บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 22
มรรคผลการทำความดีและความชั่ว
ในอิสลาม ผลของการกระทำความดีและความชั่ว มีเท่ากันทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฎิเสธ ใครทำอะไรไว้ เขาจะได้เห็นมันอย่างแน่นอน ซึ่งบางครั้งบาปบางอย่าง เราทำเพียงชั่วครู่เดียวแต่ผลของมันยาวนาน และในบางครั้งเมื่อมนุษย์ทำความดีเพียงเล็กน้อย ผลของความดีบางอย่างก็ยาวนานและได้อย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน
บนโลกนี้มนุษย์อาจมองไม่เห็นมรรคผลของคุณงามความดีหรือประกอบกรรมชั่ว บางครั้งพวกเขาก็ไม่อาจเห็นผลรางวัลหรือการลงโทษของตนเองได้ ทว่าถ้าหากมนุษย์พิจารณาด้วยสติปัญญา ผลจากการกระทำทำให้เข้าใจได้ทันที่ว่าต้องมีสถานที่อื่นอีก ที่จะคอยพิจารณาและสอบสวนการกระทำของมนุษย์อย่าง
ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งถ้าเป็นคุณความดีพวกเขาก็จะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน แต่ถ้าเป็นความชั่วก็จะถูกลงโทษไปตามกรรมนั้น ดังกล่าวนี้ เห็นได้ว่า อัดลฺในความหมายของพระผู้เป็นเจ้า มีผลสะท้อนทางด้านบวกและลบที่มรรคผลของมันส่งผลอย่างยาวนาน ดังนี้
1. ผลทางด้านบวก
ตัวอย่าง “บ่อน้ำ”
หากเราพูดถึงบ่อน้ำ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญต่อชีวิต ยิ่งหน้าแล้งด้วย การค้นหาสถานที่เพื่อขุดบ่อน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าบางสถานที่ มนุษย์ใช้เวลาขุดบ่อน้ำเพียง 4-5 วัน ก็พบตาน้ำ นี่คือทางด้านบวก เห็นได้ว่า มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้อย่างมหาศาล
2. ผลทางด้านลบ
ตัวอย่าง ที่ 1 “การเล่นไม่ระวัง”
สมมติ เด็กๆเล่นกันแต่เล่นไม่ระวัง เกิดการเอาเข็มทิ่มไปที่ลูกตาดำเพียงชั่ววินาทีเดียว แน่นอนผลของมัน อาจทำให้ตาข้างนั้นมืดมัวไปในบัดดลได้ เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วแทบไม่ต้องเยียวยา เพราะแผลที่ทะลุหรือแตก จะทำให้สิ่งที่อยู่ภายในลูกตาไหลซึมออกมา สภาพเช่นนี้จะไปเหลืออะไร มีแต่บอดกับบอดเท่านั้น น้อยมากที่จะรักษาให้มีสภาพใกล้เคียงปกติ นี่คือ ผลทางด้านลบ
ตัวอย่าง ที่ 2 “ผลของการผิดประเวณี”
ผลของการผิดประเวณีนั้น ส่งผลยังลูกหลานถึงเจ็ดชั่วโคตร หมายถึง บรรดาลูกๆที่ถูกกำเนิดจากการผิดประเวณี แม้เพียงครั้งเดียวนั้นเป็นภัยต่อสังคมเป็นอย่างมาก
มรรคผลของอามั้ลต่างๆ
หากเราศึกษาให้ถึงแก่นของทุกการกระทำ เราจะรู้สึกและสัมผัสได้ว่าอามั้ล การกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในวันกิยามัตเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ทั้งหมดที่ส่งผลลงโทษต่อเขา ซึ่งหากมนุษย์พิเคราะห์ผลจากการกระทำต่างๆแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ลงโทษเพิ่มแต่อย่างใด ตรงนี้ต่างหากที่มนุษย์ต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอามั้ลกับผลของมัน เพียงแต่อามั้ลในแต่ละการกระทำของมนุษย์ต่างหากที่บทลงโทษของมันแตกต่างกันไป
ผลของอามั้ลการกระทำที่ดี
ในวันกิยามัต รางวัลที่มนุษย์จะได้รับ มาจากผลของการกระทำ ในอัลกุรอานและอัลฮาดิษได้กล่าวถึงลักษณะนางฟ้า ธารน้ำนม ธารน้ำผึ้ง ต้นไม้และอื่นๆในสวรรค์ชั้นต่างๆอย่างหลากหลาย บทลงโทษก็เช่นเดียวกัน การนินทาในโลกนี้ ผลที่แท้จริงของมันที่จะตามมาในโลกหน้า คือ การกินซากศพของพี่น้องตัวเอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า พระองค์จัดการเอาซากศพมาให้มนุษย์กิน ทว่าเป็นผลต่อเนื่องที่มาจากการนินทา ชี้ถึงฮากีกัต(ผลที่แท้จริง) ที่แสดงถึงแก่นแท้ของเรื่องที่ว่าด้วยการนินทา รวมไปถึงการกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้าโดยอธรรม
หากพิจารณา เห็นได้ว่า ในฮากีกัตของมันนั้น ผลจริงๆคือ การกินไฟลงไปในท้อง และผลของการกินทรัพย์สินเด็กกำพร้าที่จะเกิดขึ้นในโลกหน้านั้น คือ ‘การกินไฟ’นั่นเอง
ตัวอย่าง “ผลของการกินทรัพย์สินเด็กกำพร้า”
ซูเราะฮ์ อัลนิซาอฺ โองการที่ 10 ความว่า
إِنَّ الَّذِينَ يَأْكُلُونَ أَمْوَالَ الْيَتَامَى ظُلْمًا إِنَّمَا يَأْكُلُونَ فِي بُطُونِهِمْ نَارًا وَسَيَصْلَوْنَ سَعِيرًا
“แท้จริงบรรดาผู้ที่กินทรัพย์สินของบรรดาเด็กกำพร้าด้วยความอธรรมนั้น แท้จริงพวกเขาได้กินไฟลงไปในท้องของเขา และพวกเขาก็จะเข้าสู่เปลวเพลิง”
ตัวอย่าง “ผลของการนินทา”
ซูเราะฮ์ ฮุจญรอต โองการที่ 12
وَلَا تَجَسَّسُوا وَلَا یَغْتَب بَّعْضُكُم بَعْضًا أَیُحِبُّ أَحَدُكُمْ أَن یَأْكُلَ لَحْمَ أَخِیهِ مَیْتًا فَكَرِهْتُمُوهُ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ تَوَّابٌ رَّحِیمٌ
“และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่านินทาซึ่งกันและกัน คนใดหนึ่งในหมู่พวกเจ้าชอบที่จะกินซากเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้วกระนั้นหรือ ในขณะที่พวกเจ้าเกลียดมันและจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ”
คำอธิบาย : เห็นได้ว่า การกินซากศพของพี่น้องตัวเองนั้น เกิดจากผลของการกระทำของมนุษย์เองทั้งสิ้น พระองค์ไม่ได้เสริมเพิ่มเติมใดๆเลย ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติของการสร้าง ซึ่งหากมนุษย์กระทำความชั่วต่างๆเหล่านี้ แท้จริงผลต่างๆที่จะได้รับ ทั้งอัลกุรอานและฮะดีษ ได้บอกไว้ล่วงหน้า และมีคำสั่งห้ามต่างๆอย่างมากมายแล้ว ทว่ามนุษย์ต่างหากที่ไม่มีความยำเกรง เพราะแท้จริงแล้วพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ
ตัวอย่าง “ผลของการกระทำในโลกนี้ที่ส่งผลถึงโลกหน้า”
เมื่อมีบุคคลหนึ่งที่เป็นตัวหลักในครอบครัวถูกฆ่า แน่นอนว่า ความเจ็บปวดความสูญเสียที่เกิดขึ้น ย่อมมีผลกระทบกับบุคคลในครอบครัวทั้งหมด ทำให้คนในครอบครัวได้รับความยากลำบาก ทำให้ลูกของเขาไม่ได้รับการศึกษา ขาดการอบรมดูแล ขาดที่พึ่งทางใจ อาจจะกลายเป็นเด็กที่เกเร ติดยา ติดคุก
เห็นได้ว่า ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดมาจากอาชญากรรมเพียงแค่ครั้งเดียว ทว่ามันก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบากอย่างยาวนาน ในเมื่อผลของการกระทำโลกนี้มันเป็นเช่นนี้ แน่นอนย่อมส่งผลให้เกิดขึ้นในโลกหน้าและในวันกิยามัตก็เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกัน
ฉะนั้น การลงโทษของพระองค์ไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระองค์และการลงโทษนั้นไม่ได้เกินความเป็นจริง แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด มนุษย์ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดนั้นเป็นการลงโทษที่มาจากการกระทำของมนุษย์เองทั้งสิ้น ทว่าด้วยความรักความเมตตา ความสงสาร ที่พระองค์มียังมวลมนุษย์ พระองค์จึงได้เตือนล่วงหน้า พร้อมทั้งสำทับถึงการทำบาปใหญ่ต่างๆไว้ในอัลกรุอาน ดังนี้
ซูเราะฮ์ ฟุรกอน โองการที่ 68 ความว่า
وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَٰهًا آخَرَ وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَا يَزْنُونَ ۚ وَمَن يَفْعَلْ ذَٰلِكَ يَلْقَ أَثَامًا
“และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนขอพระเจ้าอื่นใดคู่เคียงกับอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตซึ่งอัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่…”
ซูเราะฮ์ ฟุรกอน โองการที่ 69 ความว่า
يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيهِ مُهَانًا
“การลงโทษในวันกิยามะฮฺจะถูกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับเขา และเขาจะอยู่ในนั้นอย่างอัปยศ”
คำอธิบาย : กรณีของการทำผิดประเวณี การลงโทษของมันในวันกิยามัตนั้นรุนแรงเป็นอย่างมาก ท่านศาสดา กล่าวว่า การลงโทษในโลกนี้ สำหรับคนที่ทำซินาให้เฆี่ยนจำนวน 100 ครั้ง จากนั้นเขาจะถูกยกโทษให้ในวันกิยามัต เปรียบดั่งโรค ถ้าไม่ยอมรักษา (ถูกลงโทษ) ในโลกนี้ก็ต้องไปรักษาในโลกหน้า และโรคแต่ละโรค (การทำความผิด) ก็ต้องรักษาไปตามกรณีของโรคนั้นๆ
ขอยกตัวอย่าง หากเปรียบการป่วยไข้ ในโลกนี้คนที่เป็นโรคหัวใจก็ต้องรักษา ต้องฝ่าตัด ต้องยิงบอลลูน จะไปกินยาพาราเซตามอลอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ในโลกหน้าก็เช่นเดียวกันถ้าเป็นโรคร้ายแรง การรักษาก็จะยิ่งเจ็บปวดและรุนแรงตามไปด้วย แต่กระนั้น ความเมตตาของอัลลอฮฺก็แผ่กว้างครอบคลุม พระองค์ได้ตรัสหลังจากได้เตือนผู้ทำซินาในอายะฮฺถัดมาในอัลกรุอาน
ซูเราะฮ์ ฟุรกอน โองการที่ 70 ความว่า
إِلَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ عَمَلًا صَالِحًا فَأُولَٰئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ ۗ وَكَانَ اللَّهُ غَفُورًا رَّحِيمًا
“เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธาและประกอบการงานที่ดี เขาเหล่านั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
ซูเราะฮ์ ฟุรกอน โองการที่ 71
وَمَن تَابَ وَعَمِلَ صَالِحًا فَإِنَّهُ يَتُوبُ إِلَى اللَّهِ مَتَابًا
“และผู้ใดกลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดี แท้จริงเขากลับเนื้อกลับตัวเข้าหาอัลลอฮ์อย่างจริงจัง”
คำอธิบาย : จะเห็นได้ว่า ในความเมตตาของพระองค์นั้น ยังมี ‘ประตูแห่งการเตาบัต’ อีกช่องทางหนึ่งที่เป็นทางออกเพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากการถูกลงโทษอื่นๆอีกรวมอยู่ด้วย
ในที่นี้ “ประตูเตาบัต” คือ ประตูแห่งการอภัยโทษ เป็นประตูที่เปิดไว้ สำหรับผู้ที่กลับตัวกลับใจอย่างแท้จริง แน่นอนว่า หากมนุษย์เตาบัตก่อนจะจากโลกนี้ไปและเป็นการเตาบัตที่ถูกยอมรับ ทว่า การลงโทษจะถูกยกเลิกนั้น มนุษย์ต้องเข้าใจในแต่ละรายละเอียดของความผิด เพราะบางความผิดต้องขออภัยโทษโดยตรง แต่บางความผิดนอกจากขอภัยโทษแล้ว มนุษย์จำต้องชดใช้ในสิ่งที่ได้ละเลยไปด้วย ซึ่งความผิดที่ต้องชดใช้ เช่น การขาดนมาซ การขาดถือศีลอด เป็นต้น
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี