ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ
ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ) คือปราชญ์หญิงผู้ยิ่งใหญ่และไม่มีผู้ใดเทียบเทียมได้ในโลกนี้ ท่านหญิงคือผู้มีจิตบริสุทธิ์และวิทยาการอันไม่มีที่สิ้นสุดของบิดา ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ)
ท่านหญิงได้รับความรู้จากพระผู้เป็นเจ้า หะดีษ และวิทยาการของเหล่าทวยเทพของพระองค์ ญิบรออีลผู้ซื่อสัตย์และทวยเทพอื่นๆ โดยผ่านการดลจิต (อิลฮาม)
สตรีผู้เป็นต้นแบบและเป็นหัวหน้าของเหล่าสตรีทั้งหลายผู้นี้คือครูคนสำคัญสำหรับสตรีชาวมะดีนะฮฺตลอดอายุขัยสั้นๆ ของท่าน บ้านของอะฮฺลุลบัยต์ (อ) ในนครมะดีนะฮฺคือมหาวิทยาลัยแห่งความรู้และสารธรรมอิสลามที่มีท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ผู้เป็นนครแห่งความรู้และอิมามอะลี อิบนุ อะบีฏอลิบ (อ) ผู้เป็นประตูของนครแห่งความรู้นั้น คอยประสิทธิ์ประสาทสารธรรมอิสลามแก่เหล่าบุรุษ และท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ) ธิดาของท่านศาสดาคอยประสิทธิ์ประสาทความรู้และวิทยปัญญาแก่เหล่าสตรี มหาวิทยาลัยแห่งนุบูวะฮฺนี้ได้ทิ้งผลงานอันเจิดจรัสและงดงามไว้อย่างมากมาย คำสอนของอิมามอะลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) จะเป็นทางนำสำหรับชาวโลกตลอดไป
เนื่องจากวจนะของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ในทุกๆ เรื่องนั้นล้วนแจกแจงสัจธรรมและคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในที่นี้จึงขอกล่าวถึง "ความเป็นชีอะฮฺ" ที่แท้จริงในทัศนะของท่านหญิง เพื่อที่ว่าผู้ที่ปรารถนาความผาสุกที่แท้จริงจะได้พบทางที่ถูกต้อง
ชีอะฮฺคือใคร ?
บุรุษผู้หนึ่งกล่าวกับภรรยาของตนว่า: "จงไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ธิดาของท่านศาสดาแห่งอัลลอฮฺ แล้วถามท่านหญิงแทนฉันว่า ฉันเป็นชีอะฮฺของท่านหญิงหรือไม่" หญิงผู้นั้นจึงได้ไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ) และถามคำถามของสามี ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ได้กล่าวกับนางว่า: "จงบอกสามีของเธอว่า หากปฏิบัติตามสิ่งที่เราสั่งใช้และละทิ้งสิ่งที่เราสั่งห้าม เธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นชีอะฮฺ มิเช่นนั้นย่อมไม่ใช่ชีอะฮฺ" นางกลับมาบ้านพร้อมกับบอกเล่าคำตอบของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) แก่สามี สามีของนางจึงกล่าวว่า: "อนิฉจา! ใครเล่าที่จะบริสุทธิ์จากบาป ฉันจะต้องอยู่ในไฟนรกอย่างแน่นอน ..." ภรรยาของเขาย้อนกลับมาหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) อีกครั้งพร้อมกับบอกเล่าคำพูดของสามีแก่ท่านหญิง ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) จึงกล่าวว่า: "มิใช่เช่นนั้นดอก ชีอะฮฺคือชาวสวรรค์ที่ดีที่สุด ส่วนผู้ที่รักเรา ผู้ที่รักคนที่รักเราและเป็นศัตรูกับศัตรูของเรา และผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อเราทั้งด้วยจิตใจและวาจานั้น หากพวกเขากระทำในสิ่งที่สวนทางกับคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของเรา พวกเขาไม่ใช่ชีอะฮฺของเรา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พวกเขาก็จะได้เข้าสวรรค์ภายหลังจากที่ได้รับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์จากบาปด้วยกับภัยพิบัติ ความทุกข์ทรมาน หรือด้วยกับการลงโทษหลากหลายรูปแบบในฉากต่างๆ ของปรโลก หรือด้วยกับการลงโทษในชั้นแรกของนรก จนกระทั่งเราจะช่วยพวกเขาให้รอดพ้นและนำมาอยู่กับเราในสวนสวรรค์" 1
การสนทนากันระหว่างสตรีคนหนึ่งในฐานะตัวแทนของสามีของนางกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ) ถือเป็นหลักฐานสำคัญและสร้างสรรค์เกี่ยวกับ "ชีอะฮฺวิทยา" สำหรับมุสลิมโลกและมนุษยชาติทั้งหลาย การสนทนาดังกล่าวบ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สำนักคิดชีอะฮฺมีอยู่ในมะดีนะฮฺตั้งแต่ยุคของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) แล้ว และชาวมะดีนะฮฺคุ้นเคยกับคำว่า "ชีอะฮฺ" เป็นอย่างดี คำถามของชาวเมืองข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้คนชาวมะดีนะฮฺต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการเป็น "ชีอะฮฺ" เป็นอย่างดี และพวกเขาต่างรับรู้ถึงคำสั่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นในการเป็น "ชีอะฮฺ" ด้วยเหตุนี้ สามีภรรยามุสลิมคู่นี้จึงประสงค์ที่จะทำความเข้าใจถึงความหมาย, ขอบเขตุ, คุณลักษณะ และหน้าที่รับผิดชอบของการเป็น "ชีอะฮฺ" ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากคำนิยามที่ปรากฏอยู่ในคำตอบของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ข้างต้นนั้น ความเป็น "ชีอะฮฺ" มิได้อยู่ที่เพียงคำพูดหรือการกล่าวอ้างเท่านั้น แต่อยู่ที่การกระทำและการเจริญรอยตามท่านศาสดาและอะฮฺลุลบัยต์ของท่านอย่างแท้จริง และด้วยกับการสวามิภักดิ์โดยสมบูรณ์และการปฏิบัติตามคำสั่งใช้และละทิ้งคำสั่งห้ามของอะฮฺลุลบัยต์ (อ) เท่านั้น ที่จะทำให้ความเป็น "ชีอะฮฺ" เกิดขึ้นและจะทำให้มนุษย์ได้รับความภาคภูมิใจแห่งความเป็น "ชีอะฮฺ"
การยืนยันอย่างชัดเจนของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ใน "ความเป็นชาวสวรรค์ของชีอะฮฺ" ได้พิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นถึงความถูกต้องเที่ยงตรงของ "วิถีชีอะฮฺ" และความเกี่ยวพันด้านหลักการและพื้นฐานสำคัญของสำนักคิดชีอะฮฺกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และวิวรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น "วิถีชีอะฮฺ" จึงถือเป็นแนวทางที่แท้จริงของอิสลาม ผู้ก้าวเดินในวิถีนี้คือชาวสวรรค์ที่ประเสริฐที่สุด และความรักที่มีต่อผู้เป็นต้นแบบสากลอันอมตะแห่งพระผูเป็นเจ้าเหล่านี้คือสิ่งที่จะหล่อหลอมและนำทางมนุษย์ จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากไฟนรกและจะนำพาพวกเขาเข้าสู่สรวงสวรรค์และความผาสุกอันนิรันดร์ในที่สุด
เชิงอรรถ 1. บิหารุลอันวาร ฯ, มุฮัมมัด บากิร มัจญ์ลิซีย์, เบรุต, สำนักพิมพ์อัลวะฟา, พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี ฮ.ศ. ๑๔๐๓, เล่ม ๖๘ หน้า ๑๕๕
บทความโดย Saleh
ขอขอบคุณ www.islamichomepage.com