อะลี ซัยนุลอาบิดีน อิมามที่สี่แห่งอะฮ์ลุลบัยต์
อิมามท่านที่ 4 เป็นบุตรชายของท่าน ฮุเซน อิบนิ อะลี (อ) มารดาของท่านมีนามว่า “ชะฮ์ร์ บานู” ฉายานามที่โด่งดังของท่านคือ
“ซัยนุลอาบิดีน” และ “ซัจญาด”
อิมามซัจญาด (อ) ประสูติในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 38 ท่านใช้ชีวิตในวัยเด็กของท่านที่เมืองมะดีนะฮ์และได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอยู่ในช่วงการปกครองของอิมามอะลี (อ) 2 ปี ภายหลังจากนั้น 10 ปีที่ท่านได้แลเห็นเหตุการณ์ต่างๆในยุคการเป็น
อิมามของลุงของท่านซึ่งก็คือ ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ) โดยท่านได้ทำหน้าที่ปกครองอิสลามในฐานะคอลีฟะฮ์ 6 เดือน หลังจากการเป็นชะฮะดะฮ์ของ
อิมามฮะซัน (อ) (ในปี ฮ.ศ. ที่ 50 )
และท่านได้อยู่ในช่วงการเป็นอิมามของท่านอิมามฮุเซน อิบนิ อะลี (อ) บิดาของท่านอีก 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อำนาจของมุอาวิยะฮ์อยู่ในขั้นสูงสุดโดยที่บิดาของท่านได้ต่อสู้กับเขา ซึ่งท่านเองก็อยู่เคียงข้างกับบิดาของท่านตลอดเวลา
ในปี ฮ.ศ. ที่ 61 ณ ผืนแผ่นดินกัรบะลา ท่านอิมาม (อ) ได้อยู่ในเหตุการณ์การต่อสู้และการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ) และท่านได้เป็น
อิมามหลังจากโศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลา ท่านได้ร่วมเดินทางไปในฐานะเชลยศึกสงคราม จากผืนแผ่นดินกัรบะลา ไปยังกูฟะฮ์และเมืองชาม (ซีเรีย) การเดินทางครั้งนี้ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและเป็นที่พึ่งพิงของบรรดาเชลยที่ตกอยู่ในความโศกเศร้าและความทุกข์ระทมในการเดินทางครั้งนี้ท่านได้กล่าวปราศรัยอย่างดุเดือด สร้างความเสียหายต่อการปกครองของยะซีดและหลังการกลับมาจากเมืองชาม(ซีเรีย) ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ ณ เมืองมะดีนะฮ์ จนกระทั่งท่านได้เป็นชะฮาดะฮ์ในปีฮิจเราะฮ์ที่ 94 หรือ 95 และร่างอันบริสุทธิ์ของท่านถูกฝังอยู่ ณ สุสานบะเกียะอ์ ข้างหลุมพระศพของท่านอิมาม ฮะซัน (อ) ผู้เป็นลุงของท่าน
บรรดาผู้ปกครองร่วมสมัยของท่าน
บรรดาผู้ปกครองที่อยู่ในช่วงการเป็นอิมามของท่านอิมามอะลี อิบนุ ฮุเซน (อ) มีดังต่อไปนี้
1.ยะซีด อิบนิ มุอาวิยะฮ์ (ฮ.ศ. ที่ 61 -64)
2.มุอาวิยะฮ์ อิบนุ ยะซีด (ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือนใน ฮ.ศ. ที่ 64)หลังจากยะซีด แต่เขามีความหวาดกลัวจากการกระทำของยะซีด ที่มีต่ออิมามฮุเซน (อ) และลูกหลาน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสละอำนาจการปกครอง
3.อับดุลลอฮ์ อิบนิ ซุบัยร์ เนื่องจากที่เขานั้นมิได้ให้สัตยาบันกับยะซีด เขาจึงไม่ยอมรับการเป็นผู้ปกครองของยะซีด และเขาได้ตั้งตนเป็นผู้ปกครอง (คอลีฟะฮ์) คู่กับ ยะซีด (ระหว่าง ฮ.ศ.ที่ 61 -73) ทำการปกครองในแคว้นฮิญาซ รวมถึง อิยิปต์ และแถบตะวันออกของอิสลาม
4.มัรวาน อิบนิ ฮะกัม (ระยะเวลา 9 เดือน ในปี ฮ.ศ. ที่ 65)
5.อับดุลมาลิก อิบนิ มัรวาน (ฮ.ศ. ที่ 65 - 86)
6.วะลีด อิบนิ อับดุลมาลิก (ฮ.ศ. ที่ 86 – 96 )
ยุคมืดแห่งการปกครองของอับดุลมาลิก
ช่วงสมัยการเป็นผู้นำของอิมาม ซัจญาด (อ) ตรงกับช่วงสมัยหนึ่งที่เข้าสู่ยุคมืดของการปกครองอิสลามในประวัติศาสตร์อิสลาม แม้ว่าก่อนหน้าท่านอิมาม (อ) การปกครองอิสลามได้ถูกบิดเบือนไปเป็นการปกครองแบบเผด็จการ และเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องแล้วก็ตาม แต่ในสมัยของท่านอิมามที่สี่ นั้น มีความแตกต่างกับช่วงสมัยก่อนๆ ซึ่งผู้ปกครองในสมัยนี้ได้ดูหมิ่นต่อหลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของอิสลามอย่างเปิดเผยและไม่ปิดปังแต่อย่างใด และยังได้เหยียบย่ำรากฐานอิสลามอย่างเปิดเผยอีกด้วย และไม่มีใครที่จะกล้าต่อต้านแม้แต่น้อยนิด
ช่วงสมัยการเป็นผู้นำของท่านอิมาม ซัจญาด (อ) ตรงกับช่วงสมัยของการเป็นผู้ปกครองของอับดุลมาลิก อิบนิ มัรวาน มากที่สุด เป็นระยะเวลานานถึง 21 ปี
กล่าวกันว่า “อับดุลมาลิก เป็นบุคคลที่หลักแหลม มีสติปัญญาดี เป็นนักวิชาการ ฉลาด น่าเกรงขาม เป็นผู้ช่ำชองทางด้านการเมือง และเป็นนักบริหาร”
ก่อนที่เขาจะได้รับอำนาจ เขาได้ขึ้นชื่อว่า เป็นฟะกีฮ์(ผู้เชี่ยวชาญศาสนา)คนหนึ่งของเมืองมะดีนะฮ์และเป็นที่ยอมรับในด้านของความสมถะ อิบาดะฮ์ และเคร่งครัดในศาสนา และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการทำอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีต่อพระเจ้า) ในมัสยิด จึงถูกกล่าวขานว่า “นกพิราบของมัสยิด”
กล่าวกันว่า “หลังจากการตายของบิดาซึ่งก็คือ มัรวาน เมื่ออำนาจการปกครองได้ตกมาถึงเขา ซึ่งในขณะนั้นเขากำลังหมกมุ่นอยู่กับการอ่าน
อัลกุรอาน แต่เมื่อเขาได้รับข่าวนี้ เขาปิดอัลกุรอาน และกล่าวว่า “ขณะนี้ฉันกับเจ้าต้องแยกทางกัน และฉันก็ไม่มีธุระอะไรกับเจ้าอีกแล้ว”
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ที่เขาแยกตัวออกจากอัลกุรอานอย่างสิ้นเชิง และผลจากการหลงลำพองในอำนาจได้ทำให้บุคลิกภาพของเขาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึงผลงานอันมืดมนในการปกครองของเขาไว้อย่างน่าขื่นขม ตามคำพูดของนักประวัติศาสตร์ เขาเป็นบุคคลแรกที่ห้ามประชาชนกล่าวสิ่งใดๆต่อหน้าผู้ปกครองและเป็นบุคคลแรกที่ห้ามไม่ให้ผู้คนทำการตักเตือนให้ทำความดี
การปกครองที่ยาวนานของอับดุลมาลิก ทำให้เขาได้ซึมซับแต่การกดขี่ ความเลวร้าย และการทารุณกรรม จนทำให้ความศรัทธาที่เคยมีอยู่ในหัวใจของเขาถูกดับโดยสิ้นเชิง วันหนึ่งเขาได้สารภาพถึงสิ่งดังกล่าวต่อ ซะอีด อิบนิ มุซัยยับ ว่า
“ฉันกลายเป็นผู้ที่เมื่อทำความดีก็จะไม่ดีใจ และถ้าหากได้ทำความชั่ว ฉันก็ไม่เศร้าใจ”
ซะอีด อิบนิ มุซัยยับ กล่าวว่า “หัวใจของท่านตายด้านอย่างสิ้นเชิงแล้ว”
ที่มา
หนังสือ ซีเรเย พีชวอยอน (วิถีชีวิตบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ )
โดย มะฮ์ดี พีชวออี