อรรถาธิบายดุอาอ์ประจำวันที่ 10 เดือนรอมฎอน
بسم الله الرحمن الرحيم
اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْمُتَوَکِّلِینَ عَلَیْك
وَ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْفَائِزِینَ لَدَیْك
وَ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْمُقَرَّبِینَ إِلَیْك
بِإِحْسَانِك یَا غَایَةَ الطَّالِبِین
ความหมาย
โอ้อัลลอฮ์ โปรดทำให้ข้าฯเป็นผู้หนึ่งที่มอบหมายตนต่อพระองค์
เป็นผู้ประสบชัยชนะและความสำเร็จ ณ พระองค์
และเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระองค์ ด้วยความดีงามของพระองค์
โอ้พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ที่เรียกร้องทั้งหลาย
คำอธิบาย
ท่านอยาตุลลอฮ์ มุจญ์ตะบา เตะห์รานี ได้ทำการอรรถาธิบายดุอาอ์ประจำวันที่ 10 ของเดือนรอมฎอน ดังนี้
(ขอการมอบหมายตนต่อพระองค์)
اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْمُتَوَکِّلِینَ عَلَیْك
ความว่า โอ้อัลลอฮ์ ในเดือนรอมฎอนนี้ โปรดทำให้ข้าฯเป็นผู้หนึ่งที่มอบหมายตนต่อพระองค์
อย่าให้เรามุ่งหวังในสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากพระองค์ ช่างน่าภาคภูมิใจเสียเหลือเกินสำหรับบุคคลที่มอบหมายตนยังพระองค์และเป็นผู้ที่มีความตะวักกุลอย่างแท้จริง
"คุณค่าและความสำคัญของการตะวักกุล"
ดั่งที่เราทราบกันดีว่าทุกกิจการงานในโลกนี้และโลกหน้า และทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนดำเนินการตามคำสั่งของพระองค์ทั้งสิ้น
อัลกุรอานกล่าวว่า
إِنَّ الأَمْرَ کُلَّهُ لِلَّهِ
ความว่า แท้จริงกิจการนั้นทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮ์เท่านั้น
และกุญแจแห่งความเร้นลับทั้งหมดอยู่ที่พระองค์
อัลกุรอานกล่าวว่า
وَعِنْدَهُ مَفَاتِحُ الْغَیْبِ لَا یَعْلَمُهَا إِلَّا هُوَ
ความว่า และที่พระองค์นั้นมีบรรดากุญแจแห่งความเร้นลับ โดยที่ไม่มีใครรู้กุญแจเหล่านั้น นอกจากพระองค์เท่านั้น
ทุกครั้งที่พระองค์ทรงประสงค์ให้กิจการงานหนึ่งบังเกิดขึ้น มันก็จะเกิดขึ้นในบัดดล
อัลกุรอานกล่าวว่า
وَإِذَا قَضَى أَمْراً فَإِنَّمَا یَقُولُ لَهُ کُن فَیَکُونُ
ความว่า และเมื่อพระองค์ทรงกำหนดสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็เพียงแต่ประกาศิตแก่สิ่งนั้นว่า จงเป็นแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นขึ้น
ทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้อาณัติของพระองค์และภักดีต่อพระองค์
อัลกุรอานกล่าวว่า
بَل لَّهُ مَا فىِ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ کلٌُّ لَّهُ قَنِتُونَ
ความว่า สิ่งที่อยู่ในบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินนั้น เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น โดยที่ทั้งหมดนั้นเป็นผู้ภักดี และนอบน้อมต่อพระองค์
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากโองการต่างๆข้างต้นจะพบว่า "ในทุกการงานของมนุษย์ที่จะกระทำนั้นต้องตะวักกัลยังพระผู้สร้างและพระผู้อภิบาลของตนอย่างแท้จริง"
ท่านอิมามอะลี(อ)กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
من توکل علیه کفاه و من ساله اعطاه و من اقرضه قضاه و من شکر جزاه
ความว่า : ผู้ใดที่ไว้วางใจ(ตะวักกุล) ต่อพระองค์ พระองค์จะทรงให้เขาได้รับการเพียงพอ ผู้ใดที่ขอพระองค์ พระองค์ก็จะให้เขา ผู้ใดที่ให้กู้ยืมแก่ผู้ขัดสน พระองค์จะจ่ายคืนให้แก่เขา ผู้ใดที่ขอบคุณพระองค์ พระองค์จะทรงให้รางวัลแก่เขา
อัลกุรอานกล่าวว่า
فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ
ความว่า : ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย
ดังนั้นในวันนี้ เราจึงวิงวอนขอต่อพระองค์เช่นกัน เพื่อให้เราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้มอบหมายตนยังพระองค์อย่างแท้จริง
"การตะวักกุลในอัลกุรอาน"
ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ได้มีการกล่าวถึงการตะวักกุลยังพระองค์ว่า เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของผู้ศรัทธาไว้ในหลายโองการด้วยกัน
เช่น โองการที่ว่า
وَعَلَى اللَّهِ فَتَوَكَّلُوا إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ
ความว่า : และแด่อัลลอฮ์นั้นพวกเจ้าจงมอบหมายเถิด หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา
وَعَلَى اللَّهِ فَلْيَتَوَكَّلِ الْمُؤْمِنُونَ
ความว่า :และแด่อัลลอฮฺนั้น มุอฺมินทั้งหลายจงมอบหมายเถิด (ซูเราะห์ เตาบัต โองการ 51)
وَعَلَى اللَّهِ فَلْيَتَوَكَّلِ الْمُؤْمِنُونَ
ความว่า :และแด่อัลลอฮฺนั้น มุอฺมินทั้งหลายจงมอบหมายเถิด
(ซูเราะห์ อาลิอิมรอน โองการ 122 )
ตะวักกุลคืออะไร ?
ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)ได้ถามความหมายตะวักกุลจากท่านญิบรออีล(อ) ซึ่งญิบรออีลตอบว่า ความหมายของตะวักกุลคือ มนุษย์มีความเชื่อมั่น(ยะกีน)ว่า ผลกำไรและการขาดทุนทั้งหมดและการให้อภัยและการกีดกันนั้นไม่ได้อยู่ในมือของมนุษย์และต้องตัดความหวังจากพวกเขา หากบ่าวของพระองค์ได้ไปถึงจุดแห่งการมีมะอ์รีฟัตแล้ว ย่อมจะไม่กระทำสิ่งใดเว้นแต่เพื่อพระองค์ ไม่หวังสิ่งใดจากบุคคลอื่นนอกจากพระองค์ ไม่กลัวสิ่งใดเว้นแต่พระองค์และยังพระองค์เท่านั้นที่มุ่งหวังและปรารถนา ซึ่งนี่คือความหมายของคำว่าตะวักกุล
( บิฮารุลอันวาร เล่ม 68 หน้า 138 ฮะดิษบทที่ 23)
ชายคนหนึ่งชื่อว่า ฮะซัน บิน ญะฮัม ได้ถามท่านอิมามริฎอ (อ) ว่า ชีวิตฉันขอพลีแด่ท่าน โอ้บุตรของรอซูลุลลอฮ์ อะไรคือขอบเขตของการตะวักกุล ?
ท่านอิมามกล่าวตอบว่า ด้วยการพึ่งพิงยังพระองค์ เขาจะไม่เกรงกลัวสิ่งอื่นใด ......
ประโยคถัดมา
وَ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْفَائِزِینَ لَدَیْك
โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯเป็นผู้ประสบชัยชนะและความสำเร็จ ณ พระองค์ ไม่ใช่เป็นผู้อับโชคและขาดทุน
ผู้ประสบความสำเร็จคือใคร ?
فائز (ฟาอิซ) หมายถึง ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับชัยชนะ ซึ่งจะกล่าวแก่บุคคลที่พระองค์ทรงนำเขาสู่ความเมตตาของพระองค์ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งและการเคารพภักดีพระองค์ และห่างไกลจากบทลงโทษของพระองค์
ดั่งที่ อัลกุรอานกล่าวว่า
قُلْ إِنِّي أَخَافُ إِنْ عَصَیْتُ رَبِّي عَذَابَ یَوْمٍ عَظِیمٍ
ความว่า จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงฉันกลัวการลงโทษในวันอันยิ่งใหญ่ (วันกิยามัต) หากฉันฝ่าฝืนพระเจ้าของฉัน
โองการถัดมากล่าวว่า
مَّن یُصْرَفْ عَنْهُ یَوْمَئِذٍ فَقَدْ رَحِمَهُ وَذَلِك الْفَوْزُ الْمُبِینُ
ความว่า ผู้ใดที่การลงโทษถูกหันเหออกจากเขาในวันนั้น แน่นอนพระองค์ทรงเอ็นดูเมตตาเขา และนั่นคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่
พวกเขาจะห่างไกลจากการทำบาป และแน่นอนยิ่งพระองค์อัลลอฮ์ก็จะทรงพึงพอพระทัยพวกเขา ซึ่งความพึงพอพระทัยอันนี้เกิดจากการที่บ่าวของพระองค์ได้พึงพอใจในกฎกำหนดสภาวะของพระองค์
ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสว่า
رَّضِيَ اللَّهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ
ความว่า อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พึงพอใจในพระองค์นั่นแหละคือชัยชนะอันยิ่งใหญ่
ซึ่งในวันนี้เราก็เช่นกันต่างวิงวอนจากพระองค์ให้เราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ที่ประสบความสำเร็จและชัยชนะอันยิ่งใหญ่ด้วยเถิด...
ประโยคถัดมา
وَ اجْعَلْنِي فِیهِ مِنَ الْمُقَرَّبِینَ إِلَیْك
โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยเถิด
อย่าให้เรามีวิถีชีวิตที่พระองค์ทรงกล่าวว่า เจ้าไม่ใช่บ่าวของฉันและทรงผลักไสเราออกจากพระองค์ และกล่าวว่า จงออกไป
ในบางครั้งบิดาและมารดาจะพูดกับลูกที่ไม่ดีของตนว่า เจ้าจงออกไป เจ้าไม่ใช่ลูกของฉันอีกต่อไป พระองค์ก็เช่นกันในบางครั้งจะกล่าวกับบ่าวที่จมปลักกับสิ่งชั่วร้าย ว่า เจ้าจงออกไปจากเบื้องหน้าฉัน เพราะจากนี้ไปเจ้าไม่ใช่บ่าวของฉัน
โอ้พระองค์เราปรารถนาอย่างยิ่งยวดให้พระองค์กล่าวกับเราว่า เราคือบ่าวของพระองค์...
ตักวา คือ สื่อสร้างความใกล้ชิดกับพระองค์
บุคคลใดที่มีความใกล้ชิดและมีเกียรติ ณ พระองค์ คือบุคคลที่มีความยำเกรงต่อพระองค์
إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ
ความว่า แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ นั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า
หากพิจารณา คำว่า ท่านศาสดาผู้ทรงเกียรติ (อักรอม) และโองการ
ولکم في رسول الله اسوة حسنة
(โดยแน่นอน ในรอซูลของอัลลอฮ์ นั้นมีแบบฉบับอันดีงามสำหรับพวกเจ้าแล้ว) แล้ว สามารถเข้าใจได้ว่าบุคคลที่ต้องการมีเกียรติและใกล้ชิดยังพระองค์ และเมื่อคำนึงถึงโองการ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย สูเจ้าจงมีความยำเกรงต่อพระองค์ (และสำหรับการเข้าหาพระองค์นั้นจำต้องอาศัยสื่อกลาง) แล้วเขาก็จะต้องปฏิบัติตามโองการ
اطیعوالله و اطیعوا الرسول و اولي الامر منکم
ความว่า ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังรอซูลเถิด และอูลิลอัมริมินกุม (ผู้ปกครองในหมู่สูเจ้า คือ บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์) ในหมู่พวกเจ้าด้วย
เพื่อจะได้เป็นบุคคลที่มีเกียรติและใกล้ชิดยังพระองค์ ดังนั้น ในวันนี้เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ที่มีเกียรติและใกล้ชิดกับพระองค์
ประโยคถัดมา
بِإِحْسَانِك یَا غَایَةَ الطَّالِبِین
ด้วยความดีงามของพระองค์ โปรดตอบรับคำวิงวอนขอของเราด้วยเถิด โอ้พระผู้ทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ที่เรียกร้องทั้งหลาย
เมื่อมนุษย์สิ้นหวังจากทุกสิ่ง ท้ายที่สุดก็จะต้องหันมายังพระองค์ และเมื่อนั้นเองดุอาอ์ของเขาก็จะถูกตอบรับ
แนวทางในการรับรู้ว่าดุอาอ์จะถูกตอบรับ
หากต้องการรู้ว่าดุอาอ์ของพวกท่านถูกตอบรับหรือไม่? จงย้อนกลับไปดูหัวใจของพวกท่าน หากพบว่าในมุมหนึ่งของหัวใจของพวกท่านยังฝากความหวังกับบุคคลอื่นด้วยที่นอกเหนือจากพระองค์ พึงรู้ไว้เถิดว่า ดุอาอ์ของพวกท่านจะไม่ถูกตอบรับ แต่หากพวกท่านสิ้นหวังจากทุกสิ่งและมุ่งหวังยังพระองค์อัลลอฮ์(ซบ)เพียงองค์เดียวแล้ว พึงรู้ไว้ว่าดุอาอ์ของพวกท่านจะถูกตอบรับ
ในฮะดิษ บทหนึ่งกล่าวว่า
พระองค์ กล่าวว่า ขอสาบานด้วยกับเกียรติและความเกรียงไกรของฉัน ฉันจะตัดความหวังของทุกคนที่เขามุ่งหวังยังบุคคลอื่นที่นอกเหนือจากฉัน ( อัลกาฟี เล่ม 2 หน้า 66 )
บทความโดย เชคอิบรอฮิม อาแว