ไทยแลนด์
Tuesday 3rd of December 2024
0
نفر 0

ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 2

การแต่งงานของท่านศาสดามุฮัมมัด

เรื่องของความซื่อสัตย์และความดีงามของท่านศาสดานั้น เป็นเรื่องที่รู้จักกันดีของคนทั่วไป เศรษฐีนีที่ร่ำรวยที่สุดชาวมักกะฮฺนามว่า เคาะดีญะฮฺ บุตรีของ คุวัยลิด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแต่งงานมาแล้ว ๒ ครั้ง นางเป็นเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากมาย ประกอบกับเป็นคนดีมีความละอาย และความยำเกรงเป็นบรรทัดฐานสำคัญของชีวิต ประสงค์ให้ท่านศาสดาไปทำการค้าแทนนางที่เมืองชาม นางจะแบ่งผลกำไรในฐานะของหุ้นส่วนการค้าให้ท่านศาสดา ซึ่งท่านศาสดาก็ตอบตกลงในเวลาต่อมา และนางได้ส่ง มัยซะเราะฮฺ บ่าวรับใช้คนหนึ่งให้ร่วมทางไปด้วย  เมื่อท่านศาสดาได้กลับจากเมืองชามพร้อมกับผลกำไรจำนวนมากมาย มัยซะเราะฮฺ ได้รายงานเกี่ยวกับการเดินทาง และการทำการค้าของท่านศาสดาแก่เคาะดีญะฮฺโดยละเอียด และรายงานเกี่ยวกับความซื่อตรงและความซื่อสัตย์ของท่านศาสดา เช่น กล่าวว่า เมื่อเราเดินทางไปถึงบัซรียฺ อามีน ได้ลงพักใต้ต้นไม้ต้นหนึ่งใกล้ ๆ กับอารามของนักบุญคนหนึ่งนามว่า "นัซฏูรอ" นักบุญท่านนี้ได้เข้ามาหาฉัน และถามว่าชายที่นั่งอยู่ใต้ต้นไม้นั้นเป็นใครหลังจากนั้นเขาได้กล่าวว่า ใต้ต้นไม้ต้นนี้ จะไม่มีใครมาพักหรือสร้างที่พักบริเวณนั้น นอกจากคนที่เป็นศาสนทูตของพระเจ้าตามที่คัมภีร์เตารอตและอิลญีลได้กล่าวถึงเขาเอาไว้ ซึ่งฉันได้อ่านสิ่งเหล่านั้นมาแล้ว ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺมีความพอใจในความซื่อสัตย์ และการเป็นคนดีของท่านศาสดาอย่างมาก หลังจากนั้นเธอได้เสนอการแต่งงานกับท่าน ซึ่งท่านตอบตกลงขณะที่ท่านหญิงมีอายุ ๔๐ ปี และท่านศาสดามีอายุได้ ๒๕ ปี

ท่านหญิงเคาะดีญะฮฺได้มอบทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในการดูแลของท่านศาสดาพร้อมกับบ่าวรับใช้ ท่านศาสดาได้ให้เสรีภาพแก่บ่าวเหล่านั้น ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการต่อสู้กับวัฒนธรรมที่ป่าเถื่อนในสมัยนั้น ท่านศาสดาต้องการแสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ห่างไกลจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ และความเห็นแก่ตัวและสามารถดำเนินชีวิตได้โดยปราศจากบ่าวรับใช้

ฐานะภาพของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺก่อนแต่งงานเคยเป็นที่พักพิงของคนอนาถา และผู้เดือดร้อนทั่วไป และหลังจากแต่งงานแล้วสิ่งเหล่านี้ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างยังคงดำเนินต่อไปตามปรกติเหมือนเดิม ท่านหญิงฮะลีมะฮฺ แม่นมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ประสบปัญหากับความแห้งแล้งมิสามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามปกติ ท่านหญิงได้เดินทางมาหาท่านศาสดา ซึ่งท่านได้ให้การต้อนรับอย่างดีและได้เอาอะบา (เสื้อคลุม) ที่สวมอยู่นั้นกางออกรองใต้ฝ่าเท้าให้ท่านหญิงเดิน พร้อมกับตั้งใจฟังคำพูดของแม่นมด้วยความสงบมั่น เมื่อนางประสงค์ที่จะเดินทางกลับท่านได้ช่วยเหลือทุกอย่างตามที่นางปรารถนา

ท่านศาสดาหลังจากแต่งงานแล้วทรัพย์สินทั้งหมดที่ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺมอบให้ ท่านมิได้นำไปใช้จ่ายอย่างอื่นเลยนอกเสียจากช่วยเหลือคนยากจนและผู้เดือดร้อนเท่านั้น และเวลาส่วนมากท่านได้ไปอยู่นอกมักกะฮฺเพื่อนั่งสงบจิตใจและแสดงความเคารพภักดีระหว่างภูเขาและถ้ำ ท่านใคร่ครวญถึงความมหัศจรรย์ของกำเนิดสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลก พระผู้ทรงสร้างสรรค์พสิ่งเหล่านั้น กาลเวลาได้ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺทราบดีว่าถ้าหากท่านศาสดาไม่อยู่บ้าน ท่านก็ต้องอยู่บนถ้ำฮิรอเพื่อแสดงความเคารพภักดี ถ้ำฮิรออยู่ทางตอนเหนือของมักกะฮฺตั้งอยู่บนหุบเขา ปัจจุบันมีมุสลิมจำนวนมากมายเดินทางไปเยี่ยมถ้ำนั้นเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดา ถ้ำดังกล่าวห่างจากมักกะฮฺเป็นสถานที่ปราศจากความโสมม และกลิ่นอายของการเคารพบูชารูปปั้น เป็นสถานที่ ๆ ท่านศาสดาใช้แสดงความเคารพภักดีและนั่งสงบจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดือนรอมฎอนท่านจะอยู่บนถ้ำนั้น แท่นไม้และแผ่นหินสีดำได้เป็นสักขีพยานในการประทานอัล-กุรอานลงบนจิตใจที่สว่างไสวด้วยรัศมีอันเรืองรองของท่านศาสดา ภูเขาดังกล่าวคือ ภูเขานูร (ญะบัลนูร) ในปัจจุบันก็ยังส่องแสงเรืองรองอยู่เหมือนเดิม


การแต่งตั้งเป็นศาสนทูตแห่งพระเจ้า

มุฮัมมัดอามีน (ศ็อล ฯ) ก่อนค่ำคืนที่ ๒๗ เดือนเราะญับท่านได้ขึ้นไปทำการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าบนถ้ำฮิรอ ท่านได้ฝันเห็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งตรงกับความเป็นจริงขณะที่ท่านตื่นขึ้นมา จิตใจของท่านเริ่มมีความพร้อมต่อการรับวะฮฺยูของพระผู้เป็นเจ้า และในคืนนั้นเองมลาอิกะฮฺญิบรออีลได้รับมอบหมายหน้าที่ให้นำโองการมาอ่านแก่ท่านศาสดา และเลือกให้ท่านเป็นศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๔๐ ปีพอดี ความนิ่งเงียบ ความโดดเดี่ยว และความตั้งใจมั่นที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นเอกลักษณ์พิเศษของท่านศาสดาทำให้ญิบรออีลต้องขออนุญาต เพื่ออ่านโองการของพระผู้เป็นเจ้าโดยเริ่มต้นที่โองการ

اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ الَّذِي خَلَقَ  خَلَقَ الْإِنسَانَ مِنْ عَلَقٍ  اقْرَأْ وَرَبُّكَ الْأَكْرَمُ  الَّذِي عَلَّمَ بِالْقَلَمِ  عَلَّمَ الْإِنسَانَ مَا لَمْ يَعْلَمْ  

จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงบังเกิด ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้ (อะลัก ๑-๕)

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่เคยเรียนหนังสือท่านอ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น ได้กล่าวกับญิบรออีลว่า ฉันอ่านไม่เป็นหรอก ญิบรออีลได้ขอร้องท่านให้อ่านในเลาฮุน (แผ่นป้ายที่จดบันทึก) ท่านศาสดายืนยันคำตอบเดิม จนกระทั่งครั้งที่สามท่านศาสดารู้สึกว่าท่านสามารถอ่านเลาฮุนที่บันทึกข้อความในมือของญิบรออีลได้ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการประกาศสาส์นครั้งแรกของพระผู้เป็นเจ้า ญิบรออีลได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเสร็จสิ้นแล้ว ท่านศาสดาได้ลงจากภูเขา และตรงไปที่บ้านเล่าเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺรับฟัง ท่านหญิงทราบดีว่าภารกิจอันหนักอึ้งของท่านศาสดาได้เริ่มต้นแล้ว ท่านได้พูดจาเอาใจและให้กำลังใจทุกอย่างแก่ท่านศาสดา โดยกล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตา ได้เมตตาท่านอย่างยิ่งเนื่องจากท่านเป็นผู้เมตตาต่อผู้อื่นและคนยากจนทั้งหลาย ท่านมีความรักและความห่วงใยต่อครอบครัว พระผู้เป็นเจ้าทรงรักและห่วงใยท่านและทรงช่วยเหลือท่านอย่างแน่นอน

หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า โปรดห่มผ้าให้ฉันหน่อย ท่านหญิงได้ห่มผ้าให้และท่านได้หลับไปชั่วขณะหนึ่ง

ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺได้ไปหา วัรเกาะฮฺ บิน เนาฟิล ผู้เป็นอาของท่านและเป็นผู้รู้ในหมู่อาหรับสมัยนั้น ท่านหญิงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับมุฮัมมัดให้ท่านฟัง อาของท่านได้ตอบว่า ทุกอย่างที่เกิดกับมุฮัมมัด เป็นการเริ่มต้นการเป็นศาสดาของเขา นับแต่นี้ภารกิจอันหนักอึ้งในการประกาศสาส์นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ท่านหญิงได้กลับบ้านด้วยความอุ่นใจและมีความปิติยินดีอย่างยิ่ง

โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ฮิดายะฮ์ (การชี้นำ)ในอัลกุรอาน
ความสมถะของอิมามมูซา อัลกาซิม ...
อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 17 ...
ท่านหญิงคอดีญะฮฺ บินติคุวัยลิด ...
ความกตัญญูต่อบิดามารดา
อิสลาม : ศาสนาแห่งสันติ
“เดือนรอมฎอน” ...
การรักนวลสงวนตัว ...
อิมามซัยนุลอาบิดีน
ท่านหญิง ฟาฏิมะฮ์ มะอ์ศูมะฮ์ ...

 
user comment