เจ้าภาพที่ดีที่สุดคือใคร?
เดือนรอมฏอนได้รับการขนานนามว่าเป็น "งานเลี้ยงของอัลลอฮ์" หมายความว่ามนุษย์เป็นแขกเหรื่อ ส่วนอัลลอฮ์เป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงนี้
คำถามก็คือ อัลลอฮ์เป็นเจ้าภาพอย่างไร การเลี้ยงดูปูเสื่อที่อัลลอฮ์จัดไว้เพื่อมนุษย์ซึ่งเป็นแขกในงาน เป็นอย่างไร?
เพื่อค้นหาคำตอบ เราขอยกตัวอย่างการต้อนรับขับสู่ของท่านนบียูสุฟมาบางประการเพื่อให้ทราบว่า นบียูสุฟซึ่งเป็นแค่เพียงบ่าวของพระองค์
ยังมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้มาเยือนเพียงนี้ แล้วงานเลี้ยงของอัลลอฮ์ผู้เป็นจ้าวแห่งสากลโลก จะยิ่งใหญ่กว่าเพียงใด?
ในกุรอานมีคำว่า "ค็อยรุล มุนซิลีน" อยู่สองโองการ โองการหนึ่งเกี่ยวกับท่านนบียูสุฟ และอีกโองการหนึ่งก็กล่าวถึงอัลลอฮ์
ค็อยรุลมุนซิลีน แปลว่า เจ้าภาพที่ให้การต้อนรับขับสู้อย่างดีที่สุด เรามาดูกันว่าท่านนบียูสุฟเป็นเจ้าภาพที่ดีเยี่ยมอย่างไรบ้าง
นบียูสุฟได้กระทำสิ่งต่อไปนี้...
1. รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่ยังให้การต้อนรับ
ท่านนบียูสุฟรู้ดีว่าพี่ๆของท่านทำอะไรกับท่าน หย่อนท่านลงไปถึงก้นบ่อ แล้วยังกุเรื่องเท็จต่างๆนานาใส่ท่าน แต่แล้ว เมื่อพี่ๆของท่านเอ่ยขอความช่วยเหลือ (โดยจำไม่ได้ว่านบียูซุฟคือน้องชาย)
ท่านก็ให้การต้อนรับโดยไม่กินแหนงแคลงใจใดๆต่อเรื่องในอดีตที่พี่ๆของท่านก่อไว้ ท่านไม่ได้กล่าวแก่พี่ๆว่า "ไปไกลๆ อย่ามาให้ฉันเห็นหน้า ฉันรู้ดีว่าพวกพี่ทำอะไรกับฉันไว้"
อัลลอฮ์ก็เช่นกัน พระองค์ทรงทราบดีว่าเราแต่ละคนเคยฝ่าฝืนพระองค์มาเพียงใด แต่ก็ยังเชิญเราสู่งานเลี้ยงที่พระองค์จัดอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนนี้
2. ท่านนบียูสุฟวางตัวเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งที่ท่านรู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับท่านในวัยเด็กช่างขมขื่น เมื่อได้ถูกพี่ๆรวมหัวกันหย่อนลงไปใต้ก้นบ่อเสมือนเป็นการฆาตกรรมอำพราง
แต่เมื่อท่านได้เจอพี่ๆหลายสิบปีต่อมาเมื่อท่านเป็นใหญ่เป็นโตแล้ว ท่านก็วางตัวเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อัลลอฮ์ก็เช่นกัน ทั้งที่ทราบดีว่าเรามีประวัติด่างพร้อยเพียงใด แต่พระองค์ก็ไม่เคยจะแฉหรือเปิดโปงเราต่อผู้อื่น อัลลอฮ์ทรงวางเฉยเสมือนเราไม่ได้มีความผิดกระนั้น
ในบทรำพึงรำพันหนึ่งกล่าวว่า แม้ผู้คนจะทำบาปกันเพียงใด แต่อัลลอฮ์ก็ทรงปกปิดไว้ จะทำบาปนับร้อยนับพันครั้ง อัลลอฮ์ก็ยังปกปิดและไม่เปิดโปงต่อผู้อื่น
ทั้งนี้ก็เพียงหวังว่า สักวันหนึ่ง มนุษย์เราจะเกิดความละอายบ้าง แต่เปล่าเลย แทนที่มนุษย์เราจะอายพระองค์ กลับกลายเป็นว่า เสมือนว่าพระองค์ละอายที่จะเปิดโปงเรา
«كَأَنَّكَ اسْتَحْيَيْتَنِي» ในดุอาอีกบทหนึ่งกล่าวว่า «يَا مَنْ أَظْهَرَ الْجَمِيلَ وَ سَتَرَ الْقَبِيح» ซึ่งสื่อว่า อัลลอฮ์ทรงทำให้ความดีงามของเราเป็นที่โจษขานไปทั่ว แต่ความชั่วของเรากลับได้รับการปกปิด
บาปบางอย่างที่เรากระทำในที่ลับตาคน เป็นไปได้สูงว่าหากพ่อแม่พี่น้องของเราล่วงรู้เข้าล่ะก็ ย่อมจะผลักไสไล่ส่งเราอย่างแน่นอน แต่พระองค์ก็ไม่ทรงแฉพฤติกรรมเหล่านั้นให้ผู้อื่นรู้
ที่พูดมาทั้งหมดนี่ก็เพราะเราจะได้คำนึงเสมอว่า หากล่วงรู้ความผิดพลาดของผู้อื่น ของเพื่อนฝูง อย่าได้คิดที่จะนำมาแฉประจานให้เขาได้รับความอับอายโดยเด็ดขาด
บางครั้งเรามีภาพแย่ๆของเพื่อนฝูง เราก็ดันทุรังเก็บไว้เพื่อจะใช้ประจานในอนาคต เพื่อจะใช้กดดันเพื่อนว่า หากวันใดพูดอะไรไม่เข้าหูเรา หรือไม่ทำตามที่เราต้องการแล้วล่ะก็
ฉันจะเอารูปแย่ๆของเธอมาประจานให้คนอื่นรู้ ถามหน่อยว่า นิสัยแบบนี้ตรงกับแบบฉบับของอัลลอฮ์หรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม อัลลอฮ์ก็ไม่ปล่อยคนที่ชอบประจานเรื่องคนอื่นให้ลอยนวล เพราะมีฮะดีษว่า คนที่ชอบประจานความผิดพลาดของคนอื่น ก่อนที่เขาจะตาย สักวันหนึ่งเขาจะถูกประจานเช่นกัน
3. ตอบรับคำขอร้อง
พี่ๆของนบียูสุฟร้องขอข้าวสาลีในยามแล้ง (ขณะนั้นพี่ๆยังไม่รู้ว่าเสนาบดีที่คุมพระคลังอิยิปต์คือน้องของตัวเอง)ท่านนบีก็สั่งให้คนงานขนข้าวสาลีใส่เกวียนของพี่ๆ
อัลลอฮ์ก็เช่นเดียวกัน พระองค์รู้ดีว่าเราทำบาปกันเพียงใด แต่ก็ยังตอบรับดุอาของพวกเราเหมือนเดิม
นอกจากนบียูซุฟจะขนเสบียงอาหารใส่เกวียนของพี่ๆจนเต็มแล้ว ท่านยังได้เชิญให้พี่ๆมารับข้าวสาลีอีกหลังจากที่กลับมาตุภฺมิแล้ว และได้ขอนำน้องชายคนสุดท้องร่วมมาด้วยในคราวหน้า
อัลลอฮ์ก็เชิญเราสู่พระองค์เสมอๆ การนมาซที่เราทำกันอยู่ทุกวัน วันละห้าเวลา ก็ถือเป็นการเชิญเราให้เข้าพบพระองค์อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
เพียงแต่ว่า เราจะเข้าใจหรือไม่ว่านั่นคือการเข้าพบ เพราะเรามักจะมองว่านมาซคือเรื่องซ้ำซากจำเจและยากลำบาก
4. ให้อภัยทันที
เมื่อพี่ๆของนบียูสุฟรู้ภายหลังว่า เสนาบดีที่คุมคลังหลวงของอิยิปต์ก็คือน้องชายแท้ๆที่เคยถูกพวกตนทิ้งไว้ที่ก้นบ่อในอดีต พวกเขารีบสำนึกผิดและกล่าวขอโทษน้องชายว่า
«إِنَّا كُنَّا خاطِئين» ท่านนบียูสุฟกล่าวทันทีว่า «لا تَثْريبَ عَلَيْكُمُ الْيَوْمَ» ในวันนี้ ฉันไม่ถือโทษโกรธพี่ๆแต่อย่างใด
อัลลอฮ์ก็เช่นกัน เมื่อพระองค์ทรงเป็น ค็อยรุลมุนซิลีน หรือเจ้าภาพที่ประเสริฐสุด พระองค์ย่อมให้อภัยอย่างรวดเร็ว
ในดุอากุเมล เราก็อ่านเสมอว่า "ยา สะรีอัร ริฏอ" โอ้ ผู้ทรงเกิดความพอพระทัยอย่างรวดเร็ว
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ในกุรอานมีคำว่า "ค็อยรุล มุนซิลีน" (เจ้าภาพที่ประเสริฐสุด) ปรากฎอยู่สองแห่ง โองการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวนบียูสุฟ ส่วนอีกโองการหนึ่ง หมายถึงอัลลอฮ์
อัลลอฮ์เป็นเจ้าภาพที่ประเสริฐสุด จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงยกระดับอะมั้ลอิบาดะฮ์ของมนุษย์เราให้สูงค่ายิ่งขึ้นทวีคูณ
เกี่ยวกับผลบุญของอะมั้ลอิบาดะฮ์ กุรอานกล่าวไว้หลายประเภทด้วยกัน
บางครั้งใช้คำว่า "ฏิอ์ฟุน" ซึ่งแปลว่าสองเท่า บางครั้งใช้คำว่า "อัฏอาฟ" ซึ่งแปลว่าหลายเท่า บางครั้งใช้คำว่า "อัชรุ อัมษาลิฮา" อันหมายถึงสิบเท่า
บางครั้งก็ยกระดับให้ถึง 700 เท่า
แต่บางกรณี อัลลอฮ์กล่าวว่าผลบุญที่จะประทานให้นั้น "มากเกินคำนวนนับ"อย่างเช่นกรณีของ นมาซ ศอลาตุลลัยล์ (ละหมาดตะฮัจญุด)
ในเมื่อเราตื่นมาทานข้าวซุโฮร์ช่วงก่อนอะซานซุบฮ์อยู่แล้ว ก็เพิ่มละหมาดนี้เข้าไปด้วยจะเป็นไร
ถามว่ายากมั้ย? ไม่ยากเกินความสามารถของเราทุกคนเลย สิบเอ็ดร็อกอัต นมาซเป็นชุดๆ ชุดละสองรอกอัต ซึ่งก็จะเป็นห้าชุด บวกกับอีกหนึ่งร็อกอัตที่แยกต่างหาก
สามชุดแรกเหนียตนมาซศอลาตุลลัยล์ สองร็อกอัตชุดสุดท้ายเหนียตนมาซชัฟอ์ และหนึ่งร็อกอัตที่เหลือเหนียตนมาซวัตร์ (หรือที่เราคุ้นเคยว่า "วิเตร์"/ผู้แปล)
ถ้าคิดว่าหนักเกินกำลัง จะอ่านฟาติฮะห์อย่างเดียวโดยไม่อ่านซูเราะฮ์ก็ทำได้ ง่ายถึงเพียงนี้แต่ผลบุญมหาศาล ใครจะไม่สนบ้างนอกจากคนไม่ฉลาด
โดยทั่วไปแล้ว หากเราทำอะมั้ลที่ไม่ไช่วาญิบ นี่แหล่ะที่แสดงชัดเจนว่าเรารักอัลลอฮ์มากกว่าปกติ เพราะหากทำเพียงวาญิบอย่างเดียว ใครๆก็กระทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว
ลองนึกดูว่า ถ้าคุณยื่นข้าวเปล่าให้พ่อสักจาน ย่อมจะยังไม่ถือเป็นการให้เกียรติเท่าใดนัก ก็แหม ต่อให้เป็นคนอื่นที่ไม่ไช่พ่อเรา แม้กระทั่งไก่ เรายังให้ข้าวเปล่าเหมือนกัน
แต่ถ้าหากคุณหุงข้าวสวยอย่างดี ทำกับข้าวอย่างดี วางในสำรับอย่างดี ยกไปเสิร์ฟบนโต๊ะที่มีแจกันดอกไม้สวยๆ เหล่านี้ต่างหากที่จะแสดงว่าคุณรักและให้เกียรติพ่อมากกว่าแบบเดิม
เหมือนกัน สมมุติว่าถ้าคุณนมาซอย่างรีบร้อนตอนที่จวนจะหมดเวลา มันก็ไม่ต่างอะไรจากการยื่นข้าวเปล่าแข็งๆให้พระองค์อย่างไม่แยแส
มีหลายคนที่มีลมหายใจเมื่อเดือนรอมฏอนปีที่แล้ว แต่จากไปก่อนที่จะถึงเดือนรอมฏอนปีนี้ เดือนรอมฏอนเหมือนกับห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์
น่าดีใจกับคนที่จับจ่ายช็อปปิ้งในห้างนี้อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยิ่งเดือนนี้ดำเนินไปจนใกล้สิ้นสุดเท่าไร เราก็ยิ่งจะได้พบกับความอลังการในแง่ผลบุญมากขึ้น
เพราะยอดเขาแห่งเดือนรอญับและชะอ์บานก็คือเดือนรอมฏอน และยอดเขาสูงสุดของเดือนรอมฏอนก็คือ ลัยละตุลก็อดร์ ซึ่งมีค่ามหาศาลทุกวินาที
ถอดความจากคำบรรยายของอายะตุลลอฮ์ เชคมุฮ์ซิน กิรออะตี