สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 3 ตอนที่ 1
เหตุการณ์ ณ กัรบะลาอ์
คาราวานของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้เดินทางต่อไป โดยมีทหารของฮูรคอยประกบมาตลอด จนกระทั่งถึงตำบล “นัยนาวา” ณ ที่นี้เองที่ท่านได้พบกับชายติดอาวุธผู้หนึ่งควบม้าฝีเท้าจัดตรงเข้ามา เขาคือม้าเร็วที่ถือสาส์นของอิบนิซิยาด ที่มุ่งหน้ามายังฮูร เนื้อความของจดหมาย มีดังนี้
“เมื่อเจ้าอ่านจดหมายของฉันแล้ว จงบีบบังคับฮูเซน และอย่าให้เขาหยุดพักที่ใด นอกจากในที่โล่งแจ้งและปราศจากน้ำ”
ฮูรอ่านจดหมายฉบับนั้นต่อหน้าท่านอิมาม (อ.) และแจ้งให้ท่านรับทราบถึงคำสั่งที่ตนได้รับ ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงปล่อยให้เราหยุดพักที่ท้องทะเลทรายแห่งนัยนาวา หรือที่ตำบลฆอฎิรียาต หรือไม่ก็ที่ตำบลชาฟีฮ์เถิด”
ฮูรกล่าวว่า “ข้าพเจ้ามิอาจจะเห็นพ้องต่อข้อเสนอของท่านได้ เพราะข้าพเจ้าไม่มีอิสระในการตัดสินใจอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากผู้ถือสาส์นผู้นี้เป็นผู้สอดแนมของอิบนิซิยาดด้วย เขาจะสอดส่องพฤติกรรมทุกอย่างของข้าพเจ้า”
ซุเฮร มินกิน เสนอต่อท่านอิมาม (อ.) ว่า “การทำสงครามกับทหารจำนวนน้อยเช่นนี้เป็นสิ่งที่ง่ายกว่าการต่อสู้กับทหารจำนวนมากซึ่งกำลังตามมา ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า คงอีกไม่นานเท่าใดที่กองทหารจำนวนมากจะมาสมทบกับทหารเหล่านี้ และเมื่อถึงเวลานั้นเราก็คงจะไม่มีกำลังพอที่จะยืนหยัดเผชิญหน้ากับพวกเขาได้”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบข้อเสนอแนะของซุเฮรว่า “ฉันจะไม่เป็นผู้เปิดฉากสงครามกับพวกเขาก่อนอย่างเด็ดขาด” (1) และท่านอิมาม (อ.) ก็ได้กล่าวกับฮูรว่า “หากเราจะเคลื่อนขบวนต่อไปอีกสักเล็กน้อยจะดีกว่า เพื่อเราจะได้เลือกสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการหยุดพัก”
ฮูรเห็นด้วยกับความเห็นของท่าน ขบวนจึงเคลื่อนต่อไปจนกระทั่งมาถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ ด้วยเหตุที่สถานที่แห่งนี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำฟุรอต (ยูเฟรติส) และเป็นที่ที่เหมาะสม ฮูรและกองทหารของเขาจึงได้เข้าขวางคาราวานของท่านอิมามไว้
เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ) ตัดสินใจที่จะหยุดพัก ณ ที่นั้น ท่านได้สอบถามถึงชื่อของสถานที่ดังกล่าว มีผู้ตอบว่า “เขาเรียกที่นี่ว่าฏอฟ” ท่านอิมาม (อ.) ถามต่อไปอีกว่า “มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งหรือไม่” พวกเขาตอบว่า “เขาเรียกกันว่ากัรบะลาอ์ด้วยเหมือนกัน” เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ยินชื่อ “กัรบะลาอ์” ท่านได้กล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ ข้าฯ ขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากความทุกข์และบะลาอ์ทั้งมวล” (2)
แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ที่นี่คือสถานที่วางสัมภาระของพวกเรา ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ที่นี่คือสถานที่ฝังศพของพวกเรา และขอสาบานต่ออัลลอฮ์สถานที่แห่งนี้คือที่ที่พวกเราจะถูกรวมกัน และเป็นที่สำหรับการฟื้นคืนชีพของพวกเรา (ในวันกิยามะฮ์) ในเรื่องนี้ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ตาของฉันได้ให้สัญญากับฉันไว้แล้ว และย่อมไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้นต่อคำสัญญาของท่าน”
สาระจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)
ในคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) มีประเด็นที่สำคัญและน่าพิจารณาอยู่ 3 ประการคือ
ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และยังมีปรากฏในคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายวาระ บางครั้งก็เป็นคำพูดที่ชัดเจน บางครั้งก็กล่าวเป็นนัยว่าท่านนั้นตระหนักดีถึงเรื่องการนองเลือดที่จะเกิดขึ้น ณ แผ่นดินกัรบะลาอ์ ในคราวนี้ก็เช่นกัน เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ชี้ให้เห็นรายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกันนั้นท่านก็ได้แจ้งให้ทราบถึงสถานที่เกิดของเหตุการณ์ นั่นก็คือแผ่นดินกัรบะลาอ์ โดยท่านได้อ้างอิงถึงเรื่องราวที่ท่านได้รับการบอกกล่าวมาจากท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ)
ประเด็นที่สองนั่นก็คือ ในเรื่องแนวทางและแผนการที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ยืดถือปฏิบัติในการต่อสู้ ตามคำเสนอแนะของซุเฮร บินกีนนั้น เป็นการเริ่มต้นเปิดฉากการต่อสู้ในสภาพเงื่อนไขต่างๆ ซึ่ง ณ เวลานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของท่านเอง แต่ถ้าหากปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป เรื่องราวอาจจะกลับตรงกันข้าม และความปราชัยจะต้องประสบกับฝ่ายของท่านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะอยู่ในสภาพเงื่อนไขอันจำกัดเช่นนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ประกาศแนวทางและนโยบายแห่งการต่อสู้ของท่านว่า “ฉันจะไม่เป็นผู้เปิดฉากสงครามก่อนอย่างเด็ดขาด”
วิธีการและนโยบายแบบเดียวกันนี้เอง ที่ท่านอมีรุลมุอ์มีนีน (อ.) ได้ประกาศแก่สหายและผู้คนของท่านในการทำสงครามญะมัล (สงครามอูฐ) ในขณะที่ท่านเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรูผู้กระหายเลือด ศัตรูที่ได้จู่โจมกองทัพของท่านถึงสองครั้งสองครา และได้สังหารบรรดามุสลิมที่ดีที่สุด และบรรดาชีอะฮ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของท่านอิมามอะลี (อ.) ในเมือง
บัศเราะฮ์ โดยท่านได้กล่าวว่า “พวกท่านอย่างได้เปิดฉากสงครามกับพวกเขาก่อน และจงอย่าโจมตีพวกเขาด้วยหอกหรือดาบ ท่านจงอย่าล่วงหน้าพวกเขาในการหลั่งเลือด แต่จงเจรจากับพวกเขาด้วยความเมตตาปรานี และด้วยวาจาที่อ่อนโยน (เพื่อว่าพวกท่านจะได้ไม่บีบบังคับพวกเขาเข้าสู่สงครามและการหลั่งเลือด)” (3)
เป้าหมายและเจตนารมณ์ของบรรดาผู้นำและอิมามผู้บริสุทธิ์ คือการฟื้นฟูประชาชาติ และยับยั้งจากการหันเหและเบี่ยงเบนออกจากทางนำ ดังคำพูดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่ว่า “การกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว” ซึ่งเป้าหมายหรือเจตนารมณ์นี้มิอาจบรรลุได้ด้วยการทำสงครามหรือการหลั่งเลือด แต่การทำสงครามนั้นคือวิธีการและทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาใช้เมื่อหมดทางเลือกอื่นแล้ว
สรุปแล้วคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่กล่าวแก่ซุเฮร บินกีน แม้จะอยู่ในสภาพเงื่อนไขอันจำกัดนี้ และหลักฐานอีกประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า จุดประสงค์ของท่านอิมามในการเคลื่อนขบวนเดินทางในครั้งนี้ มิใช่เพื่อการได้มาซึ่งชัยชนะทางด้านรูปธรรมในการต่อสู้ แต่ทว่าท่านอิมาม (อ.) มีเจตนาที่จะไปให้ถึงเป้าหมายอย่างหนึ่งซึ่งอยู่เหนือกว่าและกว้างไกลกว่าสิ่งเหล่านั้น
คำปราศรัยของท่านอิมามฮูเซน (อ.) หลังจากเข้าสู่แผ่นดินกัรบะลาอ์
ในวันที่ 2 เดือนมุฮัรรอม ฮิจเราะฮ์ที่ 61 ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ก้าวเข้าสู่แผ่นดินกัรบะลาอ์ หลังจากหยุดพักชั่วครู่หนึ่ง ท่านได้ยืนขึ้นท่ามกลางบรรดาสาวก ลูกหลานและบุคคลในครอบครัวของท่าน และท่านได้กล่าวคำปราศรัยดังนี้
“เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ดังที่พวกท่านทั้งหลายได้รู้ได้เห็น แท้จริงโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป และสภาพเลวร้ายต่างๆ ได้ปรากฏให้เห็น ส่วนความดีงามได้สูญสลายไปโดยสิ้นเชิง จะมีเหลืออยู่แต่เพียงส่วนเล็กน้อย เปรียบได้ดังหยดน้ำที่คงเหลืออยู่ในก้นภาชนะ การมีชีวิตอยู่ที่ต่ำช้าเสมือนดังทุ่งหญ้าที่ไร้ความอุดมสมบูรณ์ พวกท่านมิเห็นดอกหรือว่า สัจธรรมมิได้ถูกนำมาปฏิบัติ และสิ่งที่มดเท็จก็มิได้ถูกงดเว้น ในการที่ผู้ที่มีศรัทธามั่นคงจะมุ่งปรารถนาในการกลับไปยังอัลลอฮ์ (ซบ.) (ด้วยการพลีชีพของตนเพื่อขจัดสภาพอันเลวร้ายนี้ให้หมดไป)
ดังนั้น แท้จริงฉันมิได้เห็นความตาย (เป็นสิ่งอื่นใด) นอกจากเป็นความไพบูลย์ และการมีชีวิตอยู่ร่วมกับบรรดาผู้อธรรมนั้นคือความอัปยศ มนุษย์คือทาสของโลกนี้ และศาสนานั้นเปรียบดังของหวานที่ติดอยู่บนปลายลิ้นของพวกเขา พวกเขาจะยังคงห้อมล้อมมันไว้ตราบเท่าที่การดำรงชีวิตของพวกเขายังบริบูรณ์อยู่ แต่เมื่อใดที่พวกเขาถูกทดสอบด้วยบะลาอ์ (และความทุกข์ยาก) บรรดาผู้ที่มีความมั่นคงต่อศาสนาก็จะเหลืออยู่เพียงน้อยนิด” (4)
สาระสำคัญจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)
ในการปราศรัยของท่านอิมาม (อ.) ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่ท่านมาถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญต่อไปนี้คือ
สาเหตุและแรงบันดาลใจในการต่อสู้
ตามที่ได้นำเสนอไปในบทก่อนๆ คำพูดของท่านอิมามที่ท่านได้ชี้แจงให้รับรู้ถึงสาเหตุและแรงบันดาลใจหลายประการในการยืนหยัดต่อสู้ของท่าน ซึ่งได้แก่การคัดค้านต่อต้านรัฐบาลและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงบิดเบือนทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม ท้ายที่สุดคือประเด็นของ “การกำชับความดี และการห้ามปรามความชั่ว” ซึ่งก่อให้เกิดภาพรวมของสาเหตุและแรงบันดาลใจต่างๆ เหล่านี้ขึ้น ทั้งหมดนี้ได้สรุปไว้ในคำพูดข้างต้นของท่านเช่นเดียวกัน
ในประเด็นที่ว่า สภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ความเลวร้ายและความน่ารังเกียจได้ปรากฏขึ้นไปทั่วทุกหนแห่ง ความดีงามและคุณธรรมถูกทำลายและถูกหลงลืมไปอย่างสิ้นเชิง ความอัปยศและความต่ำต้อยได้แผ่ขยายเงามืดของมันอย่างกว้างขวางเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยที่ไม่มีทั้งการนำสัจธรรมมาปฏิบัติหรือยับยั้งสิ่งจอมปลอมทั้งหลาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่บุคคลผู้มีศรัทธาอันกล้าแกร่งและเป็นผู้ใฝ่สัจธรรม จะต้องมุ่งหวังและแสวงหาการเป็นชะฮีดและการกลับไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า เพื่อแก้ไขสภาพอันเลวร้ายเช่นนี้ และท่านอิมาม (อ.) คือเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนที่สุดของผู้มีศรัทธามั่น ผู้มีความประเสริฐ ซึ่งลำพังตัวท่านเองแม้ในสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว ท่านก็มิได้เห็นความตายเป็นสิ่งอื่นใดนอกจากความไพบูลย์ แต่การมีชีวิตอยู่ในสภาพสังคมขณะนั้นไม่มีคุณค่าและความหมายอันใดนอกเสียจากความอัปยศ เป็นความทุกข์ทรมานและการตายผ่อนส่ง
ปัญหาของการทดสอบ
ประเด็นที่สอง ได้แก่ ปัญหาการถูกทดสอบ ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ แนวคิดและธาตุแท้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นผู้มีศรัทธาอันมั่นคง หรือว่าจะเป็นผู้ที่ถือหลักการและคติอันเร่าร้อน หรือว่าจะเป็นบุคคลที่แสดงตนว่าเป็นผู้ยกย่องสัจธรรมและมีความรักในศาสนา แต่ธาตุแท้ของชนกลุ่มนี้จะยังไม่ปรากฏออกมานอกจากจะถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยาก ในกระแสที่เชี่ยวกรากของสถานการณ์และในสนามแห่งการต่อสู้ โดยสรุปแล้วธาตุแท้ของบุคคลเหล่านี้จะถูกเปิดเผยก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ต่างๆ ทางด้านวัตถุ และชีวิตในโลกนี้ของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายและการสูญเสีย
เมื่อถึงสถานการณ์เช่นนั้น บุตรชายแห่งฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ ได้รีบเร่งมายังอัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างกระวีกระวาด และได้ย่างก้าวเข้าสู่แผ่นดินนั้นด้วยความยินดีในการเป็นชะฮาดัต แต่ท่านยังไม่ได้รับข่าวคราวใดๆ จากบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจวบจนวันนั้นพวกเขาก็ยังคงแสดงตนว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นต่ออิสลาม และได้รับการยกย่องในหมู่พี่น้องมุสลิมว่าเป็นผู้มีความเคร่งครัดในแนวทางของศาสนา ใช่แล้ว! ไม่มีข่าวคราวใดๆ จากบุคคลเหล่านั้นเลย
บุตรชายแห่งท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ได้ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับศัตรูดั้งเดิมของอิสลาม ในหนทางแห่งอิสลามและอัลกุรอาน เพื่อกำชับการทำความดี ท่านได้เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการถูกสังหารและการกุรบานวงศ์วานของท่าน การเป็นเชลยของเหล่าสตรีและบุคคลผู้ที่ใต้การปกครองของท่าน ซึ่งไม่มีบุคคลใดที่จะกล้าย่างก้าวออกมาในลักษณะนี้ ท่านได้ประกาศแนวทางการปฏิบัติของท่านสำหรับภารกิจดังกล่าว แต่กลับไม่มีข่าวคราวใดเลยไม่ว่าจะเป็นจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส หรือว่าจะเป็นอับดุลลอฮ์ อิบนิซุบัยร์ หรืออับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร ทั้งๆ ที่บุคคลทั้งสามนี้เป็นผู้ที่แสดงตนว่าเป็นผู้ที่มีความดีเด่นในด้านศาสนา และผลแห่งความเป็นผู้มีศาสนาของพวกเขานี่เอง ที่ทำให้พวกเขาได้รับความเคารพนับถือและยกย่องเป็นพิเศษในหมู่ประชาชาติมุสลิม ใช่แล้ว! คนพวกนี้ไม่มีใครกล้าเอ่ยถึงเรื่องชะฮาดัตและการเป็นเชลยในหนทางแห่งการฟื้นฟูอิสลามและการปลดปล่อยประชาขาติมุสลิม คล้ายกับว่าไม่มีบุคคลพวกนี้อยู่ในประชาชาติมุสลิมเลย
ความทุกข์ยากและการทดสอบเช่นนี้เอง ที่จะเป็นเครื่องแยกแยะวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่แท้จริงออกจากบรรดามุสลิมจอมปลอมและมดเท็จ ซึ่งในสถานการณ์ปกติพวกเขาจะแสดงออกว่าเป็นมุสลิมมากกว่า และเป็นผู้เคร่งครัดศาสนายิ่งกว่าผู้อื่น แต่ในสถานการณ์เช่นนี้เองที่หน้ากากของคนพวกนี้ได้ถูกกระชากออกจากใบหน้าของเขา “แต่เมื่อพวกเขาได้ถูกทดสอบด้วยบะลาอ์ (และความทุกข์ยาก) บรรดาผู้ที่มีความมั่นคงต่อศาสนาก็จะคงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด”
จดหมายของอิมามฮูเซน (อ.) ที่ส่งถึง “มุฮัมมัด บินฮะนะฟียะฮ์”
อิบนิเกาลาวัยฮ์ ได้อ้างรายงานไว้ในหนังสือ “กามิลุซซิยารอต” จากท่านอิมามบากิร (อ.) ว่า หลังจากเข้าสู่แผ่นดินกัรบะลาอ์แล้ว ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งไปถึงมุฮัมมัด บินฮะนะฟียะฮ์และบนีฮาชิมที่มิได้ร่วมเดินทางไปกับท่าน เนื้อความของจดหมายมีดังนี้
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงปรานีเสมอ จากฮูเซน บินอะลี (อ.) ถึงมุฮัมมัด บินอะลี (อ.) และบนีฮาชิมที่อยู่ ณ ที่นั้น ประหนึ่งว่าโลกนี้มิได้มีอยู่ (และเราก็มิได้มีอยู่ในโลกนี้) และประหนึ่งว่าโลกอาคิเราะฮ์นั้นจะคงอยู่ตลอดไป (และเราก็จะไม่สูญสลายไป)” (5)
คำกล่าวข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของท่านที่มีต่อโลกนี้และปรโลก เหมือนกับบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย ในทัศนะของท่านนั้น คุณค่าและการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ไม่มีค่าอันใด เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวที่ไม่จีรังยั่งยืน สิ่งที่จะต้องดับสลายนั้นมิอาจมีคุณค่ามากไปกว่าสิ่งนี้ (คือการทำภารกิจหน้าที่ของท่านให้ลุล่วงไป) และในสายตาของท่าน การดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความเพลิดเพลิน ความสุขสำราญ พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทอง ลาภยศสรรเสริญ มีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งจะถือว่ามีค่าเท่ากับการไม่มีเลยก็ว่าได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากจะเทียบกับความขมขื่น ความสิ้นหวังและความทุกข์ทรมาน (ที่จะต้องมาประสบในอาคิเราะฮ์) ทั้งสองประการนี้ไม่อาจจะนำมาเปรียบเทียบกันได้เลยในทัศนะของท่าน
ส่วนโลกอาคิเราะฮ์ ในมุมมองของท่านอิมามฮูเซน (อ.) มีความยิ่งใหญ่ที่มิอาจจะคิดคำนวณ และไร้ขอบเขตจำกัด ซึ่งไม่สามารถวัดได้ด้วยตราชั่งใดๆ ได้เลย เพราะมันคือสิ่งที่มั่นคงยืนยงเป็นนิรันดร์ ไม่มีการสิ้นสลายและดับสูญ ความไพบูลย์ของการมีชีวิตอยู่และความหวานชื่นของอาคิเราะฮ์เป็นสิ่งนิรันดร์ ไม่มีวันเสื่อมคลาย และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั่นก็คือ “และความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น” ในทำนองเดียวกัน ความขมขื่น ความทุกข์ทรมานและการลงโทษของมัน (ในวันกิยามะฮ์) ก็ไม่มีวันสิ้นสุดเช่นเดียวกัน
ด้วยโลกทัศน์ดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้การวางมือจากโลกนี้ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความสุขสบาย ความมั่งคั่งและตำแหน่งฐานะต่างๆ ทั้งการไม่ใส่ใจต่อแสงสีแห่งโลกนี้ และการมุ่งหน้าไปสู่โลกอาคิเราะฮ์ จึงเป็นสิ่งที่ง่ายดายและเป็นปกติธรรมดาอย่างมากสำหรับท่านอิมาม (อ.) ความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก ความคับแค้นและความรู้สึกต่างๆ ของบุคคลที่มีโลกทัศน์เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถอดทนแบกรับความยากลำบากได้เท่านั้น แต่มันกลับกลายเป็นความหวานชื่นและมีชีวิตชีวา ดังที่ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้สะท้อนทัศนคติดังกล่าวออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ท่านได้ผ่านพ้นช่วงแห่งการประกาศและการใคร่ครวญ มาสู่การปฏิบัติและการพิสูจน์ให้เห็นจริงแล้ว
ในมุมมองหนึ่ง คำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ท่านได้อธิบายถึงเนื้อแท้ของโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ ด้วยถ้อยคำที่เรียบง่ายและเป็นคำพูดสั้นๆ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มุฮัมมัด บินฮะนะฟียะฮ์ และเครือญาติอื่นๆ ของท่าน ท่านได้ตักเตือนและชี้แนะหนทางที่ถูกต้องแก่พวกเขาเหล่านั้น ในช่วงเวลาสุดท้ายแห่งการดำเนินชีวิตของท่าน
ส่วนในอีกมุมมองหนึ่ง เป็นการตักเตือนและชี้นำสำหรับประชาชาติ โดยเฉพาะผู้นำศาสนาทั้งหลายที่เป็นผู้รับผิดชอบในการชี้แนะและผู้นำทางแก่สังคม ท่านได้ชี้ให้เห็นเส้นทางเดินและกำหนดโลกทัศน์หนึ่งซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องเลือกและปฏิบัติไปตามนั้น
คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ต่อจดหมายของ “อิบนิซิยาด”
ฮูร บินยะซีด ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปยังอิบนิซิยาด เพื่อแจ้งข่าวการมาของท่านอิมามฮูเซน (อ.) อิบนิซิยาด จึงเขียนจดหมายไปถึงท่านอิมาม (อ.) ซึ่งมีใจความว่า
“ฉันได้รับรู้ข่าวการมาถึงแผ่นดินกัรบะลาอ์ของท่านแล้ว และท่านอมีรุลมุอ์มีนีน ยะซีด บินมุอาวียะฮ์ ได้มีคำสั่งแก่ฉันว่า ฉันจะต้องไม่วางหัวลงบนที่นอนอย่างสุขสบาย และต้องไม่ทำให้ท้องอิ่มจากอาหารจนกว่าฉันจะได้สังหารท่านเสียก่อน หรือมิฉะนั้นท่านก็จะต้องยอมจำนนต่อคำสั่งของฉันและรัฐบาลของท่านยะซีด วัสลาม”
เมื่อท่านอิมาม (อ.) อ่านจดหมายของอิบนิซิยาดจบ ท่านโยนจดหมายฉบับนั้นลงบนพื้น พร้อมกับกล่าวว่า “กลุ่มชนผู้ที่ได้ซื้อความพึงพอใจของสิ่งถูกสร้าง ด้วยการแลกเปลี่ยนกับความโกรธกริ้วของผู้ทรงสร้าง จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน”
ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบต่อผู้นำสาส์นของจดหมายนั้นไปว่า “ฉันไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับเขา เพราะแท้จริงการลงโทษ (ของพระผู้เป็นเจ้า) ได้เป็นที่แน่นอนแล้วสำหรับเขา” (6) หมายความว่า เขาได้เลือกหนทางสำหรับตนเองแล้ว ด้วยการเป็นศัตรูและการทำสงครามต่อพระผู้เป็นเจ้า
เมื่อผู้ถือสาส์นได้กลับมาถึงอิบนิซิยาด และรายงานปฏิกิริยาของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่อจดหมายของเขา อิบนิซิยาดแสดงความโกรธแค้นออกมาอย่างรุนแรง
คำตอบของท่านอิมามฮูเซน (อ.)
คำตอบของท่านอิมาม (อ.) ได้แก่คำพูดของท่านในวันอาชูรอที่ว่า “แท้จริงผู้ไร้พ่อ (อิบนิซิยาด) (7) ได้บังคับฉันให้เข้าอยู่ในระหว่างทางสองแพร่ง นั่นคือ ระหว่างดาบกับความต่ำต้อย และความต่ำต้อยนั้นช่างห่างไกลจากเราเสียยิ่งนัก ซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) และศาสนทูตของพระองค์ไม่พึงปรารถนาที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นแก่เรา…”
การสนทนาของท่านอิมามฮูเซน (อ.) กับ “อุมัร บินซะอ์ดิ”
ตามรายงานของคอฏิบ คอวาริซมีย์ ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ส่งสาส์นไปยังอุมัร บินซะอ์ดิ โดยสาวกผู้หนึ่งของท่านชื่อ “อัมร์ บินกอรเศาะฮ์ อันศอรีย์” เมื่อเชิญตัวเขามาพบและเจรจากันแล้ว อุมัร บินซะอ์ดิ เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ท่านอิมาม (อ.) จึงมุ่งหน้าไปยังเตนท์ที่ได้จัดเตีรยมขึ้นตรงกลางระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่ายในยามค่ำคืน (8) พร้อมด้วยสาวกของท่านยี่สิบคน ท่านมีคำสั่งแก่บรรดาสาวกว่า นอกจากอบุลฟัฎล์น้องชายของท่านและอะลี อักบัร บุตรชายของท่านแล้ว บุคคลอื่นๆ ให้รออยู่นอกเตนท์ อุมัร บินซะอ์ดิ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกคำสั่งแก่ไพร่พลของตนซึ่งมีจำนวนยี่สิบคนว่า ให้ฮัฟศ์ บุตรชายเขาและคนรับใช้ส่วนตัวของเขาเพียงสองคนเท่านั้นที่เข้าไปในเตนท์ได้
ณ สถานที่พบปะกันครั้งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวแก่อุมัร บินซะอ์ดิว่า “โอ้บุตรของซะอ์ดิเอ๋ย ช่างน่าอนาถแท้ เจ้าจะทำสงครามกับฉันหรือ เจ้าไม่เกรงกลัวอัลลอฮ์ (ซบ.) หรือ ซึ่งเจ้าจะต้องกลับคืนไปสู่พระองค์ ทั้งๆ ที่เจ้าก็รู้ดีว่าฉันคือลูกของใคร เจ้าจะไม่อยู่ร่วมกับฉันหรือ โดยการละทิ้งบุคคลเหล่านั้น (บนีอุมัยยะฮ์) เพราะแท้จริงการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการใกล้ชิดอัลลอฮ์ (ซบ.) ยิ่งกว่า” (9)
อุมัร บินซะอ์ดิ กล่าวตอบว่า “ข้าพเจ้ากลัวว่า หากข้าพเจ้ากระทำเช่นนั้น พวกเขาจะทำลายบ้านเรือนของข้าพเจ้าในเมืองกูฟะฮ์” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ฉันจะสร้างบ้านหลังใหม่ให้แก่เจ้าด้วยทรัพย์สินส่วนตัวของฉันเอง” อุมัร บินซะอ์ดิ กล่าวต่อไปอีกว่า “ข้าพเจ้ากลัวว่า พวกเขาจะยึดไร่และสวนอินทผลัมของข้าพเจ้าไป”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ฉันจะให้สวนที่ดีกว่าที่เจ้ามีอยู่ในเมืองกูฟะฮ์แก่เจ้า ซึ่งเป็นสวนในแผ่นดินฮิญาซ” อุมัร บินซะอ์ดิ กล่าวต่ออีกว่า “ภรรยาและบุตรของข้าพเจ้าอยู่ในเมืองกูฟะฮ์ ข้าพเจ้าเกรงว่าพวกเขาจะสังหารบุคคลเหล่านั้น”
เมื่อท่านอิมาม (อ.) ได้ฟังข้อแก้ตัวต่างๆ นานาของเขา ท่านรู้ว่าไม่มีหวังที่จะทำให้เขากลับเนื้อกลับตัวและสำนึกผิดได้ ท่านจึงลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วกล่าวว่า “เจ้าเป็นอะไรไปแล้ว (ทำไมเจ้าจึงมั่นคงต่อการเชื่อฟังมารร้ายถึงเพียงนี้) ขออัลลอฮ์ (ซบ.) จงเชือดคอเจ้าบนที่นอนของเจ้าโดยเร็วที่สุด และขอพระองค์อย่าได้อภัยโทษแก่เจ้าในวันแห่งการฟื้นคืนชีพของเจ้า ของสาบานต่ออัลลอฮ์ แท้จริงฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าจะมิได้บริโภคข้าวสาลีของเมืองอิรักเลย นอกจากเพียงน้อยนิด (ด้วยอายุอันแสนสั้นของเจ้า)” อุมัร บินซะอ์ดิ กล่าวเป็นนัยเชิงเย้ยหยันว่า “ข้าวบาเลย์ก็เพียงพอแล้วสำหรับข้าพเจ้า” (10)
สิ่งที่ได้รับจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)
ในคำพูดข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) มีจุดน่าสนใจสองประการคือ
เราได้เห็นแล้วว่า แม้กับศัตรูที่หัวรั้นและเป็นผู้กระหายเลือด ท่านอิมาม (อ.) ก็ยังสนทนาด้วย ทั้งนี้เนื่องจากความปรารถนาดีของท่าน ท่านยังได้การตักเตือนและสอนเขา ด้วยหวังที่จะให้เขาได้รอดพ้นจากหุบเหวแห่งความพินาศและความอับโชค และเมื่อเขาได้ยกข้ออ้างต่างๆ ที่ไร้สาระอันเป็นเรื่องทางวัตถุ ซึ่งได้แก่บ้านและสวนอินทผลัม ท่านอิมาม (อ.) ก็ยังคงให้คำตอบแก่เขาในเชิงช่วยเหลือ และให้สัญญาที่จะทดแทนความเสียหายทั้งหมดแก่เขา
ประเด็นที่สองคือ ในคำพูดของท่านนั้นได้พยากรณ์จุดจบอันเลวร้ายของอุมัร บินซะอ์ดิ ภายหลังจากที่เห็นแล้วว่าคำตักเตือนและคำแนะนำของท่านไม่มีผลใดๆ ต่อเขา ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “เจ้าจะไม่ได้พบกับชีวิตที่หวานชื่น อายุที่ยืนยาว และเจ้าจะไม่ได้รับตำแหน่งฐานะและยศศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” เรื่องนี้มีปรากฏในคำพูดของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ที่มีต่ออุมัร บินซะอ์ดิในบทต่อไป ซึ่งจะได้นำเสนอในรายละเอียดต่อไป (อินชาอัลลอฮ์)
คำกล่าวของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ในช่วงบ่ายของวัน “ตาซุอา”
ตามรายงานของท่านฏ็อบรีย์ ในช่วงบ่ายคล้อยของวันพฤหัสที่ 9 เดือนมุฮัรรอม อุมัร บินซะอ์ดิ ได้ออกคำสั่งให้กองทหารของตนเริ่มปฏิบัติการโจมตี กองทัพได้เริ่มเคลื่อนขบวนสู่ที่ตั้งของค่ายพักของท่านอิมาม ฮูเซน (อ.) และซอฮาบะฮ์ของท่าน ในขณะนั้นท่านอิมาม (อ.) กำลังนั่งเท้าคางของท่านในสภาพที่ดวงตาเคลิ้มหลับ เมื่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้ยินเสียงอึกทึกจากกองทัพอุมัร บินซะอ์ดิ และเห็นความโกลาหลที่เกิดขึ้นกับทหารพวกนั้น ท่านหญิงจึงได้เข้ามาหาท่านอิมาม (อ.) และกล่าวแก่ท่านว่า “โอ้พี่ชาย ขณะนี้ศัตรูได้เข้ามาใกล้ที่พักของเราแล้ว”
ท่านอิมาม (อ.) ได้เงยหน้าขึ้นแล้วกล่าวว่า “แท้จริงฉันได้ฝันเห็นท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ท่านได้กล่าวกับฉันว่า แท้จริงเจ้าจะได้กลับไปหาฉันในเวลาอันใกล้นี้” (11) จากนั้นท่านได้กล่าวกับอบุลฟัฏล์ น้องชายของท่านว่า “ชีวิตของฉันขอพลีเพื่อเจ้า โอ้น้องชายที่รัก จงควบม้าไปพบกับพวกเขา และถามว่าเกิดอะไรขึ้น และจงถามจุดประสงค์ในการมาของพวกเขา”
ท่านอบุลฟัฏล์มุ่งหน้าไปยังกองทัพของศัตรูตามคำสั่งของท่านอิมาม (อ.) พร้อมด้วยผู้ติดตามยี่สิบคน ซึ่งในจำนวนนี้มีซุเฮร บินกีน และฮะบีบ บินมะศอฮิร รวมอยู่ด้วย ท่านได้หยุดต่อหน้าศัตรูแล้วถามถึงเป้าหมายและเหตุผลในการมาของพวกเขา ทหารของอุมัร บินซะอ์ดิ ตอบว่า “คำสั่งของท่านอะมีร (อิบนิซิยาด) เพิ่งมาถึงพวกเราว่า ให้เอาสัตยาบันจากพวกท่านให้ได้ มิฉะนั้นเราจะเริ่มทำสงครามกับพวกท่านเดี๋ยวนี้”
ท่านอบุลฟัฏล์จึงกลับไปหาท่านอิมาม (อ.) และแจ้งให้ท่านทราบข้อเสนอของทหารเหล่านั้น ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบว่า “เจ้าจงกลับไปหาพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง และถ้าเจ้าสามารถทำได้ก็จงขอประวิงเวลาไปจนถึงยามเช้า (ของวันพรุ่งนี้) และจงต้านทานพวกเขาอย่าให้โจมตีพวกเราในค่ำคืนนี้ เพื่อที่เราจะได้ทำอิบาดะฮ์ต่อพระผู้อภิบาลของเราในยามค่ำคืน เราจะขอดุอาอ์และขออภัยโทษต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ดียิ่งว่า แท้จริงฉันมีความรักและผูกพันต่อการนมาซ การอ่านคัมภีร์ของพระองค์ การขอดุอาอ์และการขออภัยโทษจากพระองค์”
ท่านอบุลฟัฏล์ ย้อนกลับไปยังกองทัพของฝ่ายศัตรูอีกครั้ง และแจ้งความประสงค์ที่จะขอเลื่อนเวลาออกไปอีกหนึ่งคืน อุมัร บินซะอ์ดิ รู้สึกลังเลใจที่จะตอบข้อเสนอดังกล่าว เขาจึงปรึกษากับบรรดาผู้บัญชากองทัพของเขา ผู้บัญชากองทัพผู้หนึ่งชื่อ “อัมร์ บินฮัจญาจ” ได้กล่าวขึ้นว่า “มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮ์ หากบุคคลเหล่านี้เป็นชาวเติร์กหรือชาวเมืองดัยลัม แล้วมาขอประวิงเวลาจากท่านเช่นนี้ ย่อมจำเป็นที่ท่านจะต้องประวิงเวลาให้ (แต่นี่พวกเขาคือลูกหลานของศาสนทูต)”
เกซ บินอัชอัษ ผู้บัญชาการกองทัพอีกผู้หนึ่งแย้งว่า “ในทัศนะของฉัน เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันที่จะตอบรับคำขอร้องจากฮูเซน เพราะคำขอร้องของพวกเขาในครั้งนี้มิใช่เพื่อจะถอยหนีหรือจะเปลี่ยนใจแต่อย่างใด ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ในวันพรุ่งนี้พวกเขาอาจจะเริ่มการต่อสู้ก่อนหน้าพวกท่านเสียอีก” อุมัร บินซะอ์ดิ จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเราจะประวิงเวลาในค่ำคืนนี้ให้แก่พวกเขาทำไม”
อย่างไรก็ตาม หลังจากหารือกันเป็นเวลานาน อุมัร บินซะอ์ดิ กล่าวกับท่านอบุลฟัฏล์ว่า “เราจะประวิงเวลาแก่พวกท่านในค่ำคืนนี้ หากพวกท่านยอมจำนนและยอมเชื่อฟังคำสั่งของท่านอะมีร เราจะนำพวกท่านไปพบเขา แต่หากพวกท่านยังคงดื้อดึง เราก็จะไม่ปล่อยให้พวกท่านอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปอีก และสงครามเท่านั้นที่จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของพวกท่าน” ดังนั้นคำขอของท่านอิมาม (อ.) จึงได้รับการยินยอม และค่ำคืนอาชูรอก็ถูกประวิงไว้
ความสำคัญของนมาซ
จากการขอประวิงเวลาของท่านอิมาม (อ.) ทำให้เราประจักษ์ถึงความสำคัญของนมาซ การขอดุอาอ์และการอ่านอัลกุรอานได้เป็นอย่างดี เพราะสำหรับท่านอิมามฮูเซน (อ.) นั้น ท่านมีความผูกพันต่อสิ่งเหล่านี้จนถึงขั้นที่ว่า ท่านต้องร้องขอจากศัตรูผู้ไร้มนุษยธรรมให้ประวิงเวลาให้แก่ท่าน เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตของท่านอีกค่ำคืนหนึ่งในการปฏิบัติอะมัลนั้น ไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมท่านจึงจะทำเช่นนั้น ในเมื่อท่านได้บากบั่นมาจนถึงสถานที่แห่งนี้ ก็เพื่อจะเผยแผ่และชุบชีวิตของการนมาซ อัลกุรอานและคำบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้า การรำพันอ้อนวอนต่อพระผู้อภิบาล นับเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐและหวานชื่นที่สุดสำหรับการดำเนินชีวิตของท่าน ประชาชาติใดก็ตามที่จะยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อพระผู้เป็นเจ้า จำเป็นจะต้องยึดถือสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นข้อเตือนใจ และเป็นรากฐานในการยืนหยัดต่อสู้
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นข้อความต่อไปนี้ปรากฏอยู่ในบทซิยารัตท่านอิมามฮูเซน (อ.) “และข้าพเจ้าขอเป็นพยานว่า แท้จริงท่านเป็นผู้ดำรงนมาซ ท่านได้จ่ายซะกาต ท่านได้กำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว และท่านได้ปฏิบัติตามอัลลอฮ์ (ซบ.) และศาสนทูตของพระองค์ จนกระทั่ง “ยะกีน” (ความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่) ได้ปรากฏแก่ท่าน”
เชิงอรรถ :
(1) ฏ็อบรีย์ เล่ม 7 หน้า 308, กามิล เล่มที่ 3 หน้า 282 ; คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 234
(2) นูรุษ ษะกอลัยน์ เล่มที่ 4 หน้า 222 ; บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 10 หน้า 188
(3) มุสตัดรอก ฮากิม เล่มที่ 3 หน้า 371 ; กันซุลอุมมาล เล่มที่ 6 หน้า 85 ฮะดีษที่ 1311
(4) ตะฮุฟุล อุกูล หน้า 174 ; ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 300 ; มุซีรุล อะฮ์ซาบ หน้า 22 ; อิบนิอะซากิร หน้า 214 ; มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 2 หน้า 5 ; อัลลุฮุฟ หน้า 69 ตามรายงานของฏ็อบรีย์ และอิบนินะมา ท่านอิมาม (อ.) กล่าวคำปราศรัยครั้งนี้ ณ ตำบล ซีฮุซุม และในหนังสืออ้างอิงบางเล่มที่กล่าวไปแล้ว ประโยคถูกบันทึกไว้ในช่วงแรกของคำปราศรัย ในที่นี้ได้เลือกอ้างอิงตามตัวบทของหนังสือ “ตุฟุลฮุกูล”
(5) กามิลุซ ซิยารอต หน้า 75
(6) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 239 ; บิฮารุล อันวาร เล่มที่ 10 หน้า 189
(7) ผู้ไร้พ่อ คือบุคคลที่ไม่รู้แน่ชัดว่าบิดาของเขาคือใครกันแน่ เนื่องจากมารดาของเขามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน (ผู้แปล)
(8) จากหลังฐานต่างๆ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า การพบประกันครั้งนี้เกิดขึ้นในค่ำที่ 8 หรือ 9 ของเดือนมุหัรรอม
(9) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 245
(10) มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้า 245
(11) อันซาลุล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้า 185 ; ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้า 319 – 320 ; อัลกามิล เล่มที่ 3 หน้า 285 ; อิรชาร หน้า 240
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน