สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 3 ตอนที่ 4
สุนทรพจน์ครั้งที่ 2 ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในวันอาชูรอ
ท่านคอวาริซมีย์กล่าวว่า สุนทรพจน์ครั้งที่สองของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในวันอาชูรอ ณ แผ่นดินกัรบะลาอ์มีดังนี้
หลัง จากที่กองทัพของทั้งสองฝ่ายได้เตรียมพร้อมแล้ว ฝ่ายทหารของอุมัร บินซะอ์ดิ ได้ชูธงรบขึ้น เมื่อเสียงลั่นกลองรบและเป่าแตรได้ดังขึ้น กองทัพของฝ่ายศัตรูได้รายล้อมค่ายพักของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ไปทุกด้านประหนึ่งดังวงแหวน ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ออกมาเผชิญหน้ากับทหารของฝ่ายศัตรูพร้อมกับกองทหารของท่าน ท่านเรียกร้องให้พวกเขาสงบลงเพื่อรับฟังคำพูดของท่าน แต่คนเหล่านั้นยังคงส่งเสียงอื้ออึงไปทั่ว ท่านจึงกล่าวให้พวกเขาสงบลงอีกครั้งหนึ่งว่า
“ความ หายนะจงประสบแก่พวกท่าน มีอะไรเกิดขึ้นกับพวกท่านหรือ หากพวกท่านจะสงบลงเพื่อรับฟังคำพูดของฉัน แท้จริงฉันจะเชิญชวนพวกท่านสู่แนวทางที่ถูกต้อง ดังนั้นบุคคลใดที่เชื่อฟังฉัน เขาจะเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้ที่ได้รับการชี้นำ และบุคคลใดที่ฝ่าฝืนฉัน เขาจะเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาผู้ที่ประสบกับความหายนะ พวกท่านทั้งหมดเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของฉัน ไม่ยอมรับฟังคำพูดของฉัน แน่นอนยิ่งปัจจัยทั้งหลายของพวกท่านผูกขาดอยู่สิ่งที่ต้องห้าม และท้องของพวกท่านถูกบรรจุไปด้วยสิ่งที่ฮะรอม (ต้องห้าม) ดังนั้น อัลลอฮ์ (ซบ.) จึงได้ทรงผนึกหัวใจของพวกท่าน (จนไม่อาจเข้าใจสัจธรรมของพระองค์ได้ ความหายนะจงประสบแก่พวกท่าน พวกท่านจะไม่เงียบสงบหรือ พวกท่านจะไม่รับฟังคำพูดของฉันหรือ”
เมื่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ได้ดำเนินมาถึงจุดนี้ บรรดาทหารของอุมัร บินซะอ์ดิ ต่างแสดงการตำหนิกันว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่เงียบลง และบังคับกันให้รับฟังคำพูดของท่าน
อิมาม เมื่อเหล่าทหารของฝ่ายศัตรูได้เงียบสงบลง ท่านอิมาม (อ.) จึงกล่าวสุนทรพจน์ต่อไปว่า
“ความอัปยศและความเศร้าโศกเสียใจจงประสบแก่พวกท่าน ในขณะที่พวกท่านเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเรา ด้วยสภาพของผู้ที่มีความเศร้าโศกและกระวนกระวายใจ และพวกเราได้ตอบรับเสียงเรียกร้องขอความช่วยเหลือของพวกท่าน ด้วยความพร้อมและกระวีกระวาด แต่พวกท่านกลับชักดาบซึ่งอยู่ ณ ต้นคอของเรา ฟาดฟันลงบนพวกเรากระนั้นหรือ พวกท่านได้ก่อไฟแห่งฟิตนะฮ์ขึ้นแก่พวกเรา ไฟซึ่งศัตรูของพวกท่านและศัตรูของเราจะเก็บเกี่ยวผลของมัน พวกท่านได้รวมตัวกันเป็นศัตรูต่อมิตรของท่านเอง แล้วกลับไปเป็นมือของเหล่าศัตรูที่คอยห้ำหั่นพวกเรา ซึ่งไม่มีความยุติธรรมใดๆ ที่พวกเขาจะแสดงออกต่อพวกท่าน และไม่มีทั้งความหวังใดๆ ที่จะบังเกิดขึ้นแก่พวกท่าน นอกจากสิ่งที่เป็นของฮะรอมจากโลกนี้ ซึ่งพวกเขาจะมอบให้แก่พวกท่าน (นอกจาก) การมีชีวิตอยู่ที่ต่ำต้อยที่พวกท่านมุ่งหวังจะได้รับ
สำหรับเราแล้วไม่มีเหตุการณ์ (แปลกใหม่) อันใด ไม่มีทั้งทัศนะความเชื่อที่ผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นกับเรา ช้าก่อนเถิด! ความอัปยศอดสูนานัปการจะประสบกับพวกท่าน เมื่อพวกท่านรังเกียจเรา พวกท่านก็ทอดทิ้งเราไป จากนั้นพวกท่านก็จัดเตรียมทัพ ทั้งๆ ที่ดาบยังมิได้ถูกชักออกจากฝัก และดวงใจยังคงสงบมั่น ความเชื่อถือยังมิได้เปลี่ยนแปรไป พวกท่านก็ได้โหมกระหน่ำเข้าหาเรา ประหนึ่งการโบยบินของเหล่าตั๊กแตน พวกท่านทั้งหลายได้จู่โจมเราประหนึ่งการรวมตัวกันเข้ามาของหมู่ผีเสื้อ ดังนั้นความหายนะจงประสบแก่พวกท่าน เพราะแท้จริงพวกท่านคือจอมกบฏแห่งประชาชาตินี้ เป็นพวกที่หลงเหลือจากสงครามอะฮ์ซาบ เป็นพวกที่ละทิ้งคัมภีร์ (อัลกุรอาน) เป็นพวกที่ถูกกระซิบกระซาบจากมารร้าย เป็นกลุ่มชนที่ประพฤติแต่ความบาป เป็นพวกที่บิดเบือนคัมภีร์ (ของพระเจ้า) เป็นพวกที่ดับรัศมีของแบบอย่าง (ของท่านศาสนทูต) เป็นผู้สังหารลูกหลานของบรรดาศาสดา เป็นผู้ทำลายล้างเชื้อสายของเอาศิยาอ์ (บรรดาผู้เป็นตัวแทน) พวกท่านคือกลุ่มชนที่ถูกผนวกเข้าอยู่ในหมู่ของลูกซินา เป็นผู้กลั่นแกล้งทรมานผู้ศรัทธา และพวกท่านคือพวกที่เย้ยหยันเสียงเรียกร้องของผู้นำ พวกที่ได้แบ่งแยกอัลกุรอานออกเป็นเสี่ยงๆ” (1)
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวถึงประเด็นอื่นอีกในสุนทรพจน์ของท่าน ซึ่งเราจะได้นำมาพิจารณาในส่วนที่สองของสุนทรพจน์ของท่านดังนี้
“พวกท่านกำลังพึ่งพิงบุตรของฮัรบ์ (ยาซีด) และพวกพ้องของเขา และทอดทิ้ง (การช่วยเหลือ) เรา ใช่แล้ว! ของสาบานต่ออัลลอฮ์ การทอดทิ้งเราเป็นคุณลักษณะของพวกท่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เส้นเลือดของพวกท่านเชื่อมติดอยู่กับธรรมชาติเช่นนี้ รากและกิ่งก้านของพวกท่านสืบทอดมาจากมัน หัวใจของพวกท่านงอกเงยขึ้นมาจากมัน และหัวอกของพวกท่านก็ถูกปกคลุมไปด้วยธรรมชาติเช่นนี้ ดังนั้นพวกท่านก็เปรียบได้ดังต้นไม้ชั้นเลว ที่ (ผลของมัน) ติดอยู่ในลำคอของผู้ดูแลสวน แต่กลับเป็นอาหาร (ชั้นดี) สำหรับผู้ที่ฉกฉวย ขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบกับผู้บิดพลิ้วสัญญา ผู้ที่ทำลายล้างคำมั่นสัญญาหลังจากที่ได้ทำมันให้มั่นคง ทั้งๆ ที่พวกท่านได้ยึดถืออัลลอฮ์เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้นขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า พวกท่านก็คือพวกที่ชอบบิดพลิ้วสัญญานั่นเอง
พึงสังวรณ์เถิด แท้จริงลูกซินา (อิบนิซิยาด) บุตรของลูกซินา ได้บังคับฉันให้เข้าอยู่ในระหว่างทางสองแพร่ง (นั่นคือ) ระหว่างดาบและความต่ำต้อย และความต่ำต้อยนั้นช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร อัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ พร้อมทั้งเหล่าศรัทธาชน ไม่พึงปรารถนาที่จะให้สิ่งนั้นบังเกิดขึ้นกันเรา สติปัญญาอันบริสุทธิ์ ภูมิธรรมและจิตวิญญาณอันสูงส่ง ปฏิเสธที่จะเลือกเอาการเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกเลวทรามแทนความตายเยี่ยงบรรดา ผู้มีเกียรติทั้งหลาย พึงสังวรณ์เถิด แท้จริงฉันเคลื่อนขบวนของกลุ่มชนเหล่านี้มาด้วยจำนวนอันน้อยนิด ในสภาพที่ผู้ช่วยเหลือได้ละทิ้งจากไป” (2)
จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้รำพันบทกวีบทหนึ่ง ซึ่งมีความหมายดังนี้
“มาตรว่าเราจะได้รับชัยชนะแล้ว อันที่จริงในอดีตเราคือผู้ชนะ และมาตรว่าเราจะถูกพิชิตลง เราก็มิใช่ผู้ที่พ่ายแพ้แต่ประการใด
ความขลาดกลัวมิใช่ลักษณะของเรา แต่ทว่าความตายของเรา จะนำไปสู่อำนาจการปกครองของบุคคลที่จะมาหลังจากเรา
จงกล่าวแก่พวกเขาที่ปิติยินดีต่อเคราะห์กรรมของเราว่า พวกท่านทั้งหลายจงตื่นจากความหลับใหลเถิด ในไม่ช้าผู้ที่เริงร่าในเคราะห์กรรมของผู้อื่น จะต้องประสบเช่นเดียวกับเรา
เมื่อความตายได้ลุกหนีไปจากชนกลุ่มหนึ่ง มันก็จะไปคุกเข่าต่อชนกลุ่มอื่น”
จากนั้นท่าน (อ.) กล่าวต่อไปอีกว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เวลาของพวกท่านจะไม่ถูกประวิงไว้หลังจากสงครามครั้งนี้ แต่จะเป็นประดุจดังช่วงเวลาที่ม้าได้ถูกขึ้นขี่ มันจะทำให้พวกท่านหมุนไปเหมือนกับการหมุนของโม่หิน และมันจะสร้างความโกลาหลอลหม่านแก่พวกท่าน ประดุจดังความอลหม่านของแกนแห่งโม่หิน มันคือคำมั่นสัญญาหนึ่งที่บิดาของฉันได้แจ้งแก่ฉัน จากท่านศาสนทูตผู้เป็นตาของฉัน ดังนั้นพวกท่านจงระดมการงานของพวกท่าน และบรรดาภาคีของพวกท่านเถิด ภายหลังการงานของพวกท่าน ซึ่งจะไม่เป็นสิ่งคลุมเครือสำหรับพวกท่าน หลังจากนั้นพวกท่านก็จงปฏิบัติต่อฉัน และจงอย่าประวิงฉันไว้อีกเลย แท้จริงฉันได้มอบหมายต่ออัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลของฉันและพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ไม่มีสัตว์ตัวใดเลยนอกจากที่พระองค์จะทรงจับกระหม่อมของมันไว้ (ให้อยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์) แท้จริงพระผู้อภิบาลของฉัน ทรงดำรงมั่นอยู่บนหนทางอันเที่ยงตรง”
ต่อจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ยกมือทั้งสองของท่านขึ้นสู่ฟากฟ้า แล้ววอนขอการสาปแช่งให้ประสบกับเหล่าทหารของอุมัรอิบ นิซะอ์ดิว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงยับยั้งฝนจากพวกเขา และโปรดทำให้พวกเขาพบกับเวลาเดียวกับปีของ (กลุ่มชนแห่ง) ยูซุฟ และขอพระองค์ทรงทำให้เด็กหนุ่มแห่งเผ่าษะกีฟมีอำนาจปกครองพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้ดื่มกินจากแก้วอันแสนขมขื่น โดยที่เด็กหนุ่มผู้นั้นจะไม่ปล่อยให้บุคคลใดในหมู่พวกเขา (รอดพ้นไป) นอกเสียจากจะฆ่าฟันให้ตายติดตามกันไป ซึ่ง (ด้วยมือของพระองค์) จะทำการล้างแค้นพวกเขาให้แก่ข้าฯ เพราะแท้จริงพวกเขาได้หลอกลวงเหล่าข้าฯ ได้ทอดทิ้งเหล่าข้าฯ พระองค์คือพระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ พระองค์เท่านั้นที่เหล่าข้าฯ มอบหมาย และจุดหมายสุดท้ายนั้นย่อมกลับสู่พระองค์”
ประเด็นสำคัญของสุนทรพจน์นี้
ทุก ถ้อยคำจากสุนทรพจน์ข้างต้นของอิมามฮูเซน (อ.) ก็เป็นเช่นเดียวกันกับคำพูดของท่านในสุนทรพจน์ครั้งอื่นๆ ของท่าน ที่จำเป็นต้องมีคำอรรถาธิบายเพิ่มเติมที่เต็มไปด้วยเนื้อหาและแง่คิดเตือนใจ ที่สำคัญต่างๆ และในส่วนสำคัญของสุนทรพจน์นี้ ท่านอิมาม (อ.) ตำหนิและประณามประชาชนชาวกูฟะฮ์ไว้อย่างรุนแรง ท่านได้ย้ำเตือนให้เห็นถึงการบิดพลิ้วสัญญาของพวกเขา ซึ่งในวันหนึ่งด้วยผลแห่งการละเมิดและการกดขี่ของบนีอุมัยยะฮ์ พวกเขาจะโผเข้ามาหาท่านอิมามประดุจดังการกรูเข้ามาของเหล่าผีเสื้อ เพื่อขอความช่วยเหลือจากท่าน แต่หลังจากนั้นไม่นานพวกเขาก็หันเหออกจากท่านไปอย่างสิ้นเชิง และทอดทิ้งท่านไว้อย่างโดดเดี่ยว
ขณะเดียวกันพวกเขากลับไปให้การสนับสนุนและปกป้องบนีอุมัยยะฮ์ผู้ละเมิด และใช้ดาบที่เป็นของลูกหลานของท่านศาสนทูตเข้าฟาดฟันบุคคลเหล่านั้นเสียเอง และเพลิงไปแห่งฟิตนะฮ์ที่บรรดาศัตรูได้จุดขึ้นเพื่อเผาผลาญลูกหลานของศาสน ทูต (ซ็อลฯ) ก็ได้รับการกระพือให้ลุกโชติช่วงขึ้นโดยพวกเขา
ท่าน อิมาม (อ.) ตำหนิและประณามประชาชนชาวกูฟะฮ์ถึงขนาดว่า “พวกท่านคือผู้ดับรัศมีของแบบฉบับแห่งศาสนทูตของอัลลอฮ์ และเหยียบย่ำทางนำของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านเปรียบดังผลไม้ชั้นเลวที่ติดอยู่ในลำคอของผู้ดูแลสวน ซึ่งได้แก่เราชาวอะฮ์ลุลบัยต์ (ครอบครัวศาสดา) และสร้างความขมขื่นให้แก่ผู้ที่คอยทำนุบำรุงและให้ความเจริญงอกงามแก่มัน ในขณะเดียวกัน กลับกลายเป็นอาหารอันโอชะสำหรับบรรดาผู้ลักขโมย ซึ่งได้แก่บนีอุมัยยะฮ์ พวกเขาใช้ประโยชน์จากพวกท่าน เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์อันชั่วร้ายของเขา”
ในช่วงต้นของสุนทรพจน์ของท่านอิมามชี้ให้เห็นว่า การเบี่ยงเบนออกจากการช่วยเหลือท่านอิมามหรือทางนำของชาวกูฟะฮ์ และการหันไปให้การสนับสนุนแก่บนีอุมัยยะฮ์ศัตรูเก่าแก่ของอิสลามนั้น เป็นผลพวกมาจากอาหารฮะรอมที่พวกเขาบริโภคเข้าไปจนเต็มท้องของพวกเขา
ส่วนในประเด็นที่เกี่ยวกับตัวท่านเองที่ว่า ศัตรูได้บีบบังคับให้ท่านเข้าสู่ทางสองแพร่ง ระหว่างการมีชีวิตอยู่ที่ต่ำต้อยไร้เกียรติและการตายอย่างสมศักดิ์ศรีและน่า ภาคภูมิใจนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้กำหนดเส้นทางชีวิตของท่านและเลือกเอาความตายเหนือการมีชีวิตอยู่อย่างต่ำ ต้อยไร้เกียรติ โดยกล่าวว่า “ความต่ำต้อยช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร”
ท้ายที่สุดท่านได้พยากรณ์ถึงอนาคตอันแสนอัปยศของชาวกูฟะฮ์ และวอนขอการสาปแช่งจากอัลลอฮ์ให้ประสบแก่พวกเขาว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงทำให้เด็กหนุ่มแห่งเผ่าษะกีฟมีอำนาจปกครองพวกเขาด้วยเถิด” และยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าเราจะขอชี้ให้เห็นเพียงบางประเด็นดังต่อไปนี้
ผลกระทบของการบริโภคสิ่งฮะราม ที่นำไปสู่การหันเหออกจากสัจธรรม
สิ่ง หนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ความผิดบาปทุกอย่างที่ผู้ปฏิบัติมิได้สารภาพผิดและขออภัยจากพระผู้เป็นเจ้า บาปเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนและหันห่างจากทางนำได้ อย่างไรก็ตาม ในบรรดาความบาปทั้งหลายนั้น การบริโภคสิ่งฮะรอม (ต้องห้าม) จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการเบี่ยงเบนในเชิงความคิดและการหันเหออกจากสัจธรรม จากจุดนี้เองเราจะเห็นได้ว่า ในหลักคำสอนของอิสลามได้กำชับให้ระมัดระวังต่อหลักการดังกล่าวเป็นอย่างมาก มิใช่เฉพาะแต่สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วเพียงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การให้อาหารแก่เด็กๆ หรือการบริโภคของหญิงที่มีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมทารกอยู่ ก็จำเป็นจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก แม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะยังไม่รับรู้สิ่งใด หรือยังมิได้เข้าสู่เกณฑ์บังคับก็ตาม เพราะผลกระทบทางคุณค่าของอาหารเหล่านั้นมีบทบาทมากต่อโครงสร้างทางความคิด และจิตวิญญาณของเด็กในอนาคต
จากประเด็นดังกล่าวนี้เราจะพบว่า ในส่วนแรกของสุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) บ่งบอกถึงสาเหตุของการคัดค้านและการดื้อดึงของประชาชนชาวกูฟะฮ์ ซึ่งพวกเขาไม่พร้อมแม้แต่จะรับฟังคำพูดที่เป็นสัจธรรม
“และท้องของพวกท่านบรรจุไปด้วยสิ่งฮะรอม (ต้องห้าม) ดังนั้นอัลลอฮ์ได้ทรงประทับตราลงบนหัวใจของพวกท่าน (จนมิอาจเข้าใจสัจธรรมได้) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ด้วยเจตนาที่จะสร้างความปราชัยให้แก่อะลีผู้เป็นบิดาของฉัน และเพื่อที่จะทำให้ฮาซัน มุจญ์ตะบา พี่ชายของฉัน ต้องละทิ้งออกจากเวทีทางการเมืองและการเป็นคอลีฟะฮ์ ทรัพย์สินเงินทองที่เป็นของฮะรอมจำนวนมากมายจากมุอาวียะฮ์ ได้ถูกนำมาประเคนให้พวกท่าน (ชาวกูฟะฮ์) ในรูปของของขวัญและของกำนัล ท้องของพวกท่านจึงถูกบรรจุจนเต็มเปี่ยมไปด้วยอาหารที่ฮะรอมประเภทนี้ และด้วยผลของอาหารที่ฮะรอมนี้เองที่ทำหัวใจของพวกท่านดำสนิท ดวงตาของพวกท่านต้องมืดบอด และหูของพวกท่านได้หนวกจากการรับฟังคำพูดที่เป็นสัจธรรม”
กองกำลังของอิสลามได้เผชิญหน้ากับอิสลาม
ประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญอย่างยิ่งอีกประเด็นหนึ่งจากสุนทรพจน์ของท่านอิมา ม (อ.) คือการเรียกร้องของประชาชนชาวกูฟะฮ์มาสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า พวกท่านใช้ดาบซึ่งเป็นของครอบครัวของศาสนทูต (ซ็อลฯ) เข้าฟาดฟันครอบครัวของท่านเสียเอง และใช้กองของกำลังอิสลามมาต่อสู้กับอิสลามเสียเอง
ประเด็นดังกล่าวข้างต้นที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นในสนามศึกแห่งกัรบะลาอ์ ในช่วงการเผชิญหน้ากันระหว่างสัจธรรมและความหลงผิด แท้จริงแล้วมิได้จำกัดอยู่เฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่มนุษยชาติจะต้องประสบในทุกช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ และในสนามแห่งการเผชิญหน้าระหว่างสัจธรรมและความหลงผิด
แม้ในปัจจุบันเราก็จะพบเห็นว่า มีกลุ่มชนที่ลุกขึ้นคัดค้านและเผชิญหน้ากับการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน และไม่เห็นด้วยกับการทำลายล้างอำนาจของบนีอุมัยยะฮ์แห่งยุคสมัย บุคคลเหล่านี้คือกลุ่มชนที่ได้รับสินจ้างและเครื่องบริโภคต่างๆ ที่เป็นสิ่งฮะรอม (ต้องห้าม) จากรัฐบาลอะมาวีย์แห่งยุคสมัยนั่นเอง ดังนั้นพวกเขาจึงลุกขึ้นต่อสู้กับขบวนการปฏิวัติแห่งอิสลามอันยิ่งใหญ่นี้ “ปัจจัยทั้งหลายของพวกเขา ผูกขาดต่อสิ่งที่เป็นของต้องห้าม และท้องของพวกเขาถูกบรรจุไว้ด้วยสิ่งที่ฮะรอม ดังนั้นอัลลอฮ์จึงได้ประทับตราลงบนหัวใจทั้งหลายของพวกเขา (จนมิอาจเข้าใจสัจธรรมของพระองค์ได้)”
เป็นที่น่าเสียใจว่า นอกจากบรรดาผู้คัดค้านเหล่านี้ ยังมีบุคคลจำนวนหนึ่งเช่นกันที่ชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา เป็นหนี้บุญคุณต่ออิสลามและอัลกุรอาน แต่ทว่าในช่วงสมัยแห่งการปกครองของราชวงศ์ปาลาวีย์ ที่ความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรมได้ไปถึงจุดสูงสุดของมัน และความชั่วร้ายทั้งหลายได้แพร่ระบาดไปทั่วแผ่นดินของอะฮ์ลุลบัยต์ ประกอบกับแผนการอันเลวร้ายต่างๆ ของพวกปาลาวีย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงวันที่และปีฮิจญเราะฮ์ศักราช การยอมรับลัทธิบาไฮถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นทางการ เพื่อทำลายล้างรากฐานแห่งอิสลาม ในสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ บุคคลกลุ่มดังกล่าวกลับนั่งปิดปากเงียบ ไม่เพียงแต่พวกเขามิได้แสดงการคัดค้านใดๆ เพียงเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับหัวเราะเยาะและแสดงการเย้ยหยันต่อบุคคลที่ได้ต่อสู้ในหนทางแห่ง อิสลาม และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งอัลกุรอาน ที่ถูกจับตัวไปคุมขังและทารุณกรรมไว้ในคุกมืด
ใช่แล้ว! บุคคลกลุ่มเดียวกันนี้เองที่ในปัจจุบัน นอกจากพวกเขาจะมิได้ให้การช่วยเหลือใดๆ ในการเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งต่อสัจธรรมและต่อรัฐอิสลามแล้ว ตรงกันข้าม ในช่วงวิกฤตการณ์ที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่บรรดายะซีดแห่งยุคสมัยได้ระดมพล กันมาจากทุกทิศทุกทางเพื่อทำลายล้างอิสลาม พวกเขากลับกลายเป็นขุมกำลังและหลักประกันสำหรับบรรดายะซีดเหล่านั้น ในการทำลายล้างอิสลามและอัลกุรอาน และเป็นสาเหตุให้ไฟแห่งฟิตนะฮ์ที่บรรดาศัตรูได้จุดขึ้นเพื่อเผาผลาญอิสลาม ให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม หรือบางครั้งภายใต้ชื่อว่า “พรรคแห่งอิสลาม” พวกเขากลายเป็นผลไม้ชั้นเลวที่สร้างความขมขื่นให้แก่ผู้ดูแลสวน ผู้ให้การทำนุบำรุงและให้การเจริญเติบโตแก่มัน ซึ่งได้แก่อิสลามและอัลกุรอาน
แต่ ขณะเดียวกัน พวกเขาได้ทำให้เกิดความปิติยินดีและกลายเป็นอาหารอันเลิศรสสำหรับศัตรูผู้ กระหายเลือดของอิสลามไป ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้เราสามารถประจักษ์ได้จากคลื่นวิทยุของชาวต่างชาติ “และพวกท่านได้ชักดาบซึ่งอยู่ ณ ต้นคอของเรา และฟาดฟันลงบนพวกเราเสียเอง พวกท่านได้ก่อไฟฟิตนะฮ์ (วิกฤติการณ์) ต่างๆ ขึ้น ไฟที่ศัตรูของพวกท่านและศัตรูของเราจะเก็บเกี่ยวผลของมัน พวกท่านได้รวมตัวกันเป็นศัตรูต่อมิตรสหายของตน และกลายไปเป็นมือของบรรดาศัตรูที่คอยห้ำหั่น และพวกท่านเปรียบประหนึ่งต้นไม้ชั้นเลวที่ (ผลของมัน) ติดอยู่ในลำคอของผู้ดูแลสวน แต่กลับเป็นอาหารชั้นดีสำหรับผู้ที่ฉกฉวย”
อนิจจา! ช่างเป็นฉากที่น่าประหลาดใจ และเป็นสนามทดสอบที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมิได้หยุดหย่อน อบูมูซา อัชอารีย์ และผู้ที่เข้าร่วมในสงครามแห่งบัศรอฮ์ เพื่อต่อต้านอิมามอะลี (อ.) และพวกนะฮ์รอวาน ที่สามารถท่องจำอัลกุรอานและประกอบอิบาดะฮ์จนหน้าผากด้านดำ แท้จริงแล้วอันตรายของพวกเหล่านี้ที่มีต่ออิสลาม ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปจากมุอาวิยะฮ์และฮัจญาจทั้งหลายเท่าใดนัก
ข้าพเจ้า เกรงว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวข้างต้นจะถูกรวมเข้าอยู่ในคำสาปแช่งของท่านอิมาม (อ.) ด้วยเช่นกันที่ว่า “และขอพระองค์ได้โปรดทำให้เด็กหนุ่มแห่งเผ่าษะกีฟ (ฮัจญาจ) มีอำนาจปกครองเหนือพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้ดื่มกินจากแก้วอันแสนขมขื่น ซึ่งพวกเขาจะต้องพบกับความอัปยศอดสูเป็นที่สุด”
เจตนารมณ์อันแน่วแน่
ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นที่สามจากสุนทรพจน์ของท่านอิมาม (อ.) ได้แก่การมีจุดยืนที่มั่นคงและเจตนารมณ์อันแน่วแน่ การไม่ยอมมอบกายให้แก่ความต่ำต้อยไร้เกียรติ โดยที่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องตกอยู่ภายใต้คมหอกคมดาบ ภายใต้เกือกม้าของเหล่าศัตรู หรือเมื่อเราต้องตกอยู่ในหนทางสองแพร่ง นั่นคือระหว่างความตายกับความต่ำต้อย เราจะกล่าวขึ้นอย่างหนักแน่นว่า “ความต่ำต้อยช่างห่างไกลจากเราเสียนี่กระไร”
ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่าหากประโยคดังกล่าวนี้ จะถูกนำไปติดไว้แทนธงสีแดงที่โบกสะบัดอยู่บนยอดโดมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความมีอิสรภาพมากกว่าธงใดๆ จะช่วยเสริมสร้างพลังและปลุกเร้าจิตวิญญาณมากกว่าคำขวัญใดๆ สำหรับศรัทธาชน ยิ่งไปกว่านั้นมันจะเป็นเครื่องทำลายขวัญแก่ศัตรูมากกว่าพลังอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีความเข้มแข็งและเป็นผู้กระหายเลือดอย่างมาก ซึ่งพวกเขาได้บุกตะลุยเข้าโจมตีท่านและผู้ช่วยเหลือ รวมทั้งบุคคลในครอบครัวของท่านอย่างไร้มนุษยธรรมและไร้ยางอายยิ่งนัก
แต่ทว่ามีเพียงพลังอำนาจเดียวที่พวกเขาได้พบว่าตนเองอ่อนแอและไร้ความสามารถ ที่จะเผชิญหน้ากับมันได้ นั่นคือเจตนารมณ์อันแน่วแน่และมั่นคง และการไม่ยอมตกอยู่ใต้แอกแห่งความต่ำต้อยไร้เกียรติของท่านอิมาม ซึ่งท่านได้ประกาศอย่างองอาจในขณะเผชิญหน้ากับคมหอกคมดาบและลูกธนูของเหล่า ศัตรูว่า “มาตรว่าเราได้รับชัยชนะ อันที่จริงในอดีตเราก็คือผู้ชนะ มาตรว่าเราได้ถูกพิชิต ก็ใช่ว่าเราคือผู้ที่พ่ายแพ้”
ด้วย กองกำลังอันน้อยนิดเพียงเท่านี้ แต่เราจะยืนหยัดต่อสู้กับศัตรูผู้เข้มแข็งและมีจำนวนมหาศาล มาตรว่าเราจะประสบชัยชนะสิ่งนี้ก็มิใช่ของแปลกใหม่แต่อย่างใด และมาตรว่าเราได้ถูกสังหาร โลกย่อมรู้ว่าเรามิใช่ผู้ที่พ่ายแพ้ แม้เรือนร่างของเราจะถูกทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยภายใต้เกือกม้าของพวกเขา ทว่าเจตนารมณ์อันมั่นคงของเรามิได้ถูกทำให้ผันแปรไปแต่อย่างใด
ท่าน เชคกอซิม ชาวเมืองเรย์ ได้รำพันบทกวีบทหนึ่งขึ้นว่า “การทิ่มแทง (ด้วยหอกและดาบ) ของบรรดาศัตรูได้เปลี่ยนสภาพอวัยวะทุกส่วน (ของท่านอิมาม) ไปจนหมดสิ้น นอกจากเกียรติยศ (ของท่าน) ที่ถูกรักษาไว้จากการแปรผัน”
ในค่ำคืนนั้นเอง มีชายผู้หนึ่งที่รู้จักกับเชคกอซิม ได้พบกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในความฝัน ท่านหญิงได้กล่าวแก่ชายผู้นั้นว่า “จงไปหาเช็คกอซิมเถิด และจงเรียนรู้บทกวีบทนี้จากเขา” แม้ว่าชายผู้นี้จะไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับเช็คกอซิมเท่าใดนัก แต่เขาก็มายังบ้านของเช็คกอซิมและกล่าวแก่ท่านว่า “ท่านได้รำพันกวีบทนี้ใช่หรือไม่” ท่านเช็คกล่าวว่า “ใช่แล้ว! แต่จนบัดนี้ฉันยังไม่เคยอ่านบทกลอนนี้ให้ใครได้ฟังเลย แล้วท่านรับรู้มาได้อย่างไร” ชายผู้นั้นตอบว่า “เมื่อครู่นี้เอง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้กล่าวกวีบทนี้ในความฝันของฉัน และได้ใช้ให้ฉันมายังบ้านของท่าน”
การสาปแช่งของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
ตามรายงานของบรรดานักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในวันอาชูรอ หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวสุนทรพจน์ทั้งสองครั้งแล้ว มีบุคคลสามคนได้ออกมาเผชิญหน้ากับท่านอิมามโดยตรง พวกเขาแสดงออกถึงความดื้อด้านและปฏิเสธข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเปิดเผย ดังนั้นท่านอิมาม (อ.) จึงสาปแช่งบุคคลทั้งสาม และทันใดนั้นการสาปแช่งของท่านได้ถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้า โดยที่ชายสองคนประสบโทษทัณฑ์จากพฤติกรรมอันสามานย์ของตนในเวลานั้นเอง ส่วนอีกคนหนึ่งประสบการลงโทษภายหลังจากวันอาชูรอเพียงไม่นานนัก
(ก) จากการรายงานของคอวาริซมีย์ เมื่อท่านอิมาม (อ.) มิได้รับผลอะไรจากคำพูดของท่าน และมองเห็นฝูงชนเตรียมพร้อมแล้วที่จะจู่โจมเข้ามายังค่ายพักของท่าน ท่านอิมาม (อ.) ได้เงยหน้าขึ้นสู่ฟากฟ้าและวอนขอต่ออัลลอฮ์ว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า แท้จริงเหล่าข้าฯ คืออะฮ์ลุลบัยต์ของศาสดาของพระองค์ เป็นลูกหลานและเครือญาติที่ใกล้ชิดของท่าน ดังนั้นขอพระองค์โปรดทำลายล้างบุคคลที่อธรรมและแย่งชิงสิทธิอันชอบธรรมของ เหล่าข้าฯ ไปด้วยเถิด แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงใกล้ชิดยิ่ง”
มุ ฮัมมัด บินอัชอัษ ซึ่งอยู่ในแนวหน้าของกองทหาร เมื่อได้ยินคำสาปแช่งของท่านอิมาม (อ.) เขาได้ออกมาข้างหน้า พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดทำให้ข้าฯ ได้เห็นความต่ำต้อยไร้เกียรติโดยทันทีทันใดจากตัวเขาในวันนี้ด้วยเถิด”
การสาปแช่งซึ่งเกิดขึ้นจากก้นบึ้งแห่งหัวใจของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อมุฮัมมัด บินอัชอัษ ได้ถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้า ภายหลังจากนั้นเพียงไม่กี่อึดใจ เขาได้แยกตัวออกไปจากบรรดาทหารเพื่อทำการปลดทุกข์ เขาได้นั่งลง ณ มุมหนึ่งของทุ่งกว้าง ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองแมลงป่องสีดำได้ต่อยเขา เขาจึงจบชีวิตลงในสภาพที่ทวารทั้งสองของเขามิได้ถูกปกปิด (3)
(ข) จากการรายงานของบาลาซารีย์ อิบนิอะษีร และนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ บันทึกไว้ว่า เมื่อบรรดาทหารเข้ามาใกล้ค่ายพักของท่านอิมาม (อ.) บุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่า “อับดุลลอฮ์ บินเฮาซะฮ์” จากเผ่าตะมีมได้ออกมาข้างหน้า และได้ตะโกนขึ้นต่อหน้าบรรดาสาวกของท่านอิมาม (อ.) ด้วยเสียงอันดังก้องว่า “ฮูเซนอยู่ในหมู่พวกเจ้าใช่ไหม” สาวกผู้หนึ่งของท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบเขาพร้อมกับชี้ไปยังท่านอิมาม (อ.) ว่า “นี่ไงฮูเซน เจ้าต้องการอะไรจากท่านหรือ” อับดุลลอฮ์ บินเฮาซะฮ์ กล่าวต่อท่านอิมาม (อ.) ว่า ”จงปิติยินดีต่อไฟนรกเถิด”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบเขาว่า “เจ้าได้กล่าวเท็จ ทว่าฉันกำลังจะไปสู่พระผู้อภิบาลของฉัน ผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงได้รับการเชื่อฟัง อีกทั้งทรงเป็นผู้ให้การอนุเคราะห์ และเจ้าเป็นใครกัน” อับดุลลอฮ์ตอบว่า ”ฉันคือบุตรของเฮาซะฮ์”
ณ จุดนี้เองท่านอิมาม (อ.) ได้ยกมือขึ้นสู่ฟากฟ้าและขอดุอาอ์สาปแช่งเขา ด้วยคำกล่าวที่สอดคล้องกับชื่อของเขาว่า “โอ้อัลลอฮ์ โปรดฉุดกระชากเขาลงสู่นรกด้วยเถิด”
อิบนิเฮาซะฮ์ รู้สึกโกรธแค้นต่อการสาปแช่งของท่านอิมาม (อ.) ยิ่งนัก เขาได้ฟาดแส้ลงบนหลังม้าของตนอย่างแรง และด้วยผลแห่งการกระทำดังกล่าว ม้าของเขาได้พุ่งตัวออกไปด้วยความเร็ว เขาตกลงจากหลังม้า แต่ทว่าเท้าข้างหนึ่งของเขาติดอยู่กับโกลนม้า ม้าตกใจและวิ่งลากเขาไปฝั่งโน้นฝั่งนี้ ในที่สุดมันลากเขาไปยังท้องร่อง ซึ่งในท้องร่องแห่งนั้นพวกเขาจุดไฟเอาไว้ ร่างที่เต็มไปด้วยบาดแผลและใกล้จะสิ้นใจของอิบนิเฮาซะฮ์ก็ตกลงไปในกองไฟนั้น และก่อนที่จะประสบกับเพลิงไฟแห่งอาคีเราะฮ์ เขาได้ประสบกับเพลิงไฟและการลงโทษแห่งโลกนี้เสียแล้ว
เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้มองเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวท่านได้ก้มกรานลงซุญูด เพื่อขอบคุณต่ออัลลอฮ์ที่ทรงตอบรับการวอนขอของท่าน (4)
(ค) อิบนิอะษีร ภายหลังจากรายงานถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เขาได้รายงานจาก มัซรูก บินวาอิล ฮัฎรอมีย์ว่า ฉันตั้งมั่นอยู่แนวหน้าของกองทัพแห่งกูฟะฮ์ โดยมุ่งหวังที่จะคอยเก็บทรัพย์สินเชลยสงคราม แต่เมื่อฉันได้แลเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอิบนิเฮาซะฮ์ ด้วยสายตาของตนเอง ฉันก็เข้าใจได้ทันทีว่า ครอบครัวนี้เป็นผู้ที่ได้รับเกียรติเป็นพิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เองฉันจึงได้ถอยออกไปจากที่นั่น และได้กล่าวแก่ตนเองว่า “ไม่สมควรที่ฉันจะทำสงครามกับเขา มิเช่นนั้นแล้วฉันจะต้องประสบกับไฟนรก”
(ง) บาลาซารีย์ ได้รายงานไว้ว่า ในวันอาชูรอ อับดุลลอฮ์ บินฮะซีน อะฎอดีย์ ได้กล่าวขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “โอ้ฮูเซนเอ๋ย เจ้าเห็นน้ำในแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) ใช่ไหม ซึ่งมีสีเขียวใสสะอาดน่าดื่ม ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า พวกเราจะไม่ปล่อยให้มันไปถึงคอหอยของเจ้าแม้แต่เพียงหยดเดียว จนกว่าเจ้าจะตายลงเพราะความหิวกระหายนี้”
ท่านอิมาม (อ.) ขอดุอาอ์สาปแช่งเขาว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โปรดสังหารเขาในสภาพของผู้ที่หิวกระหาย และโปรดอย่าอภัยโทษให้กับเขาตลอดไปด้วยเถิด”
บาลาซารีย์ กล่าวต่อไปว่า ดังที่ท่านอิมาม (อ.) ได้สาปแช่งเอาไว้ อิบนิฮะซีนตายลงในสภาพของผู้ที่มีความหิวกระหายอย่างมาก เพราะว่าภายหลังจากอาชูรอไม่นานนัก ไม่ว่าเขาจะดื่มน้ำเข้าไปมากเท่าใด แต่ทว่าเขาก็ไม่รู้สึกอิ่มแต่อย่างใด จนในที่สุดเขาได้จบชีวิตลงในสภาพเช่นนั้น (5)
เชิงอรรถ :
(1) ส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ข้างต้นนี้ ถูกอ้างอิงไว้ในหนังสือ “ตุฮะฟุล อุกูล” ในฐานะของจดหมายฉบับหนึ่งของท่านอิมาม (อ.) ที่ส่งถึงชาวกูฟะฮ์
(2) ตุฮะฟุล อุกูล หน้า 171 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 2 หน้า 7-8 ; ลุฮุฟ มักตัล อะวาลิม และ ตัชกิรอตุล คอวาซ ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในตัวบทเหล่านี้ ในที่นี้ได้คัดเลือกมาจากหนังสือ มักตัล คอวาริซมีย์
(3) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 249
(4) อันซาบุล อัชรอฟ เล่ม 3 หน้า 191 ; กามิล อิบนิกะซีร เล่ม 4 หน้า 27 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่ม 1 หน้า 294 ; ตารีก อิบนิอะซากิร หน้า 256
(5) อันซาบุล อัชรอฟ เล่ม 3 หน้า 181
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน