จำเป็นจะต้องประนีประนอมกับบรรดาผู้กดขี่ แต่พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงประสงค์ที่จะให้ฮุจญะฮ์ (ข้อพิสูจน์) ท่านสุดท้ายของพระองค์ทำการประนีประนอมกับบรรดาผู้กดขี่เนื่องจากความอ่อนแอของบรรดาผู้ช่วยเหลือ ดังนั้นตราบที่ประชาชนยังไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือท่าน ท่านก็จะยังไม่ปรากฏตัว (ซุฮูร)
ความอ่อนแอของประชาชนในการช่วยเหลือสัจธรรมนั้น จะเป็นสื่อบังคับให้บรรดาผู้ปกครองแห่งพระผู้เป็นเจ้าต้องประนีประนอมกับบรรดาผู้กดขี่ ท่านอิมามฮะซัน (อ.) หลังจากที่ได้ชี้ถึงเรื่องราวของการนิ่งเฉยของศาสดาฮารูน (อ.) ต่อซามิรี การอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากมักกะฮ์และการประนีประนอมของท่านอิมามอะลี (อ.) กับบรรดาผู้ที่ฉกชิงอำนาจการปกครองของท่าน ท่านได้ถือว่าสาเหตุของเหตุการณ์ทั้งสามนี้คือ “ความอ่อนแอของประชาชนในการช่วยเหลือสัจธรรม” ท่านกล่าวว่า “ประเด็นดังกล่าวนี้เช่นกัน ที่เป็นสาเหตุทำให้ฉันทำสัญญาสงบศึกกับมุอาวิยะฮ์”
แต่ฮุจญะฮ์ (ผู้เป็นข้อพิสูจน์สุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า) นั้นจะไม่ประนีประนอมกับผู้กดขี่คนใด ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) จะปรากฏกาย (ซุฮูร) ก็ต่อเมื่อจะไม่มีความอ่อนแอของบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านที่จะเป็นตัวบังคับท่านให้ต้องทำการประนีประนอม แต่ทว่าบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านมีความมั่นคงและยืนหยัดในการต่อสู้กับบรรดาผู้อธรรม
ใช่แล้ว! การปรากฏกาย (ซุฮูร) จะเกิดขึ้นโดยเร็ว หากมีบรรดาผู้ช่วยเหลือที่มีความมั่นคงและยืนหยัดสำหรับฮุจญะฮ์ (ผู้เป็นข้อพิสูจน์) ของพระผู้เป็นเจ้า
เชิงอรรถ :
(1) ในหมู่ผู้ที่ให้สัตยาบัน (บัยอัต) ต่อท่านอิมามฮะซัน (อ.) นั้น มีชาวชีอะฮ์จำนวนเพียงน้อยนิดที่ให้สัตยาบันกับท่านในนาม “ค่อลีฟะฮ์” (ผู้สืบทอดอำนาจการปกครอง) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เพื่อรับรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุต่างๆ ของการให้สัตยาบัน (บัยอัต) ของประชาชนชาวกูฟะฮ์ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) สามารถดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์การเมืองอิสลาม” (ตารีค คุละฟาอ์) ของร่อซูล ญะฟะรียอน , เล่มที่ 2, หน้าที่ 363 ถึง 369
(2) ประเด็นนี้เป็นที่ชัดเจนสำหรับท่านอิมามฮะซัน (อ.) แต่ที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบโต้จดหมายเหล่านี้กับมุอาวิยะฮ์ก็เพื่อทำให้ข้อพิสูจน์ (และเหตุผล) เป็นที่สมบูรณ์สำหรับมุอาวิยะฮ์ และเพื่อให้เป็นหลักฐานสำหรับประวัติศาสตร์ในอนาคต
(3) ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด, เล่มที่ 16, หน้าที่ 26
ثم قال للحارث و جندب ارجعا فلیس بینی و بینكم إلا السیف
“ต่อจากนั้นท่านกล่าวกับฮาริษและญุนดุบว่า เจ้าทั้งสองจงกลับไปเถิด ไม่มีสิ่งใดระหว่างฉันกับพวกเจ้าอีกแล้วนอกจากดาบ”
(4) พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า :
وَوَاعَدْنَا مُوسَىٰ ثَلَاثِينَ لَيْلَةً وَأَتْمَمْنَاهَا بِعَشْرٍ فَتَمَّ مِيقَاتُ رَبِّهِ أَرْبَعِينَ لَيْلَةً ۚ وَقَالَ مُوسَىٰ لِأَخِيهِ هَارُونَ اخْلُفْنِي فِي قَوْمِي وَأَصْلِحْ وَلَا تَتَّبِعْ سَبِيلَ الْمُفْسِدِينَ
“และเราได้สัญญาต่อมูซาสามสิบคืน และเราได้ทำให้มันครบสมบูรณ์อีกสิบ ดังนั้นกำหนดเวลาแห่งพระผู้อภิบาลของเขาจึงครบสมบูรณ์สี่สิบคืน และมูซาได้กล่าวแก่ฮารูนพี่ชายของเขาว่า จงทำหน้าที่แทนฉันในหมู่ชนของฉัน และจงแก้ไขปรับปรุงและจงอย่าปฏิบัติตามทางของผู้ก่อความเสียหาย” (อัลกุรอาน บทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 142)
(5) เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ในหลายซูเราะฮ์ (บท) ของคัมภีร์อัลกุรอาน ตัวอย่างเช่น บทอัลอะอ์ร๊อฟ จากโองการที่ 142 ถึง 154 และในบทฏอฮา จากโองการที่ 85 ถึง 97
(6) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 10, หน้าที่ 142
(7) หนังสืออ้างอิงเล่มเดิม
(8) เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เน้นย้ำอย่างมากมายและชัดเจนในประเด็นนี้คือ เหตุการณ์ “ฆอดีร คุม”
(9) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ชี้ถึงประเด็นของเหตุการณ์นี้ไว้ อย่างเช่นในคุฏบะฮ์ที่สามของหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ที่รู้จักกันในนาม “คุฏบะฮ์ อัชชักชะกียะฮ์” โดยกล่าวว่า “ฉันได้ใคร่ครวญด้วยความเจ็บปวดว่าฉันจะยืนหยัดขึ้นเพื่อยึดสิทธิ์ของฉันกลับคืนมาด้วยมือเปล่า หรือจะอดทนอยู่กับความมืดมิดที่เข้าปกคลุมอยู่อย่างนี้ต่อไป”
(10) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 10, หน้าที่ 142
” وَ قَدْ كَفَّ أَبِی یَدَهُ وَ نَاشَدَهُمْ وَ اسْتَغَاثَ أَصْحَابَهُ فَلَمْ یُغَثْ وَ لَمْ یُنْصَرْ وَ لَوْ وَجَدَ عَلَیْهِمْ أَعْوَاناً مَا أَجَابَهُمْ
“แน่นอนบิดาของฉันได้ยับยั้งมือของตนและขอให้พวกเขาสาบาน และเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากบรรดาสหายของตน แต่ไม่ถูกตอบรับและถูกช่วยเหลือ และหากท่านพบผู้ช่วยเหลือจำนวนหนึ่งที่จะยืนหยัดต่อกรกับพวกเขา ท่านก็จะตอบโต้พวกเขา”
(11) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 10, หน้าที่ 144
(12) อัลอิห์ติญาจญ์ อะลา อะฮ์ลิลลุญาจญ์, อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 290
แปล/เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ