แม่และการศึกษา
บทบาทของแม่มุสลิมในเรื่องการศึกษา ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาของลูกและการกำหนดบุคลิกลักษณะของพวกเขา ในฐานะที่แม่คือผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด
ในสังคมปัจจุบันนี้ ไม่ว่าประเทศใด จะเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ แตกต่างศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ ฮินดู อิสลาม และอื่นๆ บางประเทศอาจมีมุสลิมอยู่เพียง ไม่ถึง 10% ของจำนวนประชากร ในประเทศเหล่านี้ มุสลิมจึงอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่ไม่ใช่มุสลิม เด็กมุสลิมจึงมีความรู้ในเรื่องศาสนาเพียงน้อยนิด แต่ไปให้ความสนใจต่อสิ่งเร้าจากภายนอกในสังคมซึ่งไม่ใช่มุสลิมนั้นเสียมากกว่า
ขอยกตัวอย่างความไม่รู้ ไม่เข้าใจศาสนาของเด็กมุสลิมจากประเทศอินเดีย เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการทดสอบความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่จัดขึ้นโดย The Quran and the Seerath Acadery of madras
เด็กคนหนึ่งถูกตั้งคำถามว่า “ใครสร้างเธอขึ้นมา?” เขาตอบว่า “พ่อของผมครับ” ยังมีคำตอบที่น่าตกใจกว่านั้นอีก เด็กผู้หญิงที่จบจากโรงเรียนคอนแวนต์(โรงเรียนหญิงล้วนของคริสต์) ตอบว่า ญิบรีล , มีกาอีล, อิสรอฟีล และอิสรออีล “เป็นคอลิฟะฮฺของอิสลาม” และเด็กชายคนหนึ่งจากครอบครัวมุสลิมในแถบตะวันตก อธิบายว่า ศาสดามุฮัมมัด(ศ.) เป็น “พระเจ้าของชาวมุสลิม”
ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นคล้ายคลึงกันในสังคมที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย เรานิยมส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่มีระดับ อาจจะเป็นโรงเรียนของรัฐ หรือโรงเรียนของเอกชน และอาจเป็นโรงเรียนขององค์กรศาสนาอื่นหรือมิชชันนารี่ก็ได้ ดังนั้น ปัญหาที่บรรดามุสลิมะฮฺผู้เป็นแม่ต้องเผชิญอยู่นี้จึงเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัส เราจะรักษาแบบอย่างและคุณค่าของอิสลามไว้ได้อย่างไร ในเมื่อระบบการศึกษาในสังคมโลกนั้นเป็นสถานที่ฝึกอบรมหลักคำสอนและแบบอย่างของศาสนาอื่น? แน่ละว่าปัจจุบันนี้มีหลักสูตรอิสลามศึกษาเปิดสอนในโรงเรียนทั่วไปแล้ว แต่คำถามมีว่า โรงเรียนเหล่านี้ได้สอนถึงเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในอิสลามหรือเปล่า? สิ่งที่สอนในชั้นเรียนนั้น เพียงพอหรือไม่ที่จะปกป้องลูกๆ ของเราจากอิทธิพลของสังคมที่คนรอบข้างไม่ใช่มุสลิม?
อันที่จริงแล้ว สื่ออย่างเช่นโทรทัศน์ได้นำเสนอคุณค่าและการกระทำที่ไม่ใช่แบบอิสลามส่งตรงถึงในบ้านของเรา ไม่มีสิ่งใดมีคุณค่ามากไปกว่าความศรัทธาของเราอีกแล้ว ดังนั้น การศึกษาอย่างไม่ต้องเป็นทางการที่บ้านจึงต้องมีขึ้นเพื่อต้านบรรยากาศแบบไม่มีอิสลามที่รายล้อมลูกๆ ของเราอยู่ทุกวี่วัน ทำการอบรมสั่งสอนลูกๆ ของเราให้มีความรู้ในหลักคำสอนและหลักปฏิบัติของอิสลามขึ้นในบ้านของเราอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ทั้งพ่อและแม่จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้แก่ลูก
ปลูกฝังลูกให้ยึดหลักคำสอนพื้นฐานอย่างเช่น การพูดความจริง, หลีกเลี่ยงการพูดปด, เคารพผู้ใหญ่, รังเกียจสุรา และอื่นๆ
สำหรับเรื่องสุรานั้น เป็นที่รู้กันดีแล้วว่าเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด(ฮะรอม) ในครอบครัวมุสลิมที่เคร่งครัดไม่เคยเห็นแม้แต่ขวดสุรา แต่พ่อแม่มุสลิมสมัยนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ดื่มสุรา แต่ก็ยินดีนั่งร่วมโต๊ะที่มีสุราวางอยู่กับคนอื่นๆ ในสังคม โดยคิดว่ามันเป็นความนิยม หรือจะได้รับความนับถือจากคนที่ไม่ใช่มุสลิม
เด็กที่ได้เห็นแบบอย่างของพ่อแม่ ซึ่งทำให้คำสั่งห้ามต่อสุราเป็นสิ่งที่ดูเบาไปนั้น อาจเกิดทัศนคติต่อสุราในรูปแบบใหม่ และเพียงแค่เพื่อนของเขาชักชวนเพียงเล็กน้อย เขาก็อาจจะเริ่มต้นดื่มสุราได้แล้ว
คำสอนอื่นๆ ของอิสลามก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮิญาบ, การรักษาเวลานมาซ, การคบหากับเพื่อนต่างเพศ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่แม่จะต้องพร่ำสอนเป็นประจำ และทำตัวเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น แม่มุสลิมจะต้องตื่นตัวและมีสติ และปกป้องลูกๆ ให้ปลอดภัยจากอันตรายเหล่านี้ ภายในบ้านอันอบอุ่นแบบอิสลาม