ไทยแลนด์
Sunday 24th of November 2024
0
نفر 0

ลำดับเหตุการณ์อาชูรอ ณ กัรบาลาอ์ ตอนที่หนึ่ง

ลำดับเหตุการณ์อาชูรอ ณ กัรบาลาอ์ ตอนที่หนึ่ง



ลำดับเหตุการณ์อาชูรอ ณ กัรบาลาอ์ ตอนที่หนึ่ง

 

  การเดินทางของท่านอิมามฮุเซน(อ)เข้าสู่กัรบาลา ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมุฮัรรอม ฮ.ศ 61 และท่านอิมาม (อ)ก็ยังคงพักอยู่ที่นั้นจนกระทั่งทหารของฝ่ายข้าศึกติดตามมาทัน ในจำนวนนั้นชิมรฺเป็นฝ่ายนำมา 4,000 คน ยะซีด บินอัร-ริกาบ เป็นฝ่ายนำ 2,000 คน อับล-ฮุศ็อยนฺ บินนามีร เป็นฝ่ายนำมา 4,000 คน ชิบษฺ บินรุบอี เป็นฝ่ายนำมา 1,000 คน กะอับบินฏ็อลฮะฮฺเป็นฝ่ายนำมา 3,000 คน ฮิญารบินอับญัรเป็นฝ่ายนำมา 1,000 คน มะฎอยิร บินร่อฮินะฮฺ อัล-มาซินี เป็นฝ่ายนำมา 3,000 คน นัศรฺ บินฮัรชะฮฺ เป็นฝ่ายนำมา 2,000 คน ทั้งนี้ต่างก็เข้ามาสมทบกับกองทหารของอิบนุซะอัด ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 20,000 คน อิบนุซิยาดก็ยังส่งทหารมาสมทบอีกเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีจำนวนมากถึง 30,000 คน

 

คืนแห่งวัน อาชูรออ์

 ในคืนวันพฤหัสที่ 9 ของเดือนมุฮัรรอม อิบนุซะอัด ได้นำทหารของตนเข้าไปหาท่านอิมามฮุเซน (อ) ซึ่งท่านอิมาม (อฺ) ก็ได้ส่งท่านอับบาส (ร.ฎ.) น้องชายของท่าน (อ) ออกไปพบกับพวกเขาโดยได้สั่งว่า

   เจ้าจงขี่พาหนะของฉันออกไปพบกับพวกเขา แล้วถามพวกเขาดูว่า พวกเขามาทำไม และต้องการอะไร ?

 ท่านอับบาส(ร.ฎ.) ขี่พาหนะออกไปพร้อมกับพลทหารม้า 20 คน ในจำนวนนั้นมีซุฮัยรฺ บิน กีนและฮะบีบ บิน มะซอฮิร รวมอยู่ด้วย ท่านถามพวกเขาตามที่ท่านอิมาม (อ) สั่ง

พวกเขาตอบ

     “มีคำสั่งจากอะมีร (ผู้ปกครอง) มาว่า ให้เราเสนอแก่พวกเจ้าถึงเรื่องการยินยอมตกลงอยู่ภายใต้การปกครอง มิฉะนั้นแล้ว ก็ให้เราสู่รบกับพวกเจ้า”

  ท่านอับบาส(ร.ฎ.)ก็ได้หวนกลับมาแจ้งให้ท่านอิมามฮุเซน(อฺ)รับทราบถึงสิ่งที่คนพวกนั้นต้องการ

ท่านอิมาม(อฺ)ได้พูดกับท่านว่า

 “จงกลับไปพบกับพวกเขาและขอร้องให้พวกเขาคอยให้คืนนี้ผ่านไปจนถึงพรุ่งนี้ก่อนเพราะว่าเราจะทำนมาซต่อพระผู้อภิบาลของเราในคืนนี้ซึ่งเราจะวิงวอนขอจากพระองค์และขอการอภัยโทษจากพระองค์ เพราะพระองค์ทรงรู้ดีว่า ข้ารักการนมาซและการอ่านคัมภีร์ อีกทั้งวิงวอนขอดุอาอ์และขอการอภัยโทษจากพระองค์

ท่านอับบาส(ร.ฎ.)ได้กลับไปหาคนเหล่านั้นอีกครั้งและขอร้องพวกเขาว่า ให้ค่อยเวลาจนคืนนี้ผ่านไปก่อน อิบนุซะอัดลุกขึ้นยืนถามคนทั่วไป อัมรว์บินฮัจญาจกล่าวขึ้นว่า

   “มหาบริสุทธิ์เป็นของอัลลอฮฺ พวกเขาเป็นนักบุญ ในเมื่อขอร้องท่านเช่นนั้น ก็สมควรแล้วที่ท่านจะยินยอมพวกเขา”

 ก็อยซฺ บินอัชอัษ กล่าวว่า

“ยินยอมไปตามที่พวกเขาขอร้องเถิด ขอสาบานด้วยอายุขัยของข้าเองว่าพรุ่งนี้ท่านจะต้องมีชัยชนะในการสู้รบได้แน่นอน”

 อิบนุซะอัดจึงพูดว่า

 “ข้าขอสาบานด้วยพระนาทของอัลลอฮ์ ฉันต้องรู้ว่าเขาทำอะไรในยามที่ฉันยืดเวลาให้พวกเขาในคืนนี้”

    แล้วเขาก็ส่งคนไปพบท่านอิมาม(อฺ) โดยให้กล่าวว่า

 “พวกเราจะยืดเวลาแก่พวกเจ้าจนถึงพรุ่งนี้เช้า ถ้าพวกเจ้ายอมรับโดยดุษณี เราก็จะคุมตัวพวกเจ้าไปพบกับผู้ปกครองพร้อมกับเรา นั้นคืออิบนุซิยาด แต่ถ้าหากพวกเจ้าปฏิเสธ เราก็จะไม่ปล่อยพวกเจ้าไปอย่างเด็ดขาด”

 

การนมาซคืนอาชูรออ์

 คืนนั้นท่านอิมามฮุเซน(อ)และมวลสมาชิกของท่าน(อ)อดนอนตลอดคืน พวกเขาอยู่โยงห้อมล้อมกันเหมือนฝูงผึ้ง ในขณะที่ท่าน(อ)ยืนนมาซและนั่งนมาซตลอดเวลาไม่ว่าจะโค้งหรือจะกราบจนรุ่งเช้าวันใหม่ ท่านอิมาม(อ)ได้ร่วมนมาซยามรุ่งอรุณ(ศุบฮ์)กับบรรดาสมาชิกของท่าน(อ)เสร็จแล้วท่านก็ยืนขึ้นกล่าวคำเทศนา ความว่า

   “มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงอนุมัติให้มีการต่อสู้ทั้งโดยพวกท่านและโดยฉันในวันนี้แล้ว จึงขอให้พวกท่านทั้งหมดมีความอดทนและจงต่อสู้”

หลังจากนั้นท่านอิมาม(อฺ) ก็ได้หันมาทางทหารหาญแล้วขอร้องให้จัดแถวเพื่อออกรบ ในขณะนั้นพวกเขามีจำนวนเพียง 70 คน รวมทั้งคนที่มีม้าและเดินเท้า โดยมีท่านซุฮัยรฺ บิน ก็อยน์ (ร.ฎ.) อยู่ทางเบื้องขวาของท่านฮะบีบ บิน มะซอฮิร (ร.ฎ.) อัล-อะซะดีอยู่ทางเบื้องซ้าย ส่วนท่านอิมาม (อ)กับบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ(อฺ)อยู่ตรงระหว่างกลาง พร้อมกันนั้นก็ได้มอบธงรบของท่าน(อฺ)ให้แก่ท่านอับบาส(ร.ฎ.)ผู้เป็นน้องชาย              

 

 ทางด้านอิบนุซะอัดก็ได้แถวสมาชิกของตนด้วยเช่นกัน ซึ่งพวกเขามีจำนวน 30,000 คน โดยแต่งตั้งให้อัมร์ว์ บิน ฮัจญาจ อัซ-ซุบัยดี อยู่ทางด้านขวา ส่วนทางด้านซ้ายให้ชิมรฺ บิน ซี อัล-เญาชันอยู่ด้านซ้าย ส่วนกองทัพมาก็ให้อุซเราะฮฺ บินก็อยซฺเป็นฝ่ายนำ และสำหรับคนเดินเท้านั้นได้จัดให้ชิบษฺ บิน รุบอี เป็นฝ่ายนำ แล้วมอบธงของตนให้ ซุวัยดฺ สมุนมือขวาของตนเป็นผู้ถือ

 

ท่านอิมามฮุเซน(อฺ)ปฏิเสธการเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำสงคราม

 ท่านอิมาม(อฺ)สั่งให้มีการขุดสนามเพลาะไว้ด้านหลังกระโจม และให้จุดไฟไว้ในนั้นเพื่อหลบการรบให้มีขึ้นเพียงด้านเดียวและเพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยให้แก่กระโจมที่พักด้วย

  บรรดาฝ่ายศัตรูได้ออกมานอกบริเวณค่าย ก็เห็นแสงไฟที่ถูกจัดขึ้นในหลุมเพลาะ ชิมรฺจึงตระโกนสุดเสียงว่า

 

      “โอ้ฮุเซน เจ้าจะรีบเอาไฟเผาตัวเองก่อนถึงวันฟื้นคืนชีพกระนั้นหรือ”

 

        ท่านอิมามฮุเซน(อฺ)ถามขึ้นว่า

       “นั่นเสียงใคร ดูเหมือนคล้ายเสียงของชิมรฺ บินซีอัล-เญาชัน?”

 

        มีเสียงขานรับว่า

        “ใช่แล้วครับ”

     ท่านอิมาม(อฺ)จึงกล่าวว่า

                “เจ้านั้นแหละที่เหมาะสมจะเข้านรกมากกว่าข้า”

 

 มุสลิม บินเอาซะญะฮฺ(ร.ฎ.)ทำท่าจะยิงธนูเข้าใส่ แต่ท่านได้ห้ามไว้ พร้อมกับกล่าวว่า

    “ฉันรังเกียจที่จะเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามกับพวกเขา”

 

ท่านประมุขของวีรชนแห่งอิสลาม(อ) ได้ออกมาพบกับชาวกูฟะฮฺแล้วกล่าวคำเทศนาด้วย ถัดจากนั้น ท่านอิมาม(อฺ) ได้กล่าวคำเทศนาอีกเป็นครั้งที่สองซึ่งปรากฏว่าการเทศนาในคราวนี้ ยังผลให้บรรดาผู้นำชาวกูฟะฮฺจำนวนหนึ่งยอมรับท่านอิมาม(อ)และเข้าร่วมทัพกับท่าน เช่น อัล-ฮุร บินยะซีด อัร-ริยาฮี ซึ่งมีทหารจำนวนหนึ่ง

 

สงครามและการพลีชีพ

อิบนุซะอัดเชื่อมั่นว่า การรอคอยอย่างนี้มิได้เป็นผลดีให้กับตัวเองเลยบางทีท่านอิมาม(อฺ) กับพรรคพวกของท่านอาจทำการเปลี่ยนแปลงบรรดาทหารทั้งหมดได้ แล้วจะเกิดความยุ่งยากสับสนเหมือนอย่างกษัตริย์แห่งร็อยและราชาแห่งญุรญานได้ประสบกับความพ่ายแพ้มาแล้ว ดังนั้นเขาจึงได้นำทหารออกมาเผชิญหน้ากับท่านอิมาม(อฺ) และยกธนูขึ้นเตรียมยิงทันทีพลางกล่าวว่า

 “พวกเจ้าจงเป็นพยานต่ออะมีร (ผู้ปกครอง) ให้ข้าด้วยว่า ข้านี่แหละคือคนแรกที่ยิงธนู”

 แล้วทหารทั้งหมดต่างก็ยิงตามทันที ปรากฏว่าพรรคพวกของท่านอิมามฮุเซน(อฺ)ถึงกับต้องธนูกันหมดทุกคนไม่เว้นแม้แต่คนเดียว

  ท่านอิมาม(อฺ)กล่าวกับพรรคพวกของท่าน(อฺ)ว่า

  “จงลุกขึ้นเผชิญกับความตายที่ไม่อาจมีใครหลีกเลี่ยงได้เถิด อัลลอฮฺจะทรงประทานความเมตตาแก่พวกเจ้า ธนูเหล่านี้มันถูกส่งมาจากคนเหล่านั้น”

พลพรรคของอิมาม(อฺ)ต่างพากันฮึดสู้พร้อมกัน เพียงการต่อสู้ภายในชั่วโมงเดียว ปรากฏว่าพวกเขาต้องประสบความสูญเสียไปถึง 50 คน

 

กองหนุนที่เหลือกับบะนีฮาชิม

หลังจากที่ทหารของท่านอิมาม(อฺ)รวมพลังกันต่อสู้ในครั้งนี้แล้ว พวกเขาสามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามได้จำนวนนับหลายพันคน จนกระทั่งพวกเขาได้รับบาดเจ็บและสูญเสียกันจนหมด ชาวบะนีฮาชิมจึงได้ออกเสนอตัว ซึ่งท่านอิมาม(อฺ)ได้จัดส่งพวกเขาไปด้วยการกล่าวอำลาซึ่งกันและกันคนแรกที่ส่งตัวออกไปคือ ท่านอะลีอักบัร บินฮุเซน(อฺ) เขาสามารถสังหารฝ่ายศัตรูได้เป็นจำนวนมาก  จนกระทั่งทหารของฝ่ายศัตรูร้องลั่นระงมกันไปหมด นักสู้คนหนึ่งกล่าวว่า เขาสามารถสังหารทหารเหล่านั้นได้ถึง 200 คน และหลังจากนั้นท่านอับดุลลอฮฺ บินมุสลิม บินอะกีล (ร.ฎ.) ก็ได้เข้าไปทำการต่อสู้ โดยที่ได้ทำการต่อสู้ถึงสามคราว ปรากฏว่าเขาได้สังหารทหารฝ่ายศัตรูได้มากถึง 98 คน และในเมื่อเขาพลาดท่าเสียทีลง บรรดาลูกหลานของอะบีฏอลิบต่างก็ออกไปรบได้ครั้งเดียว ๆ

ท่านอิมาม(อฺ)ตะโกนบอกพวกเขาว่า

  “จงอดทนกับความตายเสียเถิด โอ้ลูกหลานลุงของฉันเอ๋ย ขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ นับจากวันนี้เป็นต้นไป พวกท่านจะไม่ได้เห็นการลบหลู่ดูหมิ่นอีกเลย”

บรรดาลูกหลานของอะบีฏอลิบได้ต่อสู้กับชาวกูฟะฮฺ จนพวกเขาต้องถูกสังหารไปเป็นจำนวนมาก ในจำนวนคนเหล่านี้ได้แก่ ท่านอูน และมุฮัมมัด บุตรชายสองคนของท่านอับดุลลอฮฺ บิน ญะอฺฟัร ฏ็อยยาร ท่านอัลดุลลอฮฺ ท่านอับดุลเราะฮฺมาน  ท่านญะฮฺฟัรบุตรของท่านอะกีล บิน อะบีฏอลิบ ท่านมุฮัมมัด บิน อะมีรุลมุอ์มินีน(อ) ท่านมุฮัมมัด บินมุสลิม บินอะกีล ส่วนท่านฮะซัน อัล-มุษันนา บุตรชายท่านอิมามฮะซัน(อ)นั้น ได้รับบาดแผลทั้งหมดรวม 18 แห่ง และมือขวาก็ถูกฟันจนขาดแต่ไม่ถึงกับพลีชีพ

ท่านกอซิม บุตรของท่านอิมามฮะซัน(อ)ก็ออกไปทำการรบด้วย ตอนนั้นเขายังเป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ใบหน้าของเขาผุดผ่องดังดวงเดือน ยามที่ท่านอิมามฮุเซน(อ)มองไปยังท่าน(อ)ได้เขากอดคอแล้วร้องไห้ จากนั้นท่าน(อ)ก็อนุญาตให้ท่านกอซิมออกรบ เขาก็ได้ออกรบไปต่อสู้กับชาวกูฟะฮฺอย่างกล้าหาญและรุนแรงจนในที่สุดเขาก็ถูกสังหาร

เมื่อท่านอับบาส(ร.ฏ.)เห็นความสูญเสียอะฮฺลลบัยตฺ(อ)อย่างมากมายเช่นนั้นแล้ว ท่านก็พูดกับพี่ ๆ น้อง ๆ ร่วมบิดามารดาของท่าน เช่น ท่านอับดุลลอฮฺ ท่านอุษมาน และท่านญะอฺฟัรว่า

   “โอ้บรรดาลูกชายของมารดาข้า พวกเจ้าจงออกไปรบเถิดเพื่อที่จะได้ชมการเคารพเชื่อฟังของพวกเจ้าที่มีต่ออัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์”   แล้วคนเหล่านั้นก็ออกไปต่อสู้จนกระทั่งถูกสังหารจนหมดทุกคน

 

จบตอนที่หนึ่ง

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

อิมามอะลี ...
"ฝน"ในอัลกุรอาน
ชีวประวัติท่านฮัมซะฮ์ บิน ...
หลักปฏิบัติในอิสลาม ...
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
ความพอเพียงในอิสลาม
อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ) ...
ฮะดีษนี้น่าเชื่อถือหรือไม่? : ...
ศาสดาและวงศ์วานผู้ทรงเกียรติ
ถ้าหากท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ...

 
user comment